logo isranews

logo small 2

คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ชง 7 ประเด็น ให้ระบุในรธน.

เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 03 ธันวาคม 2557 เวลา 15:45 น.
เขียนโดย
isranews

ครั้งแรกที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคได้เข้าสภาปฏิรูป
เสนอ ๗ ประเด็นหลัก ให้ระบุในรัฐธรรมนูญ พร้อมให้มีกฎหมายสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคทันที

วันนี้ (๓ ธ.ค.) คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้บรรจุสาระสำคัญการคุ้มครองผู้บริโภค ๗ ประเด็น เพื่อให้มีกลไกป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เป็นธรรมในรัฐธรรมนูญ

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช. กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องบรรจุข้อเสนอการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ทุกคนเป็นผู้บริโค และปัจจุบันผู้บริโภคก็มีปัญหามากมาย เพื่อการลดปัญหาและการเอาเปรียบ คณะกรรมาธิการฯ จึงได้จัดทำข้อเสนอสำคัญ ๗ ประเด็น

(๑) ยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในฐานะพลเมืองตามมาตรฐานสากล

(๒) ให้ทำกฎหมายสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเร็วที่สุด เพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของผู้บริโภค ให้เท่าทัน และไม่ถูกเอาเปรียบ พร้อมสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย และร่วมกำหนดกติกาที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

นางสาวสารี กล่าวถึงกรณีถูกละเอียดทำให้ได้รับความเสียหาย ว่า (๓) พัฒนากลไกชดเชยเยียวยาความเสียหายที่ทันทีและสะดวก เมื่อเกิดเหตุเสียชีวิต หรืออันตรายต่อสุขภาพ จากสินค้าและบริการ โดยเฉพาะบริการสาธารณะของรัฐ เช่น รถโดยสารสาธารณะ บริการสาธารณสุข เป็นต้น ยกตัวอย่างการฟ้องคดีการก่อสร้างตึกสูงใช้เวลาถึง 6 ปี หรือผู้บริโภคขึ้นรถโดยสารสาธารณะ การที่จะชนะคดีบางรายใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าจะได้รับเงินชดเชยเยียวยา”

(๔) สนับสนุนให้เกิดศาลผู้บริโภคในศาลยุติธรรม เพื่อส่งเสริมให้ผู้พิพากษามีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ศาลใช้บทบาทเชิงรุกในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีผู้บริโภค และไม่ให้ถือเป็นเหตุคัดค้านผู้พิพากษา ว่าไม่มีความเป็นกลาง

(๕) สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคในท้องถิ่นของตน เช่น (๕.๑)สนับสนุนการรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค และการแสดงความคิดเห็นและกำหนดหลักเกณฑ์ร่วมกับหน่วยงานของท้องถิ่น (๕.๒)สนับสนุนให้ผู้บริโภคในท้องถิ่นได้รับสินค้าและบริการที่ปลอดภัย(๕.๓)ร่วมมือกับองค์กรผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองจากการลวงของโฆษณา (๕.๔) สนับสนุนให้ผู้บริโภคมีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับการบริโภคสินค้าและบริการปฏิรูปขั้นตอนการทำกฎหมายในรัฐสภา ซึ่งมีข้อเสนอว่า

(๖) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรต้องใช้เวลาในการพิจารณารับหลักการในวาระแรกภายในสามเดือนนับแต่วันที่ยื่นคำร้องขอต่อประธานรัฐสภา หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จให้ถือว่า ได้มีการรับหลักการแล้ว และในการพิจารณาตามขั้นตอนต่าง ๆ ของรัฐสภา ให้แต่ละสภากำหนดระยะเวลาในการพิจารณาไว้ในข้อบังคับการประชุมของแต่ละสภา และให้มีสัดส่วนของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายในทุกขั้นตอนของการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(๗) รัฐต้องจัดกลไกในการป้องกันการผูกขาดทางการค้าที่มีประสิทธิภาพ มิให้เกิดการผูกขาดตัดตอนโดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตรายย่อยและขนาดกลางเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านอื่นที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

“นี่เป็นครั้งแรกที่สภาปฏิรูปให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะฉะนั้นการคุ้มครองผู้บริโภคน่าจะมีความหมายมากขึ้น เราน่าจะเห็นการเอาเปรียบผู้บริโภคลดลง” ประธานกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวทิ้งท้าย