logo isranews

logo small 2

แจ้งให้ทราบ

Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'

ศธ.เคลื่อนโรดแมป..แก้วิกฤติ “ป.3” “อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้-คำนวณไม่เป็น”

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 29 กรกฎาคม 2553 เวลา 15:24 น.
เขียนโดย
จุไรรัตน์ พงศาภิชาติ

กลายเป็นประเด็นร้อนๆ ขึ้นมา เมื่อสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานผลการประเมินนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศ ประจำปีการศึกษา 2552 จำนวน 502,469 คน เรื่อง “การอ่านออก เขียนได้ คิดคำนวณได้” ที่ได้ประเมินในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา


 

เพราะผลการประเมินที่ออกมาในแต่ละด้าน ค่อนข้างน่าใจหาย!!

โดยด้านความสามารถทางการอ่านออกเสียง พบว่า นักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ 37,813 คน คิดเป็น 7.22% ลดลงจากปีการศึกษา 2551 ที่มีนักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ 49,499 คน คิดเป็น 8.82%

ด้านความสามารถทางการเขียน พบว่า นักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ 93,880 คน คิดเป็น 17.74% คงที่จากปีการศึกษา 2551 ที่มีนักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ 99,558 คน คิดเป็น 17.74%

และด้านความสามารถทางการคิดคำนวณ พบว่า นักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ 119,374 คน คิดเป็น 22.29% ลดลงจากปีการศึกษา 2551 ที่มีนักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ 141,929 คน คิดเป็น 25.29%

ซึ่งวิธีการประเมินความสามารถทางการอ่านนั้น สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ.ได้กำหนดข้อความในนักเรียนอ่าน 7 ข้อความ อาทิ คำที่ไม่มีตัวสะกด คำควบกล้ำ คำที่มีตัวการันต์ เป็นต้น ปรากฏว่า นักเรียนส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านคำที่มีตัวการันต์

ส่วนวิธีการประเมินความสามารถทางการเขียน จะให้นักเรียนพิจารณาจากภาพที่กำหนดให้ และให้นักเรียนเขียนเนื้อเรื่องที่มีความยาวไม่ต่ำกว่า 10 บรรทัด

และในการประเมินความสามารถทางความคิดคำนวณ ทางสำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ.จะมีโจทย์ให้นักเรียนแสดงวิธีทำตามกระบวนการคณิตศาสตร์

อย่างไรก็ตาม หากแยกผลการประเมินครั้งนี้ออกตามขนาดของโรงเรียน จะพบว่า ความสามารถด้านการอ่าน โรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ผ่านเกณฑ์ 6.09% โรงเรียนขนาดกลาง ไม่ผ่านเกณฑ์ 8.76% โรงเรียนขนาดใหญ่ ไม่ผ่านเกณฑ์ 8.71% และโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ไม่ผ่านเกณฑ์ 4.75%

ส่วนความสามารถด้านการเขียน พบว่า โรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ผ่านเกณฑ์ 16.13% โรงเรียนขนาดกลาง ไม่ผ่านเกณฑ์ 19.48% โรงเรียนขนาดใหญ่ ไม่ผ่านเกณฑ์ 20.58% และโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ไม่ผ่านเกณฑ์ 14.78%
และความสามารถด้านการคิดคำนวณ พบว่า โรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ผ่านเกณฑ์ 22.10% โรงเรียนขนาดกลาง ไม่ผ่านเกณฑ์ 25.16% โรงเรียนขนาดใหญ่ ไม่ผ่านเกณฑ์ 26.62% และโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ไม่ผ่านเกณฑ์ 16.20%

เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายชินภัทร ภูมิรัตน ยอมรับว่า ผลการประเมินที่ออกมา ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยขณะนี้ได้สั่งการไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ให้เร่งรัดการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทั้ง 3 ด้าน ให้สูงขึ้น โดยมอบหมายให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาไปจัดทำแผนรณรงค์ และส่งเสริมทักษะพื้นฐานนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เพื่อให้เหลือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และคิดคำนวณไม่ได้ ให้น้อยที่สุด และหมดไปในที่สุด

