logo isranews

logo small 2

บทสรุปผลสอบเครื่องฝึกบินเอแบคฉาว!ชี้วีรกรรม"ฝ่ายบริหาร"น่ากังวลเรื่องใช้เงิน

"..อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ากังวลว่าการดำเนินงานและปฏิบัติของฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย มิได้นำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากสภาฯ ก่อนที่จะเสนอขอความเห็นชอบจาก สกอ. แต่เมื่อได้ดำเนินการไปแล้ว ประกอบกับการมีปัญหาเรื่องการรับรองรายงานทางการเงิน และการแสดงความเห็นในรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต.."

1aviatorabacassuniver040515

หลายคนอาจจะทราบกันไปแล้ว การดำเนินงานโครงการห้องปฏิบัติการเครื่องฝึกบินจำลองเสมือนจริง แบบแอร์บัส เอ 320 ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในประเด็นเรื่องการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาบริหารของฝ่ายบริหาร ว่ามีปัญหาในเรื่องการฝ่าฝืนมติสภามหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาอย่างไรบ้าง 

(อ่านประกอบ : ผลสอบเครื่องฝึกบินเอแบคฉาว! ปมตั้งบ.ร่วมทุน ไม่ผ่านสภาฯ-สกอ. เสียหาย 60 ล.)

แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าผลจากการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว ของฝ่ายบริหาร มีปัญหาส่งผลไปยังกระบวนการจัดทำงบการเงิน ที่ต้องนำส่งให้สภามหาวิทยาลัย และสกอ.รับทราบอีกด้วย อันนำไปสู่การตัดสินใจใช้วิธีการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบซ้ำรอยอีกครั้ง และเป็นผลทำให้มหาวิทยาลัยเกิดความเสียหายอย่างมาก  

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีโครงการฯ นี้ ในส่วนที่เหลือมานำเสนอ ณ ที่นี้ 

@ ผลกระทบต่อความถูกต้องของงบการเงิน ประจำปี 2557 สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 ที่ฝ่ายบริหารขอความเห็นชอบต่อสภามหาวิทยาลัยและนำส่ง สกอ.

สืบเนื่องจากการที่ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการลงทุนในโครงการโดยซื้อเครื่องฝึกบินจำลองแต่ผู้เดียว โดยเริ่มตั้งแต่การลงทุนในหุ้น ในบริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด  ถือหุ้น 100% ด้วยการลงทุนในทุนจดทะเบียน 90ล้านบาท และจ่ายส่วนเกินมูลค่าหุ้น (Premium ) ให้กับผู้ร่วมทุนเอกชนเดิม  อีก 4.33 ล้านบาท คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 94.33 ล้านบาท

นอกจากนี้มหาวิทยาลัย  ยังได้ให้เงินกู้ยืมอีกจำนวน 235.42 ล้านบาท แก่บริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ดังนั้น ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ของมหาวิทยาลัยเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นรายการที่มีสาระสำคัญ  และยังไม่ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ผู้สอบบัญชี จึงต้องรายงาน ดังนี้

(1) ผู้สอบบัญชีต้องเปิดเผยเงินลงทุนในบริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด  จำนวน 94.33 ล้านบาท และเงินให้กู้ยืมแก่บริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด   จำนวน 235.42 ล้านบาท ว่า ยังไม่ได้รับการอนุมัติ แต่อยู่ในระหว่างการขออนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย

ดังนั้น ผู้บริหารจึงได้นำเรื่องการลงทุน และการให้กู้ยืมดังกล่าว  เพื่อการขอสัตยาบันในการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 เพื่อที่จะได้ตัดข้อความ การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตออกไปจากรายงานของผู้สอบบัญชี และนำเสนอต่อ สกอ.

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยในครั้งต่อไป เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 สภามหาวิทยาลัย ไม่รับรองรายงานการประชุม เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ที่มีการขอสัตยาบัน และขอถอนวาระการรับรองรายงานการประชุมออกจากการประชุม จึงมีผลทำให้งบการเงิน ประจำปี2557 ที่มีรายงานของผู้สอบบัญชี รับอนุญาต ที่นำส่ง สกอ. ไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ได้เปิดเผยสาระสำคัญโดยครบถ้วน

