logo isranews

logo small 2

เบื้องหลังเปิดโปงทุจริตคืนภาษี 4.3 พันล. ข่าวเจาะแห่งปี“สำนักข่าวอิศรา”

เขียนวันที่
วันจันทร์ ที่ 30 ธันวาคม 2556 เวลา 20:00 น.
เขียนโดย
isranews

เปิดโปงขบวนการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มฉาว 4.3 พันล้าน ข่าวเจาะแห่งปี“สำนักข่าวอิศรา” จากจุดเริ่มต้นเกาะติด 6 เดือนก่อนเชือด 18 ขรก.-5 เอกชน ย้ายซี 9 เด้งอธิบดี สู่มืออัยการ-ป.ป.ช.ลงดาบ

ในห้วงปี 2556 มีข่าวสืบสวน (Investigative Reporting)ชิ้นหนึ่งที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนออย่างเกาะติดจนถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 6 เดือนคือกรณีคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการอย่างมีเงื่อนงำกว่า 4.3 พันล้านบาท ข่าวชิ้นนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงการคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ที่สุดในกรมสรรพากร มิใช่แค่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องการบริหารจัดการระบบการคืนภาษีให้แก่ผู้ประกอบการเพียงประการเดียว หากแต่นำไปสู่การตรวจสอบลงโทษผู้เกี่ยวข้องอย่างขนานใหญ่ ขอลำดับกระบวนการทำงานของสำนักข่าวอิศราและภาพรวมของการนำเสนอข่าวชิ้นนี้ให้เห็นอีกครั้ง 

@พบ 30 บริษัทปริศนา!ในพื้นที่บางรัก

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เสนอข่าวครั้งแรกวันที่ 10 มิ.ย.2556 พาดหัวข่าว “พบ 30 บริษัทปริศนา!ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 3.6 พันล้าน เพิ่งก่อตั้ง-เบอร์โทร.เดียวกัน” พบว่ากรมสรรพากรได้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทที่เพิ่งจดทะเบียนก่อตั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนธันวาคม 2555 บริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจประเภทเดียวกัน ใช้ที่ตั้ง และเบอร์โทรศัพท์เดียวกัน ในรอบปี 2555-2556 รวม 30 บริษัทเป็นเงินกว่า 3,647 ล้านบาท แบ่งเป็น

1.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2555 จำนวน 6 บริษัท

2.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2555 จำนวน 2 บริษัท

3.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2555 จำนวน 4 บริษัท

4.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2555 จำนวน 2 บริษัท

5.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2555 จำนวน 2 บริษัท

6.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2555 จำนวน 3 บริษัท

7.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2555 จำนวน 1 บริษัท

8.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2555 จำนวน 3 บริษัท

9.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 28 พ.ย.2555 จำนวน 2 บริษัท

10.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2555 จำนวน 1 บริษัท

11.จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2555 จำนวน 4 บริษัท

จากการตรวจสอบพบว่านิติบุคคลทั้ง 30 รายมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท จำนวน 6 บริษัท ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท จำนวน 6 บริษัท และ ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท จำนวน 18 บริษัท โดยแจ้งประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันทั้งหมด คือ รับซื้อ จำหน่าย นำเข้าและส่งออกแร่โลหะทุกชนิด และใช้อาคารในพื้นที่สีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งสำนักงาน ในการจดทะเบียนจัดตั้งมีการใช้ชื่อบุคคล 1 คนเป็นกรรมการประมาณ 2 บริษัท โดยปรากฎหลักฐานว่าบุคคลที่มีชื่อเป็นกรรมการในแต่ละบริษัทได้ทำหนังสือมอบอำนาจ(เป็นเอกสารเพียงแผ่นเดียวมีรูปแบบเหมือนกัน)ให้นายสุรเชษฐ์ มหารำลึก หรือนายวิษณุ อสุนีย์ เป็นผู้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร

@เช่าห้องโล่งเป็นสนง.-เชิดชาวบ้านเป็นกรรมการ

เมื่อตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนพบ “กรรมการ”และ“ผู้ถือหุ้น”ที่ปรากฏในเอกสารการจัดตั้งบริษัท และหนังสือบริคณห์ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาตามสำเนาบัตรประชาชนอยู่ในต่างจังหวัด เมื่อดูรายชื่อแต่ละรายมีภูมิลำเนาอยู่ใน อ.เมือง จ.พิจิตร นับสิบราย (ต่อมาพบว่านิติบุคคล 58 บริษัทมีภูมิลำเนาตามเอกสารสำเนาบัตรประชาชนอยู่ใน จ.พิจิตรถึง 22 คน)

ต่อมาผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบบุคคลที่ปรากฏชื่อเป็นกรรมการใน อ.เมือง จ.พิจิตร อย่างน้อย 5 รายได้ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท และไม่ทราบว่ามีชื่อเป็นกรรมการและถือหุ้นได้อย่างไร

อีกด้านหนึ่งผู้สื่อข่าวเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบ“ที่ตั้ง”ของบริษัทตามที่ปรากฏในเอกสารการจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในพื้นที่บางรัก ตระเวนสำรวจนับสิบแห่งพบเป็นห้องเช่าโล่งๆ ไม่ได้ตกแต่งหรือมีลักษณะเป็นสำนักงานประกอบธุรกิจแต่อย่างใด

นอกจาก 30 บริษัทปริศนาในพื้นที่บางรัก จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบนิติบุคคลที่จดทะเบียนในลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ เขตบางคอแหลม ทุ่งครุ กรุงเทพฯ อ.บางบัวทอง อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี และ สมุทรปราการ อีก 28 บริษัท ทำให้ยอดรวมเพิ่มเป็น 58 บริษัท เฉพาะ 35 บริษัทมีการอนุมัติคืนภาษีมูลค่าเพิ่มรวม 4,298,564,817 บาท กระทั่งล่าสุดพบข้อมูลเพิ่มเติมอีก 5 บริษัท ทำให้ยอดเครือข่ายกลุ่มนี้มีทั้งสิ้นประมาณ 63 บริษัท และที่ตั้งบริษัทในพื้นที่ดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นอาคารสำนักงานร้าง บ้านร้าง เช่นเดียวกัน

@เครือข่ายเชื่อมโยงตัวละคร 2 กลุ่ม

จากการประมวลข้อมูลทั้งหมดพบบุคคลเกี่ยวข้องในลักษณะเชื่อมโยงกัน 2 กลุ่ม

1.กลุ่มนายวีรยุทธ แซ่หลก เจ้าของ บริษัท ซีเอ็นบีซี เมทัล เทรด จำกัด ประกอบด้วย น.ส.สายธาร แซ่หลก นายสุรเชษฐ์ มหารำลึก นายประสิทธิ์ อัญญโชติ นายกิติศักดิ์ อัญญโชติ

2. กลุ่มนายสุรพล เมฆะอำนวยชัย เจ้าของสำนักงานบัญชีเมฆพลชัยซึ่งมีเครือญาติเป็นผู้สอบบัญชีให้ธุรกิจชิปปิ้ง และนายสุรพลยังปรากฏชื่อเป็นผู้สอบบัญชีให้บริษัทกลุ่มนายวีรยุทธทั้งหมด ได้แก่ นายสุเทพ วุฒิพาณิชย์กุล นายวิษณุ อสุนีย์ นายบูชา คงพะเนา นายธนัช ปฏิมาวดี นายธวัชชัย ตั้งเลิศธนาทรัพย์ น.ส.สุชาดา เมฆอัคคี บุคคลดังกล่าวเชื่อมโยงกับสำนักงานบัญชีของนายสุรพล

@คอนเนกชั่นลึก ผู้สอบบัญชี-ซี 8 สรรพากร

จากการตรวจสอบความสัมพันธ์พบว่านายสุรพลกับนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ ข้าราชการระดับ 8 หัวหน้าทีมกำกับตรวจสอบภาษี สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27 ทำธุรกิจร่วมกับนายสุวัฒน์ และนายอุกฤษฏ์ จารุมณีโรจน์ ข้าราชการกรมสรรพากร สำนักงานพื้นที่ 22 บางรัก ชื่อบริษัท ดี.โอ.แฟคตอรี จำกัด มาตั้งแต่ปี 2544 ต่อมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ร่วมกันในปี 2554 ชื่อบริษัท ดีร้อย แวลูเออร์ จำกัด อีกทั้งยังพบเอกสารปรากฎชื่อนายสุวัฒน์เป็นคนจองชื่อจัดตั้งนิติบุคคลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและถือหุ้นบริษัท เค.เอ็น.พี.ซี. เทรดดิ้ง จำกัด ในกลุ่มนายวีรยุทธอย่างน้อย 1 แห่ง

