logo isranews

logo small 2

ปฏิบัติการทวงคืนผืนที่ป่าจาก "โบนันซ่า เขาใหญ่" ของคนตระกูล "เตชะณรงค์"

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 31 มีนาคม 2558 เวลา 15:08 น.
เขียนโดย
ณัฐพร วีระนันท์

"..จากการตรวจสอบพบว่าพื้นที่สนามแข่งรถดังกล่าว สามารถแสดงโฉนด น.ส.3ก. ตัวจริงได้เพียง 47 ไร่ และอีกเกือบ 100 ไร่ไม่สามารถนำหลักฐานมายืนยันสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. และเขตป่าสงวน ..."

piiuuddddss

"ไม่รู้จริงๆว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพราะซื้อต่อมาจากชาวบ้านนานแล้ว ส่วนตัวไม่เห็นด้วยอยู่แล้วกับการบุกรุกป่าไม้ และไม่ชอบเรื่องที่ผิดกฎหมายเหมือนกัน"

นี่คือประโยคคำพูดยืนยันของ นางสาวพัทธมน เตชะณรงค์ ลูกสาวคนที่ 3 ในจำนวน 4 คนของ ไพวงษ์-ภัสสรา เตชะณรงค์ เจ้าของธุรกิจโบนันซ่า เขาใหญ่ ต่อสื่อมวลชน 

ภายหลังจากที่ในช่วงวันที่ 31 มี.ค.58 เวลาประมาณ 10.30 น. ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และทหารจากกองทัพภาคที่ 2 ได้เดินทางไปที่โบนันซ่า เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ดินในพื้นที่สนามแข่งรถโบนันซ่า ซึ่งปรากฏหลักฐานว่า น.ส.3 ก. บางส่วนของพื้นที่สนามเเข่งรถดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขาเสียดอ้า

11106505 885967998130287 641124142 n

โดยสนามแข่งรถดังกล่าวมีเนื้อที่ 133 ไร่ 1 งาน 43 ตารางวา จากพื้นที่ของโบนันซ่าเขาใหญ่ทั้งหมดประมาณ 1,588 ไร่ มีลักษณะเป็นสนามแข่งรถทางเรียบ

11099615 885967991463621 1598486756 n

ขณะที่นายก้องกิดาการ ประพันธ์บัณฑิต นายช่างรังวัดชำนาญงาน กรมที่ดิน และ ผู้ช่วยหัวหน้าคณะทำงานเพื่อความมั่นคง กองกำลังรักษาความสงบ กองทัพภาคที่ 2(ตำแหน่งใน คสช.) เปิดเผยต่อสำนักอิศราว่า จากตรวจสอบพบว่าพื้นที่สนามแข่งรถดังกล่าว สามารถแสดงโฉนด น.ส.3ก. ตัวจริงได้เพียง 47 ไร่ และอีกเกือบ 100 ไร่ไม่สามารถนำหลักฐานมายืนยันสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่ สปก. และเขตป่าสงวน

ขัดแย้งกับข้อมูลของนายนิธิตเชษฐ์ สุทธิเจริญกุล นักออกแบบและคนดูแล(ผู้จัดการ) ที่ยืนยันว่าว่า ตอนที่ทำการก่อสร้างได้ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด

"เราไม่ได้อยู่ในเขตป่า แต่อยู่ในเขตกันไฟ เราก็ป้องกันตัวทำตามกฏอย่างดี ตรงนั้นเราไม่ได้เข้าไป เจ้านายบอกว่าให้ทำให้ถูกต้องให้หมด ตรงไหนที่ไม่เป็น น.ส.3ก. เราจะไม่สร้างอาคาร แต่ว่าตรงไหนที่เป็น น.ส.3ก. เราก็ทำอาคารที่เราสามารถทำได้ และมีการขออนุญาตถูกต้อง" นายนิธิตเชษฐ์ยืนยัน

ต่อมาคณะผู้ตรวจสอบของหน่วยงานรัฐ และคณะผู้สื่อข่าวได้เดินทางสำรวจรอบๆพื้นที่ดังกล่าว ปรากฏห้องพักชื่อ 'ห้องพักอินคา'

โดยนายก้องกิดาการเผยอีกว่า "ขณะนี้เรายืนอยู่บนเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขานกยูง ปีพ.ศ.2509"

11104057 885968018130285 1730827812 n

ขณะที่นางสาวพัทธมน เตชะณรงค์ ได้เดินทางมาให้ข้อมูลกับทางคณะผู้สื่อข่าว โดยยืนยันว่า ที่ดินดังกล่าวได้ซื้อต่อมาจากชาวบ้านในพื้นที่ และไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ราชการเข้ามาตรวจสอบ โดยสนามแข่งรถดังกล่าวสร้างมาประมาณ 3 ปีแล้ว ในแต่ละปีจะมีการจัดแข่งขันปีละประมาณ 2-3 ครั้ง อีกทั้งยังมีนักแข่งเดินทางเข้ามาซ้อมอยู่เรื่อยๆ

11106508 885967758130311 1367415194 n

พร้อมยืนยันว่า "ไม่รู้จริงๆว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพราะซื้อต่อมาจากชาวบ้านนานแล้ว ส่วนตัวไม่เห็นด้วยอยู่แล้วกับการบุกรุกป่าไม้ และไม่ชอบเรื่องที่ผิดกฎหมายเหมือนกัน เรายินดีให้ตรวจสอบทั้งโบนันซ่าเลยค่ะ หากเป็นพื้นที่ของทางราชการจริง เรายินดีคืนพื้นที่ทั้งหมดที่เป็นของทางราชการ"

ขณะที่นายอารักษ์ เตชะณรงค์ น้องชายของนายไพวงษ์ เตชะณรงค์ ยืนยันว่า ที่ดินดังกล่าวซื้อมาจากชาวบ้านในพื้นที่ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว และชาวบ้านเป็นคนมานำเสนอขายเอง

"เมื่อ 20 ปีก่อน ชาวบ้านเขามาขอร้องให้เราซื้อที่ดินของเขาด้วยซ้ำ" นายอารักษ์กล่าว

เมื่อถามว่า สามารถนำเอกสารโฉนดที่ดินออกมายืนยันได้ไหม  สมาชิกคนในครอบครัว เตชะณรงค์ ทั้งสองคนยืนยันว่า  "เอกสารตัวจริงทั้งหมดอยู่ที่สำนักงานที่กรุงเทพฯ มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เก็บไว้อยู่ที่นี่ หากต้องการทราบข้อมูลทั้งหมดจริงๆให้เข้าไปที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ และยินดีที่จะเปิดเผยข้อมูลในทุกกรณี"

ด้าน พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ยืนยันต่อสำนักข่าวอิศราว่า "ถ้าพบว่ามีความผิดจริงก็ต้องดำเนินการ โดยใช้มาตรา 25 บวกกับการสืบสวนในการรื้อถอน และขอคืนพื้นที่"

ส่วนพันโทกรทิพย์ ดาโรจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) เผยว่า ทาง ป.ป.ท. จะทำการตรวจสอบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทั้งหมดหรือไม่ ถ้ามีเห็นชอบหรือไม่ เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ. มาตรการต่อไป

"ต้องดูตั้งแต่เริ่มต้นว่าเจ้าหน้าที่มีการเพิกเฉย ละเลยหรือไม่ หรือว่าดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ด้วยมิชอบ หรือทุจริตต่อรัฐหรือไม่ เป็นหน้าที่ที่ ป.ป.ท. ที่จะต้องดำเนินการต่อไป" รองเลขาฯ ป.ป.ท. ยืนยัน

ขณะที่พันเอกสมหมาย บุษบา ที่ปรึกษาคณะทำงานฝ่ายกฏหมาย กองทัพภาคที่ 2 เผยว่า ทางกองทัพได้รับคำร้องเรียนจากราษฎรว่า ที่ดินบริเวณนี้น่าจะมีการออกเอกสิทธิ์ในเขตป่า ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เขตป่าสงวน โดยเฉพาะบริเวณนี้ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนอยู่แล้ว

"อีกทั้งยังมีการท้วงติงมาจากชาวบ้านว่าบริเวณนี้มีการจัดคอนเสิร์ตบ่อยครั้ง ทำให้เกิดปัญหาต่อระบบนิเวศ ก็เลยให้คนเข้ามาดู"

เมื่อถามว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อไหร่? พันเอกสมหมาย เผยว่า พื้นที่บริเวณนี้ไม่น่าจะยาก เพราะหนึ่งคือมีการปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำเข้ามาในเขตป่าสงวน โดยไม่ขออนุญาตอยู่แล้ว ทาง อบต. ก็น่าจะกลับไปออกคำสั่งได้เลย

"ส่วนสนามแข่งรถก็ไม่ได้ขออนุญาตเหมือนกัน ก็ต้องมีการทบทวนว่า ถ้าเขาขอมาจะอนุญาตได้ไหม ซึ่งตอนนี้ที่ดินของเขามีแค่ 47 ไร่ แต่ที่ยืนอยู่ตรงนี้พื้นที่ร่วม 200 ไร่ เพราะฉะนั้นถ้าขอจะอนุญาตได้ไหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปทบทวนบทบาทของตัวเอง" ที่ปรึกษาคณะทำงานกฏหมาย กองทัพภาคที่ 2 ยืนยัน

พันเอกสมหมายยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า "ยังมีอีกเยอะครับ พื้นที่ปากช่องมีเป็น 100,000 ไร่ และมีป่าสงวนแห่งชาติอยู่หลายป่า เป็นพื้นที่ที่มีเอกชนรายใหญ่ถือครองอยู่ไม่กี่ราย ซึ่งรายใหญ่ๆจะถือครองราวๆ 1,000 ไร่ขึ้นไป ส่วนราษฎรเล็กๆน้อยๆถือครองเพียงไม่เท่าไหร่"

ทั้งหมดนี่ คือ ข้อเท็จจริงล่าสุดที่เกิดขึ้น ที่เขาใหญ่ ในช่วงเช้าวันที่ 31 มี.ค.58 ที่ผ่านมา กับปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าซึ่งเป็นสมบัติของชาติกลับคืนที่กำลังปรากฎเป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้