(2)เนื่องจากในปีที่ผ่านๆ มา มหาวิทยาลัยได้มีนโยบายบัญชีที่ถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานการรายงานแบบมีส่วนได้เสียสาธารณะ ( PAE. หรือ Public Accountant Enterprise ) และโดยที่ริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด มีฐานะเป็นบริษัทลูกของมหาวิทยาลัย ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต จะรับรองงบการเงินก็โดยที่มหาวิทยาลัย  จะต้องนำงบการเงิน ซึ่งหมายถึง ฐานะการเงิน และผลประกอบการของริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด  เข้ามารวม ( Consolidation ) กับงบการเงินของมหาวิทยาลัยด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะไม่ต้องนำงบการเงินของริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด  เข้ามารวมอยู่ในงบการเงินของมหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่ควรต้องนำเข้ามารวม ผู้บริหารที่รับผิดชอบการจัดทำงบการเงิน จึงแก้ปัญหาโดยให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงการถือปฏิบัติมาตรฐานการรายงานทางการเงินจากเดิม ไปเป็นแบบที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ( NPAE หรือ Non Public Accountant Enterprise )

การเปลี่ยนแปลงนโยบายบัญชีที่สำคัญดังกล่าว ฝ่ายบริหารต้องนำเข้าขออนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย แต่ก็มิได้ดำเนินการ นอกจากนั้น ยังมีผลทำให้งบการเงินของมหาวิทยาลัยต้องแก้ไขย้อนหลังในงบการเงินปีที่ผ่านมา อาทิ เช่น ตีราคาที่ดินให้ลดลงจำนวนเงิน 1,744 ล้านบาท มีผลทำให้สินทรัพย์ของมหาวิทยาลัยลดลงไปด้วย

@ การแก้ปัญหาโดยการขอสัตยาบัน

เพื่อแก้ไขปัญหาที่ฝ่ายบริหาได้ดำเนินการไป ไม่สอดคล้องกับมติหลักการและเหตุผลที่ได้ขอไว้จากสภามหาวิทยาลัย ประกอบกับการดำเนินการในเรื่องที่มีสาระสำคัญ เช่น การเข้าซื้อหุ้น และถือหุ้นแต่ผู้เดียวแทนการร่วมทุนถึง 94.33 ล้านบาทและให้เงินกู้ยืมอีก จำนวน 235.42 ล้านบาท โดยมิได้ขออนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย จนเป็นเหตุทำให้เกิดปัญหาต่อการรายงานของผู้สอบบัญชีรับอุนญาตในหลายๆ ประเด็น ที่ระบุไปแล้ว และอาจส่งผลต่อความสอดคล้องถูกต้อง เมื่อเทียบกับสิ่งที่ผู้บริหารปฏิบัติกับหนังสือที่นำส่ง สกอ. เพื่อขอความเห็นชอบแม้ว่ามหาวิทยาลัยจะได้ขอถอนเรื่องคืนจาก สกอ.ก็ตาม

ฝ่ายผู้บริหารผู้รับผิดชอบโครงกาฯ  จึงได้เสนอเป็นวาระต่อสภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 4/2557 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 เพื่อขอสัตยาบันหลักๆ ใน 4 ประเด็น

ประเด็นที่1

มหาวิทยาลัยได้ซื้อหุ้น ริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด จำนวน 900,000 หุ้น ๆ ละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 90 ล้านบาท ค่าส่วนที่จ่ายเป็น Premium อีก 4,332,960 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 94,332,960 บาท เพื่อนำมาบริหารจัดการเอง

ประเด็นที่2

มหาวิทยาลัยให้ริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด กู้ยืมเงิน จำนวน  235,422,904.55 บาท เพื่อนำไปจ่ายค่าเครื่องฝึกบินที่ ริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ค้างชำระ

ประเด็นที่3

ติดต่อขายเครื่องฝึกบินจำลอของริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ให้แก่Panama International Flight Training ในราคา 340,875,541 บาท

ประเด็นที่4

เจรจาร่วมทุนกับกลุ่มบริษัท Panama International Flight Training ในวงเงิน 27ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การขอสัตยาบัน ในประเด็นที่1และ 2เพื่อแก้ไขปัญหาโดยการตัดข้อความการรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่ว่าการลงทุและการให้กู้ยืมเงินแก่ริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากสภาฯ ซึ่งหากไม่ตัดออกอาจนำไปสู่การตั้งคำถามในอนาคตของ สกอ.ได้

แต่เมื่อสภามหาวิทยาลัยไม่รับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ 4/2557 ที่มีการบันทึกขอสัตยาบัน และขอถอนวาระการรับรองรายงานการประชุมออกจากการประชุม ผลดังกล่าวได้ทำให้เกิดปัญหาความถูกต้อง ครบถ้วน งบการเงินประจำปีที่นำส่ง สกอ.

