logo isranews

logo small 2

ป.ป.ช.แจ้งข้อหา“ปู-ยกครม.”คดีจ่ายเงินเยียวยาเสื้อแดง-สุเทพด้วยสร้างโรงพัก

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 14 พฤษภาคม 2558 เวลา 17:47 น.
เขียนโดย
isranews

“ยิ่งลักษณ์-ครม.ปู1” ระทึก! อนุฯ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหายกล็อต ปมจ่ายเงินเยียวยาผู้ชุมนุมทางการเมืองปี’48-53 2 พันล้าน ยันไม่มีกฎหมายรองรับ ไร้อำนาจดำเนินการ งบประมาณสูงเกินจริง - แจ้งข้อหา "สุเทพ" ปมสร้างโรงพักทดแทนด้วย

 PIC nacc 14 5 58 1

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2558 คณะอนุกรรมการไต่สวน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) รวมถึงคณะรัฐมนตรี รวม 36 ราย กรณีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง (พ.ศ.2548-2553) โดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ และเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องของตนเอง

นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนพิจารณาแล้วเห็นว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 และเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2555 เห็นชอบให้มีการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548 - 2553 และให้ใช้งบประมาณจากเงินงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,000 ล้านบาท มาใช้ในการดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548 - 2553 โดยออกหลักเกณฑ์และอัตราการเยียวยาขึ้นใหม่ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีกฎหมายใดมารองรับการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว ซึ่งตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติวิธีงบประมาณ พ.ศ. 2502 กำหนดว่าการจ่ายเงินแผ่นดินหรือเงินงบประมาณเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าว จะกระทำได้แต่เฉพาะที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดแก่ทางราชการ

นายวิชา กล่าวว่า การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และคณะรัฐมนตรี ร่วมกันมีมติ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 และวันที่ 6 มีนาคม 2555 ให้จ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ทางการเมือง และให้ใช้งบประมาณจากเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,000,000,000 บาท (สองพันล้านบาท) มาใช้ในการดำเนินการดังกล่าวนั้น โดยออกหลักเกณฑ์และอัตราการเยียวยาขึ้นใหม่ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีกฎหมายใดมารองรับการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว ทั้งที่มิใช่เป็นการจ่ายเงินเกี่ยวกับปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเป็นไปเพื่อบริการสาธารณะแห่งรัฐ หรือเป็นกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่หากไม่ดำเนินการจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ตามพระราชบัญญัติวิธีงบประมาณ พ.ศ. 2502 แต่เป็นการจ่ายในลักษณะเงินสงเคราะห์ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งจะต้องมีกฎหมายมารองรับเพื่อใช้บังคับกับกรณีนี้โดยเฉพาะ

“ซึ่งในอดีตรัฐบาลที่ผ่านมาได้เคยจ่ายเงินในลักษณะเดียวกันนี้ โดยอาศัยพระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการการปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. 2543 เป็นกฎหมายรองรับเพื่อก่อให้เกิดสิทธิในการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง” นายวิชา กล่าว

นายวิชา กล่าวอีกว่า กรณีจึงเป็นการจ่ายเงินแผ่นดินหรือเงินงบประมาณโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ประกอบกับกรอบอัตราการเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นวงเงินงบประมาณจำนวนสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานการเยียวยาความเสียหายต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีอื่น ๆ อาทิ การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความ ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น อีกทั้งมีการกำหนดการชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจ เป็นจำนวน 3,000,000 บาท โดยไม่มีขั้นตอนพิสูจน์ความเสียหายหรือความสูญเสียแต่อย่างใด อันก่อให้ผลกระทบต่องบประมาณในการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศ เป็นการนำงบประมาณแผ่นดินไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงวินัยทางการเงินการคลัง

นายวิชา กล่าวด้วยว่า ดังนั้น การกระทำของนางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และคณะรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการหลีกเลี่ยงละเว้นไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของประเทศที่ต้องจ่ายเงินเพื่อการดำเนินการดังกล่าวเป็นจำนวน 1,921,061,629.46 บาท

