logo isranews

logo small 2

เปิดรายงาน “มหาดไทย” เทียบคำพูด “จเร”ไฉน“รัฐสภาใหม่”สร้างช้านับปี?

เขียนวันที่
วันเสาร์ ที่ 20 มิถุนายน 2558 เวลา 08:00 น.
เขียนโดย
isranews

เปิดรายงาน “มหาดไทย” เทียบคำพูด “จเร” ปัญหาสร้าง “รัฐสภาใหม่” ไฉนช้ากว่าเดิม พบการส่งมอบล่าช้ากว่าเดิมนับปี การขนดินไม่เป็นไปตามกำหนด ไม่เกี่ยวปมน้ำท่วมปี’54 เสร็จแน่ปลายปี’59 เปิดใช้ปี’60

PIC sapa 20 6 58 1

“ขณะนี้มีความคืบหน้าไปเพียงร้อยละ 11.76 ซึ่งการก่อสร้างยังปัญหาและอุปสรรคในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับจ้างไม่เป็นไปตามสัญญา เพราะพื้นที่บางส่วนยังไม่ได้รับมอบคืนจากหน่วยงานเดิม รวม 8 ไร่ ได้แก่ บริเวณโรงเรียนโยธินบูรณะ ห้องสมุดกรุงเทพมหานคร บ้านพักกรมการอุตสาหกรรมทหาร และชุมชนองค์การทอผ้า อีกทั้งการขนย้ายดินออกจากพื้นที่ก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการฯไม่สามารถจัดหาที่พักดินได้ตามสัญญา ทำให้โครงการนี้เกิดความล่าช้ากว่าร้อยละ 60”

เป็นคำยืนยันของ “โชติจุฑา อาจสอน” วิศวกรโครงการก่อสร้างอาคารรัสภาแห่งใหม่ (สัปปายะสภาสถาน) บริเวณถนนเกียกกาย ภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างดังกล่าว ถึงสาเหตุการก่อสร้างที่ล่าช้ากว่ากำหนด

ขณะที่ “จเร พันธ์เปรื่อง” เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะ “พ่อบ้าน” พูดถึงสาเหตุที่ล่าช้าอีกว่า เป็นเพราะน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 อีกด้วย

ก่อนยืนยันว่า ไม่มีปัญหาข้อพิพาทในพื้นที่ และจะเสนอขอขยายระยะเวลาในการก่อสร้าง ไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาฯ อย่างไรก็ดียังจะใช้งบประมาณอยู่ในกรอบวงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในต้นปี 2560

ถ้าฟังจากคำชี้แจงของ “จเร” และ “วิศวกร” ดังกล่าว จะเห็นปัญหาที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่

1.การส่งมอบพื้นที่ไม่เป็นไปตามสัญญา-พื้นที่บางส่วนยังไม่ได้รับมอบคืนจากหน่วยงานเดิม
2.การขนย้ายดินออกจากพื้นที่ก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผน
3.ปัญหาน้ำท่วม

แค่นี้จริงหรือ ?

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลที่กระทรวงมหาดไทย รายงานความคืบหน้าในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ดังกล่าว ต่อคณะรัฐมนตรี พบรายละเอียดดังนี้

หนึ่ง การส่งมอบพื้นที่ไม่เป็นไปตามสัญญา-พื้นที่บางส่วนไม่ได้รับมอบคืนจากหน่วยงานเดิม

กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า การก่อสร้างโครงการดังกล่าวล่าช้ากว่ากำหนด จากเดิมใช้ระยะเวลา 900 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. 2556 สิ้นสุดวันที่ 24 พ.ย. 2558 เนื่องจาก มีการส่งมอบพื้นที่สำหรับดำเนินโครงการก่อสร้างล่าช้าให้แก่ผู้รับจ้างได้จริงในวันที่ 23 ก.ค. 2557 จำนวน 102-3-76 ไร่ (ร้อยละ 83.5 ของพื้นที่ทั้งหมด) และยังเหลือพื้นที่ในส่วนของการปรับปรุงภูมิทัศน์ (บริเวณโรงเรียนโยธินบูรณะ ชุมชนองค์การทอผ้า และบ้านพักทหารของกรมการอุตสาหกรรมทหาร) อีกจำนวน 20-1-28 ไร่ โดยยืนยันว่าจะส่งมอบให้แก่ผู้รับจ้างได้ในช่วง มิ.ย. 2558

