- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- การศึกษาไทยปีเถาะ "ปฏิรูป" ไม่พอ ต้อง "ปฏิสังขรณ์"
แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
การศึกษาไทยปีเถาะ "ปฏิรูป" ไม่พอ ต้อง "ปฏิสังขรณ์"
“ปีเสือ” ผ่านไป และ “ปีกระต่าย” เข้ามาแทนที่
มีหลายคนตั้งคำถามว่า แล้ว "ทิศทางการศึกษาไทย” ในปี 2554 นี้ จะเป็นไปอย่างไร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2553 ที่ผ่านมา ในแวดวงการศึกษาไทย เรียกได้ว่า..เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม มีครบทุกรสชาติ
อย่างนโยบายร้อนๆ ส่งท้ายปีของนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ประกาศเกณฑ์การรับนักเรียนในปีการศึกษา 2554 ในชั้น ม.1 และ ม.4 โรงเรียนดัง โดยสั่ง “ห้าม” รับ “เด็กฝาก” เด็ดขาด รวมถึง สั่งห้ามสมาคมผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา สมาคมศิษย์เก่า และสมาคมอื่นๆ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการรับนักเรียน และโรงเรียนต้องไม่จัดสรรโควต้าเด็กฝากให้ หากโรงเรียนใดฝ่าฝืน ได้เตรียมมาตรการลงโทษเอาไว้แล้ว
หรือก่อนหน้านี้ ศธ.มีนโยบาย “ยกเครื่อง” การผลิต “ครูพันธุ์ใหม่” ให้มีคุณภาพ เริ่มจากคณะกรรมการคุรุสภามีมติให้ยกเลิกหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตศึกษา (ป.บัณฑิต) และยกเลิกการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพ เพราะเห็นว่าบัณฑิตที่จบออกมามีคุณภาพสู้บัณฑิตที่จบหลักสูตรครู 5 ปี ไม่ได้ ขณะเดียวกันนายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.มีนโยบายยกเลิกหลักสูตรครู 4+1 ปี และเปลี่ยนเป็นหลักสูตรครู 4+2 ปี เมื่อจบแล้วจะได้รับวุฒิปริญญาโท รวมถึง การให้ทุนการศึกษา และรับประกันการมีงานทำของครูในโครงการครูพันธุ์ใหม่
ในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็มีข่าวดีสำหรับ “แม่พิมพ์” เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ส่งผลให้ครูกว่า 4 แสนคน ได้รับโครงสร้างเงินเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8
อีกปัญหาที่สร้างความวุ่นวาย สับสน และเดือดร้อนให้กับนักเรียน และผู้ปกครองจำนวนมาก กรณีที่มหาวิทยาลัยหันไปเพิ่มสัดส่วน “รับตรง” กันมากขึ้น ทำให้นักเรียนต้องวิ่งรอกสอบตามมหาวิทยาลัยต่างๆ กระทั่งเสียงร้องเรียนมากขึ้น นายไชยยศ จิรเมธากร ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีแนวคิดจัดตั้ง “ศูนย์กลางรับตรงนิสิตนักศึกษา สกอ.” เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการจัดเตรียมข้อมูลการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อให้สถาบันอุดมศึกษา และประสานงานการจัดสอบวิชารับตรง เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้เด็กต้องวิ่งรอกสอบ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่เป็นรูปธรรม
และข่าวฮอตต้อนรับปีกระต่ายอย่าง “การซื้อ-ขายปริญญาบัตร” ของมหาวิทยาลัยชื่อดังผ่านเว็บไซต์กันโจ่งครึ่ม ชนิดที่เห็นราคาแล้วอดสังเวชไม่ได้ โดยในระดับปริญญาตรี ซื้อขายกันที่ราคา 37,000-90,000 บาท ปริญญาโท 120,000-280,000 บาท โดยใน 2 ระดับนี้ ระบุว่าเข้ารับปริญญาได้ ส่วนปริญญาเอกซื้อขายกัน 600,000 บาท ซึ่งจ่ายเงินให้กับสถาบันอุดมศึกษาโดยตรง โดยไม่ต้องเข้าเรียน
