logo isranews

logo small 2

นารีเขต…"ผู้นำสตรีในอุษาคเนย์”

เขียนวันที่
วันอาทิตย์ ที่ 25 กันยายน 2554 เวลา 07:58 น.
เขียนโดย
ณัฏฐพัชร์ ทัศนรุ่งเรือง


ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ชื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้าวเข้าสู่การเมืองอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม  2554 หลังที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ต่อมา 5  สิงหาคม 2554 มติเสียงข้างมากในสภาก๋เห็นชอบให้เธอเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 28

เส้นทางของนายกรัฐมนตรีหญิงอายุน้อยที่สุดของไทย ด้วยวัย 44 ปี และถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของตระกูลชินวัตร มีความเหมือนหรือแตกต่างจาก ผู้นำสตรีในเอเชีย คนอื่นๆ อย่างไร

นายคริส เบเคอร์ (Chris Baker) นักเขียนชาวอังกฤษ และเชี่ยวชาญด้านเอเชีย  วิเคราะห์ผู้นำสตรีในเอเชียใต้ เปิดเวทีเสวนาอุษาคเนย์สาธารณะ ครั้งที่ 5 เรื่อง "ผู้นำสตรีในอุษาคเนย์ (Female Leadership in Southeast Asia)" ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  ไว้เมื่อไม่นานมานี้ ว่า ผู้นำสตรีในเอเชียที่ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีลักษณะเหมือนๆ กัน

- นางสิริมาโว บันดารานัยเก  (Sirimavo Bandaranaike) ของประเทศศรีลังกา ซึ่งได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก หลังสามีซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ถูกลอบสังหาร  เธอดำรงตำแหน่งนานถึง 3 สมัย รวมเป็นเวลา 13 ปี

- นางเบนาซี บุตโต  (Benazir Bhutto)  บุตรสาวของ ซัลฟิการ์ อาลี บุตโต  อดีตประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี   ที่ถูกรัฐประหารและประหารชีวิต หลังจากนั้นเธอขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปากีสถาน 3 สมัย รวมเวลา 5 ปี  จนกระทั่งถูกลอบสังหารระหว่างการหาเสียง

- นางอินทิรา คานธี  ลูกสาวของชวาหระลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย เจริญรอยตามพ่อขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง 4 สมัย รวมเป็นเวลา 15 ปี  และถูกลอบสังหาร

-  นางคาลิดา เซีย (Khaleda Zia) นายกรัฐมนตรีบังคลาเทศ ขึ้นดำรงตำแหน่งหลังจากที่ประธานาธิบดี Ziaur Rahman ผู้เป็นสามีถูกลอบสังหาร

เช่นเดียวกันกับ นางคอราซอน อากีโน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ หลังการเสียชีวิตของสามี หรือที่พม่า มีอองซาน ซูจี ,อินโดนีเซียมี เมกาวาะตี ซูการ์โนบุตรี ซึ่งล้วนขึ้นสู่ตำแหน่งสืบต่อจากบิดา 

ส่วนประเทศไทย มีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ผลักดันดันน้องสาว ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

เส้นทางเดินของผู้นำสตรีเหล่านี้ คริส เบเคอร์  วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า เพราะประเทศในเอเชียได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย มากกว่าได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีน

"เราไม่พบผู้นำสตรี ในจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม สิงคโปร์  ในประเทศที่มีความรุนแรง เช่น มีเหตุการณ์รัฐประหาร ถูกลอบสังหาร ท้าทายคุณสมบัติของผู้หญิงให้ขึ้นมามีอิทธิพลมากกว่า โดยเฉพาะครอบครัว เป็นสิ่งสำคัญมากในประเทศแถบเอเชีย เช่น นายกฯ  ยิ่งลักษณ์ ที่ขึ้นมาได้ก็เพราะมาจากครอบครัวการเมือง" คริส เสริม และทิ้งท้ายว่า ...

ผู้นำสตรีคนอื่นๆ ในเอเชียขึ้นสู่อำนาจด้วยชื่อเสียงของครอบครัวหรือการเสียชีวิตของผู้นำคนก่อน แต่สำหรับนายกฯ ยิ่งลักษณ์  มีความแตกต่างจากผู้นำสตรีคนอื่น  ในแง่ว่า ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งได้เพราะพี่ชาย  และผู้ที่ผลักดันเธอ หรือผู้ที่สร้างแรงจูงใจให้นั้น ยังมีชีวิตอยู่...

