logo isranews

logo small 2

คำต่อคำ "ยิ่งลักษณ์VS.วิชา" ประชันข้อมูลถอดถอนคดีจำนำข้าว สภาฯ ระอุ!

เขียนวันที่
วันศุกร์ ที่ 09 มกราคม 2558 เวลา 14:02 น.
เขียนโดย
isranews

“วิชา” ยกตัวเลขอนุฯปิดบัญชีโครงการข้าวเจ๊งยับแสนล้าน แถลงเปิดคดีถอด “ยิ่งลักษณ์” ปมจำนำข้าว ลั่นให้ความยุติธรรม ไม่ผิดก็บอกไม่ผิด ด้าน“อดีตนายกฯ”โชว์สำนวน ป.ป.ช. ไร้ส่วนร่วมทุจริต ชี้ ครม. ไม่ได้ละเลยคำทักท้วง ป.ป.ช.-สตง. ขอ สนช. ให้ความเป็นธรรม

PIC-yingluck-9-1-58 1

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยวาระสำคัญคือการดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว

โดยมีการแถลงเปิดสำนวนคดีตามรายงานและความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำโดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. พร้อมเจ้าหน้าที่รวม 9 คน

ส่วนการแถลงคัดค้านโต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วย นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ นายยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรมว.พาณิชย์-คลัง และนายวราเทพ รัตนากร อดีตรมต.สำนักนายกฯ พร้อมกับทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย และทนายความส่วนตัว

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้นำเสนอเอกสาร 3 ชิ้นเพื่อให้ที่ประชุม สนช. พิจารณา โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้อนุญาตให้ใช้คำแถลงโต้แย้ง และสำเนารายงาน ป.ป.ช. ส่วนหนังสือ “ความจริงชาวนาไทย” ที่เขียนโดยนายยรรยง ไม่อนุญาตให้เข้ามาใช้ในคดีนี้ แต่จะแจกจ่ายประชาสัมพันธ์อย่างไรก็สุดแท้แต่ผู้เขียน

@“วิชา” ยกตัวเลขอนุฯปิดบัญชีโครงการข้าวเจ๊งยับแสนล้าน

โดยนายวิชา ที่เป็นผู้แถลงเปิดคดีนี้ ได้รายงานความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยยกข้อมูลจากอนุกรรมกรารปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ทั้งจากปี 2554-2555-2556 ชี้ให้เห็นถึงความขาดทุนในโครงการเป็นจำนวนหลายแสนล้านบาท เทียบกับภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่ลงทุนในโครงการดังกล่าว รวมไปถึงตัวเลขาการส่งออกในโครงการนี้ ทำให้เกิดภาระหนี้ของรัฐบาลในโครงการดังกล่าวเป็นตัวเลขกว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งเหตุผลที่ต้องยกข้อมูลของอนุกรรมการปิดบัญชีฯ เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนกรณีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และพวกเป็นผู้ถูกกล่าวหาไว้ด้วย

นายวิชา ยังยกกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยทำหนังสือทักท้วงโครงการรับจำนำข้าวหลายครั้ง เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการที่อาจเกิดการทุจริตในทุกขั้นตอน และทำให้ประเทศชาติมีความเสียหายเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดีฝ่ายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้รับฟังคำแนะนำและข้อทักท้วงแต่อย่างใด โดยอ้างว่าเป็นนโยบายที่สำคัญ ยังปล่อยให้มีการดำเนินโครงการนี้มาโดยตลอด ส่งผลให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงมาก รวมไปถึงผลวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ที่ ป.ป.ช. เป็นผู้ว่าจ้างให้ศึกษา ก็พบว่า จะทำให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลแต่ประการใด

“สำหรับเรื่องจำนำข้าว เรียนว่า เราส่งหนังสือทักท้วงไปแล้ว แม้กระทั่งมีการไต่สวนอย่างเป็นทางการ ก็ได้ถามทั้งท่านอดีตนายกฯ และอดีตรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ว่าจะหยุดยั้งได้หรือไม่ เพราะปรากฏว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น มีความเสียหาย แต่รัฐบาลก็บอกว่าไม่สามารถที่จะหยุดยั้งโครงการนี้ได้ เพราะเป็นโครงการที่สำคัญของรัฐบาล” นายวิชา กล่าว

@ลั่นให้ความยุติธรรม ไม่ผิดก็บอกไม่ผิด

นายวิชา กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวแพร่สะพัดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ทุจริตแล้วดำเนินกระบวนการถอดถอนได้อย่างไรนั้น เรียนว่า เราทำคดีตรงไปตรงมา หากท่านไม่ได้ทุจริต เราก็บอกว่าไม่ทุจริต แต่การกระทำของท่านมันเข้าเหตุในการส่อไปในทางทุจริต และไม่ยับยั้งจนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงขึ้น ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับการอำนวยความยุติธรรมเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน เมื่อเห็นว่ามีมูล เราจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถอดถอนหรืออาญา แต่ผู้ถูกกล่าวหา (น.ส.ยิ่งลักษณ์) ได้ปฏิเสธทั้งหมด

“ที่มีข่าวว่าเราไม่ให้ความเป็นธรรมนั้นไม่จริง แม้ชีวิตเราจะหาไม่ เราก็ให้ความเป็นธรรมกับทุกท่าน โดยเฉพาะผู้ถูกกล่าวหา ด้ยเหตุนี้ เรียนว่า พยานหลักฐานที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับ ป.ป.ช. ในกระบวนการไต่สวน เราฟังจาก 3 แหล่ง คือ อนุกรรมการปิดบัญชีฯ ตัวแทนสมาคมผู้ส่งออกค้าข้าว และชาวนาผู้ได้รับผลกระทบ” นายวิชา กล่าว

นายวิชา กล่าวด้วยว่า นายกฯควรยับยั้งตั้งแต่เริ่มรับทราบว่ามีการทุจริตในโครงการ และความเสียหายที่เกิดในโครงการ แต่นายกฯ หรือจะว่าไปแล้ว รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ยืนยันที่จะทำโครงการต่อ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการมากขึ้นเรื่อย ๆ และการที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่บริหารราชการแผ่นดินในการดำเนินนโยบายป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจังโดยพิจารณาให้ยุติหรือยกเลิก

@“ยิ่งลักษณ์”ชี้ สนช. ไม่มีสิทธิ์ถอดถอน-โชว์สำนวน ป.ป.ช. ไร้ส่วนร่วมทุจริต

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แถลงคัดค้านการเปิดคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมฉายภาพสไลด์ประกอบการคัดค้านด้วย โดยเบื้องต้นระบุถึง สนช. ไม่มีสิทธิ์ถอดถอน เนื่องจากถูกพ้นจากตำแหน่งมาแล้วถึง 3 ครั้งคือตอนยุบสภา ตอนถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง และตอนถูกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้พ้นจากตำแหน่ง พร้อมทั้งขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และฝ่ายค้านในอดีต พร้อมยืนยันว่าทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ครบถ้วน ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย และข้อบังคับทางราชการ พร้อมยกรายงานการไต่สวนคดีนี้บางส่วนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ระบุว่า พยานหลักฐานยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมในการทุจริต หรือสมยอมให้เกิดการทุจริต

@ยกรัฐบาลต่างประเทศก็ทำนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังเล่าถึงความเป็นมาของโครงการรับจำนำข้าวว่ามีมากว่า 33 ปี โดยเริ่มสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ แต่ปรากฏว่ามีปัญหาหลายอย่างทำให้โครงการไม่ประสบความสำเร็จ พรรคเพื่อไทยจึงนำมาสานต่อให้ดีขึ้น ดังนั้นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. อ้างรายงานวิจัย TDRI ที่ศึกษาโครงการรับจำนำข้าวสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯนั้น ถือว่าเป็นโครงการเก่าที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุง นอกจากนี้โครงการรับจำนำข้าวไม่ได้มีการบิดเบือนกลไกตลาดอย่างที่กล่าวหา เพราะเป็นการปรับปรุงกลไกข้าวให้เสรีและเป็นธรรมมากขึ้น ทำให้ชาวนามีทางเลือกในการขาย และมีอำนาจต่อรอง เพราะรัฐไม่ได้ผูกขาดตลาดข้าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังยกตัวอย่างจากต่างประเทศด้วยว่า การช่วยเหลือชาวนาตามโครงการรับจำนำข้าวไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะในรัฐบาลหลายประเทศก็สนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิตอาหาร ซึ่งทุกรัฐบาลก็มีสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ เป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแล สำหรับไทยก็เคยมีโครงการที่ช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้มีชีวิตี่ดีขึ้น เช่น โครงการเช็คช่วยชาติ เป็นต้น

“อยากให้ทุกท่านมองในโครงการนี้หลายมิติ มิใช่ค่าใช้จ่าย อยากให้มองในเชิงเศรษฐกิจโดยรวม ขอเน้นย้ำว่าการช่วยเหลือสนับสนุนชาวนาจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิด” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

@สับอนุฯปิดบัญชีโครงการข้าวคำนวณผิด ทำขาดทุนเวอร์กว่าแสนล้าน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงกรณีถูกกล่าวหาว่าโครงการนี้หลายประการ เช่น ตัวเลขของอนุกรรมการปิดบัญชีฯไม่บันทึกข้อเท็จจริงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกข้าวสารไม่ครบถ้วน หรือในข่าวที่ว่าข้าวหาย หรือการคิดค่าเสื่อมราคาไม่ตรงกัน หรือการไม่บันทึกมูลค่าข้าวที่ขายให้กับองค์กรของรัฐ หรือการบริจาคแก่ผู้ประสบภัย ทำให้มีมูลค่าความเสียหายสูงเกินจริง ซึ่งหากนำข้อโต้แย้งทั้งหมดมาคำนวณใหม่จากเดิมที่อนุกรรมการปิดบัญชีฯ ระบุว่ามียอดขาดทุนเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2556 332,372 ล้านบาท จะเหลือการขาดทุนแค่ 257,148 บาท ล้านเท่านั้น

