- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- คืนความเป็นธรรมอย่างไร เมื่อ 'โอกาส' คนจนไม่มีตั้งแต่ต้น
คืนความเป็นธรรมอย่างไร เมื่อ 'โอกาส' คนจนไม่มีตั้งแต่ต้น
แน่นอนว่า คนที่ไม่เคยลิ้มรสของคุกตาราง ย่อมไม่เข้าใจความรู้สึกของคนที่ติดคุก คนที่ไม่เคยถูกจองจำ ด้วยข้อหา “บุกรุกที่ดินของตนเอง” ก็ย่อมจะนึกไม่ออกถึงความรู้สึกเจ็บปวด ขมขื่นนั้น ว่า เป็นเช่นไร
ซ้ำร้าย เมื่อคำว่า “จน” คำว่า “รวย” กลับหยิบยื่นโอกาสที่ต่างกันในทางกฎหมาย
หลายฝ่ายที่สุดจะทนกับความแตกต่างระหว่างความ “ยุติธรรม” และ “อยุติธรรม” ที่มีเส้นแบ่งที่บางเบา เขาเหล่านั้น ได้มารวมตัวร่วมกันเปิดฉากวิพากษ์ 'ความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ว่าด้วย “การนิรโทษกรรมคนจน”' ในเวทีสาธารณะ 2 ทศวรรษปากมูน บนเส้นทางการต่อสู้ของคนหาปลา สู่การปลดปล่อยอิสรภาพให้แม่น้ำมูน ณ ห้องบุษยรัตน์ อาคารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี
เรือนจำขังแต่ “แพะ” กับ “คนจน”
“ไปขึ้นศาลให้ไปกินขี้หมาดีกว่า” พี่น้องชาวบ้านทางภาคเหนือมักพูดกันแบบนี้ นายประยงค์ ดอกลำไย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เล่าถึงคำพูดที่ได้ยินจนชินหู หลังจากที่ได้คลุกคลีและทำงานใกล้ชิดชาวบ้าน ที่โดนคดีบุกรุกที่ดินในจังหวัดลำพูน
ก่อนขยายความต่อ..."ที่ว่ากินขี้หมาดีกว่าไปศาล เพราะที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า ชาวบ้านไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลย ผมไปเยี่ยมพี่น้องชาวบ้านในเรื่องจำ ต่างก็พูดเป็นสียงเดียวกันว่า ข้างในเรือนจำกว่าครึ่งหนึ่งส่วนใหญ่เป็น “แพะ” และ “คนจน” คนจนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ คนจนที่อยากมีที่ดินสัก 5 ไร่ 10 ไร่ไว้ทำกิน แต่กลับต้องมาโดนคดี
และพอโดนคดี เขาก็แนะนำให้รับสารภาพ โดยบอกว่า โทษจำคุกจะได้เหลือเพียงรอลงอาญา ชาวบ้านก็รับสารภาพกันไป แต่เอาเข้าจริงๆ โทษจำคุกก็ไม่ได้รอลงอาญา เพราะหน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของคดีเห็นว่า คดีเหล่านี้ต้องลงโทษสถานหนัก"
ประยงค์ บอกว่า คนจนเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะมีโอกาสรอดน้อยมาก เมื่อเทียบกับคนรวย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องรูปคดีมากนัก แต่ขึ้นอยู่ที่ว่า คนจนมักจะเสียเปรียบ ตั้งแต่เรื่องหลักทรัพย์ในการประกันตัว เพราะคดีหนึ่งต้องใช้หลักทรัพย์วงเงิน 100,000 บาท ถ้าไม่มีเงินก็ต้องไปยืมเขาร้อยละ 10 นั่นเท่ากับว่าเสียดอกเบี้ยขึ้นต่ำละ 1 หมื่นบาท แต่จะทำอย่างไรได้ ถ้าไม่สู้ก็ต้องรับสารภาพ ทางเลือกก็มีแค่นี้
คำพูดข้างต้น ยิ่งทำให้เห็นชัด โอกาสของคนจน...ไม่มีตั้งแต่ต้น
กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม มีให้พบเห็นจนชินตา แกนนำเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน เล่าต่อว่า ชาวบ้านบางคนถูกแจ้งข้อหาถึง 46 คดี ถ้าจะต้องประกันตัวก็ต้องใช้เงิน 4,600,000 บาท ถามว่า ชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำจะไปหาเงินมากโขขนาดนี้ได้จากที่ไหน