“คอรี่ อากีโน” นารีขี่ม้าขาวของฟิลิปปินส์

"เมื่อประวัติศาสตร์ถูกเขียนคนละแบบ  ภาพของมหาบุรุษ หรือมหาสตรีจะแตกต่างไปขึ้นอยู่กับการให้นิยาม" อาจารย์อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณะศิลปะศาสตร์ มธ. เริ่มต้นอย่างน่าสนใจ เมื่อวิเคราะห์ผ่านชีวประวัติ และเส้นทางการเมือง ของผู้นำสตรี อย่าง “คอรี่ อากีโน” หรือ นางคอราซอน อากีโน ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์  ที่เธอถูกปรามาสไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง ด้วยมีภาพลักษณ์ความเป็น “แม่บ้าน”  อยู่ในครอบครัวทางการเมือง และเมื่อขึ้นสู่อำนาจ ทีมบริหารส่วนใหญ่ของเธอก็เป็นบุรุษเพศ

น่าสนใจด้วยว่า ในบรรดาเอกสารวิชาการส่วนใหญ่ จะบอกว่า คนที่ได้ประโยชน์จากการขึ้นสู่อำนาจของอากีโน ก็คือ กลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มคนข้างบนนั่นเอง  กระทั่งมีการวิเคราะห์กันไปว่า เธอแค่มาบรรเทาความเจ็บปวดในยุคของความไม่เป็นประชาธิปไตย ของ ฟอร์ดินานท์ มากอส 

และแล้ว เธอก็ไม่ได้ทำอะไรจริงจัง นอกจากมาวางรากฐาน ผู้ชายคนต่อมา นั่นก็คือ ฟิเดล รามอส

“ผู้นำสตรีส่วนใหญ่ในเอเชีย เป็นผู้ได้รับความทุกข์ทรมาณ ต้องการต่อสู้กับความอยุติธรรม ผู้หญิงจึงอยู่ในคราบนารีขี่ม้าขาว และถูกใช้เป็นเครื่องหมายของความดีงาม กรณีของ คอรี่ อากีโน ขึ้นมาจากความคาดหวังของศาสนจักร มากำจัดคอร์รัปชั่น ความไม่ดี เปรียบเสมือนนารีขี่ม้าขาวของฟิลิปปินส์”

ดังนั้น ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายที่มีอำนาจ อาจารย์อัครพงษ์ จึงมองว่า อยู่ที่ “โอกาส” มากกว่า...

ภาพความเป็นแม่ที่เมกาวตรี ภูมิใจ

ผู้นำสตรีอีกคนที่นำเสนอตัวเองในฐานะแม่ และแม่บ้าน ก้าวเข้าสู่ทำเนียบประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ก็คือ เมกาวตรี ซูการ์โนบุตรี  อาจารย์อรอรงค์ ทิพย์พิมล ผู้เชี่ยวชาญด้านอินโดนีเซียศึกษา มองถึงภาพลักษณ์ความเป็นแม่ที่เธอภูมิใจนำเสนอออกมา มีลักษณะที่ดูอบอุ่น เหมือนแม่ของประเทศ ขณะเดียวกันความเป็นคนเงียบ พูดน้อย จนถูกค่อนขอดว่า

...ร่างแถลงการณ์ก็มีคนร่างให้

...หากถามอะไรนอกสคริป ก็ตอบไม่ได้

จึงถือเป็นประธานาธิบดีที่โดนสื่อวิพากษ์หนัก ถูกดูถูกเหยียบหยามอย่างมาก แต่เธอก็ใช้วิธีการไม่เถียง ไม่แก้ข่าว

นารีเขต ซูจี กับการเมืองพม่า

สตรีอีกคนที่แตกต่าง บวกกับโชคชะตาเล่นตลกทำให้เธอยังไม่ได้เป็นผู้นำประเทศ  “อองซาน ซูจี”  วัย 66 ปี อาจารย์ดุลยภาค ปรีชารัชช  จากโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ. ซึ่งเชี่ยวชาญประเทศพม่า บอกว่า อองซาน ซูจี ไม่เหมือนอาโรโย่ เมกาวตรี แม้ซูจีจะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ความอับโชค ทำให้ไม่ได้รับตำแหน่งผู้นำพม่า เพราะรัฐบาลทหารล้มกระดานอย่างฉับพลันเสียก่อน

แต่สิ่งที่อองซาน มีเหนือสตรีคนอื่น ๆ คือ เธอเป็นผู้นำสตรีเอเชียคนแรกได้รับรางวัลโนเบล  สาขาสันติภาพ และถูกกักขังบริเวณ ทำให้ไม่สามารถไปรับรางวัลได้ 

