logo isranews

logo small 2

เจาะโครงสร้างกก.ยุทธศาสตร์ฯ "รัฏฐาธิปัตย์ซ่อนรูป" สืบทอดอำนาจ คสช.?

"...เมื่อกระบวนการในการคัดเลือกประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการทั้ง 22 คน  ขณะที่สถานการณ์เมืองบ้านปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ซึ่งมีอำนาจมากที่สุดในการบริหารประเทศขณะนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่า ชื่อของบุคคลแรกที่ถูกคาดการณ์ว่า จะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" คนเดียวเท่านั้น ..."   

pyyyeeeeeee

พลันที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ นายไพบูลย์ นิติตะวัน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาเปิดเผยผลการประชุมเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ในมาตรา 260 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2558 ที่ผ่าน คงทำให้สาธารณชน เริ่มเห็นโครงการและบทบาทอำนาจหน้าที่ของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ชุดนี้ ซึ่งสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

1. โครงสร้างกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการไม่เกิน 22 คน ประกอบด้วย กรรมโดยตำแหน่งได้แก่ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการกองทัพไทย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ซึ่งเลือกกันเองประเภทละ 1 คน และ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 11 คน ซึ่งแต่งตั้งตามมติรัฐสภา จากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆและการสร้างความปรองดอง ดยมีอำนาจหน้าที่เสริมสร้างการปฏิรูป และกำกับการสร้างความปรองดอง และระงับเหตุที่อาจนำไปสู่การเกิดความรุนแรง

2. อำนาจของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ว่า หากคณะรัฐมนตรีไม่มีเสถียรภาพ จนไม่สามารถบริหารประเทศได้ กรรมการยุทธศาสตร์มีมติคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด มีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าว ภายหลังจากที่ได้รับการปรึกษากับ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุดแล้ว เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

จากนั้น ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจสั่งการระงับยับยั้งหรือกระทำการใดๆ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร ให้ถือว่า คำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งและการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้ และถือเป็นที่สุด และเมื่อได้ดำเนินการตามมาตราการดังกล่าวแล้ว ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ รายงานต่อประธานสภา ประธานวุฒิสภา รายงานต่อ ประธานศาลศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด รับทราบโดยเร็ว และแถลงให้ประชาชนรับทราบ และเมื่อมีการใช้อำนาจตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นการเปิดประชุมสภา

นายบวรศักดิ์ กล่าวย้ำด้วยว่า โดยอำนาจพิเศษตามมาตรานี้กำหนดให้ใช้ได้เพียง 5 ปี ซึ่งอำนาจตามมาตรานี้ไม่เหมือนกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพราะไม่มีอำนาจทางตุลาการ

"ตัวอย่างสำหรับการใช้มาตรานี้ เช่น หากเกิดการชุมนุมขึ้นหลายพื้นที่ จนกลายเป็นจราจล รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ตำรวจ ทหาร ก็ยังเอาไม่อยู่ ถือว่า กลไกทางกฎหมายตามปกติไม่สามารถใช้ได้แล้ว กรรมการยุทธศาสตร์ก็ต้องมาใช้อำนาจตามมาตรานี้ ซึ่งขอบเขตของอำนาจตามมาตรานี้ มีไว้เพื่อทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่มีการหมกเม็ด แต่เปิดเม็ดวางอยู่บนโต๊ะ ทั้งยังไม่ใช่การสืบทอดอำนาจแต่ต้องการทำให้เมืองสงบ" นายบวรศักดิ์กล่าว

แม้ว่านายบวรศักดิ์ จะยืนยันชัดเจนว่า เรื่องนี้ไม่มีการหมกเม็ด แต่เปิดเม็ดวางอยู่บนโต๊ะ ทั้งยังไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่ต้องการทำให้เมืองสงบ

แต่หากพิจารณารายละเอียดกระบวนการเกี่ยวกับ "ที่มา" ของ "ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ฯ" จะพบว่า มีประเด็นที่สาธารณชนต้องจับตามองอยู่ไม่น้อย

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org แกะรอยข้อเท็จจริงส่วนนี้มาไล่เลียงนำเสนอให้เห็นภาพแบบชัดๆ ดังนี้

ข้อมูลชุดที่หนึ่ง

เริ่มต้นจากคำตอบของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ให้ไว้กับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ในการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558

สำนักข่าวอิศรา ถามว่า ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะได้มาอย่างไร?

นายไพบูลย์ ตอบ ว่า "ต้องให้คณะกรรมการทั้ง 22 คน เป็นผู้เลือกคนที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นคนในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯเอง หรือเป็นคนนอกก็ได้ ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯนั้น ตั้งได้โดยใช้มติของรัฐสภา ซึ่งจะเขียนไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่อไป"

(อ่านประกอบ : รธน.ใหม่เปิดช่อง กก.ยุทธศาสตร์ฯบริหาร ปท.แทน รบ.ปกติได้ถ้าเกิดวิกฤติ)  

ข้อมูลชุดที่สอง

สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับเรื่องอำนาจโครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ที่กำหนดไว้ในมาตรา 260 ในรูปแบบเอกสาร

พบว่า มีการระบุข้อความไว้ชัดเจนว่า "ให้กรรมการตามวรรคหนึ่งเลือกผู้ซึ่งมีความเหมาะสมคนหนึ่งให้เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ" ตรงกับข้อมูลที่ที่นายไพบูลย์ ระบุ ส่วนบทบาทอำนาจหน้าที่ ก็เป็นไปตามที่นายบวรศักดิ์ ระบุเช่นกัน (ดูเอกสารประกอบ)

picrreeeess

picciiwiwwwwww

เมื่อกระบวนการในการคัดเลือกประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการทั้ง 22 คน  

ขณะที่สถานการณ์เมืองบ้านปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ซึ่งมีอำนาจมากที่สุดในการบริหารประเทศขณะนี้

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ชื่อของบุคคลแรกที่ถูกคาดการณ์ว่า จะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" คนเดียวเท่านั้น   

สอดคล้องกับ ข้อมูลชุดที่สาม ที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันมาก่อนหน้านี้ว่า เดิมที่การจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีการวางตัวให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานไว้แล้ว

แต่มีหลายฝ่ายประเมินว่า ถ้าไปทำอะไรชัดเจนแบบนั้นเลย อาจจะทำให้บทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตีได้ว่า "เป็นความพยายามในการสืบทอดอำนาจ" และจะส่งผลกระทบถึงรัฐบาลชุดใหม่ด้วย 

จึงมีการออกแบบขั้นตอนและกระบวนการคัดเลือกประธานขึ้นมาให้ดูเป็นทางการและเปิดกว้างมากขึ้น โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ทั้ง 22 คน ดังกล่าว แทน และค่อยมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาทำหน้าที่ในภายหลังอีกครั้ง? 

ส่วนข้อมูลนี้ จะจริงเท็จแค่ไหน อีกไม่นานสาธารณชนคงจะได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจนในเร็วๆ นี้    

แต่ถ้าข้อมูลนี้ "ไม่เป็นจริง" ขอให้ "พล.อ.ประยุทธ์" หัวหน้า คสช.  ประกาศออกมาชัดๆ ดังๆ เลยว่า "คสช.จะไม่สืบทอดอำนาจ และไม่ประสงค์จะรับตำแหน่งนี้"  

"เพราะเมื่อท่านพูดเราจะฟัง เมื่อท่านลงมือทำเราจะเชื่อถือ"