(2)การขอสัตยาบันในประเด็นที่ 3 และ 4 เพื่อแก้ปัญหาการใช้เงินเพื่อลงทุนในโครงการของมหาวิทยาลัย โดยผู้บริหารไม่ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยฯ จนต้องนำมาขอสัตยาบันข้างต้น เพื่อที่จะแสดงว่ามหาวทิยาลัยได้รับเงินคืนจากการจำหน่ายเครื่องฝึกบินจำลองของริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด และนำมาคืนให้กับมหาวิทยาลัย โดยผู้นำเสนอแจ้งว่ามหาวิทยาลัยจะไม่มีผลเสียหายหรือขาดทุนแต่อย่างใดและพร้อมกันนี้ ฝ่ายบริหารได้ขออนุมัติการลงทุนอีกครั้งในวงเงิน 27 ล้านบาท

นอกจากนี้ สภามหาวิทยาลัยได้ให้ ผู้เกี่ยวข้อง ไปปรึกษา อาจารย์รายหนึ่ง ในเรื่องแผนการลงทุนและศึกษาความเป็นไปได้ ( Feasibility Study ) และมาชี้แจงข้อมูล ในเรื่องแผนการลงทุนและประมาณการของผลการศึกษาความเป็นไปได้

พบว่ามหาวิทยาลัยจะได้ผลการตอบแทนจากการลงทุน 27 ล้านบาท ค่อนข้างต่ำ ประมาณ 2-3% ต่อปี ในระยะแรกของแผนสำหรับการจำหน่ายเครื่องฝึกบินจำลองให้กับ Panama International Flight Training จะไม่มีผลเสียหายและขาดทุนแต่อย่างใด แต่จากผลการสอบถามในเบื้องต้น ริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด จะมีผลขาดทุน ตั้งแต่จัดตั้งบริษัทจนกระทั่งจำหน่ายเครื่องประมาณ 60 ล้านบาท 

@ บทสรุป

โครงการห้องปฏิบัติการเครื่องฝึกบินจำลองเสมือนจริงแบบแอร์บัส เอ 320 เพื่อดำเนินการจัดการศึกษา สาขาวิศวกรรมการบิน ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินโลก แต่เนื่องด้วยเครื่องฝึกบินจำลองนี้มีราคาค่อนข้างสูง ใช้ทุนเป็นจำนวนมาก ต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นสากล

ประกอบกับผลการศึกษา มีภาคเอกชนสนใจที่จะมาลงทุน จากหลักการและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงไม่คุ้มค่าที่มหาวิทยาลัยจะลงทุนเอง  ดังนั้น  ผู้รับผิดชอบในโครงการฯ ขณะนั้น ได้เสนอการร่วมมือกับภาคเอกชนให้มาลงทุนจัดหาเครื่องฝึกบินจำลองเสมือนจริง โดยมหาวิทยาลัยให้ความสนับสนุนด้วยการร่วมลงทุนในวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย ซึ่งผู้ร่วมทุนภาคเอกชนรายใหญ่รายหนึ่ง คือผู้ขายเครื่องบินและต้องเป็นแกนหลักในการเพิ่มทุนจดทะเบียนและการจัดหาทุนในรูปของเงินกู้ ร่วมกับมหาวิทยาลัย

เมื่อเวลาผ่านไป การเปลี่ยนผู้รับผิดชอบโครงการฯ หลักการและเหตุผลในการร่วมลงทุนตามมติสภา เพื่อลดความเสี่ยงได้เปลี่ยนไปเป็นการที่มหาวิทยาลัยจะลงทุนเองทั้งหมด โดยเริ่มตั้งแต่ จัดตั้งริษัท ไฟล์ท ซิมูเลเตอร์ กรุ๊ป จำกัด  การเพิ่มทุนจดทะเบียนการจ่ายเงินและรับซื้อหุ้นคืนจากเอกชน ในราคาบวก Premium และเป็นผู้ถือหุ้น 100% ในที่สุด และภาวะความจำเป็นเข้าไปรับผิดชอบโครงการแต่ผู้เดียว มหาวิทยาลัยได้ให้เงินกู้ยืมดังที่ทราบแล้วนั้น โครงการฯ นี้ มีความสำคัญ ใช้เงินลงทุนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อซื้อเครื่องฝึกบินจำลอง เครื่องต่อๆ ไป ในอนาคตอันใกล้ มีความเสี่ยงสูงและไม่ใช่กิจกรรมหลักของมหาวิทยาลัยที่เป็น Non-Profit Organization

ดังนั้น การเสนอเรื่องเพื่อขอความเห็นชอบต่อ สกอ. ก่อนการดำเนินงานจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนั่นหมายถึงว่า ผู้รับผิดชอบโครงการควรนำหลักเกณฑ์และเหตุผลเพื่อขออนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ก่อนที่จะเสนอ สกอ. เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ากังวลว่า การดำเนินงานและปฏิบัติของฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย มิได้นำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากสภาฯ ก่อนที่จะเสนอขอความเห็นชอบจาก สกอ. แต่เมื่อได้ดำเนินการไปแล้ว ประกอบกับการมีปัญหา เรื่องการรับรองรายงานทางการเงิน และการแสดงความเห็นในรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