หากจะศึกษาประวัติศาสตร์พม่าแล้วล่ะก็ เขาบอกว่า ต้องมองให้ออก เพราะอะไรซูจีถึงไม่มีโอกาสได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการบริหารประเทศพม่าอย่างเต็มตัว

ทำไมถึงพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ และต้องตกเป็นหมากอันหนึ่งของทหารพม่า เพราะเรื่องราวเหล่านี้ เพื่อจะช่วยตอบโจทย์ประชาคมโลกได้ กับอนาคตการเมืองพม่า

"หากจะทำความเข้าใจอองซานซูจี ต้องทำความเข้าใจ “นารีเขต” เขตอิทธิพลของสตรีพม่า ในประวัติศาสตร์ ความเชื่อด้วย ซึ่งจะพบว่า ผู้หญิงก็ได้รับความนับถือในสังคมพม่าเหมือนกัน แต่หากว่า พื้นที่ที่จะให้ซูจีได้หยัดยืนสบายในพื้นที่นารีเขตนั้น ไม่มีในสังคมพม่า"

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะฐานอำนาจถูกเคลื่อนไหวอยู่นอกเขตพม่า และปัจจุบันภาพนารีเขตของซูจี ในสังคมไทยเอง  ก็แทบไม่ค่อยมี เพราะนโยบายรัฐบาลเปลี่ยน ไปจับมือกับรัฐบาลทหารพม่าแล้ว

แล้วอนาคตของซูจีจะเป็นเช่นไร อาจารย์ดุลยภาพ ตอบคำถามนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยยืนยันว่า นารีเขตของซูจี ขึ้นอยู่กับการเมืองพม่า ภาพที่เห็นอนาคตสดใส มีการปรองดอง แต่จริงๆ คลื่นใต้น้ำไม่ได้เป็นเช่นนั้น ก่อนแนะให้มองการเมืองพม่าด้วยว่า ต้องมอง 3 เส้า กลุ่มอำนาจสำคัญ ได้แก่  1. กองทัพ 2.ซูจีกับพรรคเอ็นแอลดี (ณ วันนี้ยุบพรรคไปแล้ว) และ3. กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งซูจีต้องดิวกับกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง

ความตั้งใจจริงของผู้นำสตรี เกิดจากวิกฤติก่อน

สุดท้ายอาจารย์พิเชฐ สายพันธ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. วิเคราะห์ภาพรวมถึงเส้นทางการเมืองที่ทำให้เกิดผู้นำสตรีว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้เกิดสถานภาพผู้นำสตรีอันดับหนึ่งของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากวิกฤติทางการเมือง และมีผลกระทบต่อครอบครัว ซึ่งทุกคนมาเหตุผลเดียวกันนี้

และส่วนหนึ่งของการได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสตรีนั้น ผ่านการเลือกตั้งด้วยกระบวนทางการประชาธิปไตย การได้รับการคัดเลือก ผลคะแนนแสดงให้เห็นว่า ประชาชนยอมรับ ซึ่งผู้นำสตรีกลุ่มนี้เป็นภาพสะท้อนที่สำคัญของกระบวนการทางประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่เห็นชัดที่สุด คือ ผู้นำสตรีเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะความผูกพันทางครอบครัว  (อดีตผู้นำที่เป็นผู้ชาย เมีย ลูกสาว น้องสาว) โดยเฉพาะพื้นฐานทางสังคม อาจารย์พิเชฐ บอกว่า ถ้าสังเกตสถานภาพทางสังคมทั้งหมดล้วนแล้วแต่มาจาก “กลุ่มชนชั้นสูง”  ไม่มีลูกสาวชาวนา ไม่มีเมียพ่อค้าตามตลาด

...ผู้นำสตรีทั้งหมดล้วนมาจากตระกูลผู้นำทั้งนั้น

“ขอให้สังเกต ฟิลิปปินส์ คริสต์ศาสนามีบทบาทสำคัญในการผลักดันภาวะความเป็นผู้นำสตรีขึ้นมา โดยเฉพาะกรณีของอากีโน,อินโดนีเซีย มาเลเซีย ศาสนาอิสลามกลับเป็นแรงกดดัน แรงต้านต่อการขึ้นมาสู่ภาวะผู้นำของสตรี, ในพม่า พุทธศาสนาเป็นองค์กรสำคัญสนับสนุนบทบาทภาวะผู้นำของซูจี สำหรับในประเทศไทย พุทธศาสนาไม่มีพลัง”

เห็นไหมว่า อิทธิพลผู้หญิง และเครือญาติวงศ์วาน ที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีภาวะผู้นำสตรีอันเป็นที่ยอมรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้...