@ “วีรุยทธ”ใช้คนสำนักบัญชีจดตั้งบริษัท

ความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มนายวีรยุทธกับกลุ่มนายสุรพลนั้นจากการตรวจสอบ พบว่า นายวีรยุทธ นางสาวสายธาร แซ่หลก จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 ชื่อ บริษัท ซีเอ็นบีซี เมทัล เทรด จำกัด

1 ต.ค.2553 จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท บีบีรีไซเคิล จำกัด

13 ต.ค.2553 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท บีเอ็มเอส รีไซเคิล จำกัด

14 ต.ค.2553 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท รินดีโลหะ จำกัด

18 ต.ค.2553 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เค.เอ็น.พี.ซี. เทรดดิ้ง จำกัด

21 ต.ค.2553 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ภูมากทรัพย์ จำกัด

17 ธ.ค.2553 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท อั่งเปาสยาม จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ซีเอ็นบีซีกรุ๊ป จำกัด)

20 ม.ค.2554 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ไอ.เอ็ม.พี.โอ. เทรดดิ้ง จำกัด

28 ก.พ.2554 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท บีบี บิ๊ก จำกัด

28 ก.พ.2554 จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท บีบีกรุ๊ป วัน จำกัด

28 ก.พ.2554 จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ซีเอ็นบีซี โกลบอล จำกัด

บุคคลที่ปรากฏชื่อในเอกสารการจดทะเบียนบริษัทดังกล่าว อาทิ นายสุเทพ วุฒิพาณิชย์กุล นายวิษณุ อสุนีย์ นายบูชา คงพะเนา นายธนัช ปฏิมาวดี ล้วนเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวโยงกับสำนักงานบัญชีนายสุรพลแทบทั้งสิ้น

กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ร่วมกันจดทะเบียนเพิ่มเติม 6 บริษัทพร้อมกันเมื่อ 21 พ.ค.2555 ในพื้นที่บางรัก ได้แก่ บริษัท เกิดทรัพย์มั่งมี จำกัด บริษัท เคเคพีโอไอ จำกัด บริษัท หอกิตติทรัพย์ จำกัด บริษัท จีจีพีเอสไอ จำกัด บริษัท โอเอโอพี จำกัด และบริษัท พีเอส สำราญ จำกัด และได้จดทะเบียนเพิ่มอีกหลายสิบแห่ง โดยปรากฎชื่อนายสุรพล เมฆะอำนวยชัย เป็นผู้สอบบัญชีทั้งหมด

@ พบชื่อ 4 ทนายความเอี่ยว

ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ปรากฏชื่อทนายความอย่างน้อย 4 คนในเอกสารที่บริษัทยื่นต่อนายทะเบียนจัดตั้งบริษัท คือ นายจารุวัตร ชีววัฒนรัตน์ นายระพี รายณสุข นายปิยะพงษ์ เนียมเอี่ยม และนายศักดิ์โกศล ปังเซ็น จากการตรวจสอบพบว่านายจารุวัตรนั้นเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ดี.โอ.แฟคตอรี จำกัด ของนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ ตั้งแต่จัดตั้งบริษัท ปี 2534 ส่วนนายศักดิ์โกศล เป็นเจ้าของสำงานทนายความแห่งหนึ่งและเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับนายสุรพลด้วย ซึ่งนายจารุวัฒน์ได้ชี้แจงในเวลาต่อมาว่าไม่เกี่ยวข้องกับการขอคืนภาษี

@อี-เมลลับจากผู้หวังดีมัดทำเป็นขบวนการ

ข้อมูลสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแบ่งหน้าที่กันทำเป็นลักษณะเครือข่ายคือ จดหมายอิเลคทรอนิกส์ (อีเมล์) ของบุคคลที่คาดว่าเกี่ยวข้องกรณีการคืนภาษีได้ส่งถึงบุคคลในเครือข่ายอย่างน้อย 3 ฉบับเพื่อขอให้เตรียมการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในการขอคืนภาษี

จดหมายอิเลคทรอนิกส์ดังกล่าวได้ส่งจากบุคคลที่ชื่อ “[email protected]” ถึงบุคคลที่ใช้อีเมล์ แอดเดรสส “[email protected]” Date: Fri, 17 Sep 2010 21:36:17 +0700 (วันที่ศุกร์ที่ 17 กันยายน 2553 เวลา 21.36 น.+0700) โดยใช้หัวเรื่อง (Subject:)ว่า “สรุปงานของบอล” และพิมพ์ข้อความว่า “ส่งให้บอลเพื่อตรวจสอบตัวเลขอีกที”

กล่าวถึงการคิดคำนวณต้นทุนการนำเข้า ต้นทุนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผลตอบแทนที่“บอลจะได้รับ กรณีมีตั้งบริษัทกลาง 5 แห่ง กับกรณีการมีบริษัทกลาง 7 แห่ง และระบุว่าภาษีนิติบุคคล จะเสียบริษัทละประมาณ 150,000 บาท แต่บริษัทจริงจะเสียประมาณ 2,000,000 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายจะมีค่าเช่าสำนักงาน ค่าจ้างเด็กเฝ้าสำนักงาน ค่าใช้จ่ายทางบัญชี ประมาณ 300,000 บาท/บริษัท 

และยังพบอี-เมลในลักษณะโต้ตอบกันอีก 2 ฉบับ ระบุรายละเอียด การจองชื่อจัดตั้งบริษัทจำนวน 7 บริษัท ระบุ ลำดับ วันที่รับจอง ผู้ขอจอง ชื่อ และสถานที่ (ตั้งบริษัท)

เมื่อตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่ปรากฏในอี-เมลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็พบว่า มีการจัดตั้งบริษัทดังกล่าวจริง และจากการตรวจสอบรายชื่อบุคคลซึ่งเป็นกรรมการบริษัทที่ปรากฏชื่อในอี-เมล ล้วนมีความเชื่อมโยงกับบริษัทที่จดทะเบียนในพื้นที่บางรัก อีกทั้งเมื่อตรวจสอบกับบุคคลใกล้ชิดกับนายวีรยุทธพบว่า “บอล”ซึ่งปรากฏชื่อในอี-เมลเป็นชื่อเล่นของนายวีรยุทธ แซ่หลก เจ้าของบริษัท ซีเอ็นบีซี เมทัล เทรด นั่นเอง

@สาวลึกสายป่านวีรยุทธ-คณะกมธ.การเงินสภาฯ

สำหรับนายวีรยุทธนั้นจากการตรวจสอบพบว่ามีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการ และปรากฎชื่อร่วมเดินทางไปดูงานเจรจาธุรกิจและศึกษาดูงานที่ประเทศจีน ต่อมานายไชยา ได้ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องเพียงนายวีรยุทธเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในโควต้าของนายมานิต นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี พรรคภูมิใจไทย กรรมาธิการที่ปรึกษา เมื่อสอบถามไปยังนายมานิตได้ปฏิเสธว่าไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายวีรยุทธ แค่เข้ามาช่วยให้คำปรึกษาไม่กี่ครั้ง

นอกจากนี้ยังพบชื่อ นางสาวพัชรี ศิริโชติ ปรากฏรายชื่อร่วมคณะกรรมาธิการการเงิน ฯ เดินทางไปดูงานประเทศจีนพร้อมนายวีรยุทธ และยังปรากฏภาพถ่ายนางสาวพัชรีร่วมกิจกรรมกับครอบครัวนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากรและมูลนิธิกาญจนสิริของครอบครัวนายสาธิต อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามนายมานิตได้ชี้แจงว่าเพียงให้มาช่วยงาน เช่นเดียวกับนายสาธิตที่ปฏิเสธความสัมพันธ์กับนางสาวพัชรีเพียงแค่มาช่วยบริจาคมูลนิธิเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบนางสาวพัชรีเป็นเจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อตรวจสอบการจดทะเบียนผู้ถือหุ้นพบว่ารับโอนหุ้นมาจากลูกสาวนายสมศักดิ์ เทพสุทิน

