logo isranews

logo small 2

เจาะปมเสียภาษี‘ศานิตย์’รับเงินหลายทาง ไฉนแจ้งได้เงินเดือนอย่างเดียว?

“…ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ แจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนเป็นค่าที่ปรึกษาตั้งแต่ 2558 แต่กลับแจ้งการเสียภาษีตาม ภ.ง.ด.91 ซึ่งหมายความว่า รับเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง โบนัส ฯลฯ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ปกติค่าที่ปรึกษานั้น เข้าลักษณะตามมาตรา 40 (6) ที่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ไว้ในอัตราร้อยละ 3 ด้วย ดังนั้นเมื่อเสียภาษีจะต้องใช้แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90 เนื่องจากเป็นบุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินหลายทาง…”

PIC sanitt 19 12 59 4

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใหม่แกะกล่อง กำลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อยู่อย่างร้อนแรงในขณะนี้ กรณีแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า ได้รับเงินเดือนค่าที่ปรึกษาจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เดือนละ 5 หมื่นบาท ตั้งแต่ปี 2558

เนื่องจากถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม รวมถึงให้คำปรึกษาในเรื่องใดกันแน่ ส่งผลให้มีผู้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว รวมถึงเรียกร้องให้ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ‘ย้าย-พักงาน’ พล.ต.ท.ศานิตย์ ด้วย

(อ่านประกอบ :จี้‘บิ๊กตู่’ใช้ ม.44 ย้าย‘ศานิตย์’! ร้อง ป.ป.ช. สอบปมรับเงินค่าที่ปรึกษาไทยเบฟฯ, บี้‘ศานิตย์’ไขก๊อก ผบช.น.-สนช.! ร้องผู้ตรวจฯสอบปมรับเงินที่ปรึกษาไทยเบฟฯ)

ปัจจุบันยังไม่มีคำชี้แจงจากปากของ พล.ต.ท.ศานิตย์ รวมถึงบริษัท ไทยเบฟฯ เกี่ยวกับกรณีนี้

ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร ?

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในเอกสารแบบแสดงเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.) ของ พล.ต.ท.ศานิตย์ ที่แจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า เป็นเอกสาร ภ.ง.ด.91 ประจำปี 2558 ส่วนนางฉวีวรรณ มหถาวร เป็นเอกสาร ภ.ง.ด.90 ประจำปี 2558

(อ่านประกอบ : โชว์ใบเสียภาษี‘ศานิตย์-ภรรยา’แนบมาไม่ชัด-ป.ป.ช.สั่งยื่นใหม่)

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ภ.ง.ด.91 กับ ภ.ง.ด.90 แตกต่างกันอย่างไร ?

ต้องเข้าใจก่อนว่า การเสียภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดานั้น จะต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 มี 8 ประเภท ได้แก่

(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานแบบ

(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้นั้นไม่ว่าหน้าที่ หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว

(3) ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล

(4) เงินได้ที่แบ่งเป็น 7 ข้อย่อย เช่น เงินจากดอกเบี้ย เงินที่ได้จากการปันผลของบริษัท เงินโบนัส เงินที่ได้จากผลประโยชน์จากบริษัท เป็นต้น

(5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้ แบ่งเป็น 3 ข้อย่อย ได้แก่ เงินที่ได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เป็นต้น

(6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอิสระอื่น ซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้

(7) เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ

(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว (อ่านประกอบ : http://www.rd.go.th/publish/5937.0.html)

ส่วน ภ.ง.ด. สำหรับบุคคลธรรมดา แบ่งได้ 4 ประเภท คือ

ภ.ง.ด.90 สำหรับผู้มีเงินได้หลายประเภท
ภ.ง.ด.91 สำหรับผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) เพียงอย่างเดียว
ภ.ง.ด.93 สำหรับการขอชำระภาษีล่วงหน้า
ภ.ง.ด.94 สำหรับผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (5) (6) (7) และ (8)

หรืออธิบายให้ง่ายขึ้นคือ ภ.ง.ด.90 สำหรับผู้มีเงินได้เข้ามาหลายทาง นอกเหนือจากเงินเดือน ส่วน ภ.ง.ด.91 สำหรับผู้มีเงินได้แค่ เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง โบนัส ฯลฯ จากหน่วยงานที่จ้างงานเท่านั้น

แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ แจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเงินเดือนเป็นค่าที่ปรึกษาตั้งแต่ 2558 (ปกติจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในเดือน มี.ค. ของทุกปี กรณีนี้คือต้องยื่นภายใน มี.ค. 2559) แต่กลับแจ้งการเสียภาษีตาม ภ.ง.ด.91 ซึ่งหมายความว่า รับเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง โบนัส ฯลฯ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดเพียงอย่างเดียว

ทั้งที่ปกติค่าที่ปรึกษานั้น เข้าลักษณะตามมาตรา 40 (6) ที่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ไว้ในอัตราร้อยละ 3 ด้วย ดังนั้นเมื่อเสียภาษีจะต้องใช้แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90 เนื่องจากเป็นบุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินหลายทาง

ตรงนี้จึงถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ ได้เสียภาษีกรณีรับเงินเดือนค่าที่ปรึกษาบริษัท ไทยเบฟฯ หรือไม่ ?

ส่วนนางฉวีวรรณนั้น แจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า นอกเหนือจากทำงานด้านธนาคารแล้ว ยังมีงานเป็นนายหน้าขายที่ดินด้วย รวมถึงผลประโยชน์จากบริษัทเอกชนด้วย การยื่นตามแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90 จึงถูกต้องแล้ว เพราะได้รับเงินหลายทาง

นับเป็นอีกหนึ่งเงื่อนปมที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมถึงกรมสรรพากร จำเป็นต้องไปตรวจสอบสืบค้นหาข้อเท็จจริงกันต่อไป !

อ่านประกอบ :

เก็บเงินสดให้ลูกน้องทำงานทางลับ! ‘ศานิตย์’ แจงปมรายได้-ทรัพย์สินรวม 93 ล.

สมบัติ 93 ล.‘ศานิตย์’ส่วนใหญ่‘แม่-น้า’ ยกให้-รับเงินที่ปรึกษา‘ไทยเบฟ’ด้วย

กางกฏหมาย-ขมวดปม‘ศานิตย์’ รับเงินที่ปรึกษา‘ไทยเบฟ’ทำได้จริงหรือ?

ยลโฉมปืน-กรุพระเครื่อง-ทองคำแท่ง 2.5 ล.‘ศานิตย์-เมีย’

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.ต.ท.ศานิตย์ จาก ASTVmanager