logo isranews

logo small 2

ก.เกษตรฯ ลุยส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ นำร่อง ‘สิงห์บุรี – กำแพงเพชร’

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 02 มิถุนายน 2558 เวลา 10:48 น.
เขียนโดย
isranews

'ปีติพงศ์' ลุยส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ยกชั้นเกษตรกร เพิ่มรายได้แตะ 2 แสน/ปี นำร่อง 'สิงห์บุรี - กำแพงเพชร' ระบุหากไม่ปรับตัว หวั่นเเข่งขันตลาดโลกไม่ได้ ยันรัฐบาลไม่เเทรกเเซงกลไกตลาด

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนระบบส่งเสริมการเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่จะสำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝาย ภายใต้การดูแลของคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตร ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีผู้จัดการแปลง ทำหน้าที่บริหารจัดการทุกกิจกรรมของโครงการ ตั้งแต่การจัดหาปัจจัยการผลิต การผลิต คุณภาพผลผลิต การเก็บเกี่ยว การบริหารจัดการโลจิสติกส์ และการตลาด รวมถึงการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยเบื้องต้นมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้คัดเลือกผู้จัดการแปลง แต่ในอนาคตอาจจะจ้างผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหาร และยืนยันว่า การทำเกษตรแปลงใหญ่ ไม่ได้นำกรรมสิทธิ์มารวมกัน แต่จะเชื่อมโยงการทำการเกษตร ให้เป็นกลุ่มเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 5% เพิ่มรายได้ประมาณ 20% ต่อปี

"หากหลังจากนี้เกษตรกรไม่ปรับตัว จะไม่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ ทั้งในส่วนของต้นทุน ผลผลิตและราคา และเชื่อว่าไม่เกิน 5 ปี สินค้าไทยจะหายไป โครงการแปลงใหญ่นี้แสดงให้เห็น ว่ารัฐบาลไม่ได้แทรกแซงกลไกตลาด แต่เป็นการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร” รมว.กษ. กล่าว

“สิงห์บุรี-กำแพงเพชร” นำร่องแปลงใหญ่

รมว.กษ. กล่าวว่า เตรียมเดินหน้าโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมแบบแปลงใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยยกจังหวัดสิงห์บุรีและกำแพงเพชร เป็นตัวอย่างนำร่อง ซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่เกษตรทั้งหมด 9.24 ล้านไร่ คิดเป็น 72.04 % ของพื้นที่ทั้งหมดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ครอบคลุม 16 จังหวัด 91 อำเภอ 673 ตำบล และ 5,287 หมู่บ้าน มีประชากร 5.62 ล้านคน (ไม่รวมพื้นที่กทม.) ในจำนวนนี้ 11.39% ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยแบ่งพื้นทำนาข้าว 5.84 ล้านไร่ หรือ 45.59% ของพื้นที่ทั้งหมด ทำพืชผลัก 0.094 ล้านไร่ หรือ 0.73% ของพื้นที่ทั้งหมด พืชไร่ 2.39 ล้านไร่ หรือ 18.66% ของพื้นที่ทั้งหมด ไม้ผล-ไม้ยืนต้น 0.609 ล้านไร่ หรือ 4.75% ของพื้นที่ทั้งหมด เกษตรอื่นๆ 0.29 ล้านไร่ หรือ 2.31% ของพื้นที่ทั้งหมด ป่าไม้ 0.63 ล้านไร่ หรือ 4.94% ของพื้นที่ทั้งหมด และพื้นที่อื่นๆ 2.95 ล้านไร่ หรือ 23.01% ของพื้นที่ทั้งหมด

ปีก่อนผลผลิตการทำนา ขาดทุนไร่ละ 3,240 บาท

สำหรับวัตถุประสงค์ เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพตามกระบวนการจัดทำโซนนิ่งที่เหมาะสม โดยแนะนำให้เกษตรกรรวมกลุ่มให้มีพื้นที่เพาะปลูกอย่างน้อย 30 ไร่ และนำแผนการเพาะปลูกตามกิจกรรมที่กระทรวงส่งเสริม รวมทั้งแนะนำให้เกษตรกรเลือกชนิดการปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อลดปัญหาขาดทุนจากการทำนาอย่างต่อเนื่องของเกษตรกร โดยรัฐบาลมีการสำรวจการทำนาในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3 รอบ/ปี คือรอบแรกเดือน พ.ค.-ก.ค. รอบที่ 2 เดือนส.ค.-พ.ย. และรอบที่ 3 เดือนธ.ค.-เม.ย. ในปี 2557/58 ขาดทุนกว่า 3,240 บาท/ไร่

เข้าโครงการแปลงใหญ่ต้นทุนลด-ผลผลิตเพิ่ม

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ศึกษาต้นทุนการผลิตหากดำเนินการตามการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมแบบแปลงใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภายใต้พื้นที่ 30ไร่/ราย พบว่า ต้นทุนการผลิตปี 2558/59 ลดลง เนื่องจากเกษตรกรสนับสนุนการใช้ปุ๋ยสั่งตัด สนับสนุนให้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง และสนับสนุนเงินลงทุนซื้อเครื่องจักกลทางการเกษตร เช่น รถหยอดข้าว รถเกี่ยวข้าว ฯลฯ ทั้งนี้ราคาสินค้าเกษตรจะตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล ต้นทุนที่ลดลง 5% รายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของเกษตรกรรม และสนับสนุนให้เกษตรกรไทยมีงานทำตลอดทั้งปี ช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรในโครงการจำนวน 2.2 แสนราย ให้มีรายได้ในระยะ 5 ปี เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20% มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 5% ต่อปี ตลอดระยะเวลาของโครงการ

รายได้สุทธิเพิ่มเป็น 78,000-207,600 บาท/ปี

สำหรับรายได้สุทธิหักต้นทุน อยู่ที่ 78,000-207,600 บาท/ปี ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานตามเกณฑ์สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ที่มีรายได้ไม่หักต้นทุนที่ 180,000 บาท/ราย โดยคิด 1 ปีการผลิต หากทำเกษตรกรรมแบบแปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐบาล รอบแรกเดือน พ.ค.-ก.ค. ปลูกข้าวขาว รอบที่ 2 เดือนส.ค.-พ.ย. ข้าวหอมปทุม และรอบที่ 3 เดือนธ.ค.-เม.ย. หากปลูกถั่วเขียว จะมีรายได้ 4,670 บาท/ไร่ หรือรายได้ 140,100 บาท/ราย/ปี หากปลูกถั่วลิสง จะมีรายได้ 6,920 บาท/ไร่ หรือ 207,600 บาท/ไร่/ปี ปลูกถั่วหลือง จะมีรายได้ 2,600 บาท/ไร่ หรือรายได้ 78,000 บาท/ราย/ปี และหากปลูกข้าวโพด จะมีรายได้ 3,620 บาท/ไร่ หรือ 108,600 บาท/ราย/ปี

ขณะที่โครงการนำร่องแปลงใหญ่จังหวัดสิงห์บุรี มีพื้นที่รวม 197,091 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 155,324 ไร่ และเป็นพื้นที่นา 146,021 ไร่ คิดเป็น 94.01% ของพื้นที่เกษตรกรรมอำเภออินทร์บุรี และมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนการทำนาจำนวน 4,463 ราย มีเป้าหมายในพื้นที่ 100,000 ไร่ เกษตรกร 4,500 ราย คาดมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20% ในช่วงระยะเวลา 5 ปี และเกษตรกรอินทร์บุรีประสบปัญหาภัยแล้งในปี 2558 ไม่สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ตลอดทั้งปี แม้จะมีระบบชลประทาน แต่ยังไม่เพียงพอต่อการทำนาของเกษตรกรที่นิยมทำนาตลอดทั้งปี รวมทั้งปัญหาราคาสินค้าเกษตรในปี 2558 ตกต่ำ โดยเฉพาะราคาข้าว ที่เป็นปัญหามาจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และความต้องการของตลาดโลกและประเทศไทยลดลง 

ผู้ว่าฯ เลือกแล้ว 263 พื้นที่

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรของจังหวัด และระบบการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ปี 2558 เพื่อให้เกษตรเกิดความร่วมมือในการผลิต หรือองค์กรเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้เกิดขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ (Economy of Scale) ซึ่งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด ได้ประชุมคัดเลือกพื้นที่แล้วเสร็จเมื่อเดือนเม.ย. 2558 จาก 76 จังหวัด 28 สินค้า จำนวน 263 แปลง มีรายชื่อผู้จัดการแปลงจำนวน 263 คน ประกอบด้วย

1. พืช รวม 21 ชนิด จำนวน 241 แปลง ได้แก่ ข้าว 138 แปลง ยางพารา 3 แปลง ปาล์มน้ำมัน 12 แปลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 10 แปลง อ้อยโรงงาน 5 แปลง มันสำปะหลัง 17 แปลง ผลไม้ 45 แปลง และพืชอื่น ๆ ได้แก่ พืชผัก/อื่น ๆ 12 แปลง

2 . ปศุสัตว์ 3 ชนิด ได้แก่ ไก่พื้นเมือง โคเนื้อ และโคนม

3. ประมง 3 ชนิด ได้แก่ กุ้งขาว หอยแครง และปลาน้ำจืด

ปี 59 พร้อมจัดสรรงบลงแปลงใหญ่

สำหรับงบประมาณในการดำเนินการปี 2558 ใช้งบประมาณจากแหล่งต่าง ๆ ได้จัดสรรไว้แล้ว เพื่อปฏิบัติงานแบบบูรณาการ ได้แก่ งบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจัดสรรให้กับหน่วยงานในระดับจังหวัดไปดำเนินการตามภารกิจ, งบกลาง ที่มีการจัดสรรเพื่อดำเนินการในจังหวัด, งบกลุ่มจังหวัด/จังหวัด, งบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และงบอื่นๆ อาทิ เงินกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เงินกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด และผู้จัดการพื้นที่เป็นผู้ประสานงานให้ได้งบประมาณสนับสนุนกิจกรรมตามแผนการผลิตในแต่ละพื้นที่ ซึ่งปี 2559 กรมที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมตามระบบส่งเสริมการเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่ โดยโครงการเกษตรกรรมแบบแปลงใหญ่มีอายุ 5 ปี กำหนดเวลาชำระคืนเงินกู้ได้ภายใน 5 ปี .