logo isranews

logo small 2

คำให้การมัดคดีกรุงไทยโผล่เว็บศาลฯ ชื่อ 2 กก.บริหาร "อุตตม-รมว.ไอซีที" รอด!

"...เมื่อตรวจสอบไปที่ข้อมูลในสำนวนการสอบสวนในชั้นของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) พบว่ารายชื่อผู้ถูกกล่าวหาในกลุ่มของคณะกรรมการบริหาร ที่นำส่งให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็มีเพียง 3 คน คือ ร้อยโทสุชาย เชาว์วิศิษฐ์ นายวิโรจน์ นวลแข  และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยาไม่ปรากฎชื่อ นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และ นายอุตตม สาวนายน รวมอยู่ด้วยเช่นกัน..."

poiiwwwww

หลายคนอาจจะรับทราบกันไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาลงโทษผู้เกี่ยวข้องในคดีทุจริตปล่อยเงินกู้ธนาคารกรุงไทย จำนวน 27 ราย โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มการเมือง (มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้มีการพิจารณาเนื่องจากอยู่ระหว่างหลบหนี) กลุ่มสองคณะกรรมการบริหาร กลุ่มสามคณะกรรมการสินเชื่อ กลุ่มสี่เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ กลุ่มห้านิติบุคคล และกลุ่มหกผู้แทนนิติบุคคล

(อ่านประกอบ : จำแนกจำเลย-โทษเรียงตัวคดีกรุงไทย ไขปริศนา? ไฉนไม่มีชื่อ“พานทองแท้”)

แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า นายอุตตม สาวนายน ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เคยปรากฎชื่อ รวมอยู่ในกลุ่มคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย จำนวน 5 คน  ซึ่งมีคณะกรรมการหลายคน ถูกระบุชื่อเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย

ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในเว็บไซต์ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง http://www.supremecourt.or.th/webportal/maincode/index.php?base=24 ได้มีการเผยแพร่คำให้การของนายธนวัตน์ ภัททมุข อดีตผู้อำนวยการฝ่ายผู้บริหารสำนักนโยบายและระเบียบของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ คือ อัยการสูงสุด ที่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวกรวม 27 ในคดีนี้ รวมจำนวน 19 หน้า 

pie

ทั้งนี้ ในคำให้การดังกล่าว นายธนวัตน์ ภัททมุข มีการอธิบายถึงข้อมูลขั้นตอนการแต่งตั้งคณะกรรมการสินเชื่อ จำนวน 9 คน  โดยคณะกรรมการบริหาร  ซึ่งปรากฎชื่อจำเลยหลายคนในคดีนี้รวมอยู่ด้วย พร้อมอธิบายขั้นตอนการพิจารณาให้สินเชื่อกับบริษัทเอกชน ว่ามีกระบวนการขั้นตอนการดำเนินการอย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม ในคำให้การฉบับนี้ มีข้อน่าสังเกตอยู่ ตรงที่ ในระหว่างการตอบคำถามเรื่องโครงสร้างองค์กรธนาคารกรุงไทย มีการะบุข้อมูลว่า ในช่วงเมษายน 2546 ถึง เมษายน 2547 คณะกรรมการบริหารประกอบด้วย ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ จำเลยที่ 2  นายวิโรจน์ นวลแข จำเลยที่ 3 นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา จำเลยที่ 4 นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และนาย อุตตม สาวนายน (ดูเอกสารประกอบ) 

piieewwww

คำให้การยังระบุว่า "ในปี พ.ศ. 2546 นายวิโรจน์ จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ แต่งตั้งโดยคณะกรรมการธนาคาร มีอำนาจหน้าที่เป็นไปตามสัญญาว่าจ้างที่ทำไว้กับธนาคาร และเป็นผู้บังคับชั้นสูงรองลงมาจากคณะกรรมการธนาคาร และคณะกรรมการบริหาร ในการควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาในสายงานต่างๆ ตามผังโครงสร้างองค์กรตามที่คณะกรรมการธนาคารกำหนด โดยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งข้อบังคับ ของธนาคาร หรือมติของคณะกรรมการธนาคาร"

ทั้งนี้ คณะกรรมการสินเชื่อ (ระดับ 4 ) แต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริหารมีจำนวน 9 คน อาทิ นายพงศธร ศิริโยธิน จำเลยที่ 5 นายสุวิทย์ อุดมทรัพย์ จำเลยที่ 9 นายวันชัย ธนิตติราภรณ์จำเลยที่ 10 และนายบุญเลิศ ศรีเจริญ จำเลยที่ 11 เป็นต้น

"ซึ่งคณะกรรมการสินเชื่อมีอำนาจหน้าที่อนุมัติสินเชื่อ กลั่นกรองการเสนอขออนุมัติสินเชื่อหรือปรับปรุงหนี้ต่อคณะกรรมการบริหาร"  

"ส่วนมติที่ประชุมของคณะกรรมการสินเชื่อต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ คือ ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนได้ลงมติเห็นชอบไปในทิศทางเดียวกัน โดยไม่มีกรรมการผู้หนึ่งผู้ใดคัดค้านแต่อย่างใด และต้องร่วมรับผิดชอบในมติที่ประชุมอันเป็นมติเอกฉันท์ดังกล่าว ในการประชุมคณะกรรมการสินเชื่อต้องมีการประชุมหรือเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ทั้งนี้ หน้าที่การกลั่นกรองการเสนอขออนุมัติสินเชื่อต่อคณะกรรมการบริหาร คือ การพิจารณาให้ความเห็นว่าสินเชื่อรายนั้นๆ มีข้อมูลที่ครบถ้วนต้อง และผู้ขอสินเชื่อมีความสามารถในการชำระหนี้ สมควรที่จะเสนอให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาอนุมัติสินเชื่อรายนั้นๆ"

ซึ่งคำให้การส่วนนี้ ถือเป็นหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการสินเชื่อในคดีนี้อย่างมาก 

(ดูคำให้การฉบับเต็มประกอบ ที่นี่ http://www.supremecourt.or.th/file/criminal/com%203-2555.pdf)

อย่างไรก็ดี หากนำข้อมูลรายชื่อคณะกรรมการบริหารกรุงไทย ตามที่คำให้การของ นายธนวัตน์ ภัททมุข ไปเปรียบเทียบกับ รายชื่อจำเลยในคณะกรรมการบริหาร ที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษ คือ  ร้อยโทสุชาย เชาว์วิศิษฐ์ จำเลยที่ 2 นายวิโรจน์ นวลแข จำเลยที่ 3 และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา จำเลยที่ 4 ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 2-4 มีความผิดให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ มาตรา 4 ให้จำคุกคนละ 18 ปี

จะเห็นได้ว่า มีรายชื่อของคณะกรรมการบริหารหายไป 2 คน คือ นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และ นายอุตตม สาวนายน

เมื่อตรวจสอบไปที่ข้อมูลในสำนวนการสอบสวนในชั้นของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) พบว่า รายชื่อผู้ถูกกล่าวหาในกลุ่มของคณะกรรมการบริหาร ที่นำส่งให้ คณะกรรมการป.ป.ช. ก็มีเพียง 3 คน คือ ร้อยโทสุชาย เชาว์วิศิษฐ์ นายวิโรจน์ นวลแข  และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา

ไม่ปรากฎชื่อ นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และ นายอุตตม สาวนายน รวมอยู่ด้วยเช่นกัน 

กรณีนี้ จึงอาจวิเคราะห์ได้ว่า บุคคลทั้งสอง อาจจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อาทิ ในช่วงที่มีการประชุมพิจารณา ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม งดออกเสียง แสดงความเห็นคัดค้าน

หรือ ถูกกันตัวไว้เป็นพยานตั้งแต่ชั้นการไต่สวนของ คตส.แล้ว ? 

แต่สิ่งที่ปรากฎชัดเจนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในขณะนี้ คือ ชื่อของนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และ นายอุตตม ในฐานะกรรมการบริหารรอดทั้งคู่ !