ยิ่งไปกว่านั้น พอคดีไปถึงอัยการ อัยการก็ยึดถือเฉพาะเอกสารของทางราชการ ไม่ได้มีการตรวจสอบ แต่สั่งฟ้องทันที ภาระจึงตกอยู่กับชาวบ้านที่ต้องไปต่อสู้ไปเบิกความต่อศาล ซึ่งข้อเท็จจริง พบว่า คดีส่วนใหญ่ศาลสั่งยกฟ้อง ด้วยเหตุที่ว่า คดีไม่มีมูล ไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจน
ฉะนั้น บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่พนักงานสอบสวน ยันอัยการ ประยงค์ เห็นว่า สมควรต้องถูกปฏิรูป
“พี่น้องชาวลำพูนมีโอกาสต่อสู้ในชั้นศาลได้เพียง 2 ศาลครึ่งเท่านั้น ที่ต้องพูดอย่างนี้ เพราะคดีจะฎีกาได้หรือไม่นั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้พิพากษาชั้นต้น เมื่อถามว่า ผู้พิพากษาชั้นต้นตัดสินไปแล้วว่าคนนี้ผิด แล้วเขาจะให้ฎีกาอีกไหม ก็ได้คำตอบมาว่า โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ไม่ใช่โทษหนักไม่ให้ฎีกา แต่พอไปขอประกันตัว กลับไม่ให้ประกันตัว เพราะกลัวชาวบ้านจะหลบหนี"
สิทธิของชุมชน ใหญ่กว่ากฎหมาย
เหตุที่กระบวนการยุติธรรมบ้านเราเป็นเช่นนี้ ในมุมมองของ "วิบูลย์ บุญภัทร" คณะทำงานคดีคนจน ชี้ว่า ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย กฎหมายก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจรัฐ ถูกใช้เป็นเกราะป้องกันภัย เป็นตัวจัดการ ในกรณีที่ไม่อยากแก้ปัญหา หรือแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เพราะวิถีของประชาคือ การต่อสู้ดิ้นร้นในการทำมาหากินเลี้ยงปากท้อง แต่ทว่า กฎหมายนั้นกลับไม่ใช่วิถีของประชาชน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน หรือทรัพยากร วิบูลย์ มองว่า ที่ผ่านมาเมื่อชาวบ้านเปล่งเสียงเรียกร้องให้รัฐออกมาดูแล รัฐก็มักจะเพิกเฉย ปล่อยละเลยจนความเดือดร้อนทวีความรุนแรง ในที่สุดชาวบ้านก็จำเป็นต้องออกมาประท้วง เพื่อต้องการให้รัฐหันมาดูแลอย่างจริงจัง
แน่นอนว่าการกระทำดังกล่าว รัฐพยายามหาช่องโหว่ แจ้งข้อหาให้กับชาวบ้าน ซึ่งแปลว่า ชาวบ้านจะได้เลื่อนยศ กลายเป็นจำเลย แต่สิ่งที่ต้องแยกให้ชัดเจน คือ การต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชนธรรมดา ไม่ควรบิดเบือนกลายเป็นคดีแพ่ง หรือคดีอาญาตามแต่ที่รัฐจะจัดสรรให้
“มาตรา 66 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.2550 ว่าด้วยเรื่องการดูแลรักษาทรัพยากรตามสิทธิของชุมชน โดยให้ประชาชนมีสิทธิในการเรียกร้องแนวทางการแก้ปัญหาของตนเอง ซึ่งสิทธิของชุมชนตามรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่ยิ่งใหญ่กว่ากฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง แต่กลายเป็นว่านักกฎหมายและอำนาจรัฐละเลย ไม่เข้าใจถึงหลักการในเรื่องนี้ จึงมักสั่งจับไว้ก่อน เท็จจริงเป็นเช่นไร ศาลจะยกฟ้องหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง กลายเป็นประเพณีที่ก่อให้เกิดปัญหาในทางกฎหมาย และส่งผลกระทบแก่ชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
กระบวนการยุติธรรม ที่ไม่ยุติธรรม
"ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์" สถาบันพัฒนานักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน และอนุกรรมการปฏิรูป ระบบการจัดการที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและน้ำ ที่มี ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ เป็นประธาน ฉายภาพปัญหาและอุปสรรค “คดีคนจน” เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม ทั้งนี้ มีหลักใหญ่ๆ ที่สำคัญ 3 ประการด้วยกัน
ประการแรก ในกระบวนการยุติธรรม รัฐจะวางตัวอยู่ในฐานะที่ศักดิ์สิทธิ์ ใครจะแตะต้อง จะวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ซึ่งวันนี้ตัวกระบวนการยุติธรรมจะต้องถูกแตะต้องบ้าง และถึงเวลาที่จะต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง
ประการที่สอง ต้องเข้าใจว่า แนวคิดเรื่องความยุติธรรม มีไว้ใช้ “จับโจรเข้าคุก” ไม่ใช่ “จับคนดีไปขังคุก” ซึ่งข้อเท็จจริงพบว่า คดีที่ชาวบ้านเข้าไปเกี่ยวข้องส่วนใหญ่เป็นคดีที่สืบเนื่องจากการพัฒนาของรัฐ เช่น การที่รัฐไม่ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ทำโครงการพัฒนาโดยขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน รวมทั้งการที่รัฐไม่ได้แก้ปัญหาที่ดิน ไม่ว่าจะเรื่องการจัดสรร หรือกระทั่งการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ
“วันนี้ต้องยอมรับ กระบวนการยุติธรรมของบ้านเรามีปัญหา คดีบางคดีกว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จใช้เวลา 5 -10 ปี เรือนจำก็เต็มไปด้วยผู้ต้องขัง แออัดยัดเยียด ล้นศาลล้นคุก ฉะนั้น จะต้องมีการแบ่งแยกให้ชัดเจนว่าอะไรคืออาชญากรรม ที่จะต้องดำเนินการทางคดี อะไรคือการต่อสู้ตามสิทธิของประชาชน ในเรื่องนี้ต้องมีการทำความเข้าใจให้ตรงกันในทางสังคม”
ประการสุดท้ายก็คือ ต้องมีการทบทวนบทบาทของ "อัยการ" ขนานใหญ่
เขาอธิบายต่อไปว่า เมื่ออัยการปรับฐานะเป็นองค์กรอิสระ ปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเท่ากับตุลาการ อัยการก็ควรปรับบทบาทจากผู้สั่งฟ้อง เป็นผู้กลั่นกรองคดีด้วยเช่นกัน
“คดีที่มีเหตุมีมูล และเป็นประโยชน์สาธารณะ อัยการก็สั่งฟ้องไปตามจริง แต่หากคดีใดมีเหตุควรสงสัย อัยการก็ควรดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม ไม่ใช่สั่งฟ้องชาวบ้านในภาคเหนือกว่า 40 คดี แต่ศาลยกฟ้องหมด แบบนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ อัยการต้องทบทวนบทบาทอย่างเร่งด่วน เพราะอัยการเปรียบเสมือนต้นขั้วของความยุติธรรม“
นอกจากนี้ นายภาคภูมิ ยังเสนอแนวทาง 'ปลดล็อก' ความอยุติธรรมว่า คดีที่เกิดจากการพัฒนาบ้านเมือง ควรยุติกระบวนการดำเนินคดีทางกฎหมายไว้ทุกขั้นตอน โดยเฉพาะกระบวนการทางกฎหมายที่เห็นว่า ชาวบ้านที่ลุกขึ้นสู้ตามสิทธิเป็นอาชญากร
“ถ้าติดคุกก็อยู่ต้องปล่อย ถ้าศาลสั่งให้ชำระค่าเสียหาย เช่น ค่าคดีโลกร้อน ล้านกว่าบาทก็ต้องยุติ ถ้าอยู่ระหว่างดำเนินคดีก็จำหน่ายคดีชั่วคราว และถ้าอยู่ระดับอัยการ อัยการก็ใส่ลิ้นชักไว้เท่านั้น"
เพราะทั้งหมดนี้ เขาเห็นว่า เป็นเรื่องที่ต้องไปแก้กันที่การพัฒนา และรัฐบาลก็มีนโยบายที่จะแก้ไขอยู่แล้ว เนื่องจากเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องทางสังคม ไม่ใช่เรื่องทางนิติศาสตร์ที่จะต้องมาห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตาย”