ดังนั้น คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ได้แล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2559 และสามารถเข้าใช้อาคารได้ในช่วงปลายปี 2560

สอง การขนย้ายดินออกจากพื้นที่ก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผน

กระทรวงมหาดไทย รายงานความคืบหน้าช่วงปลายปี 2557 ระบุว่า ระหว่างนั้นได้ดำเนินการขุดดินที่ระดับ -10.30 เมตร เพื่อเร่งรัดจัดงานก่อสร้างฐานรากบริเวณฐานเครื่องยอดส่วนที่เป็นสายงานวิกฤติและส่วนอื่น ๆ

ส่วนดินที่ขุดขึ้นมาจากพื้นที่ก่อสร้างนั้น ได้นำไปบริจาคให้กับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ และวัดแก้วจุฬามณี จำนวนประมาณ 200,000 คิว และนำไปขายทอดตลาดแล้ว จำนวนประมาณ 240,000 คิว และอยู่ระหว่างการดำเนินการขายทอดตลาดอีกจำนวนประมาณ 300,000 คิว

ต่อมาช่วงเดือน เม.ย. 2558 กระทรวงมหาดไทยรายงานความคืบหน้าในโครงการดังกล่าว โดยระบุว่า เกิดความล่าช้าใน 3 ประเด็น ได้แก่ อยู่ระหว่างตรวจสอบเงื่อนไขสัญญาจ้างก่อสร้าง เรื่อง ดินจากการก่อสร้างและรายงานข้อมูลการขนย้ายดิน การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดในสัญญา และได้พิจารณาขยายระยะเวลาก่อสร้าง

ล่าสุด ช่วงเดือน พ.ค. 2558 กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า ได้จัดทำแนวทางการจัดการมูลดินที่เกิดจากการก่อสร้างชั้นใต้ดิน จากปริมาณมูลดินทั้งหมด 1,043,690 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แล้ว สรุปว่า

1.ดินที่ขนย้ายออกจากพื้นที่ก่อสร้างแล้ว จำนวน 760,190 ลบ.ม.
2.ดินที่ผู้รับจ้าง บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ขอเก็บไว้ใช้งานในพื้นที่ จำนวน 35,000 ลบ.ม.
3.เหลือดินในพื้นที่ที่ต้องทำการขนย้ายออก จำนวน 248,500 ลบ.ม.

ทั้งนี้แผนการดำเนินงานขนย้ายดินที่เหลือทั้งหมด จะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 2558 (อัตราขนย้ายเฉลี่ยประมาณ 2,700 ลบ.ม./วัน)

สาม ปัญหาน้ำท่วม

ในการรายงานของกระทรวงมหาดไทย ไม่มีการระบุถึงปัญหาความล่าช้าเพราะเหตุน้ำท่วมแต่อย่างใด

ทั้งหมดคือที่มา-ที่ไปของความล่าช้าที่เกิดขึ้นในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

คำถามที่น่าสนใจคือ ไฉนการส่งมอบพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างถึงล่าช้าไปเกือบปี ทั้งที่ตกลงทำสัญญาไว้ตั้งนานแล้ว ?

และ “เอกชน” ที่เป็นคู่สัญญาก่อสร้างโครงการดังกล่าว ต้องมีส่วนรับผิดชอบในกรณีนี้ด้วยหรือไม่ ประการใด ?

ไม่ว่าข้อเท็จจริงข้างต้นจะเป็นอย่างไร

แต่ “ความจริง” ที่ปรากฏแน่ชัดคือ “สภาแห่งใหม่” นี้ ไม่ทันเปิดใช้ภายในปี 2558 ตามสัญญาเดิมแน่นอน !

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบ การก่อสร้างรัฐสภาใหม่, นายจเร จาก dailynews