อดีตนายกฯ กล่าวอีกว่า รัฐบาลพยายามเสนอพยานหลักฐานโต้แย้งใน 4 ประเด็นนี้ กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้พิสูจน์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวน แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เลือกรับฟังแต่ของอนุกรรมการปิดบัญชีฯ และตัดพยานหลักฐานต่าง ๆ ทำให้ความเสียหายไม่ได้รับการพิสูจน์ให้เป็นธรรม

“การที่กล่าวหาว่าทุจริตเชิงนโยบาย หรือทุจริตทุกขั้นตอน และไม่ระงับยับยั้งการทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว หรือการระบายข้าวนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง เพราะภาพรวมในการบริหารดินนั้นมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการเกิดทุจริต ซึ่งเห็นได้จากรัฐบาลจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น การประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน และสื่อ เพื่อปราบปรามการทุจริต โดยมีประธาน ป.ป.ช. ได้ร่วมเปิดงานด้วย” อดีตนายกฯ กล่าว

@ชี้ ครม. ไม่ได้ละเลยคำทักท้วง ป.ป.ช.-สตง.

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวด้วยว่า คณะรัฐมนตรีไม่ได้ละเลยต่อข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือ สตง. โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องรับมาพิจารณา และให้ประสานงานกับ ป.ป.ช. เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกับการตรวจสอบเรื่องทุจริตหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการไทยเข้มแข็ง หรือโรงพักทดแทน ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ที่ ป.ป.ช. แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าคดีดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าในการตรวจสอบแต่อย่างใด

“สำหรับโครงการรับจำนำข้าว มีประสิทธิภาพ ปราบปรามการทุจริต เอื้อให้โปร่งใส ในการดำเนินการของรัฐบาลแต่ลำดับ ไม่เคยละเลยป้องกันหลักการป้องทุจริตทุกขั้นตอน โดยมีแผนหลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งอนุกรรมการปิดบัญชีฯในโครงการข้าวโดยเฉพาะ หรือการที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กำหนดข้อป้องกันการทุจริต เป็นต้น” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ส่วนข้อกล่าวหาที่ทำไมไม่ยกเลิกโครงการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า นายกฯจะยกเลิกโครงการจำนำข้าวโดยพลการไม่ได้ เพราะไม่สามารถดำเนินการโดยลำพัง แต่ต้องพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภาไว้

@ขอ สนช. ให้ความเป็นธรรม-ยันไม่เคยคิดคดโกงประเทศ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอความเป็นธรรมเรื่องที่ ป.ป.ช. มาดำเนินคดีไม่ใช่กระบวนการตรวจสอบแบบปกติ และยินดีให้มีการตรวจสอบ แต่ขอให้ดำเนินการด้วยความเป็นธรรม เป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ทุ่มเทอย่างสุดความสามารถ ซื่อสัตย์ ไม่เคยคิดคดโกง หรือทำการทุจริตแต่อย่างใด

“ในยามที่บ้านเมืองต้องการปรองดอง ประเทศจะเดินหน้าได้ ความยุติธรรมต้องมีก่อน ไม่เพียงแต่ดิฉัน แต่ประชาชนที่ประสบชะตามกรรม เช่น เกษตรกร หรือชาวนา ก็ต้องเสียประโยชน์จากโครงการ แล้วเราจะทิ้งชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติได้อย่างไร แค่อาหารบนโต๊ะตรงหน้าพวกเราก็คือข้าว ที่มาจากชาวนา ที่ถูกเอาเปรียบ ไม่เป็นธรรม และมีหนี้สินไม่จบไม่สิ้น” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวด้วยว่า หวังว่าสภาแห่งนี้จะพิจารณาด้วยหลักของความเป็นธรรม เป็นกลาง ไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป และอนาคตอยากเห็นนโยบายที่เกิดขึ้นแบบไม่มีอุปสรรค ข้าราชการที่ดีจะได้กล้าทำงานปฏิบัติราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชนคนไทยทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม สนช. ได้ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญซักถามฯ ในกรณีนี้ จำนวน 9 คน โดยจะมีการประชุมกันครั้งแรกในวันที่ 16 มกราคม 2557 หลังจากนั้นภายใน 7 วันจะมีการแถลงปิดคดี และภายใน 3 วัน ที่ประชุม สนช. จะต้องดำเนินการลงมติถอดถอน