@ก.คลังตั้งผู้ตรวจฯสอบ-สาธิตย้าย 2 ซี 9 ช่วยราชการ

ในห้วงการนำเสนอข่าวจนถึงขณะนี้ มีความเคลื่อนไหวเชิงตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรรมาธิการของสมาชิกวุฒิสภา และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช)

วันที่ 28 มิ.ย.2556 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลังเป็นประธาน ทำงานควบคู่ไปกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ขณะที่ นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ลงนามให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง คือนายศุภกิจ ริยะการ สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 และนายพายุ สุขสดเขียน สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 2 มาช่วยราชการที่กรมสรรพากร

@ กมธ.สภาสูงรับลูก

คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ซึ่งมีน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบรับกรณีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไว้ตรวจสอบอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 โดยคณะอนุกรรมาธิการป้องกันการทุจริต และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธานรับผิดชอบ

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา มีรศ. วิชุดา รัตนเพียร ส.ว.สรรหา เป็นประธานได้เรียกนายสาธิต รังคสิริ และผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูลต่อ กมธ. เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2556

@ดีเอสไอหมายจับ 5 ผู้ต้องหา

ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กระทรวงการคลังร้องทุกข์กล่าวโทษให้สอบสวนเรื่องดังกล่าว วันที่ 13 มิถุนายน 2556 นางศิวาพร ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิบดีในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอให้ระงับการแจ้งเลิกและเสร็จการชำระบัญชีนิติบุคคลจำนวน 49 ราย ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับผู้เกี่ยวข้องตามข้อเสนอของ ดีเอสไอ จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย

1.นายวีรยุทธ แซ่หลก หรือ นายธนยุทธ ดลธนโกเศศ 2.นางสาวสายธาร แซ่หลก 3.นายสุรเชษฐ์ มหารำลึก 4.นายประสิทธิ์ อัญญโชติ และ 5.นายกิตติศักดิ์ อัญญโชติ ในข้อหาเดียวกัน กระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทำการใดๆโดยความเท็จโดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4(6) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

@กก.สอบฯชุดก.คลังเชือด 18 ขรก. -กรมสรรพากรพบแค่ 10

ส่วนผลสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดของกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2556 สรุปผลในเบื้องต้นว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง จำนวน 18 ราย แบ่งเป็นข้าราชการอำนวยการระดับสูง ซี 9 จำนวน 4 ราย และข้าราชการระดับปฏิบัติงานอีกจำนวน 14 ราย แต่ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อบุคคลดังกล่าว

ขณะที่ผลสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดที่อธิบดีกรมสรรพากรแต่งตั้งซึ่ง แถลงข่าวในวันเดียวกัน (แต่แถลงข่าวกระทรวงการคลังประมาณ 2 ชั่วโมง) ระบุกว้างๆว่ามีเจ้าหน้าที่สรรพากรเกี่ยวข้องจำนวน 10 ราย แต่ไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าทั้ง 10 รายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตด้วยหรือไม่ โดยให้เหตุผลว่าต้องรอข้อมูลการสอบสวนของดีเอสไออีกครั้ง

@สอบภาษีบริษัทครอบครัวสุวัฒน์-สุรพล

วันที่ 16 กรกฎาคม 2556 บริษัท เค.เอ็น.พี.ซี.เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท ดี.โอ.แฟคตอรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ ข้าราชการระดับ 8 กรมสรรพากรและนายสุรพล เมฆะอำนวยชัย เจ้าของสำนักงานบัญชี ผู้สอบสวนบัญชีบริษัทเครือข่ายนายวีรยุทธ ได้ถูกสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 28 เข้าตรวจสอบการเสียภาษี และมีคำสั่งระงับการยกเลิกจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีไว้ก่อนเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2556 และวันที่ 22 ส.ค.2556 ตามลำดับ คำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากสำนักข่าวอิศรานำเสนอข้อมูลไปก่อนหน้านี้

