logo isranews

logo small 2

ย้อนรอยคดี"สรยุทธ-ไร่ส้ม"ก่อน ป.ป.ช.ส่งสำนวนให้ อสส.ยื่นฟ้องศาล!

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 05 สิงหาคม 2557 เวลา 14:30 น.
เขียนโดย
isranews

"..น่าสนใจว่า หากการพิจารณาของอสส. เกี่ยวกับสำนวนการสอบสวนดคีนี้ ไม่ติดขัดปัญหาอะไร  และมีการยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลตามขั้นตอน  จะส่งผลกระทบต่อ "นายสรยุทธ" มากน้อยขนาดไหน โดยเฉพาะเรื่อง "ภาพลักษณ์" การทำหน้าที่สื่อมวลชน .."

sorayuuu5-8-14

ในช่วงเช้าวันที่ 5 ส.ค.57 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันข้อมูลอย่างเป็นทางการ จากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ในช่วงบ่ายวันที่ 5 ส.ค. นี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีการแถลงผลการพิจารณาความไม่สมบูรณ์ในสำนวนการไต่สวนคดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดพนักงาน อสมท, บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดังกับพวก กรณียักยอกเงินโฆษณาจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กว่า 138 ล้านบาท ของคณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการ และ ป.ป.ช.อย่างเป็นทางการ

ภายหลังจากที่คณะทำงานทั้งสองฝ่าย ได้มีการนัดหมายประชุมสรุปผลการทำงานนัดสุดท้ายไปแล้ว เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา และได้ผลสรุปที่ชัดเจนออกมาแล้ว 

โดยที่คณะทำงานงานฝ่ายอัยการจะสรุปเรื่องเสนอไปยังอัยการสูงสุด (อสส.)เพื่อพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชน ได้รับทราบข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับคดีนี้อีกครั้ง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำข้อมูลมาเรียบเรียงเพื่อนำเสนอใหม่อีกครั้ง 

@จุดสตาร์ทที่ ป.ป.ช.

เดือนมิถุนายน 2546 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาว่าจ้างนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ให้เป็นพิธีกรแบบรายวันดำเนินรายการ “ถึงลูกถึงคน” ในอัตราค่าจ้าง 5,000 บาท ต่อตอน ต่อมาปรากฏว่ารายการได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้ชมรายการ หลังจากนั้น เดือนกุมภาพันธ์ 2547 นายสรยุทธ จึงได้ตั้ง บริษัทไร่ส้ม จำกัด โดยมีนายสรยุทธ เป็นกรรมการผู้จัดการ มีนางสาวอังคณา วัฒนมงคลศิลป์ และนางสาวสุกัญญา แซ่ลิ้ม เป็นกรรมการบริษัท และเข้าทำสัญญาร่วมผลิตรายการกับ อสมท โดยระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2549 บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้เข้าทำสัญญากับ บริษัท อสมทจำกัด (มหาชน) ร่วมผลิตรายการ “คุยคุ้ยข่าว”ออกอากาศทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลาประมาณ 12.00 – 13.00 น. ครั้งละ 60 นาที (รวมเวลาโฆษณา) โดย บมจ. อสมท ตกลงแบ่งเวลาโฆษณาให้ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้ครั้งละ 5 นาที ถ้ามีโฆษณาเกินกว่ากำหนด บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ต้องชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้ บมจ. อสมท ในอัตรานาทีละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท

นอกจากนี้ได้ทำสัญญาร่วมผลิตรายการ“คุยคุ้ยข่าว” ออกอากาศทุกวันจันทร์ ถึงวันศุกร์ เวลาประมาณ 21.30 – 22.00 น. ครั้ง ละ 30 นาที(รวมเวลาโฆษณา) โดย บมจ.อสมท ตกลงแบ่งเวลาโฆษณาให้ บริษัท ไร่ส้ม จำกัดได้ครั้ง ละ 2 นาที 30 วินาที ถ้ามีโฆษณาเกินกว่ากำหนด บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ต้องชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้ บมจ. อสมทในอัตรานาทีละไม่ต่ำกว่า 240,000 บาท

ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของ ป.ป.ช. ปรากฏว่า นางพิชชาภา เอี่ยมสอาด เจ้าหน้าที่ธุรการระดับ 5 สำนักกลยุทธ์การตลาด บมจ.อสมท เป็นผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียวในการจัดทำคิวโฆษณารวมและเป็นผู้รายงานโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บเงินจาก บริษัท ไร่ส้ม จำกัดได้ให้ความช่วยเหลือ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดยไม่มีการรายงานการโฆษณาเกินเวลาของ บริษัท ไร่ส้มจำกัด เพื่อเรียกเก็บเงิน ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2549

จากการไต่สวนปรากฏว่า นายสรยุทธ ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของ ธนาคารธนชาติ สาขาพระราม 4 จ่ายเงินให้นางพิชชาภา โดยมีการทำเอกสารหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้รวม 6 ครั้งเป็นเงิน 739,770.50 บาท เพื่อตอบแทนที่นางพิชชาภา มิได้รายงานการโฆษณาเกินเวลาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด

ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 นางบุญฑนิก บูลย์สิน รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักการตลาด 1 ได้สังเกตพบว่า รายการข่าวเที่ยงคืน มีการออกอากาศล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนดจึงได้ทำการตรวจสอบ และได้เรียกนางพิชชาภา มาสอบถามต่อหน้าทุกคนซึ่งนางพิชชาภา ก็ได้รับสารภาพต่อหน้าทุกคนว่า บริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีการโฆษณาเกิน และไม่มีการรายงานเพื่อเรียกเก็บเงินจริง

และตนได้ใช้น้ำยาลบคำผิดลบเฉพาะคิวโฆษณาเกินเวลาในส่วนของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ในใบคิวโฆษณารวมของ บมจ. อสมท เพื่อปกปิดความผิดที่ได้กระทำขึ้นตามคำแนะนำของนายสรยุทธ และนางสาวมณฑา ธีระเดช พนักงานของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ก่อนที่จะเกิดการตรวจสอบเรื่องนี้ขึ้น

หลังจากนั้น บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้มีการชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกินให้ บมจ. อสมท ในวันที่ 31 สิงหาคม 2549 และวันที่ 15 กันยายน 2549 เป็นเงินจำนวน 103,953,710 บาท โดยบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ขอหักส่วนลด 30% จากยอดทั้งหมดจำนวน138,790,000 บาท แต่ บมจ. อสมท ไม่ยินยอมให้หักส่วนลด 30%

เนื่องจากบริษัทไร่ส้ม จำกัด มิได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำกันไว้และไม่ได้ชำระเงินให้ถูกต้องตามสัญญา บมจ. อสมท จึงคิดดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 138,790,000 บาท นับแต่ วันที่ 1 เมษายน 2548 คิดถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2549 เป็นเงินจำนวน 4,464,197.67 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 9,715,300 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 152,969,497.67 บาท ซึ่งบริษัท ไร่ส้มจำกัด ก็ยินยอมชำระเงินดังกล่าวให้ บมจ. อสมท. ในวันที่ 20 ตุลาคม 2549

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าการกระทำของนางพิชชาภา (นางชนาภา บุญโต) มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามมาตรา 6, มาตรา 8 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502

การกระทำของ นางสาวอัญญา อู่ไทย ซึ่งเป็นหัวหน้างานและเป็นผู้บังคับบัญชาในฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้า สำนักกลยุทธ์การตลาด บมจ.อสมท. มีมูลความผิดทางวินัย

การกระทำของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา และนางสาวมณฑา ธีระเดช ซึ่งได้ใช้ให้นางพิชชาภา (นางชนาภา บุญโต) ไม่ต้องรายงานการโฆษณาเกินเวลาที่ กำหนดในสัญญาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด (ในฐานะนิติบุคคล) มีมูลความผิดฐานสนับสนุนพนักงานกระทำความผิด ตามมาตรา 6 , มาตรา 8 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

จึงมีมติให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาตามฐานความผิดดังกล่าวข้างต้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 97 แล้วแต่กรณี

@ภาคสังคมเรียกร้องโชว์สปิริต

ภายหลัง ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น (ภตค.) องค์กรภาคธุรกิจและนักวิชาการ ออกเรียกร้องให้นายสรยุทธรับผิดชอบต่อจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อมวลชน ด้วยการพักการจัดรายการชั่วคราวจนกว่าคดีจะได้ข้อยุติจะเป็นหมันไป เมื่อนายสรยุทธเลือกตอบโต้ด้วยการยื่นจดหมายลาออกจากการเป็นสมาชิกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

แต่การเคลื่อนไหวเพียงกดดันให้นายสรยุทธให้แสดงความรับผิดชอบด้านจริยธรรมยังมีต่อไป ซึ่งครั้งนี้ส่งผลสะเทือนต่อกล่องดวงใจของนายสรยุทธอย่าง “ค่าโฆษณา” โดยตรง

ในวันที่ 2 พ.ย.2555 นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ส่งจดหมายเวียน เรื่อง ขอความร่วมมือองค์กรในตลาดหุ้นผนึกกำลัง แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ถึงกรรมการผู้จัดการของบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน และสมาคมที่เกี่ยวเนื่องในตลาดทุนทุกแห่ง

เนื้อหาของจดหมายเวียนดังกล่าวได้อ้างถึงกรณีที่นายสรยุทธและบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในคดียักยอกเงินโฆษณาจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ออกแถลงการณ์ว่า แม้พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาแม้จะยังไม่มีบทสรุปทางกฎหมาย แต่ในแง่การประกอบวิชาชีพนับว่าไม่เหมาะสม มีการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดจรรยาบรรณแล้ว

“สำนักงาน ก.ล.ต.จึงขอความร่วมมือให้ท่านพิจารณาอย่างรอบคอบและใช้ความระมัดระวังในการ ทำธุรกิจกับบุคคลที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย”

ขณะที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่มีนายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นประธาน ก็เดินหน้าตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

@เจ้าตัวเมินขอสู้กันที่ศาล

ทางฝ่ายนายสรยุทธ ไม่มีปฏิกิริยาตอบรับกระแสดังกล่าว หลังจากถูกชี้มูลเจ้าตัวชี้แจงผ่านรายการเรื่องเล่าฯว่าน้อมรับคำวินิจฉัยของป.ป.ช.แต่ต้องการไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันในศาล

ต่อมาวันที่ 31 ต.ค.2555 นายสรยุทธได้ส่งหนังสือขอปฏิเสธการเดินทางมาให้ถ้อยคำต่ออนุ กมธ. โดยอ้างว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม บริษัท ไร่ส้ม จำกัด จึงมีความจำเป็นต้องสงวนข้อมูลข้อเท็จจริงในการต่อสู้คดี

ในเอกสารฉบับเดียวกับ นายสรยุทธยังถือโอกาสชี้แจงต่อกระแสทวงถามเรื่องจริยธรรมต่อคดีที่เกิดขึ้นว่า “คดีความที่เกิดขึ้นเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจของบริษัท และไม่มีส่วนกระทบใดๆ ต่อการทำรายการของผม ซึ่งนำเสนอข้อมูลตามความเป็นจริงเพื่อประโยชน์ต่อสังคม โดยไม่บิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันเป็นจรรยาบรรณสำคัญในการนำเสนอที่ผมยึดถือมา ตลอดชีวิตการทำงาน”

ขณะเดียวกันก็ใช้สิทธิยื่นฟ้องศาลปกครองเรียกร้องเงินกรณีค่าโฆษณาส่วนเกินจากอสมท.กว่า 253 ล้านบาทด้วย

@ ป.ป.ช.-อัยการ ถกปมสำนวนไม่สมบูรณ์ร่วมกัน 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนการไต่สวนคดีนี้ ไปให้ทางอัยการสูงสุดฟ้องร้องให้ ปรากฎว่าทางฝ่ายอัยการเห็นว่า สำนวนในคดียังมีความไม่สมบูรณ์หลายประเด็น ขณะที่นายสรยุทธ ได้ทำหนังสือร้องขอความเห็นธรรมต่ออัยการเข้ามาด้วย

ทำให้คณะทำงานทั้งสองฝ่าย ไม่สามารถที่จะหาข้อยุติรวมกันได้ เนื่องจากทางป.ป.ช.เห็นว่า สำนวนการไต่สวนคดีนี้ มีความสมบูรณ์ดีแล้ว 

แต่หลังจากที่คณะทำงานทั้งสองฝ่าย ได้ตกลงและทำความเข้าใจร่วมกัน ที่จะเรียกพยานที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ อสมท.มาสอบปากคำเพิ่มเติม 3 ปาก ซึ่งล่าสุดกระบวนการสอบปากคำให้ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว และมีการนัดประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 ส.ค.57 ที่ผ่านมา

@ อิศราเจาะเบื้องหลังคดี-ธุรกิจ“สรยุทธ”

ในช่วงก่อนและหลังการชี้มูลของป.ป.ช. ศูนย์ข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำเสนอความเป็นมาทางธุรกิจของนายสรยุทธ การเปิดเผยสำนวนการไต่ส่วนของ ป.ป.ช. รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ อสมท. และขยายผลการสอบสวน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน อาทิ การเปิดเผยเช็ค 7 ใบที่ป.ป.ช.ใช้เป็นหลักฐานวินิจความผิดของนายสรยุทธ ความเกี่ยวพันระหว่าง การลงพื้นที่สำนักงานบริษัท ไร่ส้ม เป็นต้น

ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลผลประกอบการทางธุรกิจของบริษัท นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พบว่า บริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด ผลประกอบการเริ่มต้นในปี 2547 รายได้ 14,657,979.51 บาท กำไรสุทธิ 5,611,251.49 บาท

ปี 2548 รายได้ 48,212,644.21 บาท กำไรสุทธิ 18,347,117.18 บาท
ปี 2550 รายได้ 49,470,979.15 บาท กำไรสุทธิ 16,087,503.97 บาท
ปี 2555 รายได้ 88,777,495.24 บาท กำไรสุทธิ 47,037,931.67 บาท

กระทั่งปี 2556 รายได้ 97,790,378.69 บาท กำไรสุทธิ 56,366,077.06 บาท

ขณะที่ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด 

ปี 2547 รายได้ 86,893,017.59 บาท กำไรสุทธิ 44,639,591.65 บาท
ปี 2548 รายได้ 251,801,969.58 บาท กำไรสุทธิ 132,702,177.78 บาท
ปี 2550 รายได้ 207,885,412.05 บาท กำไรสุทธิ 99,353,032.81 บาท
ปี 2555 รายได้ 545,789,482.82 บาท กำไรสุทธิ 227,570,514.87 บาท

กระทั่งปี 2556 รายได้ 533,432,293.65 บาท กำไรสุทธิ 261,597,700.02 บาท

ถ้ารวมตัวเลขผลประกอบการตั้งแต่ ปี 2547 – 2556 (รวม 10 ปี ) 2 บริษัท มีรายได้รวม 3,890,359,973.50 บาท กำไรสุทธิรวม 1,639,847,977.43 บาท 

ตัวเลขผลประกอบการดังกล่าว สะท้อนได้อย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ไม่ได้ทำให้ผลกำไรทางธุรกิจ ลดน้อยลง

(อ่านประกอบ : นกน้อยในไร่ส้ม 10 ปี “สรยุทธ” 3,890 ล้าน)

น่าสนใจว่า หากการพิจารณาของอสส. เกี่ยวกับสำนวนการสอบสวนดคีนี้ ไม่ติดขัดปัญหาอะไร  และมีการยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลตามขั้นตอน  จะส่งผลกระทบต่อ "นายสรยุทธ" มากน้อยขนาดไหน โดยเฉพาะเรื่อง "ภาพลักษณ์" การทำหน้าที่สื่อมวลชน 

แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ การตัดสินใจของ ช่อง 3 ในฐานะต้นสังกัดปัจจุบันอีกครั้ง ว่าจะยังเพิกเฉย เกี่ยวกับเรื่องนี้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีกต่อไปหรือไม่ ? 

หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก naewna.com