รวมถึง กรณีที่สถาบันอุดมศึกษาแห่เปิดหลักสูตรประเภท “จ่ายครบ จบแน่” โดยไม่สนใจคุณภาพของบัณฑิตที่จบออกมาว่าจะมีคุณภาพหรือไม่ รวมทั้ง การจัดตั้งศูนย์นอกที่ตั้งจนเกร่อ ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ได้ออกมาปรามให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นรีบปิดหลักสูตร หรือศูนย์นอกที่ตั้งที่ไร้คุณภาพ ไม่เช่นนั้นอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสถาบัน
คราวนี้ลองมาฟังดูว่าทิศทางการศึกษาไทยในปี 2554 จะเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มจาก นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ที่ระบุว่า ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป โจทย์ของการปฏิรูปการศึกษา ยุทธศาสตร์ มาตรการ และผลที่เกิดขึ้น ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองของรัฐบาล จะชัดเจนขึ้น ดังนี้
1.ศธ.จะจัดการศึกษาน้อยลง แต่เป็นผู้อำนวยการมากขึ้น
2.ระบบการศึกษาจะมีอยู่ 3 ลู่ ได้แก่ ลู่ปกติ การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี, ลู่สวัสดิการ การจัดสวัสดิการเพื่อเด็กยากจน และด้อยโอกาส และลู่พิเศษ จะเป็นช่องทางสำหรับการแข่งขันเพื่อการไปสู่สากล เช่น ผู้ที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลโดยเฉพาะ ศธ.จะต้องซื้อบริการจากบริษัทเอกชน หรือมหาวิทยาลัย ในลักษณะของ “เศรษฐกิจการศึกษา” เช่น เด็กไทยยุคนี้ต้องพูดภาษาอังกฤษได้ภายใน 5 ปี รัฐจึงต้องไปหาบริษัทเอกชน หรือมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ให้ผลิตซอฟต์แวร์ ซึ่งเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อยากให้ไปศึกษาให้ดี เพราะอาจจำเป็นต้องใช้วิธีนี้
3.เรื่องเขตบริหารเขตพื้นที่การศึกษา โดยจะกระจายอำนาจ เพิ่มการมีส่วนร่วม ลดระเบียบกฎเกณฑ์จากส่วนกลางลง ให้ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา คิดนอกกรอบมากขึ้น
4.ระบบหลักสูตร โดยจะปฏิรูปการเรียนรู้ เพิ่มสัดส่วนหลักสูตรของท้องถิ่นเป็น 70 ต่อ 30 โดยจะให้นักเรียนเรียนครึ่งวัน และอีกครึ่งวันทำกิจกรรม แบ่งเป็น ระดับประถมศึกษา ลงเรียนรู้วิถีชุมชน, ระดับมัธยมศึกษา เรียนเรื่องความเป็นพลเมือง และระดับอุดมศึกษา จะรื้อฟื้นกิจกรรมนักศึกษา องค์การนิสิตนักศึกษา สโมสรนิสิตนักศึกษา โดยจะกลับมาส่งเสริมนิสิตนักศึกษาให้มีส่วนร่วมด้านสังคม และการเมือง
5.ยกย่องวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2554 เช่น ครูจะกลับมาทำหน้าที่ในวิชาชีพมากขึ้น จะสร้างขวัญและกำลังใจเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นการทำความดีเพื่อถวายในหลวง ที่สำคัญ จะเกิด “สถาบันคุรุศึกษา”
6.โรงเรียนจะสมบูรณ์ในความหมาย “นิติบุคคล” มีงบประมาณลงสู่สถานศึกษาโดยตรงหลายหมื่นล้านบาท ผู้บริหารต้องอยู่โรงเรียน มีกองทุนของสถาบันส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เข้าไปช่วย ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหาร ต้องเข้าไปช่วยให้มีโครงการต่างๆ เกิดขึ้น มีการลงนามความร่วมมือระหว่างโรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อไปสู่เป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ คุณภาพ คุณลักษณะ และทำให้เกิดกิจกรรมขึ้น
7.สร้างคนส่วนใหญ่ให้เป็นพลเมือง โดยจะรื้อฟื้น “วิชาหน้าที่พลเมือง” กลับมาใหม่ แบ่งเป็น เนื้อหา 30% และปฏิบัติ วิถีชีวิต การฝึกฝน สภานักเรียน และสภาเด็กและเยาวชน 70%
8.ยกเลิกการประเมินวิทยฐานะครูที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยยกเลิกการประเมินผลงานจากเอกสาร ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2554 เปลี่ยนเป็นการประเมินเชิงประจักษ์ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางที่ครูจะได้เลื่อนตำแหน่ง โดยอาจดูผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ดูผลงานในห้องเรียน ถือเป็นการปฏิรูปการวัดและประเมินผลงาน โดยทำงานในลักษณะเครือข่าย ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยต้องหารือกันเรื่องการวัดและประเมินผล เช่น การสอบได้สอบตก การทำความดีเป็นส่วนหนึ่งของการรับตรงหรือไม่ ระบบหลักสูตรจะเปลี่ยนจากมาตรฐานเป็นสมรรถนะของผู้เรียน
9.โรงเรียนขนาดเล็ก 13,000 โรง จะต้องประสาน เปลี่ยนแปลง เพื่อให้เป็นโรงเรียนดีประจำตำบล และโรงเรียนดีประจำอำเภอ โดยโรงเรียนจะหายไปประมาณ 50% และ
10.รัฐบาลจะลดบทบาทลง เพื่อให้ภาคเอกชน ภาคท้องถิ่น และสื่อมวลชน เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา รวมถึง ทุกภาคส่วนต้องเข้าไปร่วมในการจัดการศึกษา เช่น ระบบภาษี เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้น 50%
ซึ่งนายสมพงษ์คาดว่า ทิศทางของการศึกษาไทยที่จะเกิดขึ้นตามแนวทางทั้ง 10 ข้อนี้ จะเสร็จสมบูรณ์ เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะเป็นผู้รวบรวม คาดว่าทิศทางดังกล่าวจะใช้ขับเคลื่อนประเทศไปได้อีกหลายปี
“แต่จุดที่เป็นห่วงคือ อุดมศึกษา และอาชีวศึกษา ซึ่งอ่อนแอสุด เพราะอุดมศึกษามีสภาพเหมือนกับเป็นนโยบายที่อำนาจรัฐดูแลไม่ถึง ส่วนอาชีวศึกษาสำคัญที่สุด แต่อ่อนแอที่สุด ถ้าไม่ปฏิรูปจะด้อยคุณภาพ อาชีวะจะขาดแคลน ขณะที่อุดมศึกษาล้นทะลัก”นายสมพงษ์กล่าว
นอกจากปัญหาเหล่านี้แล้ว สิ่งที่กรรมการ กนป.เป็นห่วง และเห็นว่าต้องเร่งแก้ไข คือ ปัญหาการรับตรง และระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ ซึ่งปัจจุบันยังหาทางแก้ไขไม่ได้ คงต้องช่วยกันคิดว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร
ส่วนอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา นายภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ บอกว่า ในปี 2554 สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนมากๆ คือ “คุณภาพการศึกษา” อย่างผลประเมินการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของหน่วยงานต่างๆ ออกมาแต่ละครั้ง “เละ” ทุกที ฉะนั้น ต้องเร่งแก้คุณภาพ ได้แก่ 1.คุณภาพขององค์ความรู้ที่เรามีอยู่ ที่ต้องใช้ในการเรียนการสอน เช่น ตำราเรียนล้าสมัยมากๆ 2.คุณภาพครู การปรับหลักสูตรครูเป็นหลักสูตรครู 5 ปี หรือหลักสูตรครู 4+2 ปี ไม่ใช่ทางออก เพราะรายงานการวิจัยชี้ว่า ครูจะจบหลักสูตรครูกี่ปีก็ตาม ไม่สำคัญเท่ากับการฝึกอบรมครู 3.เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร หรือไอซีที ใช้น้อยมาก และ 4.คุณภาพโรงเรียน ความไม่เสมอภาค อย่างโรงเรียนสองภาษา มีครูห้องละ 2 คน แต่โรงเรียนที่ห่างไกล 6 ชั้น มีครู 3 คน
