logo isranews

logo small 2

ประทับจิต นีละไพจิตร : “อุ้มหาย” ในเมืองไทย

เขียนวันที่
วันเสาร์ ที่ 20 กรกฎาคม 2556 เวลา 07:00 น.
เขียนโดย
รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
หมวดหมู่

“...สิ่งที่มักจะเกิดกรณีคนถูกอุ้มหาย คือมีกระบวนการสร้างเฉไฉ บิดเบือน ด้วยการให้ข้อมูลอย่างคลุมเครือ ที่จะไม่บอกว่าเหยื่อเป็นหรือตาย ทำให้สังคมต้องตีความไปต่างๆ นานา กระทั่งเกิดความสับสน ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสังคม มักจะเชื่อสิ่งที่รัฐบาลพูด บางครั้งสื่อเองก็ไปประโคมข่าว โดยรับฟังเพียงข้อมูลจากรัฐ ขณะที่ความจริงอีกด้านจากครอบครัวเหยื่อ กลับถูกเผยแพร่น้อยมาก...”

(ประทับจิต นีละไพจิตร - ภาพประกอบจากเว็บไซต์ http://www.volunteerspirit.org)

เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ได้จัดงานพูดสันติภาพ ครั้งที่ 1 ในประเด็น “ทางเลือก-สู่สันติภาพ” โดยช่วงหนึ่งของงานมีการรำลึกถึงนายสมบัด สมพอน นักพัฒนาอาวุโสชาวลาว ที่ถูกอุ้มหายกลางนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว โดย น.ส.ประทับจิต นีละไพจิตร บุตรสาวนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมที่ถูกอุ้มหายใจกลาง กทม. ประเทศไทย ในฐานะเจ้าหน้าที่มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ได้กล่าวถึงรูปแบบการอุ้มหายในประเทศไทย ซึ่งข้อมูลบางส่วนปรากฏอยู่ในงานวิจัยเรื่อง “การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย” (เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2555) ของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในผู้จัดทำโดยการลมพื้นที่สืบค้นข้อเท็จจริงกรณีอุ้มหายกว่า 40 กรณีทั่วประเทศ

น.ส.ประทับจิตเริ่มต้นกล่าวถึงประวัติศาสตร์การ “อุ้มหาย” ว่า คำว่า “การบังคับบุคคลให้สูญหายโดยรัฐ” ในประวัติศาสตร์โลก เริ่มมีการพูดถึงเป็นครั้งแรกๆ สมัยที่รัฐบาลนาซีกระทำต่อชาติพันธุ์ยิว แต่กว่าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จะมีมาตรการป้องกันคนหลายอย่างจริงจัง ก็หลายสิบปีให้หลัง คือในปี ค.ศ.2000 โดยสาเหตุของการอุ้มหายทั่วโลก ล้วนเกิดจากผู้ลงมือต้องการกำจัดหรือล้วงความลับจากคนๆ นั้น ซึ่งผู้ถูกอุ้มหายน้อยรายที่จะมีโอกาสรอดกลับมา ส่วนใหญ่มักหายสาบสูญและไม่พบศพ

“สำหรับประเทศไทย เริ่มมีบันทึกเรื่องคนถูกอุ้มหาย ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีเอกสารหลักฐานปรากฏว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ถ่ายทอดการบังคับให้สูญหายแก่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะสหรัฐฯ มีนโยบายสำคัญในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งกลุ่มบุคคลหลักที่ได้รับการฝึกก็คือตำรวจ ก่อนจะค่อยขยายไปยังทหาร ในประเทศไทยมีเอกสารที่เขียนถึงเรื่องนี้หลายกรณี แต่เวลานั้นยังไม่มีความรู้ว่าการบังคับให้สูญหายคืออะไร มีเพียงการบันทึกว่าหายไปหรืออุ้มหาย” น.ส.ประทับจิตกล่าว

น.ส.ประทับจิต ยังกล่าวว่า ยูเอ็นให้นิยามการบังคับให้สูญหาย ไม่ต่างอะไรกับการลักพาตัว ซึ่งสังคมไทยเรียกว่าอุ้มนั่นเอง นิยามของยูเอ็น ก็คือเป็นการกระทำที่มุ่งจำกัดเสรีภาพโดยผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรืออาสาสมัครของรัฐ แต่แม้ไทยจะลงนามในอนุสัญญาของยูเอ็นเรื่องป้องกันไม่ให้มีคนหาย แต่กลับยังไม่มีการบัญญัติกฎหมายให้การบังคับบุคคลให้สูญหายโดยรัฐเป็นความผิดทางอาชญากรรม

