logo isranews

facebook twitter youtube rss

logo small 2

นักวิชาการชี้ “การเมืองระบบตัวแทน” ไม่ได้แก้ปัญหาชาวบ้าน

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

สพม.ประสานเครือข่ายประชาสังคมขับเคลื่อน 7 ประเด็นขายพรรคการเมือง-รัฐบาลใหม่ ขอมีระบบสวัสดิการชุมชนเข้มแข็งไม่ใช่แบบมือรับ นักวิชาการนักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ชี้นโยบายสาธารณะไทย “คนคิดได้แต่คิด คนทำได้แต่ทำ”

เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี คณะกรรมการภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง (สพม.) จัดสัมมนา “การประสานภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะสู่ความเสมอภาคและความเป็นธรรม” โดย นายสมเกียรติ รอดเจริญ ประธานคณะกรรมการภาคประชาสังคม สพม. กล่าวว่า เวทีนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมมาร่วมระดมปัญหาจัดทำข้อเสนอ 7 ประเด็นหลักได้แก่ การเมืองภาคพลเมือง การเลือกตั้ง และธรรมาภิบาล แรงงาน คนพิการและผู้ด้อยโอกาส พลังงาน การศึกษา เยาวชน และสตรี สวัสดิการ และสื่อ เพื่อขับเคลื่อนเป็นนโยบายสาธารณะผ่านหน่วยงานรัฐและพรรคการเมือง

โดยในประเด็นสวัสดิการ นายราชพฤกษ์ สิงห์พรหม คณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กล่าวถึงข้อสรุปการระดมความคิดเห็นว่า เห็นควรให้ภาครัฐสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนที่ยั่งยืนเป็นธรรมและทำให้ชุมชนยืนด้วยขาตนเองได้ มากกว่าสวัสดิการที่รัฐหยิบยื่นให้ในปัจจุบัน

โดยมีข้อเสนอว่า 1.ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจเรื่องสวัสดิการชุมชนอย่างทั่วถึง 2.ผลักดันให้เกิดนโยบายสวัสดิการภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง 3.ฝ่ายราชการสนับสนุนการตั้งกิจการกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยภาครัฐสนับสนุนอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาราชการไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบในแง่การให้เงินสมทบในอัตรา 1:1:1 4.ให้ภาคประชาชนเป็นผู้ดำเนินการอย่างแท้จริง ปราศจากการควบคุมของราชการ ดังตัวอย่างในหลายพื้นที่  5.รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนถึงแนวทางการจัดสวัสดิการด้วยการพึ่งตนเอง ไม่ใช่รอแบมือรับจากรัฐ ทั้งนี้ให้ตั้งคณะทำงานเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว

ทั้งนี้มีการบรรยาย “การพัฒนากลไกภาคประชาสังคมเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะสู่ความเป็นธรรมและความเสมอภาค” โดย นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายสาธารณะมีความไม่เสมอภาคไม่เป็นธรรม เพราะผู้ที่มีอำนาจกำหนดนโยบายคิดเฉพาะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขณะที่ระดับพื้นที่ก็คิดเฉพาะประเด็นของตน ต่างคนต่างทำ นโยบายส่วนใหญ่จึงมีลักษณะ คนคิดก็ได้แค่คิด คนทำก็ได้แต่ทำ

นายศุภณัฐ กล่าวต่อว่า นโยบายสาธารณะที่ดีต้องมีเป้าหมายสุดท้ายคือสร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ใช่รอสั่งการจากใครใดคนหนึ่งข้างบน แต่ที่ผ่านมาประชาชนถูกขับไสจากภาคการเมือง แนวทางต่างๆที่ภาคประชาชนกับภาคการเมืองเสนอจึงขาดประเด็นร่วม

นายศุภณัฐ ยังกล่าวว่า ภาวะดังกล่าวมาจากการเมืองระบบตัวแทนไม่สนองตอบความต้องการเพราะนักการเมืองมุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว เมื่อได้ดำรงตำแหน่งก็ผลักไสประชาชนออกจากการเมือง ขาดการสื่อสารระหว่างผู้แทนกับชาวบ้าน กลายเป็นว่านักการเมืองมีสิทธิตัดสินใจทำอะไรก็ได้ ทั้งที่ระหว่างการทำหน้าที่ต้องมีความเชื่อมโยงไม่ใช่แยกขาด ประชาชนจึงผิดหวัง เกิดความไม่ไว้วางใจ ลุกลามไปถึงการไม่ให้ความร่วมมือ เกิดภาวะผู้แทนไม่เป็นตัวแทนที่แท้จริง เป็นแค่นักล็อบบี้ที่ไม่ฟังเสียงประชาชน สุดท้ายยิ่งผลักให้ชาวบ้านห่างไกลไปอีก

ทั้งนี้ต้องสร้างภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง และขยายฐานคิดไปสู่ชุมชนต่างๆโดยยึดหลัก 1.พึ่งตนเอง 2.ใช้ความสามารถของชุมชน 3.ใช้อำนาจของชุมชน 4.ประสานคนให้ได้ โดยมีเจตจำนงการเมืองและผลประโยชน์ตรงสู่ชุมชน สุดท้ายการคือลงมือปฏิบัติให้รัฐเห็นผลนั้น เพื่อขับเคลื่อนเป็นนโยบายสาธารณะ

“เราไม่สามารถใช้วิธีการเดิมๆ กับสภาพปัญหาความเป็นจริงใหม่ได้ เหมือนจู่ ๆวันหนึ่งเกิดใช้เส้นทางเดิมกลับบ้านไม่ได้ ก็ต้องหาหาเส้นทางอื่น เพราะยังไงจุดหมายคือการกลับไปให้ถึงบ้าน” นายศุภณัฐ กล่าว .

 

พิมพ์ อีเมล