ขณะเดียวกัน ก็มองว่า “อุดมศึกษาไทย” กำลังป่วยหนัก โดยเฉพาะการซื้อ-ขายปริญญาบัตรปลอม ยังไม่หนักเท่ากับ “ปริญญาจริง แต่ไม่มีคุณภาพ” ซึ่งเป็นปัญหาสังคมมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่มีความรับผิดชอบ เน้นปริมาณอย่างเดียว โดยไม่นึกถึงคุณภาพบัณฑิต
“เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะปีหน้า หรือปีไหนๆ ก็ต้องทำต้องแก้ให้มีคุณภาพให้ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครทำ ขณะที่รัฐบาลก็พูดแต่เชิงปริมาณ อย่างโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ คือพูดแต่ปริมาณ แต่ไม่มีคุณภาพ”นายภาวิชกล่าว
หรือที่ ศธ.ทำรายการ “ติวเตอร์ชาแนล” เป็นการเดินตามโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งไม่ควรทำ เพราะจุดมุ่งหมายของโรงเรียนกวดวิชาคือมุ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่จริงๆ แล้ว ต้องยกคุณภาพการศึกษา ส่วนรายการ “โทรทัศน์ครู” แค่รูปแบบรายการที่ทำ ก็ไม่เชื่อว่าจะทำให้ครูมีคุณภาพได้
ส่วนที่เห็นว่าเป็นปัญหา และต้องเร่งแก้ไข เช่นเดียวกับนายสมพงษ์ จิตระดับ คือปัญหาในการรับตรง ซึ่งขณะนี้มีการชี้ประเด็นปัญหากันมากมาย เพราะทำให้ประชาชนเดือดร้อน ขณะที่มหาวิทยาลัยสบาย อีกทั้ง ยังสร้างความไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากเด็กที่มีเงินก็วิ่งรอกสอบได้ทุกที่ แต่เด็กที่ไม่มีเงิน โอกาสที่จะเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาก็ยิ่งน้อยลง ส่วนมหาวิทยาลัยเล็กๆ ก็เดือดร้อน เพราะต้องรอจนกว่ามหาวิทยาลัยใหญ่ๆ จะรับนักศึกษาเรียบร้อย
สำหรับระบบแอดมิสชั่นส์ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งหลายเห็นว่าเป็นตัวปัญหา จึงหนีไปรับตรงกันเพิ่มขึ้นนั้น นายภาวิชบอกว่า ถ้าผู้บริหารมหาวิทยาลัยเห็นว่าส่วนใดของระบบแอดมิสชั่นส์มีปัญหา ก็ต้องช่วยกันแก้ไข ไม่ใช่ทำตรงกันข้าม เพราะที่ผ่านมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นคนช่วยกันกำหนด
เรื่อง “ศูนย์นอกที่ตั้ง” ก็เป็นอีกปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะอธิการบดีจะเป็นประธานทุกศูนย์ โดยจะได้รับค่าตอบแทนประมาณ 1 หมื่นบาทต่อศูนย์ ส่วนอาจารย์ที่สอนก็มีรายได้พิเศษ
ซึ่งนายภาวิชกล่าวทิ้งท้ายว่า “ตอนนี้เรื่องการศึกษา เป็นปัญหาหนักทุกเรื่อง ถ้าไม่เล่นเรื่องคุณภาพ ก็จะยิ่งล่มจม เมื่อเด็กยิ่งโตขึ้น ก็จะยิ่งเป็นเจนเนอเรชั่นที่อ่อนแอลง เพราะฉะนั้น วันนี้คงไม่ใช่แค่ปฏิรูปการศึกษาแล้ว แต่ต้องปฏิสังขรณ์”
ได้ฟังความเห็นของทั้ง 2 นักการศึกษา ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการศึกษาไทยมาอย่างยาวนานแล้ว หนักใจแทนรัฐบาล และผู้ที่รับผิดชอบด้านการศึกษาจริงๆ เพราะแตะ เพราะจับไปตรงไหนก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่หนักหนาแทบทั้งสิ้น
แต่ก็นับเป็นสิ่งที่ “ท้าทาย” ความสามารถรัฐบาล และผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างยิ่ง ว่าจะแก้ปมปัญหาต่างๆ ในแวดวงการศึกษาไทย ให้คลี่คลายไปได้ เพื่อให้ระบบการศึกษาไทยเดินไปข้างหน้าอย่างมีคุณภาพได้หรือไม่