logo isranews

logo small 2

เจาะถุงเงิน 32 ล.“คุณหญิงทรงสุดา” บุตรี“จอมพลถนอม”ก่อนผงาดนั่งสนช.

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 14 ตุลาคม 2557 เวลา 12:30 น.
เขียนโดย
isranews

เจาะทรัพย์สมบัติ 32 ล้านบาท “คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี” บุตรีรองสุดท้อง “จอมพลถนอม” นั่งกรรมการบริษัท 3 แห่ง ปล่อยกู้บริษัทตัวเองเหยียบสิบล้าน ไร้ที่ดิน-บ้าน ก่อนหวนกลับสู่ม่านการเมือง ผงาดนั่ง สนช. ตรากฎหมายภายใต้ คสช.

PIC-songsuda-14-10-57 1

เวียนมาบรรจบอีกครั้งสำหรับวันที่ 14 ตุลาคม ที่ปีนี้ถือเป็นการครบรอบ 41 ปี ในเหตุการณ์ “มหาวิปโยค” สนั่นบัลลังก์ 3 จอมพลเผด็จการ “จอมพลถนอม กิตติขจร-พล.อ.ประภาส จารุเสถียร-พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร” จนถูกนำมาเล่าขานต่อในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองอยู่เสมอมา

อย่างไรก็ดี ในปี 2557 ภายใต้การนำของ “รัฐบาลท็อปบู๊ต” หลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นมาอีกครั้ง

ที่น่าสนใจคือ ในบรรดา สนช. ที่กว่าครึ่งค่อนสภาเป็นทหารนั้น ปรากฏชื่อของ “คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี” หรือนามสกุลเก่าคือ “คุณหญิงทรงสุดา กิตติขจร” บุตรีรองสุดท้องในบรรดาบุตรทั้ง 6 คนของ “จอมพลถนอม” นั่งอยู่ด้วย

ขณะที่ “จอมพลถนอม” ถูกเปิดโปงว่า มีทรัพย์สินเกินกว่าพันล้านบาท และแบ่งสมบัติให้ลูก ๆ หลายคนนั้น เชื่อหรือไม่ “คุณหญิงทรงสุดา” มีทรัพย์สินรวมกันแค่ 32 ล้านบาทเท่านั้น ?

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของคุณหญิงทรงสุดา ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่ง สนช. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 แจ้งว่า มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 32,329,120 บาท

แบ่งเป็นของคุณหญิงทรงสุดา 22,258,282 บาท (เงินฝาก 8 บัญชี (2 บัญชีร่วมกับคู่สมรส) 1,060,823 บาท, เงินลงทุน 13 แห่ง 7,874,459 บาท (หุ้นบริษัท สุหฤทฯ 6 ล้านบาท), เงินให้กู้ยืม 1 แห่ง (บริษัท สุพงศาฯ) 4,673,000 บาท, ยานพาหนะ 1 คัน 1 แสนบาท, ทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) 8 รายการ 8,550,000 บาท)

ของร้อยโทสุวิทย์ ยอดมณี 10,070,837 บาท (เงินฝาก 2 บัญชี 554,904 บาท, เงินลงทุน 6 แห่ง 1,615,933 บาท, เงินให้กู้ยืม 1 แห่ง (บริษัท สุพงศาฯ) 5.7 ล้านบาท, ยานพาหนะ 2 คัน 7 แสนบาท, สิทธิและสัมปทาน 1 แห่ง 1.5 ล้านบาท)

มีหนี้สินทั้งสิ้น 1,716,720 บาท เป็นเงินกู้จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) ของร้อยโทสุวิทย์ทั้งหมด

มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 30,612,399 บาท

ทั้งนี้ คุณหญิงทรงสุดา แจ้งด้วยว่า ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท สุหฤท จำกัด, บริษัท ถกลสุข จำกัด และบริษัท สุพงศา จำกัด ขณะที่ร้อยโทสุวิทย์ ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, เลขาธิการมูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, ประธานมูลนิธิความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-แคนาดา, ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิใบไม้สีเขียว, ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย

มีรายได้ทั้งหมด 476,028 บาท เป็นของคุณหญิงทรงสุดา 375,600 บาท (รายได้จากกรรมการบริษัท สุหฤท จำกัด) ของร้อยโทสุวิทย์ 100,428 บาท (เงินบำนาญ)

มีรายจ่ายทั้งหมด 1,320,000 บาท เป็นของคุณหญิงทรงสุดา 7.8 แสนบาท ของร้อยโทสุวิทย์ 5.4 แสนบาท (เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวทั้งหมด)

ทั้งหมดนี้คือทรัพย์สมบัติล่าสุดของ “คุณหญิงทรงสุดา” ในช่วงนั่งตำแหน่ง สนช. ซึ่งน่าสังเกตว่า มีการปล่อยเงินให้กู้ยืมแก่บริษัท สุพงศาฯ ที่ตัวเองและคู่สมรสถือหุ้นอยู่ รวมเป็นจำนวนเงินเหยียบสิบล้านบาท ขณะที่ไม่แจ้งว่ามีที่ดิน หรือบ้านแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี หลายคนอาจสงสัยว่า ในเมื่อ “จอมพลถนอม” ถูกเปิดโปงว่า มีทรัพย์สินเกินกว่าพันล้านบาท ไฉน”บุตรี” รายนี้ถึงมีสมบัติหลงเหลืออยู่เพียงเท่านี้ ?

สำนักข่าวออนไลน์ Thaipublica เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ “พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร” บุตรคนรอง และหนึ่งในสามขั้วอำนาจในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่ยืนยันชัดเจนว่า ในช่วงที่ปิดฉากในชีวิตการเมืองนั้น ถูกยึดทรัพย์สินไปเกือบทั้งหมด แม้แต่บ้านก็ต้องเช่ากับกรมธนารักษ์ รถยนต์-ที่ดินต่าง ๆ ก็ถูกยึดไปด้วย

( Thaipublica :“ณรงค์ กิตติขจร” ย้อนชีวิต เบื้องหลังอำนาจซ้อนอำนาจ 14 ตุลา มหาวิปโยค “เป็นพรหมลิขิต ฟ้าดินต้องการให้เป็นอย่างนั้น ถ้าเราไปฝืนชะตาอาจตายก็ได้”)

“เขายึดหมดทุกอย่าง รถราเงินส่วนตัว บ้านที่คุณพ่อเกิดที่จังหวัดตาก อยู่ตั้งแต่แบเบาะ ยังยึดเลย ตอนนี้เอาเป็นห้องสมุดประชาชน บ้านเกิดคุณแม่ผม ที่ดินที่อยุธยา ที่ดินนี้มีมาแต่คุณแม่เกิด ทรัพย์สินที่ใช้อยู่เกือบไม่มีอะไรเป็นชื่อเรา เวลานี้ผมเป็นผู้อาศัย ผู้อาศัยบ้านตัวเอง” พ.อ.ณรงค์ ระบุ

ทั้งหมดนี้คือถ้อยคำ-หลักฐานยืนยันถึงฐานะการเงินของสกุล “กิตติขจร” ที่ตอนนี้ถูกจดจำไว้เพียงส่วนหนึ่งของระบอบเผด็จการทหารในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แต่แล้วผ่านมากว่า 40 ปี เลือดเนื้อเชื้อไข “กิตติขจร” ก็หวนกลับมามีบทบาทอีกครั้ง ในฐานะสมาชิก สนช. ที่มีหน้าที่ตรากฎหมายในห้วง “สถานการณ์ไม่ปกติ” พร้อม ๆ กับช่วง “คืนความสุขให้คนในชาติ” อยู่ในเวลานี้