“สิ่งที่มักจะเกิดกรณีคนถูกอุ้มหาย คือมีกระบวนการสร้างเฉไฉ บิดเบือน ด้วยการให้ข้อมูลอย่างคลุมเครือ ที่จะไม่บอกว่าเหยื่อเป็นหรือตาย ทำให้สังคมต้องตีความไปต่างๆ นานา กระทั่งเกิดความสับสน ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสังคม มักจะเชื่อสิ่งที่รัฐบาลพูด บางครั้งสื่อเองก็ไปประโคมข่าว โดยรับฟังเพียงข้อมูลจากรัฐ ขณะที่ความจริงอีกด้านจากครอบครัวเหยื่อ กลับถูกเผยแพร่น้อยมาก” น.ส.ประทับจิตกล่าว

สำหรับข้อมูลเรื่องคนถูกอุ้มหายในประเทศไทย น.ส.ประทับจิต กล่าวว่า จากกากลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้วยตัวเอง ระหว่างปี 2544-2554 เพื่อศึกษากรณีที่มีคนถูกอุ้มหาย 40 กรณี พบว่า รูปแบบที่ถูกพบบ่อยคือถูกอุ้มขึ้นรถยนต์อย่างนายสมบัดและนายสมชาย ส่วนวิธีที่ใช้มากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือการเชิญตัวไปที่สถานีตำรวจหรือค่ายทหาร ซึ่งท้ายสุดตำรวจหรือทหารก็จะอ้างว่าปล่อยตัวไปแล้ว นี่คือแพตเทิร์นอมตะนิรันดร์กาล บางกรณีถูกอุ้มหายทั้งๆ ยังอยู่ในโครงการคุ้มครองพยานของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งลูกความที่ทนายสมชายเคยทำคดีให้ หรือพยานในคดีคอร์รัปชั่นที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งเข้าไปขอความคุ้มครองจากตำรวจถึงสถานีตำรวจ แต่ก็ไม่เคยได้กลับออกมาอีกเลย โดยช่วงที่มีคนถูกอุ้มหายมากที่สุด คือตอนที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศสงครามกับยาเสพติดและก่อการร้าย ส่วนวัตถุประสงค์ของการอุ้มหาย ก็มีทั้งกำจัดศัตรูทางการเมือง หรือคนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อกล่าวหา

“นโยบายเหล่านี้ได้สร้างภาพว่า คนที่เป็นคนเลวควรจะหายตัวไป นี่เป็นความคิดที่น่ากลัวที่สุดในสังคมไทย เพราะคนไทยจำนวนไม่น้อยยอมรับความคิดนี้” น.ส.ประทับจิตกล่าว

ช่วงท้าย น.ส.ประทับจิต ได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องการอุ้มหาย ว่า ต้องร่วมกันผลักดันให้กระบวนการยุติธรรมมีการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้าง ให้เป็นที่พึ่งได้จริง ไม่หลงไปกับวาทกรรมหรือกลไกที่รัฐสร้างขึ้นเพื่อเบี่ยงประเด็น เพราะหนึ่งในวิธีแก้ปัญหานี้ดีที่สุดก็คือการเผชิญหน้ากับความจริง เหมือนกรณีที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รายหนึ่ง เชิญแม่ของตน (นางอังคณา นีละไพจิตร) ไปบอกว่า พ่อของถูกพาตัวไปไว้ในเซฟเฮ้าส์แถวรามคำแหง และถูกทรมานกระทั่งเสียชีวิต ท้ายสุด มีการทำลายศพและนำกระดูกไปทิ้งแม่น้ำแม่กลอง

“หลังจากเขาพูดจบ ก็ถามแม่ว่ารู้สึกอย่างไร แม่ก็บอกว่า บอกไม่ได้หรอกว่ารู้สึกอย่างไร แต่ก็ขอขอบคุณที่ให้รู้ว่าพ่อตายอย่างไร เมื่อกลับมาที่บ้าน แม่กลับมาบอกพวกเรา เราก็ร้องไห้ แต่ที่สำคัญคือเราได้รู้ความจริง เพราะก่อนหน้านี้ เราจินตนาการโดยไม่รู้ว่าพ่อจะเป็นอย่างไร แต่ในที่สุดก็ได้รู้ว่า พ่อถูกทรมานจนตาย และได้รู้ว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง” น.ส.ประทับจิตกล่าว.