ฝ่ายบริหารจึงได้นำเป็นวาระจร เพื่อขอสัตยาบันต่อสภาฯ และในที่สุดเป็นที่น่าเสียดายว่า ได้นำไปสู่การไม่สามารถมีมติให้สัตยาบันได้

ทั้งนี้ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายท่านเล็งเห็นว่า การขอสัตยาบันทั้งในเรื่องการเพิ่มทุนเพื่อถือหุ้น การให้เงินกู้ยืม ตลอดจนการเสนอให้ขายเครื่องบินจำลองให้กับบริษัทเอกชนรายใหม่ พร้อมกับการเข้าร่วมลงทุนกับผู้ซื้อด้วยแล้ว ควรได้รับการดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. กฎหมาย และระเบียบ คำสั่งที่เกี่ยวข้อง

และที่น่ากังวลอย่างที่สุดก็คือคำถามที่ว่า ทำไมผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการเงินของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นด่านสุดท้าย จึงสามารถอนุญาตให้มีการจ่ายเงินออกจากมหาวิทยาลัยได้ ระบบการควบคุมภายในในส่วนของระบบงานและการจ่ายเงินตามคำสั่งของผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งจ่ายได้อย่างไร คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ควรจะให้มีการทบทวนระบบการควบคุมภายในเร่งด่วน

--------

ทั้งหมดนี่ คือ เนื้อหาในรายละเอียดผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินงานโครงการห้องปฏิบัติการเครื่องฝึกบินจำลองเสมือนจริง แบบแอร์บัส เอ 320 ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่การดำเนินงานของฝ่ายบริหารถูกระบุว่ามีความผิดพลาดชัดเจน ยิ่งหาทางแก้ไขก็ยิ่งมีปัญหา

และจนถึงปัจจุบันนี้  ก็ยังไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด 

อ่านประกอบ :

เบื้องหลัง!กรณีเครื่องฝึกบินฉาว เอแบคสั่งตั้งกก.สอบแล้ว "ฝ่ายบริหาร" ผิดจริง

หลักฐาน"บิ๊กเอแบค"ตั้งบ.จัดหาเครื่องบิน ก่อนมหาลัยใช้เงินซื้อหุ้นตัวเอง 94 ล.

ชัดๆเงื่อนงำห้องปฏิบัติการฝึกบินฯ อีกชนวนเหตุชงตั้งกก.สอบ"อธิการฯเอแบค"

ตามไปดู!"บ.ไฟล์ทฯ" ม.อัสสัมชัญ ใจดีให้กู้ 235ล. ช่วยซื้อเครื่องฝึกบิน

ชงตั้งกก.สอบอธิการฯ ปมเอแบคโพลล์ พ่วง2กรณีฉาว จี้หยุดปฏิบัติหน้าที่

"นพดล"ยันทำทุกอย่างถูกต้อง หลัง'อัสสัมชัญ' สั่งสอบปมค่าใช้จ่ายงบเอแบคโพลล์ 48 ล.

ข้อมูล"บัญชีลับ"เอแบคโพลล์!ฝาก-ถอนไม่ผ่านอัสสัมชัญ เงินขาด 8 ล้าน

ชำแหละปม"ค่าจ้างวิจัย"เอแบคโพลล์"รับจ๊อบงานนอก ไม่ส่งเงินคืนมหาวิทยาลัย

เปิดคำให้การคดี"เอแบคโพลล์"ยัน"ผู้บริหาร"ใช้เงินสนง.ซื้อลูกหมาตัวละเกือบหมื่น

เปิดผลสอบเงิน"เอแบคโพลล์"จ่ายอุตลุด"ซื้อสุนัข-ค่าตอบแทนสื่อ-เลี้ยงอาหาร ตร."

ชื่อ"นักข่าว"หราโผล่รับเงิน 2 ล.!ผลสอบระบุ"เอแบคโพลล์"ทุ่มจ่ายสื่อ 4.4 ล.

สภาฯหนังสือพิมพ์ สั่งสอบปม "นักข่าวทีวีปริศนา" รับเงิน เอแบคโพลล์ 2.1 ล.

"อดีตนักข่าวช่อง 5" อ้างรับค่าตอบแทนที่ปรึกษาวิจัยเอแบคโพลล์ 2.1 ล.

"จรรยาบรรณเราก็มี":เปิดใจ"นักข่าว"รับค่าตอบแทนเอแบคโพลล์ 2.1ล.?

"เอแบคโพลล์"แปลงกาย"มาสเตอร์โพลล์" หลังผู้บริหารถูกสอบ ลาออกยกชุด

อดีตนักวิจัยเอแบคฯ อ้างเคลียร์ปัญหาเงินหมดแล้ว ก่อนลาออกตั้ง "มาสเตอร์โพลล์"

ภาพประกอบ : http://www.admissions.au.edu