logo isranews

logo small 2

‘สมพร อิศวิลานนท์’ 18 ปีนโยบายเกษตรไทย ไม่มีกลไกเตรียมตัวสู่ AEC

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 05 มิถุนายน 2555 เวลา 13:00 น.
เขียนโดย
isranews
หมวดหมู่

alt

"เราเป็นผู้ผลักดันให้เกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่นโยบายรัฐ

ไม่มีกลไกใดๆ เตรียมตัวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแม้แต่นิดเดียว"

ในประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังตื่นตัวกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (Asean Economics Community) ที่จะมาถึงในปี 2558 มีการปรับตัว วางนโยบายเตรียมความพร้อมในการเปิดเสรีกับการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุนและแรงงานมีฝีมือ สำหรับประเทศไทยสิ่งที่เชิดหน้าชูตาและจะสามารถนำไปต่อสู้ในตลาดอาเซียนได้ อย่างเข้มแข็ง คือ "ข้าว" ที่ครองแชมป์ผู้ส่งออกอันดับหนึ่งมายาวนาน

 ถามว่า วันนี้นโยบายพัฒนาข้าว การส่งออกและนโยบายด้านการเกษตรของเราเป็นอย่างไร พร้อมเข้าสู่ AEC แล้วหรือไม่ รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันคลังสมองของชาติ ให้สัมภาษณ์กับศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา ในประเด็นดังกล่าว พร้อมสรุปในเบื้องต้นไว้ว่า นโยบายรัฐด้านสินค้าเกษตร มีความล้มเหลวในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน เพราะทำให้เกิดประชาชนนิยมมากเกินไป

นโยบายรัฐด้านสินค้าเกษตร

แรกเริ่ม รศ.ดร.สมพร ให้ข้อมูลเพื่อเป็นพื้นฐานว่า นโยบายของรัฐด้านสินค้าเกษตรปกติแล้วเกิดขึ้นจากแรงกดดันในพื้นที่ของภาคเกษตรที่ มีความเสี่ยงจากดิน ฟ้า อากาศ และภัยธรรมชาติสูง เมื่อประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง อีกทั้งปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน ทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เกษตรกรขาดอำนาจต่อรองทางการตลาด ทำให้ขายผลผลิตได้ในราคาต่ำ ไม่ได้รับความเป็นธรรม

เช่นนั้นแล้ว การสนองตอบเชิงนโยบายของภาครัฐในอดีต จึงมีทั้ง นโยบายที่ไม่ใช้ราคา เช่น การเสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุนและสร้างความอยู่ดีมีสุขของประชากรภาคเกษตร นโยบายชลประทาน นโยบายวิจัยในภาคเกษตร นโยบายปฏิรูปที่ดินและนโยบายสินเชื่อเกษตร ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นการเอื้อให้เกษตรกรโดยตรง

ประการต่อมา นโยบายที่เกี่ยวข้องกับราคาและการแทรกแซงกลไกตลาด เป็นเครื่องมือในการกำหนดระดับราคาหรือสร้างเสถียรภาพราคาต่อเกษตรกรหรือผู้ บริโภค มีทั้งที่เป็นการแทรกแซงกลไกตลาดหรือบิดเบือนกลไกตลาดไปจากราคาสมดุลตาม ลักษณะของอุปสงค์และอุปทานของตลาด เช่น การพยุงราคาและการประกันราคาสินค้าเกษตร การประกันรายได้ขั้นต่ำของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และโครงการรับจำนำข้าวเปลือก

เหล่านี้คือนโยบาย แก้ปัญหาเฉพาะหน้า

เมื่อถามว่า นโยบายด้านเกษตรเรื่องใดที่เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน รศ.ดร.สมพร เน้นย้ำว่า คือ "การลงทุนในการวิจัย" ซึ่งงบฯ ที่ให้ในการลงทุนดังกล่าวสำหรับประเทศไทย "มีจำกัด"

เขาแจกแจงให้ฟังว่า ใน 4 ปี งบวิจัยทางการเกษตรมีอยู่ 5,000 กว่าล้านบาท เฉลี่ย 1,000 กว่าล้านบาทต่อปี พร้อมยกตัวอย่างงบวิจัยด้านข้าวและการเกษตรในปี 2554 ของกรมการข้าวมีจำนวน 190 ล้านบาท เฉลี่ยงบต่อพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 3.06 บาทต่อไร่ คิดเป็น 0.09% ต่อมูลค่าการส่งออก

มองในภาพกว้างๆ ความพร้อมด้านการเกษตรของประเทศไทยขณะนี้ นักวิชาการอาวุโส และอดีตกรรมการกรมการข้าว เห็นว่า นโยบายด้านเกษตรส่วนใหญ่ "ฝืน" กับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ต้องสร้างตลาดให้มีประสิทธิภาพ หนุนเสริมสินค้าส่งออก ให้กลไกตลาดสร้างคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้ง ยกระดับความเข้มแข็งให้เกษตรกร ให้ปรับตัวไปสู่ระบบการจัดการที่ดี ผลิตโดยคำนึงถึงผู้บริโภค ให้ได้สินค้าคุณภาพ

"สิ่งที่เราทำ คือ เพิ่มรายได้ เอาเงินใส่ปาก ยกระดับราคาให้สูง นี่คือประเด็นปัญหาที่ทำให้ระบบเกษตรไทยไม่เข้มแข็งและแข่งขันไม่ได้"

ข้าว และการรับจำนำข้าว

ยิ่งเมื่อกล่าวถึงนโยบายรับจำนำข้าว หนึ่งในนโยบายที่ รศ.ดร.สมพร บอกว่า ฝืนการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพราะ แม้ว่า โครงการรับจำนำจะมีมานานแล้ว แต่เดิมเป็นการรับจำนำสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 80% ของมูลค่าสินค้าที่มาจำนำ และตั้งงบไว้ไม่เกิน 100,000 บาท

ขณะที่ปัจจุบันโครงการรับจำนำตั้งราคาไว้สูงเกินราคาตลาด ซึ่งกำลังทำให้ตลาดข้าวกลายเป็นตลาดผูกขาดด้วยตัวของมันเอง

เขายกข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ในปี 2547 ที่ระบุว่า โครงการรับจำนำได้ลดทอนบทบาทของ "ตลาดกลาง" ให้ หายไป การใช้กลไกโรงสีเป็นแหล่งสต็อกข้าวในโครงการรับจำนำมีการขยายตัวมากขึ้น ทำให้การกระจายตลาดกลางสินค้าเกษตรที่ดำเนินงานโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์และการกระจายตลาดสินค้าเกษตรที่ดำเนินงานโดยสหกรณ์การเกษตร ที่มีในอดีตหายไป

"เมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยว เสร็จก็รีบขายเข้าโรงสี ทั้งที่คุณภาพยังไม่ได้ ส่วนโรงสีก็โกงความชื้น โกงตาชั่ง ไม่สนใจคุณภาพ เพราะเป็นข้าวของรัฐบาล ส่วนนี้เกษตรกรไม่มีอำนาจในการต่อรอง ทำให้คุณภาพข้าวเสื่อม ผลผลิตข้าวทั้งที่ดีและไม่ดีกลับมีราคาเท่ากัน กลไกนี้จึงไม่ได้เอื้อให้คนทำความดี"

นอกเหนือจากความอ่อนแอของกลไกตลาดที่เกิดขึ้นแล้ว การยกตลาดข้าวซึ่งเป็นพืชใหญ่ จึงทำให้เกิดการเบี่ยงเบนตลาดพืชและผลไม้อื่นๆ เพราะเกษตรกรหันมาผลิตข้าว ผลไม้ไทยพันธุ์ดีที่ควรได้รับการพัฒนาก็ลดน้อยลงไป

...นับว่าเป็นหายนะของภาคเกษตรไทย ที่ไม่ใช่แค่ทำลายข้าว แต่ส่งผลกระทบด้านลบกับผลผลิตด้านเกษตรอื่นๆ อีกมาก

และแม้จะดำเนินนโยบายจำนำข้าวต่อไปได้ แต่ท้ายที่สุดด้วยต้นทุนในแต่ละปี จะทำให้การลงทุนด้านอื่นๆ เช่น สร้างถนน การศึกษา สุขอนามัยและงานวิจัยหายไป ทั้งนี้ หากจะขายข้าว ก็ต้องลดราคาลงมาเหลือ 420 ดอลลาร์หากข้าวไม่เก่า ส่วนที่เคยพูดไว้ 800 ดอลลาร์นั้น ข้อเท็จจริงก็เห็นแล้วว่า "ไม่เป็นจริง" ความคิดที่ว่า เราเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ แล้วจะทำตลาดได้นั้น สุดท้ายก็เป็นจริงไม่ได้

"มองอนาคต 10 ปีข้างหน้าแล้วเศร้าใจ เพราะคนไทยจะเดือดร้อนหนัก อย่างภาคใต้ ปาล์มน้ำมันและยางพาราก็รุกนาข้าว ภาคกลางมีการปรับการปลูกพืชผลไม้อื่นๆ มาปลูกข้าว ทำให้ราคาอาหารสัตว์แพงขึ้น เช่นเดียวกับต้นทุนในการผลิตสัตว์และราคาอาหาร"

สมดุลประชานิยม กับประสิทธิภาพสินค้าเกษตร

หากรัฐบาลต้องการทำนโยบายประชานิยม อย่างการรับจำนำข้าว ก็ควรมุ่งเฉพาะกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ดึงคนมาทำเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นได้นอกจากเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว เราจะได้ข้าวคุณภาพที่เป็นที่ต้องการเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

"หากอยากช่วยชาวบ้านจริงๆ และให้กลไกตลาดเดินหน้าต่อไปได้ รัฐต้องจำกัดวงเงิน 300,000-500,000 ล้านบาทในการรับจำนำ เพราะหากไม่จำกัดประโยชน์จะไม่ตกไปถึงเกษตรกรากหญ้าอย่างที่หลายคนเข้าใจ คนเดือดร้อนเรื่องเงินจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ ผู้ที่ได้ประโยชน์ คือ เกษตรกรรายใหญ่ที่ไม่ได้เดือดร้อน"

สมดุลระหว่างประชานิยม และประสิทธิภาพของสินค้าเกษตรสามารถเกิดขึ้นได้ หากบริหารนโยบายให้มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามนโยบายของรัฐต้องพิจารณาในระยะยาว ตอบโจทย์ความปลอดภัยของอาหาร (Food Security) และราคาอาหารสำหรับคนเมืองที่มีรายได้ประจำหากราคาสูงขึ้นจะทำอย่างไร แต่หากไม่ปรับเปลี่ยนหรือวางนโยบายที่ตอบโจทย์ในอนาคต เศรษฐกิจของประเทศก็จะพัง

เพิ่มศักยภาพแข่งขันข้าว แสงสว่างสินค้าเกษตรไทย

หากจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านข้าว เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและผลักดันสินค้าเกษตรไทย รศ.ดร.สมพร บอกว่า ต้องปรับตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ต้นน้ำ จะต้องพัฒนาตั้งแต่ระดับไร่นา แก้ไขพันธุ์ข้าวที่มีการปลอมปน ประสิทธิภาพในการผลิต ที่สำคัญที่สุด ต้องเบนเข็มมาที่งานวิจัย ซึ่งเขาบอกว่า การลงทุนเรื่องนี้ไม่มีสูญเปล่า

กลางน้ำ ต้อง จัดระบบการตลาดให้ดี ทำให้ผู้ผลิตขายในราคาสูงขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคซื้อในราคาต่ำลง เนื่องจากต้นทุนแฝงที่เกิดขึ้นจากการซื้อขาย (transaction cost) นั้นต่ำ อีกทั้งดูแลเรื่องความเป็นธรรม โดยเฉพาะโรงสี เรื่องความชื้น มาตรฐานข้าวและการโกงตาชั่ง เหล่านี้จะทำให้ประโยชน์ตกไปอยู่ที่ชาวนามากขึ้นและดึงให้ข้าวมีคุณภาพที่ เชื่อถือได้

สุดท้ายปลายน้ำ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพระบบการส่งออก สิ่งที่เน้นย้ำ คือ รัฐไม่ควรเป็นผู้ส่งออก แต่ควรเป็นผู้กระจายการส่งออกให้เอกชน รัฐเพียงสนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมเท่านั้น

ก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ที่ผ่านมาเราเป็นผู้ผลักดันให้เกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่นโยบายของรัฐไม่มีกลไกใดๆ ที่เตรียมตัวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเลยแม้แต่นิดเดียว

การกระตุ้นเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ก็ใช้เงินใส่ไปในงานวิจัยเพียง 200 ล้านบาท ในขณะที่นำมาทำประชานิยมกว่า 2 แสนล้านบาท  ต่างกับประเทศเวียดนามที่ทุ่มงบประมาณไปกับการพัฒนาข้าว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยด้านอาหารในประเทศ

"เมื่อปี 2535 เราเป็นพระเอก เป็นผู้ผลักดันรายใหญ่ในการเปิด AFTA ว่า ในปี 2553 ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการค้าข้าว เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ในอาเซียน แต่ 18 ปีผ่านไป เราไม่ได้พัฒนากลไกตลาด ตรงกันข้ามทุกวันนี้ตลาดกลางข้าวหายไปหมด การส่งออกข้าวในตลาดอาเซียนของเวียดนามกับไทยเริ่มห่างกัน

จึงเป็นคำถามที่น่าคิดว่า เราจะแข่งขันในประชาคมเศรฐกิจอาเซียนได้หรือไม่...