logo isranews

logo small 2

ข้อคิดว่าด้วย “อาคารถล่มที่คลองหก”

เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 13 สิงหาคม 2557 เวลา 22:39 น.
เขียนโดย
isranews

ศ.ดร.เอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ
ศ.กิตติคุณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อุปนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ
อนุกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ สภาวิศวกร

กรณีอาคารถล่มที่คลองหก อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี มีผู้ได้รับบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตจำนวนมากนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้หลายฝ่ายได้กรุณาให้ความช่วยเหลือ กู้ภัย ดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาล และเสาะหาผู้ที่อยู่ใต้ซากอาคารอย่างขะมักเขม้น ต้องขอขอบคุณผู้มีจิตสาธารณะทั้งหลายที่ได้คลี่คลายสถานการณ์ ลดความตระหนกตกใจต่อสาธารณะลงไปเป็นลำดับ

ในด้านวิศวกรรมและการก่อสร้างมีทั้งภาครัฐโดยกรมกองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน โดยองค์กรวิชาชีพต่าง ๆ ในส่วนของภาครัฐ กระทรวงมหาดไทยโดยทางจังหวัด กรมโยธาธิการ และกรม กองด้านสาธารณภัย สภาวิศวกรโดยสถานภาพเป็นนิติบุคคลเชื่อมโยงภาครัฐและภาคเอกชน มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลวิศวกร และมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ ส่วนภาคเอกชน ทางวิชาชีพโดยสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) มีทีมงานเข้าไปบันทึกเหตุการณ์และตรวจสอบสภาพการวิบัติ และการพังทลาย รวมถึงการรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ เพื่อนำไปพิจารณาหาสาเหตุแห่งการวิบัติ และหาแนวทางเพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งอาจรวมถึงสนับสนุนพยานหลักฐานในขบวนการยุติธรรมที่จะพิจารณาลงโทษผู้กระทำความผิดและขจัดกระบวนการทางธุรกิจที่มุ่งเน้นเพียงผลประโยชน์ โดยขาดความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของสาธารณะ จากข้อมูลเบื้องต้นที่กระผมได้รับมาคาดว่าสาเหตุหลักน่าจะอนุมานได้จากขั้นตอนของการออกแบบ และ/หรือ ขั้นตอนของการก่อสร้าง ที่จะต้องพิจารณาตรวจสอบอย่างละเอียดลึกซึ้งโดยผู้ชำนาญการพิเศษของสภาวิศวกรร่วมกับวิศวกรรมสถานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังมีแง่มุมที่น่าจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในแง่ของสาธารณะชนและผู้บริโภค คือ การใช้ช่องว่างทางกฎหมายเกี่ยวกับอาคารสูงหรืออาคารใหญ่ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการเกี่ยวกับที่จอดรถ เกี่ยวกับระบบความปลอดภัย และเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งกำลังระบาดหนักบริเวณชานเมืองของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะย่านสถาบันการศึกษาหรือย่านศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ดึงดูดผู้คนและสาธารณะเข้ามาใช้สอยหรืออยู่อาศัยกันเนืองแน่นมากขึ้น

อนึ่ง ผลการตรวจสอบที่คาดว่าจะรู้ถึงสาเหตุของการวิบัติ ยังจะต้องนำไปสู่การวิเคราะห์วิจัย และนำไปสู่การวินิจฉัยเพื่อเสริมสร้างมาตรฐานการประกอบวิชาชีพให้แข็งแรงยิ่งขึ้นเพื่อการป้องกัน และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดสมรรถภาพทางวิชาชีพ รองรับมาตรการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างยั่งยืนสืบไป

ที่มา:http://www.chula.ac.th