ขณะเดียวกัน ในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ ได้นำเสนอผลการประเมินในการทดสอบนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศ ซึ่งตัวเลขผลการประเมินที่ออกมานั้น ค่อนข้างน่าตกใจไม่แพ้กัน เพราะมีนักเรียนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่พอใช้ และต้องปรับปรุง อีกจำนวนมาก โดยในแต่ละดับชั้น มีผลการประเมินดังนี้

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีเขตพื้นที่การศึกษาที่แจ้งผลการประเมิน 75 เขตพื้นที่การศึกษา ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย มีนักเรียนเข้ารับการประเมิน 199,341 คน ได้คะแนนระดับดี 30,598 คน คิดเป็น 15.35% ระดับพอใช้ 140,635 คน คิดเป็น 70.55% และต้องปรับปรุง 21,807 คน คิดเป็น 14.10% ส่วนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มีนักเรียนที่เข้ารับการประเมิน 199,341 คน ได้คะแนนระดับดี 37,396 คน คิดเป็น 18.76% ระดับพอใช้ 131,385 คน คิดเป็น 65.91% และต้องปรับปรุง 30,558 คน คิดเป็น 15.33%

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีเขตพื้นที่การศึกษาแจ้งผลการประเมิน 42 เขตพื้นที่การศึกษา ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย มีนักเรียนเข้ารับการประเมิน 109,508 คน ได้คะแนนระดับดี 18,835 คน คิดเป็น 17.20% ระดับพอใช้ 67,884 คน คิดเป็น 61.91% และต้องปรับปรุง 22,788 คน คิดเป็น 20.81% ส่วนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มีนักเรียนเข้ารับการประเมิน 109,508 คน ได้คะแนนระดับดี 14,192 คน คิดเป็น 12.96% ระดับพอใช้ 80,641 คน คิดเป็น 73.64% และต้องปรับปรุง 14,663 คน คิดเป็น 13.39%

และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีเขตพื้นที่การศึกษาแจ้งผลการประเมิน 40 เขตพื้นที่การศึกษา ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษไทย มีนักเรียนเข้ารับการประเมิน 129,277 คน มีคะแนนต้องปรับปรุง 14,569 คน คิดเป็น 11.27% และกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มีนักเรียนเข้ารับการประเมิน 129,277 คน มีคะแนนต้องปรับปรุง 9,036 คน คิดเป็น 6.99%
ผลการประเมินที่ออกมาครั้งนี้ ยิ่ง “ตอกย้ำ” ถึงปัญหาของเด็กไทย ที่ “อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คำนวณไม่ได้” แทบในทุกระดับชั้น ไม่เฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เท่านั้น

ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องเร่งประกาศแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาภาษาไทย ปี 2554 เพื่อแก้ไขปัญหานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่อ่านออก-เขียนได้ ต่ำกว่าเกณฑ์ โดยได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร่วมกับโรงเรียน เร่งวิเคราะห์สภาพปัญหา

รวมทั้ง ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่สอนเสริม เพื่อแก้ไขปัญหาในโรงเรียนที่มีนักเรียนอ่านออก-เขียนได้ ต่ำกว่าเกณฑ์ และต้องติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เร่งพัฒนาครูให้ออกแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้เหมาะสมกับนักเรียนเป็นรายบุคคล พัฒนาสื่อการเรียนรู้ โดยจัดหนังสืออ่านเพิ่มเติม หรือหนังสือซ่อมเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยอย่างพอเพียง และหลากหลายรูปแบบ

นอกจากนี้ ยังมอบให้ สพฐ.เร่งจัดทำตัวเลขของนักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ของเด็กในกลุ่มต่างๆ ให้ชัดเจน อาทิ กลุ่มเด็กในจังหวัดที่อยู่บริเวณชายแดนของประเทศ กลุ่มเด็กที่ใช้ภาษาถิ่น กลุ่มเด็กชาติพันธุ์อื่น เป็นต้น เพื่อให้เข้าถึงปัญหาได้ชัดเจน และถูกต้อง โดยเฉพาะในส่วนของเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ ศธ.ได้อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จ้างครูเพื่อสอนปรับพื้นฐานให้นักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นพิเศษแล้ว

ทั้งนี้ กลุ่มที่ สพฐ.เห็นว่าต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนเป็นกลุ่มแรกคือ กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส และ จ.สตูล รวมถึง กลุ่มจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น จ.เชียงใหม่ เขต 4 เขต 5 และเขต 6 และ จ.ตาก ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่สูง และห่างไกล

อีกทั้ง ยังได้ตั้งเป้าลดอัตราการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และคำนวณไม่ได้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้เหลือศูนย์ หรือใกล้เคียงศูนย์ที่สุด ภายในระยะเวลา 2 ปี

นอกจากยุทธศาสตร์เหล่านี้ ที่ ศธ.พยายามเร่งดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และคำนวณไม่ได้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 แล้วที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการยังเห็นชอบยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลสู่การพัฒนาทักษะที่มีคุณภาพของผู้เรียน เพื่อปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน รวมทั้ง กำหนดจุดมุ่งเน้นในการพัฒนาคุณลักษณะของผู้เรียน

โดยแบ่งเป็น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 มุ่งเน้นเรื่องอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น มีทักษะในการคิดพื้นฐาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เน้นทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-3) เพิ่มทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะชีวิต การแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ด้วยตนเอง และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-6) เป็นทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะชีวิต การแก้ไขปัญหา และการเป็นพลเมืองดี ในขณะเดียวกัน จะมีจุดเน้นพิเศษเรื่องการใฝ่รู้ ใฝ่ดี คิดเป็น แก้ไขปัญหาเป็น รวมทั้ง ใช้ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังได้มอบให้คณะทำงานด้านการใช้การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง ที่มีนายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธาน ไปบูรณาการกิจกรรมทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทั้งในส่วนที่เน้นการพัฒนาคุณภาพ และการใช้การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง เพื่อประกาศเป็นทิศทางในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนในการปรับปรุงหลักสูตรทั้งระบบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และคำนวณไม่ได้ มีการเชื่อมโยงว่า อีกสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นในโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ระยะที่ 2 หรือเอสพี 2 ที่ สพฐ.ได้รับจัดสรรงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อหนังสือแบบฝึกทักษะนักเรียน และคู่มือครู รวมถึง การจัดงบประมาณเอสพี 2 ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ในการจัดอบรมครูในโครงการแก้ปัญหานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซึ่งมีการใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า และการจัดซื้อหนังสือราคาแพงเมื่อเทียบกับคุณภาพ

ประเด็นนี้ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ระบุว่า สื่อต่างๆ ในโครงการเอสพี 2 เพิ่งจะลงถึงโรงเรียนต่างๆ ฉะนั้น ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง แต่หากผลการประเมินนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เกี่ยวกับ “การอ่านออก เขียนได้ คิดคำนวณได้” ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ตัวเลขของนักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และคำนวณไม่ได้ ยังไม่ลดลง คงต้องหาสาเหตุที่ชัดเจน และผู้ที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังเชื่อว่า ผลการประเมินที่เกิดขี้นในขณะนี้ เป็นสารตกค้างมาจากการปฏิรูปการศึกษาในรอบแรก แต่เชื่อว่าในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง จะทำให้ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนดีขึ้น ไม่เฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เพราะการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ มุ่งเน้นเรื่องคุณภาพของนักเรียน โดยกำหนดมาตรฐานในแต่ละช่วงชั้น และมุ่งพัฒนาครูทั้งระบบ

ก็ต้องจับตาดูกันต่อว่า ในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่รัฐบาลกำลังเร่งขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ จะสามารถเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในด้านต่างๆ ของนักเรียน ให้ดีขึ้น หรือยังอยู่ในอาการโคม่า เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน