logo isranews

logo small 2

ย้อนรอยเลือกตั้ง 2 ก.พ. "โมฆะ" ใครต้องรับผิดชอบ?

เขียนวันที่
วันศุกร์ ที่ 21 มีนาคม 2557 เวลา 13:48 น.
เขียนโดย
ศุภเดช ศักดิ์ดวง

"..สตง.เคยทำหนังสือแจ้งเตือนเป็นทางการไปแล้ว ว่า การจัดเลือกตั้งครั้งนี้ มีปัญหาเกิดขึ้นจำนวนมาก และมีความเสี่ยงสูงที่เงินจำนวน 3 พันกว่าล้าน จะเกิดความสูญเปล่า ไม่ประหยัด ไม่เกิดประโยชน์คุ้มค่า อันเนื่องมาจากการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินมิได้ผลตามเป้าหมายของการเลือกตั้ง ส.ส. และอาจจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปหลายครั้งในระยะเวลาใกล้เคียงกัน.." 

faaaaa

นับเป็นเรื่องใหญ่ สำหรับประเทศไทยในเวลานี้

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินชี้ขาดว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ ด้วยเหตุผลที่ว่ายังไม่มีการจัดการเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้ง

ดังนั้นถือได้ว่าวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ได้เลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เป็นผลให้ พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร 2556 กำหนดให้เลือกตั้งวันดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 109 วรรค 2

และให้รัฐบาลกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปคุยกันว่าจะออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหมอย่างไร

คำถามที่น่าสนใจ คือ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็น “โมฆะ” แล้ว

ใครคือผู้รับผิดชอบ!

ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเม็ดเงินงบประมาณจำนวนหลายพันล้านบาท ที่ถูกนำไปใช้ในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งดูหมือนจะละลายหายไป โดยที่ประเทศชาติ ไม่ได้ผลประโยชน์อันใดตอบแทนกลับมาแม้แต่น้อย  

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ. พบข้อเท็จจริง ดังนี้

1. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 เนื่องจากเหตุการณ์กลุ่มผู้ชุมนุมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำโดยกำนันสุเทพ หรือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้เดินขบวนเคลื่อนไหวปิดล้อมสถานที่ราชการต่าง ๆ และเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2556 ซึ่งเหตุผลสำคัญ คือ รัฐบาลทรยศประชาชนด้วยการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง

ภายหลังยุบสภารัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง) กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

2. ในช่วงรอยต่อก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. กลุ่ม กปปส. ได้เรียกร้องให้มวลมหาประชาชน และประชาชนซีกที่ต่อต้านรัฐบาล ให้ล้มการเลือกตั้งในครั้งนี้ เนื่องจากต้องการให้มีการ “ปฏิรูปประเทศ” ก่อนเลือกตั้ง และจัดตั้ง “สภาประชาชน” และ “รัฐบาลประชาชน” แทน

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พาเหรดกันออกมาประกาศว่าจะ “บอยคอต” การเลือกตั้งในครั้งนี้

3. ในช่วงที่ กกต. เปิดรับผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ได้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นหลายเหตุการณ์ เนื่องจากมีกลุ่มมวลชนที่ไม่เอาการเลือกตั้งมาปิดล้อมสถานที่ ส่งผลให้ยังมีอีก 28 เขตเลือกตั้งที่ยังไม่มีผู้เข้ามาสมัครเป็น ส.ส. ได้ จนกระทั่งวันที่จับสลากเบอร์ผู้สมัครเลือกตั้ง ก็เกิดเหตุการณ์ปะทะนองเลือดขึ้นที่สนามกีฬาไทย – ญี่ปุ่น ดินแดง

ขณะเดียวกัน กกต. ก็ออกมาประกาศว่ายังไม่พร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้อีกด้วย

ก่อนที่รัฐบาล จะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่ก็ยังมีการปะทะกันรุนแรงระหว่างตำรวจ กับกลุ่มผู้ชุมนุมหลายครั้ง มีการลอบปาระเบิดใส่กลุ่มผู้ชุมนุมหลายหน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

จนกระทั่งมาถึงวันเลือกตั้งทั่วไปล่วงหน้า ก็มีกลุ่มมวลชน กปปส. ไปปิดล้อมคูหาเลือกตั้ง มีการกดดันให้ กกต.เขต ปิดคูหาเลือกตั้ง ไม่ให้ประชาชนที่ต้องการใช้สิทธิ์เข้าไปเลือกตั้งได้ จนหวิดปะทะกันหลายคูหา

ส่งผลให้หลายฝ่ายเล็งเห็นว่าเพียงแค่การเลือกตั้งทั่วไปล่วงหน้ายังทุลักทุเลถึงเพียงนี้ แล้วเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะวุ่นวายขนาดไหน

4. เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา สตง. ได้ร่อนหนังสือด่วนที่สุดถึง กกต. เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 โดยระบุ 3 เหตุผลสำคัญว่า

1.กกต.ประสบปัญหา อุปสรรค จากสถานการณ์บ้านเมืองที่วุ่นวาย ยากที่จะจัดเลือกตั้งได้อย่างสุจริตและเที่ยงธรรม 2.แถลงการณ์ของ กกต. เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ที่ให้รัฐบาลเลื่อนเลือกตั้งทั่วไปนั้น แสดงให้เห็นถึงระดับความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง กกต.

และ 3.แถลงการณ์ของรัฐบาลเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 เรื่องจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศนั้น เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จชัดเจนว่าต้องมีการยุบสภา และ กกต. ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่

หลังจากนั้นเพียงวันเดียว กกต. ก็ออกมารับลูกดังกล่าวด้วยการส่ง “หนังสือลับ” ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อขอให้พิจารณาการเลื่อนเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ออกไปก่อน

เนื่องจากเห็นว่ามีข้อเท็จจริงหลายประการชี้ว่าหากเลือกตั้งวันดังกล่าวจะเกิดปัญหาขึ้น รวมถึงเมื่อเลือกตั้งไปแล้วจะเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ เนื่องจากจำนวน ส.ส.จะไม่ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด พร้อมระบุว่า รัฐบาลสามารถเลื่อนเลือกตั้งได้โดยออกเป็น พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมในการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่

แต่รัฐบาล ก็ยังยืนยันที่จะจัดเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ต่อไป และในวันดังกล่าวก็เกิดเหตุมีกลุ่มมวลชน และกลุ่มผู้สนับสนุน กปปส. ออกมาปิดล้อมคูหาเลือกตั้งอีกครั้ง และเกิดการปะทะกับผู้ต้องการใช้สิทธิ์เลือกตั้งอีกระลอก โดยเหตุการณ์คราวนี้เป็นไปอย่างรุนแรง และจบลงด้วยมีผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นฝ่ายมวลชนของ กปปส. 1 ราย

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปจบลง กกต. ออกมาประกาศว่าในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวมีผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งสิ้น 45.84 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 20 ล้านเสียง

หลังจากนั้น สตง. ยังคงจี้รัฐบาลเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปอีกรอบ โดบระบุว่าหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 กุมภาพันธ์  พบปัญหาเพียบตามที่คาดไว้ และเสี่ยงถูกตัดสิน “โมฆะ” พร้อมยืนยันว่า เงินแผ่นดินที่ใช้จัดเลือกตั้ง 3.8 พันล้านบาทนั้น ต้องมีผู้รับผิดชอบ !

ขณะที่ กกต. ยังออกมาทวงถามรัฐบาลเรื่องการรับสมัครผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต อีก 28 เขตที่ยังไม่มีตัวผู้สมัคร โดยระบุว่าให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไปใหม่ เพราะหากยังดึงดันจะให้เปิดรับสมัครแบบเดิมอาจฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 ได้

5. หลังจากนั้นไม่กี่วัน นายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ของ กกต. นั้น ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่โดยเร็ว โดยอ้างเรื่องข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพฤติการณ์หลายข้อด้วยกัน

ก่อนที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะมีมติเอกฉันท์ให้ส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะหรือไม่

และนำไปสู่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ชี้ขาดว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ ตามที่ปรากฎเป็นข่าวล่าสุด  

แหล่งข่าวระดับสูงจาก สตง. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ขณะที่ สตง. อยู่ระหว่างรอฟังคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมที่ตัดสินให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ ที่จะออกมาเป็นทางการอีกครั้ง จากนั้นจะพิจารณาว่า จะแสดงท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนี้อีกครั้ง โดยเฉพาะการหาตัวบุคคลที่จะมารับผิดชอบ กับเงินภาษีประชาชนจำนวนหลายพันล้าน ที่ต้องสูญเสียไปจากการจัดการเลือกตั้งดังกล่าว

“เรายังบอกชัดเจนไม่ได้ว่า ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับเงินแผ่นดินที่เสียไปจากการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเท่าที่พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง พบว่ามีกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องจำนวนหลายกลุ่ม แต่ไม่ว่าจะมีกลุ่มไหนเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง ในส่วนของรัฐบาลคงไม่สามารถที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้ เพราะถือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด และสั่งการให้ กกต.เดินหน้าการจัดการเลือกตั้งต่อไป" 

"ทั้งที่ สตง.เคยทำหนังสือแจ้งเตือนเป็นทางการไปแล้ว ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีปัญหาเกิดขึ้นจำนวนมาก และมีความเสี่ยงสูงที่เงินจำนวน 3 พันกว่าล้าน จะเกิดความสูญเปล่า ไม่ประหยัด ไม่เกิดประโยชน์คุ้มค่า อันเนื่องมาจากการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินมิได้ผลตามเป้าหมายของการเลือกตั้ง ส.ส. และอาจจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปหลายครั้งในระยะเวลาใกล้เคียงกัน"

ขณะเดียวกัน บุคคลในซีกรัฐบาลอย่างนายนพดล ปัทมะ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ตั้งคำถามถึงกรณีดังกล่าวว่า ท้ายสุดแล้ว ใครกันแน่ที่เป็นผู้ขัดขวางการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ให้ดูกันไปเลยว่าเป็นฐานเสียงพรรคใด หรือพรรคใดที่มาป่วนโดยไม่ต้องการเห็นการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ เงินงบประมาณเฉียด 4 พันล้านบาท เป็นราคาที่ต้องจ่ายในการจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้

และคนที่เสียหายมากที่สุดก็คือ "ประชาชน"

ดังนั้นมูลค่าความเสียหายในครั้งนี้ ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ?