- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- เศรษฐกิจ การเงิน การคลัง
- เปิดผลวิจัยความเป็นไปได้ ตั้ง ‘สถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าว’ ยกระดับแข่งขันเวทีโลก
เปิดผลวิจัยความเป็นไปได้ ตั้ง ‘สถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าว’ ยกระดับแข่งขันเวทีโลก
กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จับมือทีดีอาร์ไอเปิดผลศึกษาความพร้อมเเละความเป็นไปได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าว หวังเป็นองค์กรข่าวกรองด้านตลาดข้าว สร้างข้อได้เปรียบให้ไทย เล็งชง ครม.พิจารณาเเล้วเสร็จรัฐบาลประยุทธ์
“ไทยกำลังสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดข้าวโลก โดยเฉพาะข้าวคุณภาพสูงให้กับคู่แข่ง เกษตรกร ตลอดจนผู้ประกอบการข้าวไทยขนาดกลางและขนาดเล็กมีปัญหาขาดข้อมูลสารสนเทศด้านตลาดข้าว ทำให้การตัดสินใจผิดพลาดและภาครัฐไม่เคยมีงานวิจัยด้านการตลาดอย่างจริงจัง การวิจัยด้านการผลิตก็ไม่เชื่อมโยงกับการตลาดยังผลให้ความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว”
นี่คือเหตุผลทำให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ต้องว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำโดยดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง 'สถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าว' ขึ้นในไทย
โดยหวังให้มีพันธกิจ 3 ด้าน ได้แก่ รวบรวมวิเคราะห์และรายงานสถานการณ์ตลาดข้าว โดยเน้นการนำเสนอข่าวกรองด้านตลาดข้าวที่ทันเหตุการณ์ ขยายช่องทางและพัฒนาตลาดสำหรับข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวไทย และรักษายกระดับความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก
ในต่างประเทศมีหน่วยงานที่จัดทำรายงานสถานการณ์ข้าวโลกเช่นกัน แต่รายงานเหล่าเป็นภาษาอังกฤษ และส่วนใหญ่ผู้ใช้ต้องเสียค่าสมาชิกในราคาสูงมาก ทำให้กลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจของไทยส่วนใหญ่ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางมีปัญหาการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว นี่คือข้อเสียเปรียบและเสียโอกาสในการทำธุรกิจสมัยใหม่ที่ต้องมีข้อมูลทันสมัยและน่าเชื่อถือตลอดเวลา
"สถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าวจะเป็นสถาบันมันสมองสำหรับอุตสาหกรรมข้าวไทยในด้านการวิเคราะห์ข่าวกรอง และวิจัยการตลาดข้าว ตลอดจนเป็นแกนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย" ผู้วิจัย กล่าว เเละว่า นอกจากเป็นสถาบันด้านตลาดข้าวแห่งแรกของไทยแล้ว ยังหลีกเลี่ยงการทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยราชการ โดยเฉพาะกรมการข้าว
สถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าว จะทำหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนงานสำคัญของหน่วยงานเพื่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการธุรกิจข้าวไทย
สำหรับผลการศึกษา ผู้วิจัยพบว่า การก่อตั้งสถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะกลางเป็นมูลค่าอย่างต่ำ 16,830 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินลงทุนจำนวน 2,000 ล้านบาทใน 6 ปี ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายปีละ 60 ล้านบาท
นอกจากนี้ข้อมูลข่าวสารและการวิจัยของสถาบันฯ ยังก่อประโยชน์อื่น ๆ ที่วัดเป็นตัวเงินไม่ได้ ดังเช่น การลดความเสี่ยงจากการตัดสินใจของชาวนาและผู้ประกอบการข้าวขนาดเล็กและขนาดกลาง
ผู้ที่จะได้รับประโยชน์หลักจากการดำเนินงานของสถาบันฯ คือ ผู้ประกอบการธุรกิจข้าวขนาดกลางและขนาดเล็กในอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำที่ต้องการข้อมูลข่าวสารด้านตลาดข้าวโลกที่น่าเชื่อถือ และกลุ่มเกษตรกรที่ทำธุรกิจด้านข้าว
