logo isranews

logo small 2

'นริศร-อุดมเดช-ขุนค้อน'ไม่รอด! ป.ป.ช. ฟันอาญาปมเสียบบัตร-สลับร่าง รธน.

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 08 กันยายน 2559 เวลา 16:11 น.
เขียนโดย
isranews

ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดอาญา 'นริศร-อุดมเดช-ขุนค้อน' ปมเสียบบัตรแทนกัน-สลับร่าง รธน. ยุค รบ.ยิ่งลักษณ์ ไม่ยอมตรวจสอบร่างให้ดีก่อนนำเข้าสู่วาระ ส่ง สนช. ถอดด้วย 2 ราย พบหลักฐานมัดแน่นคลิปวีดีโอ 'คมเดช-ยุทธพงศ์' รอด

PIC nacc 8 9 58 7

จากกรณีคณะอนุกรรมการไต่สวน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สรุปสำนวนการไต่สวนคดีที่กล่าวหาอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย 4 ราย ได้แก่ นายคมเดช ไชยศิวามงคล อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต ส.ส.มหาสารคาม และนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี กรณีมีความผิดทางอาญาในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบ สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และได้ส่งสำนวนให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วนั้น

(อ่านประกอบ : 4 อดีต ส.ส.เพื่อไทยลุ้น! อนุฯ ป.ป.ช. สรุปสำนวนคดีเสียบบัตรแทนกันเสร็จแล้ว)

ล่าสุด แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. แจ้งว่า ในช่วงเช้าวันนี้ (8/9/59) ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณากรณีดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว โดยที่ประชุมมีมติชี้มูลความผิดอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยแล้ว โดยจากการตรวจสอบหลักฐานเป็นคลิปวีดีโอ และจากการให้ถ้อยคำของพยานบุคคลต่าง ๆ แล้ว จึงมีพฤติการณ์เสียบบัตรแทนกันอย่างชัดเจน ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123 ทั้งนี้ภายหลังมีมติแล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งสำนวนและรายงานความเห็นให้กับอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

ล่าสุด น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมร่วมรัฐสภามีการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับประเด็นที่มาของ ส.ว. โดยมีประเด็นสำคัญคือให้ ส.ว. สามารถสมัครติดต่อกันได้เลย โดยไม่ต้องเว้นวรรคเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งร่างนี้ถูกนำไปสลับแทนร่างเก่า และส่งไปให้ประธานรัฐสภา (นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ขณะนั้น) แต่นายสมศักดิ์ ไม่ได้ตรวจสอบร่างดังกล่าวว่าผ่านการลงนามของสมาชิกรัฐสภาหรือไม่ แต่สั่งให้เอาเข้าที่ประชุมเลย ผลก็คือวันที่ทำการโหวตมีกรณีการเสียบบัตรแทนกัน

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา และถอดถอน นายนริศร และนายอุดมเดช โดยกรณีนายนริศร พบพฤติการณ์ปรากฏจากคลิปวีดีโอว่า นายนริศร มีการเสียบบัตรแสดงตนในเครื่องคนอื่น และดึงออกมาเสียบใหม่ โดยเป็นการโหวตในมาตรา 9 และมาตรา 10 ของการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทั้งที่สมาชิกรัฐสภามีเสียงเดียว เสียบบัตรแทนกันไม่ได้ ดังนั้นการกระทำของนายนริศร จึงเข้าข่ายมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123 และ 123/1 รวมถึงจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหน้าที่นั้น ๆ ทั้งที่ไม่ได้มีตำแหน่งเช่นที่ว่า แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทำให้การลงคะแนนเสียงถูกบิดเบือน ส่วนนายอุดมเดช มีความผิดฐานสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญ ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123/1 โดยจะส่งสำนวนและความเห็นแก่อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงส่งสำนวนและควาเห็นให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาถอดถอนต่อไป

น.ส.สุภา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังตรวจสอบพบพฤติการณ์ของนายสมศักดิ์ ในฐานะประธานรัฐสภา ที่ไม่ตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก่อนจะนำเข้าสู่วาระการประชุม ทั้งที่มีหน้าที่พิจารณาเอกสารให้ครบถ้วน และยิ่งการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ต้องตรวจดูว่าร่างดังกล่าวสมาชิกรัฐสภาลงนามครบหรือไม่ มีการทำถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ อีกทั้งภายหลังรับหลักการแล้ว ไม่ชัดเจนในคำสั่งการแปรญัตติ มีการสรุปวันแปรญัตติภายใน 15 วัน ซึ่งตามปกติควรนับตั้งแต่วันที่มีการโหวต แต่นายสมศักดิ์นับเวลาตั้งแต่วันที่รับหลักการ ส่งผลให้เหลือเวลาแปรญัตติแค่ 1 วัน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้วว่า กระทำไปโดยมิชอบ ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงชี้มูลความผิดทางอาญาแก่นายสมศักดิ์ด้วย ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123/1 ส่วนความผิดด้านถอดถอนนั้น เคยส่งให้ สนช. ดำเนินการแล้ว

น.ส.สุภา กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีนายคมเดช และนายยุทธพงศ์ ปรากฏข้อเท็จจริงภายหลังดูคลิปวีดีโอแล้วว่า วันเวลา และวิธีการลงคะแนนแล้ว ไม่พบความเชื่อมโยงที่มีพฤติการณ์เสียบบัตรแทนกัน แต่พบภาพมีการเปลี่ยนบัตร แต่ทั้งสองรายดังกล่าวชี้แจงได้ ดังนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานไม่มีมูลมากพอ ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในชั้นการไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ พบพฤติการณ์ว่า นายคมเดช นายนริศร และนายยุทธพงศ์ พบว่า มีการเสียบบัตรแทนกัน และกดคะแนนเสียงแทนกันในการประชุมร่วมรัฐสภาที่พิจารณาวาระดังกล่าว ส่วนนายอุดมเดช พบว่า มีการสลับร่างรัฐธรรมนูญ โดยนำร่างรัฐธรรมนูญอีกฉบับที่มีเนื้อหาไม่ตรงกันกับที่มีการเสนอชื่อแก้ไขในไปสับเปลี่ยนกับร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้ในวาระรับหลักการ ดังนั้นพฤติการณ์ทั้งหมดของอดีต ส.ส. 4 ราย จึงถือว่าเข้าข่ายผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123

อ่านประกอบ :

อดีตส.ส.เพื่อไทยระทึก! ป.ป.ช.จ่อแจ้งข้อหาปมเสียบบัตรแทนกันแล้ว

“เพื่อไทย”โดนยกเข่ง! มติป.ป.ช. 8:1 ฟันอดีต 250 ส.ส.แก้รธน.ที่มาส.ว.มิชอบ

อวสาน"ยิ่งลักษณ์" มติสนช. 190:18 ตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี "นิคม-สมศักดิ์" รอด