logo isranews

logo small 2

อัยการยื่นฟ้อง"บุญทรง-พวก"คดีจีทูจีแล้ว โทษสูงสุดคุกตลอดชีวิต-ปรับ3.5หมื่นล.

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 17 มีนาคม 2558 เวลา 13:36 น.
เขียนโดย
ณฤดี จินตวิโรจน์

อสส.ยื่นฟ้อง "บุญทรง" และพวก รวม 21 คนต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พร้อมเอกสาร หลักฐาน 2,128 แฟ้ม 205 ลัง คดีข้าวจีทูจี เริ่มพิจารณาครั้งแรก 20 เม.ย.นี้ หากเบี้ยวนัดออกหมายจับทันที เผยโทษสูงสุดในคดีจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 3.5 หมื่นล้าน 

1corricelawthai170515

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมแถลงข่าวกรณีทุจริตค้าข้าวจีทูจีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และพวกรวม 21 รายเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2558 ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ได้มีการส่งสำนวนฟ้องไปยังองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแล้ว โดยมีเอกสารทั้งหมด 2,128 แฟ้ม 205 ลัง

นายโกศลกล่าวว่า อัยการสูงสุดซึ่งเป็นโจทก์ ในคดีนี้ จะเริ่มพิจารณาครั้งแรก 20 เม.ย.2558 หากจำเลยไม่มาจะออกหมายจับ

นายโกศุล ยังระบุด้วยว่า ส่วนโทษในคดีนี้ สูงสุดจำคุกตลอดชีวิต ปรับสูงสุดประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท หรือเป็นจำนวนเงิน 35,274,611,007 บาท (สามหมื่นห้าพันสองร้อยเจ็ดสิบสี่ล้าน หกแสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันเจ็ดบาทถ้วน)

โดยการยื่นฟ้องกรณีทุจริตค้าข้าวจีทูจี ทางป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนกล่าวหานายบุญทรงเมื่อสมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าร่วมกันกระทำความผิดในคดีอาญา เพื่อให้อัยการสูงสุดพิจารณา ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนความผิดทางคดีแพ่งอัยการจะรับดำเนินคดีให้แต่ต้องขึ้นศาลปกครอง และต้องรอสรุปก่อน ส่วนในกรณีไม่ชดใช้ค่าเสียหายจะส่งไปที่ศาลปกครอง

”ความผิดทางแพ่งอัยการจะรับดำเนินคดีให้ แต่ต้องขึ้นศาลปกครอง ต้องรอสรุปก่อน กรณีไม่ชดใช้จะส่งไปที่ศาลปกครอง การแยกสำนวนก็ไม่มีผลกระทบ แม้จะกระทำความผิดคนละขั้นตอนและเกี่ยวเนื่องกัน จากโครงการจำนำข้าว เพราะเมื่อจำนำแล้วต้องระบาย  แต่เรื่องทุจริตตอนระบาย รัฐบาลก็รู้แต่ไม่ระงับยับยั้ง ทำให้หลักฐานแน่นขึ้น เรื่องน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นความผิดทางแพ่ง ต้องฟ้องตามตำแหน่งในตอนนั้น ฟ้องศาลปกครอง เนื่องจากมีอัตราโทษสูง และวันแรกต้องไปฟัง ไม่งั้นจะออกหมายจับ แต่หลังจากวันนั้นสามารถสืบพยานลับหลังพยานได้” นายโกศลระบุ

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่าไม่ว่าจำเลยจะมาศาลหรือไม่ ทางอัยการยังคงทำหน้าที่ฟ้องตามกฎหมาย หลังการฟ้องจะคัดเลือกองค์คณะมา 9 คนภายใน 14 วัน และจะมีคำสั่งบังคับฟ้อง ให้โจทก์ส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในการพิจารณาครั้งแรก ในวันที่ 20 เมษายน 2558 และ เมื่อมีคำสั่งฟ้องคดีแล้วจะแจ้งจำเลยทั้ง 21 คนให้ทราบว่าวันนี้จะยืนฟ้องต่อศาลฎีกา และได้รับการประสานงานจาก ป.ป.ช. ว่าส่งหนังสือแจ้งเรียบร้อยแล้ว ส่วน จำเลยที่ 1- 6 นั้นแจ้งว่าไม่สามารถมาในวันนี้ได้ ส่วนคนอื่นไม่ได้แจ้ง ถ้าหากมาก็ฟ้องและส่งตัวไปที่ศาล และพิจารณาว่าจะขังหรือปล่อยชั่วคราว แต่ถึงไม่มาก็ยื่นฟ้องได้ โดยเป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งอัยการสูงสุดจะต้องนำสำนวนทั้งหมดยื่นพร้อมคำฟ้องต่อศาล

นายสุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนองค์คณะที่ศาลแต่งตั้งนั้นน่าจะเป็นคนละองค์คณะกับคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่มีพยานหลักฐานเกี่ยวพันกันส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ การตรวจพยานหลักฐานจะดำเนินการหลังพิจารณาคดีวันแรก หากจำเลยมีหลักฐานอะไรต้องยื่นก่อน

“และหากไม่ปฏิเสธจะไม่มีการไต่สวนต่อ ในศาลฎีกาฯ ส่วนในเรื่องจะมีการไต่สวนต่อเนื่องกันไป ต้องกำหนดวันนัดว่าจะดำเนินการแค่ไหน ยังระบุพยานปากสำคัญไม่ได้แต่มีรายชื่อแล้วเพราะมีพยานที่สำคัญหลายปาก ในตอนนี้ยังไม่มีการห้ามจำเลยออกนอกประเทศ” นายสุรศักดิ์ระบุ

ขณะที่นายชุติชัย กล่าวว่า อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องนายบุญทรงและพวกที่เป็นจำเลยต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่ป.ป.ช. กล่าวหา ว่าด้วยความผิดอาญา โทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับประมาณสามหมื่นห้าพันล้านบาท แต่เป็นคนละส่วนกับที่ ป.ป.ช. ชี้มูลไปเมื่อครั้งก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายชื่อ จำเลยคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าว กรณีระบายข้าวแบบ G to G (รัฐต่อรัฐ ) ทั้ง 21 คน มีดังนี้

นายภูมิ สาระผล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 1

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 2

พันตรี นพ.ดร. วีรวุฒิ วัจนะพุกกะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 3

นายมนัส สร้อยพลอย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 4

นายทิฆัมพร นาทวรทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ และรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 5

นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ และผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยที่ 6

นายสมคิด เอื้อนสุภา จำเลยที่ 7

นายรัฐนิธ โสจิระกุล จำเลยที่ 8

นายลิตร พอใจ จำเลยที่ 9

บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำเลยที่ 10

นางสาวรัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 11

นางสาวเรืองวัน เลิศศลารักษ์ จำเลยที่ 12

นางสาวสุทธิดา หรือสุธิดา ผลดี หรือจันทะเอ จำเลยที่ 13

นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 14

นายนิมล หรือโจ  รักดี จำเลยที่ 15

นายสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16

นางสุนีย์ จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 17

นายกฤษณะ สุระมนต์ จำเลยที่ 18

นายสมยศ คุณจักร จำเลยที่ 19

บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หรือบริษัท สิราลัย จำกัด จำเลยที่ 20

นางสาวธันยพร จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 21

ทั้งนี้ อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนายบุญทรงกับพวกรวม 21 คนต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในข้อหาตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4,9,10และ12 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83,86,91,151และ157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2502 มาตรา 7 และ 13 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123 และ 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 65 ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต 

จำเลยคดีนี้ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 คน ข้าราชการพลเรือน 3 คน นอกนั้นเป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ในการฟ้องคดีนี้ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 8 วรรค 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสั่งฟ้องคดีครั้งนี้ ไม่มีจำเลยและทนายผู้ได้รับมอบอำนาจคนใดเดินทางมาที่สำนักงานอัยการสูงสุดแต่อย่างใด