@ครม.เด้ง “สาธิต”เข้ากรุผู้ตรวจฯ

แม้ว่าผลสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการชุดกระทรวงการคลังระบุมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง 18 ราย ไม่ปรากฏว่ามีชื่อนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เป็น 1 ใน 18 รายชื่อด้วยนั้น ทว่าวันที่ 27 สิงหาคม 2556 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ย้ายนายสาธิต ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง พร้อมแต่งตั้งให้นายสุทธิชัย สังขมณี ผู้ตรวจราชการ เป็นอธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่แทน นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบแต่งตั้งให้นายราฆพ ศรีศุภอรรถ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นอธิบดีกรมศุลกากรคนใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป

@อธิบดีทิ้งทวนย้าย 3 ลูกน้องพัวพัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนนายสาธิตจะพ้นจากตำแหน่ง วันที่ 5 กันยายน 2556 นายสาธิตได้ลงนามในคำสั่ง ย้ายข้าราชการระดับสูง จำนวน 3 ราย ในพื้นที่ปัญหา ได้แก่

1. นายศุภกิจ ริยะการ สรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ กรุงเทพมหานคร 22 (บางรัก) ให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกรม งานตรวจราชการ 1

2. นายพายุ สุขสดเขียว สรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 ให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกรม งานตรวจราชการ 2

3. นายกู้ศักดิ์ จันทราช สรรพากรพื้นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่นนทบุรี ให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกรม งานตรวจราชการ 6

@”รังสรรค์”ขึ้นปลัดก.คลัง-เด้ง 2 ซี 9 ไป 2 จว.ชายแดนใต้

ต่อมาเมื่อนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงการคลัง วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 ได้ลงนามคำสั่งโยกย้ายข้าราชการระดับบริหารของกรมสรรพากรครั้งใหญ่ จำนวน 76 ราย มีข้าราชการที่พัวพันกับคดีคืนภาษีมูลค่าเพิ่มถูกโยกย้ายในครั้งนี้ด้วย คือ นายพายุ สุขสดเขียว สรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 เป็นสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ปัตตานี นายศุภกิจ ริยะการ สรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 เป็นสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่นราธิวาส และนายกู้ศักดิ์ จันทราช สำนักงานสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่นนทบุรี เป็น สรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ยโสธร (อ่านประกอบ:สั่งย้ายใหญ่ขรก.สรรพากร 76 ตำแหน่ง เด้ง“ศุภกิจ-พายุ”ไป 2 จว.ชายแดนใต้)

@ดีเอสไอชง ป.ป.ช.ลงดาบ ขรก.พัวพัน

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 นายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสรรพากรคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับบริษัทเอกชน จำนวนเงิน 4.2 พันล้านบาท ของกระทรวงการคลัง แถลงความคืบหน้าคดีนี้ โดยระบุว่า ภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่ และได้รับความร่วมมือในการตรวจสอบคดีนี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการส่งมอบข้อมูลบริษัทเอกชนที่เหลืออยู่อีก 20 ราย จากของเดิมที่มีอยู่แล้ว 20 ราย พบว่า เอกชนรายใหม่ อีก 20 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเศษเหล็ก มีพฤติการณ์แบบเดียวกันกับพื้นที่เดิม (บางรัก สมุทรปราการ และนนทบุรี) บุคคลที่เกี่ยวข้องกลุ่มเดียวกับบริษัท 20 รายแรก ของนายวีรยุทธ ที่มีการตรวจสอบพบข้อมูลไปก่อนหน้านี้ และมีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเข้าไปเกี่ยวข้องจำนวน 2 ราย ในขั้นตอนการคืนภาษี