ฉะนั้น การก่อตั้งสถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าวมีความคุ้มค่าต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยและประเทศไทย
ผู้วิจัยยังได้ศึกษาบทบาทขององค์กรทั้งในและต่างประเทศ พบข้อสรุปสำคัญ คือ องค์กรจะสามารถปฏิบัติงานด้านข้อมูลข่าวสารด้านการผลิตและการตลาดจะต้องมีพันธกิจที่ชัดเจน โดยมีความรับผิด (Accountable) ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และดำเนินงานอย่างโปร่งใส สามารถให้บริการด้าน Market intelligence ให้บริการการสร้างความสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายการค้าให้ผู้ประกอบการไทย และสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสถาบันฯ กับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย
นอกจากนี้ได้ให้บริการด้านวิจัยการตลาดเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการจากประเทศของตนเอง จัดงานและสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศลูกค้า รวมทั้งจัดพันธกิจการค้า เช่น พานักธุรกิจจากประเทศลูกค้ามาดูงานในประเทศของตนเอง โดยเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์และปราศจากปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน และองค์กรที่ทำงานให้บริการข้อมูลข่าวสารต้องวางระบบการสืบเสาะและรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ
ผู้วิจัยระบุสาเหตุเพราะประเทศเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น มีตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (Futures market) ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรจะมีอิทธิพลมากต่อราคาตลาด ทั้งราคาปัจจุบันและราคาล่วงหน้า และปริมาณการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าผ่านกระบวนการเก็งกำไร
ดังนั้นตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจึงเป็นกลไกสร้างวินัย (discipline mechanism) ของการทำงานขององค์กรด้านข้อมูลสารสนเทศการเกษตร
“นัยสำคัญสำหรับรัฐบาลไทย คือ หากรัฐบาลสามารถปรับปรุงศักยภาพและประสิทธิภาพของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าได้ เช่น ไม่แทรกแซงตลาดจนทำให้ความเสี่ยงจากนโยบายสูงกว่าความเสี่ยงขั้นพื้นฐาน (basis risks) ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะช่วยสร้างวินัยการทำงานของสถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าว โดยสถาบันฯ จะไม่กล้าเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ขาดความน่าเชื่อถือจนกว่าจะมีการตรวจสอบความถูกต้องก่อน”
จึงจะเห็นได้ว่า ข้อสรุปข้างต้นมีนัยสำคัญต่อการออกแบบสถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าว องค์ประกอบหลัก โครงสร้างของสถาบันฯ ที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงต้องมีองค์ประกอบสำคัญรวม 6 ประการ ดังนี้
องค์ประกอบแรก คือ กรอบภารกิจของสถาบันฯ ซึ่งมีพันธกิจหลัก 3 ประการ ดังกล่าวแล้ว
องค์ประกอบสอง คือ รูปแบบขององค์กรควรเป็นอย่างไร การวิเคราะห์รูปแบบโครงสร้างที่เหมาะสมของสถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าว พบว่าในแง่กฎหมาย มีรูปแบบองค์กร 4 ประการ ได้แก่ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐในรูปองค์กรมหาชน และมูลนิธิ
องค์กรแต่ละประเภทมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน เมื่อคำนึงถึงเงื่อนไขสำคัญที่จะเอื้ออำนวยให้สถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าวสามารถดำเนินงานตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมข้าว สถาบันฯ จะต้องมีความอิสระจากระบบราชการและการเมือง มีความยืดหยุ่นและความคล่องแคล่วในการทำงานแบบบริษัทเอกชน ไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดินทุกปี
ผู้วิจัยจึงเห็นว่า รูปแบบองค์กรที่เหมาะสมที่สุด คือ โครงสร้างองค์กรแบบมูลนิธิ เพราะมีตัวอย่างมูลนิธิที่ดำเนินงานตามเจตนารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และมูลนิธิสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม มูลนิธิจะมีจุดอ่อน คือ ขาดเงินงบประมาณที่แน่นอน ซึ่งต่างจากระบบราชการและปัญหาการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้นจึงต้องออกแบบให้สถาบันฯ ได้รับเงินทุนสนับสนุนใน 6 ปีแรก เป็นเงินทุนประเดิมและงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นเวลา 6 ปี หลังจากนั้นมูลนิธิจะมีรายได้จากดอกผลที่เพียงพอต่อการดำเนินงาน และจะต้องมีกิจกรรมทำรายได้เสริมเพิ่มเติม
ส่วนวิธีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการ ผู้วิจัย ระบุมี 2 วิธี คือ วิธีแรก คือ ประธานมูลนิธิคนแรกจะเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพราะจะต้องทำหน้าที่ขอเงินสนับสนุนจากค่าธรรมเนียบการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปจากกระทรวงพาณิชย์ 6 ปีแรก นอกจากนั้นผู้อำนวยการสถาบันฯ และกรรมการสถาบันฯ อีก 2 คน จะเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
วิธีสอง คือ การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานราชการด้านการพาณิชย์และด้านการฑูตในต่างประเทศ โดยการว่าจ้างให้จัดเก็บข้อมูลข่าวสาร ช่วยแนะนำและสร้างความสัมพันธ์กับข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจในต่างประเทศ สนับสนุนงานวิจัยการตลาดและจัดงานแสดงสินค้า เป็นต้น
องค์ประกอบสาม คือ คณะกรรมการสถาบันฯ ซึ่งจะประกอบด้วยตัวแทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ โดยมีอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2 คน ตัวแทนสมาคมชาวนาและสหกรณ์ชาวนา 1 คน และกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตข้าวอินทรีย์ กลุ่มข้าวชุมชนและวิสาหกิจชุมชน 1 คน ตัวแทนสมาคมโรงสี 1 คน ตัวแทนกลุ่มโรงงานผลิตภัณฑ์จากข้าว 1 คน ตัวแทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย 1 คน ตัวแทนสมาคมผู้ค้าปลีก 1 คน ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนและมูลนิธิทำงานด้านส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าว 1 คน และนักวิชาการ 3 คน
“สัดส่วนองค์ประกอบของแต่ละฝ่ายมีความสมดุลกัน เพื่อป้องกันมิให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจครอบงำการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว การคัดเลือกตัวแทนเหล่านี้ให้เป็นหน้าที่ของสมาคมและกลุ่มต่าง ๆ ส่วนอดีตข้าราชการและนักวิชาการให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์กับกรรมการสถาบันฯ ร่วมกันคัดเลือกและตัดสินใจ”
องค์ประกอบสี่ คือ บุคลากรของสถาบันฯ ความสำเร็จของสถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าวขึ้นกับวิสัยทัศน์ ความรู้ความสามารถ และความตั้งใจของผู้อำนวยการสถาบันฯ คนแรก และประธานสถาบันฯ คนแรก ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ต้องมีความพิถีพิถันในการสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิ ซึ่งจะเป็นผู้คัดเลือกเสนอชื่อที่เหมาะสมให้คณะกรรมการสถาบันฯ เป็นผู้ตัดสินใจ
ทั้งนี้ ข้อเสนอด้านบุคลากร คือ สถาบันฯ จะเป็นองค์กรขนาดเล็กที่มีลักษณะแบบ Flat organization จึงมีพนักงานทั้งสิ้นรวม 16 คน รวมผู้อำนวยการ แบ่งเป็น 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายข้อมูลสารสนเทศและจัดทำรายงาน (5คน) ฝ่ายพัฒนาการตลาด (3คน) ฝ่ายวิจัยการตลาด (2คน) และฝ่ายธุรการและการเงิน (5คน) การทำงานของแต่ละฝ่ายขึ้นกับผู้อำนวยการฝ่าย แต่จะต้องมีการทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันอย่างใกล้ชิดและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน(symbiosis) ผู้อำนวยการสถาบันฯ จึงมีหน้าที่ประสานการทำงานฝ่ายต่าง ๆ และเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการวางกรอบแนวคิดและสังเคราะห์ข้อมูลข่าวสารของฝ่ายต่าง ๆ
องค์ประกอบห้า คือ การเงินของสถาบันฯ การประมาณการรายจ่ายพบว่า สถาบันฯ จำเป็นต้องมีงบประมาณปีละ 60 ล้านบาท อย่างน้อยใน 3 ปีแรก ดังนั้นผู้วิจัยจึงเสนอให้กระทรวงพาณิชย์นำเงินรายได้จากค่าธรรมเนียมการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปหรือเงินสะสมจากหน่วยบัญชีข้าวมาจัดสรรเป็นทุนประเดิมและงบประมาณรายจ่าย 6 ปีแรก รวม 2,000 ล้านบาท โดยปีแรก 500 ล้านบาท ปีที่ 2-6 ปีละ 300 ล้านบาท
ในปีแรก เงิน 500 ล้านบาทจะนำมาจัดสรรเป็นงบประมาณค่าใช้จ่ายของสถาบันฯ จำนวน 60 ล้านบาท เงินสดสำรอง 20 ล้านบาท และเงินกองทุนประเดิม 420 ล้านบาท ส่วนปีที่ 2-6 จะแบ่งเป็นเงินงบประมาณประจำปี ปีละ 60 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินกองทุนเพื่อหาดอกผลจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในอัตราเสี่ยงปานกลาง
ดังนั้นตั้งแต่ปีที่ 7 เป็นต้นไป สถาบันฯ จะมีเงินรายได้จากดอกผลไม่ต่ำกว่าปีละ 60 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับงบประมาณประจำปีโดยไม่นำต้นเงินกองทุนมาใช้ นอกจากนั้นสถาบันฯ จะมีรายได้เสริมจากการให้บริการพิเศษ เช่น การจัดฝึกอบรม การให้บริการข้อมูลข่าวสารเชิงลึกแก่ลูกค้าเฉพาะราย เงินวิจัยที่ขอจากหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งค่าจ้างที่ปรึกษา (consultant services) ให้แก่ภาคเอกชนบางราย
อนึ่ง หากเป็นไปได้ กระทรวงพาณิชย์ควรทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีขอแบ่งเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากผู้ส่งออกข้าว จากกรมสรรพากรมาใช้เป็นงบวิจัยด้านการตลาด
องค์ประกอบหก คือ ต้องเป็นองค์กรที่มีระบบและกระบวนการทำงานแบบธรรมาภิบาล (good governance) และโปร่งใส โดยมีความเป็นกลาง และปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง ราชการ และเอกชน ความรับผิดต่อสมาชิกของสถาบันฯ
ผู้วิจัยเห็นว่า การก่อตั้งต้องเริ่มจากกระทรวงพาณิชย์ขออนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (นบข.) และคณะรัฐมนตรีจัดตั้งมูลนิธิสถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าว แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิสถาบันฯ และจัดสรรเงินจากค่าธรรมเนียมการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปตามโควตาที่ได้รับจัดสรร จากนั้นให้คณะกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิสถาบันฯ จดทะเบียนขอตั้งมูลนิธิฯ จากกระทรวงมหาดไทย ร่วมมือกับสมาคมที่เกี่ยวข้องสรรหาและคัดเลือกกรรมการสถาบันฯ คัดเลือกประธาน และว่าจ้างผู้อำนวยการ
ท้ายที่สุด ผู้เข้าร่วมประชุมระดมสมองทุกฝ่ายเห็นพ้องว่า หากจะก่อตั้งสถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าวที่เป็นประโยชน์โดยรวมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมข้าว และควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการก่อตั้งสถาบันฯ ให้สำเร็จภายในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา .