logo isranews

logo small 2

ใช้ 9 เดือนซ่อม 4 ครั้ง! กก.สอบปมสะพาน 200 ปีถล่มยันฝีมือ"เอกชน"

เปิดหมด! เอกสารการไต่สวนคดีทุจริตสะพานสมโภชฯ200 ปี จ.อยุธยา กก.สอบยันสาเหตุไม่ได้มาจากลวดสลิง วิศวฯโยธา ม.ขอนแก่น ทดสอบแล้วได้มาตรฐาน แต่จากการซ่อมแซมทั้ง 3 ครั้ง ไม่ตรวจสอบการเอียงของสะพานฯ  

กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้เปิดข้อมูลปมทุจริตโครงการก่อสร้างสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จ.อยุธยา หลังเกิดเหตุการณ์สะพานฯพังถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. 56

ขณะที่ สำนักงานกรมโยธาธิการและผังเมือง มีคำตัดสินลงโทษตัดเงินเดือนเจ้าหน้าที่ในสังกัดอัตราร้อยละ 4 เริ่มเดือน ต.ค. 58 ระบุชื่อ นายอนุวัติ วิชัยโย วิศวกรควบคุมงาน และนายมานพ ธูปทอง กรรมการตรวจการจ้างโครงการดังกล่าว

(อ่านประกอบ : กรมโยธาฯยังยัน'วิศวกร'สะพาน200ปีถล่มโทษแค่ลดเงินเดือน-ป.ป.ช.รุดสอบแล้ว )

เพื่อให้สาธารณชนเห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปสาระสำคัญจากสำนวนไต่สวนตามคำสั่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 1317/2556 ในส่วนความเห็นคณะกรรมการการสอบสวน ระบุว่า พิเคราะห์จากหลักฐานตลอดจนคำชี้แจงจากนายณรงค์เดช ฉิมเล็ก วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ ตัวแทนสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งถือเป็นผู้มีความรู้โดยตรงด้านวิศวกรรมศาสตร์แล้ว

เห็นว่า ตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตามคำสั่งที่ 1142/2556 ลงวันที่ 30 เม.ย. 56 และตามรายงานความเห็นด้านวิศวกรรมของสภาวิศวกรรมสถานฯ (ได้รับเอกสารจากอำเภอท่าเรือ) ได้สรุปผลการตรวจสอบไว้แต่เพียงว่า มีการใช้ลวดสลิงไม่เป็นไปตามแบบรูปที่กำหนดเท่านั้น แต่ไม่มีความเห็นเกี่ยวกับลวดสลิงที่ใช้ว่า สามารถรองรับแรงดึงได้ตามแบบหรือไม่

โดย ผลการทดสอบแรงดึงเชือกลวดเหล็ก(Steel Wire Pore) ที่ใช้ก่อสร้างสะพานดังกล่าว จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สรุปได้ว่า ที่แรงดึงมากกว่าหรือเท่า 25 ตัน ลวดสลิงที่ทดสอบนี้ไม่ขาด แต่มีปัญหาในการทดสอบ เพราะคลิปเกาะยึดลวดสลิงที่ทดสอบหลุดออกเท่านั้น

ขณะที่ เมื่อประกอบกับคำชี้แจงของนายณรงค์เดช ที่ยืนยันว่า การใช้เชือกลวดเหล็กแกนเส้นใย ถ้ารับน้ำหนักได้ตามที่ผู้ออกแบบกำหนดก็ไม่มีปัญหาอย่างใด จึงทำให้น่าเชื่อได้ว่า เชือกลวดสลิงแกนเส้นใยชนิด 6 เกลียว จำนวน 14 เส้นต่อหนึ่งเส้นท่อ ที่ใช้ในการก่อสร้างสะพานฯ ไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สะพานพังทลายลงได้

แต่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า สะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จ.อยุธยา สร้างเสร็จ เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 55 (นับตั้งแต่วันที่ผู้รับจ้างได้รับค่าจ้างงวดสุดท้ายครบถ้วน) หลังจากนั้น สะพานเกิดการเอียงตัว เทศบาลตำบลท่าหลวงจึงได้แจ้งผู้รับจ้าง ให้เข้ามาซ่อมแซมสะพานหลายครั้ง มีรายละเอียดและวิธีการ ดังนี้

ครั้งที่ 1 เริ่ม 17 ธ.ค. 55 ซ่อมแซมเสร็จ 3 ม.ค. 56

ครั้งที่ 2 เริ่ม 7 ม.ค. 56 ซ่อมแซมเสร็จ 14 ม.ค. 56 (หลังซ่อมครั้งแรกเสร็จเพียง 4 วัน)

ครั้งที่ 3 เริ่ม 26 ก.พ. 56 ซ่อมแซมเสร็จ 11 มี.ค. 56

โดยทั้ง 3 ครั้งใช้วิธีการปรับสลิงแนวดิ่งด้านข้างทั้ง 2 ข้าง ไม่ได้ตรวจสอบหรือปรับสลิงในแนวนอน ไม่มีการตรวจสอบน้ำหนักที่ลวดสลิงต้องรับภายหลังการปรับซ่อมแซมเสร็จ และใช้เวลาซ่อมแซมเพียง 2-3 วัน (ตามถ้อยคำพยาน พบว่ามีคนงานของผู้รับจ้าง มาด้วยกัน 5 คน มาโดยรถยนต์กระบะเก่าๆ และ ช่างสาดเป็นหัวหน้าทีมซ่อมแซม)