นายประสิทธิ์ กล่าวยืนยันว่า ข้าราชการทั้งสองรายอยู่ในระดับต่ำกว่าซี 9 ลงมาเป็นเจ้าหน้าที่ระดับชำนาญการ และระดับปฏิบัติการอย่างละหนึ่งคน มีการตรวจพบว่า ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะทำการสรุปเรื่องเพื่อเสนอให้ทางกระทรวงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จากยอดเดิม จำนวน 18 ราย ที่เสนอไปก่อนหน้านี้ ทำให้ข้าราชการที่ถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยขณะนี้ มีจำนวนทั้งหมด 20 ราย และยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน อย่างเต็มที่

พร้อมยืนยันว่า จากการประสานความร่วมมือกับดีเอสไอ พบว่า ทางดีเอสไอ ได้มีการจัดส่งรายชื่อข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ ให้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปตรวจสอบอย่างเป็นทางการแล้ว

ส่วนการสอบสวนข้อมูลในส่วนของกรมศุลกากร ว่า ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาสอบปากคำไปบางส่วนแล้ว อย่างไรก็ตาม พบว่าขั้นตอนการทำงานที่เป็นปัญหาส่วนให้จะเกิดขึ้นกับกรมสรรพากร ซึ่งมีอำนาจในการอนุมัติคืนเงินภาษีให้เอกชนเป็นหลัก

นายประสิทธิ์ ยังยืนยันด้วยว่า ล่าสุดกำลังขยายผลการสอบสวน ไปยังกลุ่มบริษัทเอกชน รายใหม่อีก 25 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ทำธุรกิจส่งออกสินค้าคอมพิวเตอร์ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากได้รับข้อมูลว่า พฤติการณ์ของบริษัทเหล่านี้ มีลักษณะการขอคืนภาษีโดยไม่ถูกกฎหมาย 

ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริงโดยมีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ สำนักข่าวอิศราจะนำความคืบหน้ามาเสนอต่อไป 

กล่าวทั้งหมดคือเบื้องหลังความเป็นมาของข่าวเชิงสืบสวนชิ้นนี้ เป็นการทำหน้าที่ปกติเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง
……

ลำดับการนำเสนอข่าวเชิงตรวจสอบกรณีคืนภาษีมูลค่าเพิ่มฉาว 4.3 พันล้าน (โดยสังเขป)

 

10 มิ.ย.2556

สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวกรณีกรมสรรพากรอนุมัติคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ 30 บริษัทปริศนาเป็นเงินกว่า 3,647 ล้านบาท

11 มิ.ย. 2556

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบ บ้านนายกิติศักดิ์ อัญญโชติ กรรมการบริษัทเครือข่ายคืนภาษีใน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ พบเป็นบ้านญาติ ภูมิลำเนาเดิม จ.ตาก ก่อนหน้านี้ 6 มิ.ย. 2556 ผู้สื่อข่าวลงพื้นตรวจสอบที่ตั้งบริษัทหลายแห่งในพื้นที่ สีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ อาทิ บริษัท หอกิตติทรัพย์ จำกัด บริษัท จีจีพีเอสไอ จำกัด พบเป็นห้องเช่าว่างเปล่า บางแห่งปิดล็อคประตู

13 มิ.ย. 2556 

ดีเอสไอมีคำสั่งระงับการแจ้งเลิกและเสร็จการชำระบัญชีนิติบุคคลจำนวน 49 ราย ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2556    ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับผู้เกี่ยวข้องตามข้อเสนอของดีเอสไอ  จำนวน 5 ราย

13 มิ.ย.2556

นายศุภกิจ  ริยะการ สรรพากรพื้นที่ 22   ทำหนังสือ ขอให้ระงับการรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีบริษัทที่ถูกตรวจภาษีอากรอย่างน้อย 5 บริษัท

14 มิ.ย. 2556

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบที่ตั้ง บริษัทเครือข่ายคืนภาษี บริษัท บีบีบิ๊ก จำกัด ใน จ.สมุทรปราการ พบเป็นห้องเช่าโล่งๆ

15 มิ.ย.2556

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลบริษัททั้งสองแห่งในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พบเป็นห้องเช่าโล่งๆ

16 มิ.ย.2556

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ จ.พิจิตร สอบถามข้อเท็จจริงพบบุคคลเป็นกรรมการบริษัท มีภูมิลำเนาใน อ.เมือง จ.พิจิตร พบว่าเป็นชาวบ้านและไม่ทราบเรื่องธุรกิจ

