logo isranews

logo small 2

หนี้อ่วม! เจาะไส้ใน‘นพเก้ารวมใจ’ หาเงินจากไหนมาใช้คืนสหกรณ์จุฬาฯพันล.?

เจาะไส้ใน ‘สหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ’ ก่อนหาเงินมาใช้คืนสหกรณ์จุฬาฯพันล้านบาท พบหนี้อ่วมเฉียดเท่าทรัพย์สิน เงินฝากของสหกรณ์อื่นมากสุดปี’57 3.5 พันล้าน ก่อนหายเกลี้ยงปี’58 ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

PIC noppakao 7 7 59 1

สาธารณชนอาจทราบกันไปแล้วว่าสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฟ้องร้องให้ชดใช้เงินต้น+ดอกเบี้ยเงินฝาก รวมมูลค่ากว่าพันล้านบาท (เงินต้น 915 ล้านบาท) ภายหลังที่ไม่สามารถนำเงินมาใช้คืนแก่สหกรณ์จุฬาฯได้ตามกำหนด ปัจจุบันอยู่ระหว่างศาลจังหวัดมีนบุรีนัดโจทก์และจำเลยมาฟังการไต่สวนนัดแรก

(อ่านประกอบ : ปธ.สหกรณ์จุฬาฯแจงปมปล่อยกู้-ฝาก‘คลองจั่น-เครือข่าย’-ฟ้องเรียกเงินแล้ว 2 แห่ง)

อย่างไรก็ดีที่สหกรณ์จุฬาฯฝากเงินดังกล่าว สหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ได้อ้างหลักประกันเป็นที่ดินจำนวนกว่า 204 ไร่ ประเมินเบื้องต้นแบบที่ยังไม่มีอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 198 ล้านบาท อยู่ติด ม.มหาสารคาม แต่ปัจจุบันมีการก่อสร้างอาคารและที่พักอาศัยเพื่อให้นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ภายใน ม.มหาสารคาม เช่า ซึ่งมีการประเมินใหม่เป็นราคากว่าพันล้านบาท (อ้างอิงคำพูดจาก รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา ประธานสหกรณ์จุฬาฯ)

(อ่านประกอบ : ไขที่มาสหกรณ์จุฬาฯฝากเงิน‘นพเก้ารวมใจ’ 915 ล.ก่อนถูกเบี้ยวฟ้องเรียกคืนพันล.)

เพื่อขยายข้อเท็จจริงให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบฐานะการเงินและผลประกอบการของสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ที่แจ้งไว้ต่อกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มานำเสนอ ดังนี้

รศ.ดร.สวัสดิ์ เคยชี้แจงกรณีการฝากเงินกับสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ไว้ว่า นำเงินไปฝากระหว่างปี 2555-2556 โดยฝากเงินก้อนแรก 100 ล้านบาท ก่อนจะทยอยฝาก-ถอนเรื่อย ๆ กระทั่งปี 2556 มียอดเงินทั้งสิ้น 915 ล้านบาท

เมื่อตรวจสอบฐานะการเงินและผลประกอบการของสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป (ยอด ณ 31 มี.ค.) พบรายละเอียด ดังนี้

ปริมาณธุรกิจ (ระหว่างปี)

ปี 2555 ตรวจสอบไม่พบ

ปี 2556 รับฝากเงินรวม 3,508,000,000 บาท ให้เงินกู้รวม 511,000 บาท ไม่มีการจัดหาสินค้ามาจำหน่าย

ปี 2557 รับฝากเงินรวม 2,800,671,843 บาท ไม่มีเงินให้ปล่อยกู้ จัดหาสินค้ามาจำหน่าย 29,198,600 บาท

ปี 2558 ไม่มีเงินรับฝาก ไม่มีเงินให้กู้ จัดหาสินค้ามาจำหน่าย 80,199,138 บาท

ผลการดำเนินการ

ปี 2555 ตรวจสอบไม่พบ

ปี 2556 มีรายได้รวม 2,172,786 บาท ค่าใช้จ่าย 40,701,601 บาท ขาดทุน 38,528,814 บาท ทุนดำเนินงาน 3,619,691,765 บาท

ปี 2557 มีรายได้รวม 389,119,060 บาท ค่าใช้จ่าย 389,020,533 บาท กำไร 98,526 บาท ทุนดำเนินงาน 5,210,704,204 บาท

ปี 2558 มีรายได้รวม 82,546,775 บาท ค่าใช้จ่าย 396,050,196 บาท ขาดทุน 313,503,421 บาท ทุนดำเนินงาน 5,192,889,395 บาท

ฐานะทางการเงิน

ปี 2555 ตรวจสอบไม่พบ

ปี 2556 มีสินทรัพย์ 3,619,619,765 บาท หนี้สิน 3,586,624,338 บาท ทุน 32,995,426 บาท

ปี 2557 มีสินทรัพย์ 5,210,704,204 บาท มีหนี้สิน 5,175,463,340 บาท ทุน 35,240,863 บาท

ปี 2558 มีสินทรัพย์ 5,192,889,395 บาท มีหนี้สิน 5,471048,752 บาท ทุน (ติดลบ) - 278,159,357 บาท

งบการเงิน

ปี 2555 ตรวจสอบไม่พบ

ปี 2556 เงินสด, เงินฝากธนาคาร, เงินฝากสหกรณ์อื่น 118,862,115 บาท เงินลงทุน 2 พันบาท ไม่มีลูกหนี้เงินกู้ เงินกู้ยืม 10,376,343 บาท ทุนเรือนหุ้น 73,446,230 บาท ไม่มีทุนสำรอง

ปี 2557 เงินสดฯ 12,180,814 บาท เงินกู้ยืม 7,931,697 บาท ทุนเรือนหุ้น 73,574,890 บาท ทุนสำรอง 539,850 บาท

ปี 2558 เงินสดฯ 5,463,152 บาท เงินลงทุน 13,000 บาท เงินกู้ยืม 5,244,322, บาท ทุนเรือนหุ้น 73,666,690 บาท ไม่มีทุนสำรอง

เมื่อพิจารณาข้อมูลดังกล่าวข้างต้น มีข้อสังเกตดังนี้

หนึ่ง สหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ มีสินทรัพย์ในช่วง 3 ปีหลังคือ 2556, 2557 และ 2558 คือ 3.6 พันล้านบาท 5.2 พันล้านบาท และ 5.1 พันล้านบาท ตามลำดับ ทว่าเมื่อพิจารณาจากหนี้สินแล้ว จะเห็นได้ว่า ค่อนข้างใกล้เคียงกันอย่างมากคือ ในปี 2556 3.5 พันล้านบาท ปี 2557 5.1 พันล้านบาท และปี 2558 5.4 พันล้านบาท (ปี 2558 มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์กว่า 300 ล้านบาท)

ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่า ที่ดินจำนวน 204 ไร่ มูลค่ากว่า 198 ล้านบาทดังกล่าว (ก่อนที่จะเพิ่มพรวดมาเป็นพันล้านบาทในช่วงปี 2558) อาจจะมีอยู่จริง และอาจจะนำมาใช้คืนเงินให้กับสหกรณ์จุฬาฯได้ แต่จะมีมูลค่าถึงหลักพันล้านบาทหรือไม่ ไม่มีรายละเอียดปรากฏไว้

สอง เมื่อพิจารณาถึงผลการประกอบธุรกิจหลักของสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ คือ การรับฝากเงินสหกรณ์อื่น โดยเฉพาะในช่วงปี 2556-2557 มีเงินฝาก 3.5 พันล้านบาท และเงินฝาก 2.8 พันล้านบาท ตามลำดับ แต่เมื่อถึงปี 2558 กลับไม่มีเงินฝากจากสหกรณ์อื่นอีกแม้แต่บาทเดียว

อาจสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการบริหารจัดการ หรือติดขัดปัญหาบางประการทำให้ สหกรณ์อื่น อาจถอนเงินฝากทั้งหมดออกไปได้ (ซึ่งสหกรณ์จุฬาฯ คือหนึ่งในนั้น)

สาม เมื่อพิจารณาจากผลการดำเนินงาน พบว่า แม้จะมีรายได้เข้ามาค่อนข้างมาก แต่ก็มีรายจ่ายมากเช่นเดียวกัน ทำให้มีการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง (มีกำไรแค่ในปี 2557 แค่ 9.8 หมื่นบาท) ซึ่งในส่วนนี้เอง ที่อาจทำให้สหกรณ์นพเก้ารวมใจ ไม่มีเงินชำระเงินต้น+ดอกเบี้ย ให้กับสหกรณ์อื่น ๆ จนกระทั่งสหกรณ์จุฬาฯ ดำเนินการฟ้องร้อง

ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร สหกรณ์จุฬาฯ จะได้เงินคืนครบหรือไม่ ต้องรอดูการต่อสู้ในชั้นศาลอีกครั้ง !

อ่านประกอบ :

 สหกรณ์จุฬาฯฟ้อง‘มงคลเศรษฐี’เรียกเงินฝากคืน 215 ล.ส่อสูญ-เอาหุ้นใช้หนี้

สหกรณ์จุฬาฯถือหุ้น'สหประกันชีวิต' ด้วย-ก่อนฟ้อง'มงคลเศรษฐี'เรียกคืน 215 ล.

ปธ.สหกรณ์จุฬาฯแถลงพิเศษแจงสารพัดข้อสงสัยปล่อยกู้-ฝากเงิน‘คลองจั่น-พวก’

มั่นใจได้คืนแน่! ปธ.สหกรณ์จุฬาฯไม่หวั่นคืนเป็นหุ้นเอกชนถูกดีเอสไอสอบฟอกเงิน

ทยอยใช้หนี้แล้ว! ปธ.สหกรณ์จุฬาฯยันสมาชิกไม่ต้องกังวลปมปล่อยกู้สหกรณ์คลองจั่นฯ

ขีดเส้น 7 วันแจงปมปล่อยกู้คลองจั่น! ประชุมสหกรณ์จุฬาฯเดือดวอล์คเอ้าท์เพียบ

สหกรณ์จุฬาฯถือหุ้น'สหประกันชีวิต' ด้วย-ก่อนฟ้อง'มงคลเศรษฐี'เรียกคืน 215 ล.

สหกรณ์จุฬาฯฟ้อง‘มงคลเศรษฐี’เรียกเงินฝากคืน 215 ล.ส่อสูญ-เอาหุ้นใช้หนี้

มั่นใจได้คืนแน่! ปธ.สหกรณ์จุฬาฯไม่หวั่นคืนเป็นหุ้นเอกชนถูกดีเอสไอสอบฟอกเงิน