“คณะอนุกรรมการไต่สวน จึงมีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ นางสาวยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรี รวมจำนวน 34 ราย เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไป ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542สำหรับผู้ถูกกล่าวหา ราย นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2556” นายวิชา กล่าว

ส่วนกรณีกล่าวหา นายปกรณ์ พันธุ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะเป็นหน่วยเบิกจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2548 - 2553 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

คณะอนุกรรมการไต่สวน พิจารณาแล้ว เห็นว่านายปกรณ์ พันธุ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดี กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการในขณะนั้นและในฐานะประธานคณะทำงานช่วยเหลือเยียวยาด้านเงินตามหลักมนุษยธรรม มีหน้าที่ในดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ตามมติคณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 6 มีนาคม 2555 เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่เช่นเดียวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง ที่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งถือเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ต้องปฏิบัติตาม

นอกจากนี้ยังมีคณะอนุกรรมการด้านการเยียวยาทางแพ่งและการฟื้นฟูด้วยวิธีการอื่น โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (นายธงทอง จันทรางศุ) เป็นประธาน ที่พิจารณากรณีเกิดปัญหาการพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น ในชั้นนี้จึงเห็นว่าการกระทำของนายปกรณ์ พันธุ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ให้จ่ายเงินเยียวยาเท่านั้น ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานเพียงพอตามข้อกล่าวหา จึงเห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป

ส่วนกรณีความคืบหน้า กรณีทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง โดยมิชอบนั้น นายวิชา กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพลตำรวจโท สุพร พันธ์เสือ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต กรณีปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง จากจัดจ้างเป็นรายภาคเปลี่ยนเป็นจัดจ้างรวมกันที่ส่วนกลางในครั้งเดียว เพื่อช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใด ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันเป็นเหตุให้ผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง นั้น

ในการไต่สวนข้อเท็จจริงคณะอนุกรรมการไต่สวนพบว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะเป็นรองนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กำกับการปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ในขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอเรื่องดังกล่าวให้พิจารณา ทราบอยู่แล้วว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องไปดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างเป็นรายภาค ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เสนอและคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติไว้แล้ว หรือหากสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการก่อสร้างก็ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติก่อน ดังเช่นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เคยปฏิบัติมาแล้ว เมื่อคราวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีบันทึกข้อความ ที่ 0009.6/8096 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 ขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างจากรูปแบบการลงทุนภาครัฐ โดยวิธีการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ โดยให้บริษัท ธนารักษ์ พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ เป็นดำเนินการในรูปแบบการลงทุนภาครัฐ โดยวิธีจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการโครงการผูกพัน 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 – 2554

“แต่ท่านกลับลงนามอนุมัติ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้าง โดยห้ามรื้อถอนอาคารเดิม เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ต่อไป โดยไม่เสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้าง จนกระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ไปดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างที่ส่วนกลาง โดยมีผู้รับจ้างเพียงรายเดียวก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 โรงพัก ทั่วประเทศ เป็นให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จก่อให้เกิดความเสียหายต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติและทางราชการอย่างร้ายแรง” นายวิชา กล่าว

คณะอนุกรรมการไต่สวน จึงมีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาว่า เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติและทางราชการอย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

อ่านประกอบ :
ชัด ๆ กฤษฎีกาไฟเขียวจ่ายเงินเยียวยาม็อบ กปปส.-หลัง“สุเทพ”บี้“บิ๊กตู่”
ผิดทั้ง“ครม.ปู”! ป.ป.ช.จ่อแจ้งข้อกล่าวหาปมจ่ายเงินเยียวยาเสื้อแดง 577 ล.
ป.ป.ช.ลุยสอบ"ครม.ยิ่งลักษณ์"จ่ายเงินเยียวยาคนเสื้อแดง577ล. -ไม่มี กม. รองรับ