ขณะเดียวกัน ถ้าจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นักกฎหมายท่านนี้เสนอว่า ประชาชนจะต้องเป็นตัวหลัก ร่วมแรงกันทำ หยุดกลัวตำรวจ หยุดกลัวอัยการ หยุดกลัวศาล แล้วก็เผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ อย่างตรงไป ตรงมา ตามกรอบกติกา
“นอกจากนี้ คณะกรรมการปฏิรูป ชุด นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูป ระบบการจัดการที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและน้ำ เข้ามาศึกษาและจัดทำข้อเสนอทางนโยบาย ซึ่งจะเป็นเพียงแค่กระดาษหนึ่งชุด ที่ไม่มีค่าและไม่สำคัญเลย หากไม่ได้รับพลังสนับสนุนจากภาคประชาชน และการเคลื่อนไหวไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมก็ยากที่จะเป็นจริงได้”
นิรโทษกรรม - ปล่อยตัวชาวบ้าน
ปัญหาที่ดินของคนในภาคใต้ใช่ว่าจะน้อยหน้าภาคอื่น "สุทธิพงษ์ ลายทิพย์" ผู้ประสานงานศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนพื้นที่อันดามันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ฟังว่า เริ่มตั้งแต่กรณีชาวบ้านในชุมชนชายฝั่ง ซึ่งถูกประกาศทับที่ โดยกรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ฯ หรือที่เรียกว่า “ป่ารุกคน” ขณะที่บางรายที่ดินทำกิน ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวดกลับถูกนายทุนเข้ามายึดครองเอกสารสิทธิ์แทน สุดท้ายแล้วชาวบ้านก็ต้องถูกดำเนินคดีอยู่ดี และภาระหน้าที่ในเรื่องการพิสูจน์ การต่อสู้ทางคดีของชาวบ้านก็เริ่มตั้งแต่ในชั้นประกันตัว
แต่ที่น่าสลดใจยิ่งกว่านั้น เขาพบว่า พนักงานสอบสวนมักจะปักใจเชื่อว่า ชาวบ้านเป็นผู้กระทำผิดตั้งแต่แรก เจ้าหน้าที่จึงไม่มีความพยายามในการสืบเสาะ สืบสวนหาข้อเท็จจริง เพื่อมายืนยันความยุติธรรมให้กับชาวบ้าน อีกทั้งในกระบวนการสอบสวน ก็ยังพบอีกว่า มีความพยายามในลักษณะของการเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านยอมรับผิด และรับโทษในที่สุด
สุทธิพงษ์ สะท้อนความคับข้องใจในกระบวนการยุติธรรมต่อไปว่า หลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิชาวบ้านเกิดข้อพิพาทกับนายทุน เรื่องที่ดิน ซึ่งหากตำรวจ หรืออัยการลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ ก็จะพบซากบ้านเรือนที่มีอายุไม่น้อยกว่าสิบปี ซึ่งสามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า มีการอยู่อาศัยในที่ดินแปลงนี้มาก่อนเกิดเหตุสึนามิแน่นอน แต่ในกระบวนยุติธรรมบ้านเรากลับไม่เป็นเช่นนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็น่าจะมีกระบวนการอะไรสักอย่างที่เข้าไปปกป้อง คุ้มครอง พิทักษ์สิทธิ์ของชาวบ้าน จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
"ผมมีความรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมมีความยุ่งยากในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประกันตัว และการต่อสู้คดี" เขาถ่ายทอดประสบการณ์จากการทำงานที่ผ่านมา พร้อมประมวลออกมาเป็นข้อเสนอไว้ 3 เรื่องด้วยกัน คือ
1.เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างน้อยที่สุด ชาวบ้านทั้งหมดที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และที่ดิน จะต้องได้รับการปล่อยตัว หรือประกันตัว โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ใดๆ แต่ให้องค์กรชุมชนเป็นผู้รับรอง หรือทำหน้าที่เป็นเหมือนนายประกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็กำลังยื่นเสนอให้กับปลัดกระทรวงยุติธรรมพิจารณาต่อไป เพราะหากใช้มาตรการโดยทั่วไป 1 คดี 1 แสนบาท คูณ 1,100 คดี จากการประเมินของเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ฯ ตัวเลขที่ได้ก็น่าจะยาวเป็นห่างว่าว เงินจำนวนนี้ก็ไม่รู้จะไปหามาจากไหน ฉะนั้นเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เบื้องต้นจะต้องมีการปล่อยตัวชาวบ้านเสียก่อน
2.การต่อสู้คดีในชั้นศาล นอกจากเรื่องของพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารราชการแล้ว ควรจะเพิ่มในเรื่องของกระบวนการสืบเสาะหาข้อมูล ข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการด้านอื่นมาประกอบ
3.คดีที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม หรือที่ดินให้ศาลมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาร่วมในการพิจารณาคดี เช่นเดียวกับคดีเด็ก แรงงาน เพื่อให้พี่น้องชาวบ้านได้ต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างยุติธรรมมากขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ประสานงานศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนพื้นที่อันดามัน ยังระบุอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า คดีที่ค้างอยู่ในศาลทั้งหมด ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีจนกว่าจะมีข้อยุติว่าที่ดินที่พิพาทเป็นของใคร ดังที่ศาลจังหวัดภูเก็ตได้มีการจำหน่ายคดีไปแล้ว พร้อมกันนี้แม้การนิรโทษกรรม จะยังไม่มีข้อยุติ ก็ควรจะต้องมีการปล่อยตัวชาวบ้านออกมาเสียก่อน
รวมความแล้ว กระบวนการยุติธรรม ซึ่งทุกคนจะต้องเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม กับเสียงประชาชนพูด ถึงต้นเหตุ จะดังกึกก้องเพียงพอ พลิกโฉมกระบวนการยุติธรรมในบ้านเราได้หรือไม่ เวลานี้รอองคาพยพในสังคมทุกภาคส่วนช่วยกันคิดแก้ไข
วัดระดับความเชื่อมั่น ทหาร ตำรวจ ศาล
สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยรายงาน ‘มองอดีต แลอนาคต’ เพื่อวัดระดับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันต่างๆ และความพึงพอใจต่อการบริการของรัฐ พ.ศ. 2546 – 2553
จากผลการสำรวจความเชื่อมั่นต่อการทำงานของตำรวจ พบว่า ในปี 2553 ความเชื่อมั่นต่อตำรวจมีอัตราลดลงจากปีก่อน จากร้อยละ 60.5 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 54.9 และนับว่ามีอัตราต่ำสุดในรอบ 8 ปี
ส่วนความเชื่อมั่นต่อการทำงานของศาล เมื่อเทียบกับปี 2552 พบว่า ในปี 2553 ความเชื่อมั่นต่อการทำงานของศาลยุติธรรมลดลงจากร้อยละ 74.2 อยู่ที่ร้อยละ 71.3
ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อการทำงานของศาลปกครองลดลงจากร้อยละ 71.3 อยู่ที่ 67.3
ส่วนความเชื่อมั่นต่อการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญลดลงจากร้อยละ 68.6 อยู่ที่ร้อยละ 65.1