ขณะที่ ครั้งที่ 4 เริ่ม 22 เม.ย. 56 ต่อมา 6 วัน สะพานฯ 200 ปี พังถล่ม(28 เม.ย. 56) ก่อนที่ผู้รับจ้างจะเข้ามาซ่อมแซม

จึงน่าเชื่อได้ว่า สะพานมีการใช้งานปกติ โดย คณะกรรมการฯได้พิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้สะพานพังทลายในครั้งนี้ น่าเชื่อว่า มาจากวิธีการแก้ไขซ่อมแซมสะพานของผู้รับจ้างทั้ง 3 ครั้ง เพราะในทุกครั้ง ผู้รับจ้างจะใช้เพียงวิธีการปรับสลิงแนวดิ่งด้านข้างทั้งสองเท่านั้น ไม่ได้มีการตรวจสอบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเอียงตัวของสะพาน และไม่ได้มีการตรวจสอบและปรับลวดสลิงในแนวนอน

ด้าน นายอนุนาท เสือสมิง บิดาเด็กสาววัย 10 ปี ผู้เสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า "นายเชษฐา ปทุมรังสี นายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง ได้มีคำสั่งให้มีการซ่อมแซมสะพานฯ 200 ปี เป็นครั้งที่ 4 ซึ่งมีกำหนดให้ผู้รับจ้างทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน โดยไม่มีการสั่งปิดสะพานดังกล่าว ซึ่งทำใ้อีก 6 วันต่อมา ผมต้องสูญเสียลูกสาวคนโตไปทั้งชีวิต”

ขณะที่ สภาวิศวกร ระบุในหนังสือที่ กจ. 2323/2558 อย่างชัดเจนว่า นายอนุวัติ วิชัยโย เลขทะเบียน ภย.39132 ในฐานะผู้ได้รับอนุญาตฯ สาขาวิศวกรรมโยธา ระดับภาคีวิศวกร ไม่สามารถควบคุมการก่อสร้างหรือการผลิตโครงการสะพานดังกล่าวได้ เนื่องจาก ภาคีวิศวกรสามารถควบคุมการก่อสร้างสะพานได้เพียง 12 เมตรเท่านั้น ขณะเดียวกัน สะพานฯ 200 ปี จ.อยุธยา มียาวประมาณ 111 เมตร ซึ่งต้องเป็นวิศวกรระดับสามัญวิศกร จึงจะสามารถควบคุมการก่อสร้างได้

ทั้งนี้ "นายวรพจน์ นุชิต" วิศวกรชำนาญการพิเศษ ผู้ออกแบบโครงการดังกล่าว มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ น.ส.วิชุดา นุชิต ผู้ถือหุ้นบริษัท ดีไนซ์(2009) จำกัด ผู้รับจ้างงานก่อสร้างสะพานดังกล่าว โดยมีสถานะเป็น “พี่ชาย" ขณะที่ พ.ต.อ.จิตเกษม สนขำ ผู้กำกับ สภ.ท่าเรือ จ.อยุธยา ยืนยันว่า "นายวรพจน์ นุชิต ได้ย้ายหนีออกจากพื้นที่แล้ว ล่าสุดได้ข่าวว่า อยู่ที่ จ.เลย"

เป็นที่น่าสังเกตว่า จนถึงเวลานี้ยังไม่มีผู้ใดถูกจับกุมหรือนำตัวมาดำเนินคดี แต่อย่างใด

ขณะที่ ผู้สูญเสียยังคงติดตามข่าวสาร ตลอดจน การดำเนินการเพื่อให้มีการลงโทษผู้กระทำความผิด หรือต้องรอให้เกิดเหตุซ้ำรอยกับผู้บริสุทธิ์อีกครั้ง!

อ่านประกอบ :

เปิดหนังสือ"ดีเอสไอ"ตอบพ่อเหยื่อสะพาน200 ปีถล่ม ลุยล่าตัวผู้กระทำผิดแน่!

มีคนตายถูกลงโทษแค่ตัดเงินเดือน! พ่อเหยื่อสะพานฯ200ปีถล่ม โวยให้ไล่ออก

เปิดเอกสารมัดสัมพันธ์ลึก "เอกชน-วิศวกร" สะพานฯถล่ม ไฉนคดีทุจริตไม่คืบหน้า!

รายชื่อ 17 นักการเมือง-ขรก.ในผลสอบคดีสะพานฯ 200 ปี อยุธยา ถล่ม!

"วิศวกร"สร้างสะพาน 200 ปีถล่มหนีแล้ว! ตร.ออกหมายจับพบปลอมเอกสารด้วย

ตร.ส่งคดีสะพาน 200 ปีถล่มฯให้อัยการฟ้อง-"วิศวกร"รู้โดนสาวถึง รีบชิ่งหนี