logo isranews

logo small 2

เทียบชัด ๆ ข้อมูล“พรชัย” VS สตง.-TORทำสติ๊กเกอร์ไลน์ โปร่งใส-ไร้ทุจริต ?

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 06 มกราคม 2558 เวลา 15:05 น.
เขียนโดย
isranews
หมวดหมู่

“…คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใดไอซีทีจึงต้องจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ และใช้ราคากลางสูงถึง 7.1 ล้านบาท ทั้งที่หากเปิดโอกาสให้นิสิต/นักศึกษา หรือประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ แล้วประกวดชิงเงินรางวัล น่าจะเป็นวิธีที่ส่งผลด้านบวกกับรัฐบาลมากกว่า ?...”

PIC-pornchai-6-1-58 1

กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันข้ามปี !

สำหรับกรณีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จัดซื้อจัดจ้างเอกชนทำสติ๊กเกอร์ไลน์ ชุด “ค่านิยม 12 ประการ” ด้วยราคาเบ็ดเสร็จกว่า 7.1 ล้านบาท เปิดให้ประชาชนดาวน์โหลดฟรีเพื่อจะได้ “ซึมซับ” วิธีคิดสไตล์ “คนดี”

(อ่านประกอบ : ก.ไอซีทีจ้างเหมาทำสติกเกอร์ไลน์ “ค่านิยม 12 ประการ” 7.1 ล้านเสร็จแล้ว! ไอซีทีแพร่รูปสติกเกอร์ไลน์ “ค่านิยม 12 ประการ” 7.1 ล้าน)

และจากการตรวจสอบพบ “ข้อสงสัย” หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นราคากลางที่อาจ “สูง” เกินจริง การจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษที่ทำอย่างเร่งด่วน และบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลก็เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางแค่ 400 บาทเท่านั้น

อย่างไรก็ดีหลังปีใหม่ไม่กี่วัน “เบอร์หนึ่งไอซีที” นายพรชัย รุจิประภา ออกมายืนยันเสียงแข็งผ่านสื่อปมมีบางกลุ่มครหาไอซีทีจัดทำสติ๊กเกอร์ไลน์ดังกล่าวแพงนั้น ไม่เป็นความจริง !

พร้อมเกทับด้วยว่า “ถือเป็นราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด” ด้วยซ้ำ เพราะสติ๊กเกอร์แต่ละรูปแบบนั้นแตกต่างกัน ที่สำคัญแต่ละรูปแบบสามารถ “ขยับ” ได้ด้วย และปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดทั้งสิ้นกว่า 5.5 ล้านครั้งแล้ว

ส่วนการจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการจัดซื้อสติ๊กเกอร์นั้น ยืนยันว่า กระทำอย่าง “โปร่งใส” เพราะเดิมทีไอซีทีได้เชิญบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องดังกล่าวมาเสนอราคาจัดทำสติ๊กเกอร์จำนวน 8 บริษัท แต่มีเพียง “ไทยทีวีพูล” รายเดียวเท่านั้นที่เสนอราคากลับเข้ามา ไอซีทีจึงตัดสินใจจ้าง

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำพูดของ “พรชัย” มาเทียบกับขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง-ข้อทักท้วงของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้

ประการที่ 1 “พรชัย” ยืนยันว่าการจัดทำสติ๊กเกอร์ไลน์ดังกล่าวมูลค่ากว่า 7.1 ล้านบาทไม่แพงเกินจริง

จากการตรวจสอบได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงในทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ปัจจุบันไอซีทียังไม่ได้ลงนามในสัญญาจ้างบริษัทเอกชนที่เข้ามารับงานนี้แต่อย่างใด เนื่องจาก สตง. ได้ทำหนังสือตั้งข้อสังเกตในกรณีนี้ เพราะเห็นว่าราคากลางในการจัดทำนั้นอาจไม่คุ้มค่า เหตุจากการเผยแพร่ข้อมูลประกาศราคากลางของไอซีทีเป็นจำนวนมากในโลกออนไลน์

ก่อนที่เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา สตง. จะทำหนังสือที่ พ.3/พ.30/2558 แจ้งกับไอซีทีอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริง และจัดส่งสำเนาหลักฐานที่เกี่ยวกับโครงการนี้ไปให้ สตง. รับทราบภายในวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมาด้วย ซึ่งหากไม่ติดขัดอะไรก็จะดำเนินการลงนามในสัญญากับบริษัทเอกชนอย่างเป็นทางการต่อไป

ล่าสุดไอซีทีได้ส่งสำเนาหลักฐานเกี่ยวกับโครงการนี้ให้กับ สตง. แล้ว แต่ปัจจุบัน สตง. ยังไม่ตอบกลับแต่อย่างใด เท่ากับว่ายังไม่ทราบสถานะที่ชัดเจนของโครงการนี้ ตกลงแล้วไอซีทีได้ทำสัญญาว่าจ้างเอกชนอย่างเป็นทางการไปหรือไม่ ?

(อ่านประกอบ : เบื้องหลัง! ไอซีที อุบเงียบชื่อบ.ทำไลน์ค่านิยมฯ 7.1ล.เหตุถูก"สตง."สั่งสอบ )

ประการที่ 2 “พรชัย” ระบุว่าการจัดจ้างเอกชนเข้ามารับงานในครั้งนี้ “โปร่งใส”

จากการตรวจสอบขั้นตอนการจัดซื้อของไอซีทีในโครงการดังกล่าว พบ “ข้อสงสัย” หลายเรื่อง เช่น การจัดทำโดยวิธีพิเศษ ภายในวงเงินที่สูงถึง 7,117,400 บาท

ส่วนคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษเพื่อรับผิดชอบโครงการนี้มีการประชุมรวมกันทั้งสิ้นเพียงแค่ 4 ครั้งเท่านั้น !

ครั้งแรก 9 ธ.ค. 2557 พิจารณาแผนดำเนินการจัดจ้างและเชิญหน่วยงานเข้าร่วมมือยื่นข้อเสนอทางเทคนิค และข้อเสนอทางการเงินภายในวันที่ 11 ธ.ค. 2557 โดยที่ประชุมได้เชิญ บริษัท ไลน์คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมยื่นข้อเสนอโครงการ เนื่องจากขอบเขตข้อกำหนดของงาน (TOR) กำหนดว่าจะต้องจัดทำสติกเกอร์ไลน์

ครั้งที่สอง 11 ธ.ค. 2557 ได้รับคำตอบจากบริษัท ไลน์ฯ ระบุว่า ยินดีเข้าร่วมแต่จะต้องส่งให้บริษัท ไลน์ ในประเทศเกาหลีเป็นผู้ตรวจสอบสัญญาก่อน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน ดังนั้นจึงขอแนะนำบริษัท ยีราฟ เอเจนซี่ จำกัด ที่มีประสบการณ์เช่นกัน เป็นผู้ดำเนินการจัดทำโครงการนี้ต่อไป

อย่างไรก็ดีคณะกรรมการจัดจ้างฯ มีความเห็นให้สืบค้นข้อมูลบริษัทที่ให้บริการจัดทำสติ๊กเกอร์ไลน์ที่มีประสบการณ์รายอื่น นอกเหนือจากบริษัท ยีราฟฯ ด้วย เพื่อให้ราชการได้ประโยชน์สูงสุด จนพบว่ามีทั้งหมด 8 บริษัท ได้แก่

1.บริษัท ยีราฟฯ 2.บริษัท ออริจินัล แพน จำกัด 3.บริษัท สปา-ฮาคูโต จำกัด 4.บริษัท โมบายล์เอ็กซเพิร์ท จำกัด 5.บริษัท มีเดีย แอมไพร์ กรุ๊ป จำกัด 6.บริษัท ทีบีดับบลิวเอ (ประเทศไทย) จำกัด 7.บริษัท วีแบงค๊อค จำกัด และ 8.บริษัท ไทยทีวีพูล จำกัด โดยกำหนดให้ทุกแห่งยื่นข้อเสนอภายในวันที่ 15 ธ.ค. 2557

ครั้งที่สาม15 ธ.ค. 2557 พบว่า มีบริษัท ไทยทีวีพูลฯ ยื่นข้อเสนอมาเพียงรายเดียว เบื้องต้นคณะกรรมการจัดจ้างฯ ได้พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคของบริษัท ไทยทีวีพูลฯ และมีความเห็นร่วมกันว่า

ข้อเสนอทางเทคนิคเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้ว จึงได้เปิดซองข้อเสนอทางการเงิน พร้อมกับเสนอให้ต่อรองราคากับบริษัท ไทยทีวีพูลฯ

ซึ่งบริษัท ไทยทีวีพูลฯ ยินดีลดราคาจากที่เสนอไว้คือ 7,117,400 บาท เหลือ 7,117,000 บาท

พร้อมทั้งบริษัท ไทยทีวีพูลฯ ยินดีจะสนับสนุนการแถลงข่าวเปิดใช้งาน Line Official และ Line Sticker เพื่อเผยแพร่ค่านิยมไทย 12 ประการ รวมทั้งจัดประชาสัมพันธ์ในสื่อในเครือของบริษัท เช่น ใน Fanpage ทีวีพูล, ไทยทีวี, โลก้าทีวี และในเว็บไซต์ ทีวีพูลออนไลน์ ฯลฯ

ครั้งสุดท้าย 16 ธ.ค. 2557 ภายหลังบริษัท ไทยทีวีพูลฯ ได้ยืนยันราคาจ้างมาเป็นทางการ คณะกรรมการจัดจ้างฯ พิจารณาและเห็นควรเสนอขออนุมัติว่าจ้างบริษัท ไทยทีวีพูลฯ ในวงเงิน 7,117,000 บาท

(อ่านประกอบ : เปิดหมดขั้นตอนไอซีทีจ้างวิธีพิเศษ "ไทยทีวีพูล" ทำสติกเกอร์ค่านิยมฯ 7.1ล.)

เท่ากับว่า คณะกรรมการจัดจ้างฯ ใช้เวลาทั้งหมดเพียง 8 วัน ก่อนจะ “ไฟเขียว” ให้ “ไทยทีวีพูล” ได้รับงานครั้งนี้

และที่น่าสนใจคือ “ไทยทีวีพูล” ยินดีลดราคาให้กับไอซีทีเพียงแค่ 400 บาทเท่านั้น ก่อนที่วันต่อมาไอซีทีจะอนุมัติว่าจ้าง

คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใดไอซีทีจึงต้องจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ และใช้ราคากลางสูงถึง 7.1 ล้านบาท ทั้งที่หากเปิดโอกาสให้นิสิต/นักศึกษา หรือประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ แล้วประกวดชิงเงินรางวัล น่าจะเป็นวิธีที่ส่งผลด้านบวกกับรัฐบาลมากกว่า ?

และการส่งเสริมค่านิยม 12 ประการนั้น จำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องเผยแพร่ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ? แอพฯสำหรับนักแชตที่แทบไม่สนใจ “เนื้อแท้” ของสติ๊กเกอร์ที่ต้องสื่อ แต่ดาวน์โหลดเพียงแค่ “ความน่ารัก” เท่านั้น

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงที่มาที่ไปของกระบวนการจัดจ้างทำสติ๊กเกอร์ไลน์ที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์-ตั้งข้อสังเกตกันขรมทั้งฉากหน้าและหลังม่าน

ส่วนจะแพงเกินจริงหรือไม่นั้น ขอให้ย้อนไปดูคำตอบในค่านิยม 12 ประการ ข้อที่ 2, 10 กับ 12 ให้ดี ๆ ก็แล้วกัน !  

อ่านประกอบ : เจาะ 3 โครงการ “ค่านิยม 12 ประการ” 35 ล. คำถามถึงความคุ้มค่า-โปร่งใส ?