logo isranews

logo small 2

เปิดหนังสือ สตง. จี้ รฟท. ทบทวนจัดหารถโดยสาร4.6พันล.-บริษัทอดีตส.ว.ซิวงาน!

เผยหนังสือ สตง. จี้ผู้บริหาร รฟท.ทบทวนโครงการจัดหารถโดยสาร 155 คัน วงเงิน 4,668.89 ล้าน หลังพบข้อมูลสถานะบริษัทอดีตส.ว.สุพรรณบุรีผู้รับจ้าง ส่อมีปัญหาด้านการเงิน อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ หวั่นทำราชการเสียหาย หากเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต   

mkjdddddd

 

โครงการจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ สำหรับบริหารเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน วงเงินรวม 4,668.89 ล้านบาท ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังถูกจับตามอง เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย  (รฟท.) เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการดำเนินงานโครงการ หลังตรวจสอบพบว่า บริษัทเอกชนที่ได้รับการว่าจ้าง ประสบปัญหาเรื่องสถานะการเงินและอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ 

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2557 ที่ผ่านมา สตง.ได้ทำหนังสือด่วนมาก จำนวน 2 ฉบับ เลขที่ ตผ 0016/4610 และ ตผ 0016/4611 ถึงประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย  (รฟท.) เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ สำหรับบริหารเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน ของรฟท.

สตง.ระบุว่า ได้รับทราบข้อมูลโครงการนี้ว่าภายหลังจากที่ รฟท. ได้ผู้ชนะการประกวดราคา คือ กิจการร่วมค้า บีบีซี  ประกอบไปด้วย บริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด บริษัท ร่วมมิตรเหมืองแร่ จำกัด บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊กชั่น จำกัด 

บริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการยังศาลล้มละลายกลาง และศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วว่า การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งรฟท.ได้หารือสำนักงานอัยการสูงสุดเกี่ยวกับสถานะของบริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด และสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตอบข้อหารือโดยพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีศาลฎีกามีคำพิพากษายกคำร้องของบริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด ในการร้องขอฟื้นฟูกิจการมีผลให้ลูกหนี้ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบต่อสถานะความเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของบริษัทโดยไม่ถือว่าบริษัทเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1236(5)

แต่ปรากฎจากคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ว่า ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าบริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด มีหนี้สินล้นพ้นตัว 

กรณีนี้จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ รฟท.พึงพิจารณาด้วยความรอบคอบว่าสมควรเข้าทำสัญญาในโครงการที่มีจำนวนทุนทรัพย์สูงเช่นนี้กับบริษัทดังกล่าวหรือไม่ และยังได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เสนอราคาตามประกาศประกวดราคาโครงการดังกล่าวซึ่งมีนัยสำคัญอีกด้วย

นอกจากนี้โครงการจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ สำหรับบริหารเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน ดังกล่าว เป็นการจัดหาโดยที่ยังไม่มีหัวรถจักรที่จะนำมาใช้ลากจูง เนื่องจาก รฟท.มีการยกเลิกโครงการ Refubish หัวรถจักร จำนวน 56 คัน เนื่องจากการซ่อมไม่คุ้มค่า และได้ประกาศยกเลิกการประกวดราคาจัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน /เพลา จำนวน 50 คัน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557

แม้ รฟท.จะดำเนินการจัดหาหัวรถจักรใหม่ แต่ระยะเวลาในการดำเนินการและส่งมอบได้หลังจากลงนามในสัญญาแล้ว ประมาณ 36 เดือน ในขณะที่ขบวนรถโดยสารฯ ดังกล่าวใช้เวลาในการส่งมอบประมาณ 24 เดือน ดังนั้น จึงมีห้วงระยะเวลาที่ขบวนรถยังไม่สามารถนำมาใช้งานได้ประกอบกับการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุงขบวนรถก็ยังไม่แล้วเสร็จ

"สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับบริหารเชิงพาณชยิ์จำนวน 115 คัน ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของทางราชการและเพื่อเป็นการรักษาประโยชน์สูงสุด ตลอดจนป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ รฟท.จึงขอให้ท่านในฐานะผู้กำกับดูแล รฟท.พิจารณาทบทวนการดำเนินการโครงการดังกล่าวด้วยความระมัดระวังรอบคอบ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดขององค์กรและประเทศชาติเป็นสำคัญ"

(ดูหนังสือสตง.ประกอบ)

nnhh12

nn12

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งถึงผู้บริหารระดับสูงของ รฟท.ดังกล่าว ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2557

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. เว็บไซต์  ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้นำเสนอข่าว ร.ฟ.ท. จัดงานแถลงข่าวลงนามในสัญญาจัดซื้อรถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับให้บริการเชิงพาณิชย์ (Passenger Coach Set) จำนวน 115 คัน วงเงินรวม 4,668.89 ล้านบาท

โดยมีนายวิโรจน์ เตรียมพงศ์พันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์และอำนวยการ รักษาการแทนผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ร่วมลงนามกับ นายประสิทธิ์ โพธสุธน อดีต ส.ว.สุพรรณบุรี ผู้มีอำนาจลงนามของกิจการร่วมค้าบีบีซี (บริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด บริษัท ร่วมมิตรเหมืองแร่ จำกัด บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊กชั่น จำกัด) ซึ่งเป็นโครงการตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วน ร.ฟ.ท. ปี 2553-2557 วงเงินลงทุน 176,806.28 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553

ขณะที่นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การจัดหารถโดยสารครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนปฏิรูปรถไฟปี 2553 ที่มีวงเงินลงทุนรวม 1.7 แสนล้านบาท ซึ่ง ร.ฟ.ท.ไม่ได้จัดซื้อรถโดยสารมานานเกือบ 20 ปี โดยครั้งสุดท้ายจัดหาเมื่อปี 2538

โดยล่าสุดกิจการร่วมค้าบีบีซีจะส่งมอบรถจำนวน 2 ชุดแรก (ชุดละ 13 คัน) ได้ในเดือนสิงหาคม 2558 เพื่อให้สามารถบริการผู้โดยสารได้มากขึ้น และส่งมอบครบทั้งหมด 115 คันในเดือนสิงหาคม 2559 และในการจัดหาครั้งนี้สามารถต่อรองวงเงินลงจากกรอบ 4,981.05 ล้านบาทเหลือ 4,668.89 ล้านบาท

“รถโดยสารแบบใหม่นี้จะเป็นรถชุดที่มีบริการครบสมบูรณ์ เป็นรถปรับอากาศ ตู้ขายอาหาร มีห้องน้ำแบบปิด ซึ่งหากจะมีการปรับอัตราค่าโดยสารที่มีความเหมาะสม ร.ฟ.ท.ต้องเสนอเรื่องเข้ามาให้นโยบายตัดสินใจ ซึ่งอาจจะมีการสนับสนุนในบางส่วนเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน เพราะถือว่ารถไฟเป็นระบบขนส่งหนึ่งที่บริการสาธารณะ (PSO) และจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับนโยบายเรื่องรถเมล์ฟรีด้วย” นางสร้อยทิพย์กล่าว

ชี้ให้เห็นว่าเสียงเตือนของ สตง. ในเรื่องนี้ มีค่าแค่ไหนในสายตาของ รฟท.