18 มิ.ย.2556

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบ เลขที่ 25/59 หมู่ที่ 8 ถนนรัตนาธิเบศร์ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี  ที่ตั้ง บริษัท  เอสเอ็ม รีไซเคิล จำกัด และ บริษัทเคเค เมทัล เทรด จำกัด ไม่ปรากฏป้ายชื่อบริษัท ผู้เช่าไม่เคยเข้ามาอยู่

19 มิ.ย.2556

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบ เลขที่  78/14 หมู่ที่ 2 ตำบลบางพลับ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่ตั้ง บริษัท บาลานซ์สตีล จำกัด และ  บริษัท รีเวอร์สตีลเมทัล เทรดดิ้ง จำกัด ไม่มีคนอยู่อาศัยมานานแล้ว

21 มิ.ย.2556

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบ เลขที่ 19/141 อาคารสุขุมวิท สวีท ชั้น 14 ซอยสุขุมวิท13(แสงจันทร์) แขวงคลองเตยเหนือ บริษัท บริษัท โอเพ่น เทรดดิ้ง จำกัด พบเป็นห้องสำนักงานโล่ง ไม่มีผู้อาศัย  และตรวจสอบ บริษัท ฟรี สตีล จำกัดพบอยู่ใกล้กับซอยคาวบอยย่านอโศก เป็นอาคารสำนักงานให้เช่าเช่นกัน แต่ไม่พบป้ายชื่อบริษัทฯ

26 มิ.ย.2556

นายมานิตย์ พลรัตน์ นักวิชาการสรรพากรชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติราชการแทนสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักบริการข้อมูลธุรกิจ อายัดนิติบุคคล จำนวน 30 ราย

28 มิ.ย.2556

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการเป็นประธาน

30 มิ.ย.2556

พบ“วีรยุทธ แซ่หลก”เจ้าของเครือข่าย 58 บริษัทคืนภาษีนั่งที่ปรึกษาประธาน กมธ.การเงิน สภาผู้แทนฯ ร่วมคณะดูงานประเทศจีนช่วงปลายปี 2555

4 ก.ค.2556

คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา มีมติเห็นชอบรับกรณีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ตรวจสอบอย่างเป็นทางการ

31 ก.ค.2556

ศาลอาญาอนุมัติหมายจับผู้เกี่ยวข้องตามข้อเสนอของดีเอสไอ จำนวน 5 ราย  เป็นเอกชนทั้งหมด

22 ส.ค. 2556

-คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลัง สรุปผลมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง 18 ราย เป็นข้าราชการระดับสูง ซี 9 จำนวน 4 ราย และระดับปฏิบัติงานอีก 14 ราย

-คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดที่อธิบดีกรมสรรพากรแต่งตั้ง แถลงข่าวมีเจ้าหน้าที่สรรพากรเกี่ยวข้องจำนวน 10 ราย

27 ส.ค.2556

คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา เรียกนายสาธิต รังคสิริ และผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูล

27 ส.ค. 2556

ครม.เห็นชอบย้ายนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง แต่งตั้งนายสุทธิชัย สังขมณี ผู้ตรวจราชการ เป็นอธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่

5 ก.ย. 2556

นายสาธิต รังคสิริ ในฐานะอธิบดีย้ายข้าราชการระดับสูง จำนวน 3 ราย  นายศุภกิจ ริยะการ   นายพายุ สุขสดเขียว  และนายกู้ศักดิ์ จันทราช เป็นผู้ตรวจราชการกรม

7 พ.ย. 2556

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง มีคำสั่งย้ายนายพายุ สุขสดเขียว   เป็นสรรพากรพื้นที่ สนง.สรรพากรพื้นที่ปัตตานี นายศุภกิจ ริยะการ เป็นสรรพากรพื้นที่ สนง.สรรพากรพื้นที่นราธิวาส นายกู้ศักดิ์ จันทราช เป็นสรรพากรพื้นที่ สนง.สรรพากรพื้นที่ยโสธร

ที่มา:ศูนย์ข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา รวบรวม