logo isranews

logo small 2

'กอบกาญจน์' ยันเส้นทางต้านคอร์รัปชั่น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ยอมเจ็บ-มีแผลบ้าง ถือว่า คุ้ม

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 27 กันยายน 2554 เวลา 23:39 น.
เขียนโดย
isranews
หมวดหมู่

หญิงแกร่งแห่งค่ายโตชิบา ฟันธงต้านโกงสำเร็จได้ ผู้นำต้องชัดเจน ประกาศลั่น  ไม่ขายแท็บเล็ต เอี่ยวโครงการประชานิยม "ดร.บรรจง" ยันผู้นำที่ดีต้องซื่อสัตย์ ยุติธรรม ไม่มีคำว่า พ่อแม่-เพื่อน-ผู้มีพระคุณ ขณะที่ "วิชา" ลบภาพเสือกระดาษ ยัน ป.ป.ช. ชี้มูลแล้วไม่เคยเปลี่ยน

วันที่ 27 กันยายน ชมรมนักธุรกิจคาทอลิก สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูถัมภ์ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย และสมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนาประจำปีเรื่อง “โกงบ้างไม่เป็นไร... แล้วประเทศไทยจะอยู่ได้หรือ” ณ สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูถัมภ์ กรุงเทพฯ โดยมี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา มหาคุณ กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าไทย ดร.บรรจง โซ๊ะมณี ประธานมูลนิธิเพื่อคุณธรรม และ ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ กรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดยดร.กนก อภิรดี อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.การบินไทย

นางกอบกาญจน์ กล่าวถึงการต่อต้านคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำคนเดียวได้ อีกทั้งยังไม่สามารถไปชี้หน้าให้รัฐบาล นักการเมืองทำ แต่ภาคภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม อย่างเช่น ประเทศฮ่องกง ย้อนไปเมื่อ 30-40 ปีก่อน พบว่าสถานการณ์คอร์รัปชั่นของประเทศฮ่องกงย่ำแย่อย่างมาก ชนิดที่ว่า ต่อให้มีคนนอนตายข้างถนน คนไม่มีน้ำจะกิน หากไม่มีเงินก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ ทำให้ประชาชนไม่มีทียืน ในที่สุดจึงต้องจับมือกันลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้งองค์กรที่มีชื่อว่า Independent Commission Against Corruption: Icac ขึ้นมา โดยองค์กรดังกล่าวมีลักษณะเหมือนกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในบ้านเรา ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชั่น

นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า เส้นทางการต่อต้านคอร์รัปชั่นนั้น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ถูกปรามาสเป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ ดังนั้นจึงเห็นว่า จะต้องมีจุดเริ่มต้น ทุกคนต้องยอมเสียสละ ต้องยอมบาดเจ็บหรือมีบาดแผลกันบ้าง เพื่อผลที่คุ้มค่า ซึ่งการต่อต้านคอร์รัปชั่นในประเทศไทยนั้น สิ่งที่เรามีอยู่คือกฎหมาย ซึ่งก็ใช้การได้อยู่ เพียงแต่ในทางปฏิบัติจะทำได้จริงหรือไม่เท่านั้น โดยเฉพาะการสร้าง ‘จิตสำนึก’ การต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ต้องเริ่มที่ตนเองก่อน

“ เรื่องคอร์รัปชั่น ไม่ต้องไปชี้หน้าว่าใคร ไม่ว่าจะรัฐบาล เอกชน หรือนักการเมือง ขณะเดียวกันการเป็นคนดีอยู่คนเดียวก็ยังไม่ได้พอ ต้องลุกขึ้นมาจับมือกัน รวมทั้งลงมือทำอย่างจริงจัง อย่างเช่น โครงการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนของรัฐบาล บริษัทโตชิบา ประกาศชัดเจนว่า เราจะไม่ขายเครื่องแท็บเล็ตในโครงการดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า เป็นเรื่องซีเรียส เฉยไม่ได้ ต้องมีการพูดกันให้ชัดเจน สิ่งสำคัญคือ ผู้นำต้องเริ่มต้นก่อน เพื่อเป็นการสร้างพลังและจุดประกายว่า เราปล่อยไว้ไม่ได้”

นางกอบกาญจน์ กล่าวถึงการคอร์รัปชั่นในการจัดซื้อจัดจ้างว่า เป็นเรื่องของการตบมือทั้งสองข้าง โทษใครก็อ้างอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปประเทศไทยต้องเปลี่ยนใหม่ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เอกชน ต้องโปร่งใส ใสสะอาด เราต้องเชื่อมั่นเช่นนั้น อีกทั้งการต่อต้านคอร์รัปชั่น อย่างมองข้ามพลังของตนเอง ต้องลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเปลี่ยนแปลงคนในครอบครัวด้วย ทั้งนี้ตนยืนยันว่า สิ่งที่ทำเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่นนั้น ไม่ใช่เรื่องของกระแส แต่เป็นความอยู่รอดของประเทศชาติ เพราะประเทศนี้ลูกหลานเราต้องอยู่ต่อไป ใครไม่ทำแต่เราต้องทำ เราต้องเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำได้ เพื่อให้ประเทศเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ ดร.วีระชัย กล่าวว่า การคอร์รัปชั่นเป็นหลุมพราง หลุมดำที่ทั้งผู้ให้และผู้รับ มีความสุข ไม่เดือดร้อน ขณะเดียวกันไทยมุ่งที่เห็นเหตุการณ์ก็ยังบอกว่า ไม่เป็นไร สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความเลวร้าย ที่คนจ่าย คนรับ รวมทั้งไทยมุ่งได้ประโยชน์ ในทางกลับกัน สิ่งเหล่านี้นำมาสู่ปัญหาการคอร์รัปชั่นในประเทศที่ไม่ค่อยพัฒนา อย่างประเทศไทย

“เราต้องทำให้ประเทศไทยหลุดจากหลุมดังกล่าว ไม่เช่นนั้นประเทศจะเหลือเพียงก้อนเดียว จนประชาชนไม่มีที่อยู่ และในที่สุดต้องออกมาเดินขบวน ซึ่งวิธีออกจากหลุมดังกล่าวนั้นมีอยู่ 3 วิธีด้วยกันคือ 1.กฎหมายต้องเข้มข้น มีการตรวจสอบ และมีบทลงโทษที่หนัก 2.ค่าตอบแทนรัฐมนตรีต้องเหมาะสม เพื่อจะได้ไม่เกิดการโกงกิน และ 3.ต้องให้การศึกษา บ่มเพาะในเรื่องจริยธรรม สอนให้คนมีความเข้าใจ สอนให้ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก”

ดร.วีระชัย กล่าวถึงประสบการณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่นในต่างประเทศว่า ประเทศฮ่องกงต่อต้านคอร์รัปชั่นสำเร็จ เพราะประชาชนรู้สึกว่าทนไม่ได้ จะตายจึงลุกขึ้นมาปฏิวัติ นำข้อมูลเรื่องการทุจริตมาเปิดเผย รวมถึงมีการฝึกอบรม ให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการทลายคอร์รัปชั่น ส่วนประเทศญี่ปุ่นมีการสอน บ่มเพาะเด็กตั้งแต่ประถมศึกษาในมีจริยธรรม ยึดถือความจริงและมีความยุติธรรม ขณะเดียวกันประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีการกำหนดมาตรการปราบปรามคอร์รัปชั่น ลงโทษทุกคนที่กระทำการคอร์รัปชั่นในประเทศของตน อย่างไรก็ตาม ในบ้านเราสิ่งสำคัญประการหนึ่งในการต่อต้านคอร์รัปชั่นคือ การไม่ปล่อยให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอาญาสิทธิ์ (absolute power) มากเกินไป เพราะสุดท้ายแล้วก็จะนำไปสู่การคอร์รัปชั่นอีกเช่นกัน

ส่วน ศ.(พิเศษ) วิชา กล่าวถึงบทบาท ป.ป.ช. กับคำครหาว่า เป็นเสือกระดาษว่า ปัจจุบันรูปแบบการทำงานของ ป.ป.ช มีกฎหมายให้อำนาจเบ็ดเสร็จมากขึ้น อีกทั้งเมื่อมีการชี้มูล หน่วยงานต่างๆ ต้องดำเนินการทางวินัยต่อผู้กระทำความผิด เพราะการชี้มูลนั้นเรียกได้ว่า เป็นที่ยอมรับของศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ  แต่ก็มีบางองค์กร เช่น องค์กรตำรวจ ที่ไม่ยอมรับการชี้มูลของ ป.ป.ช. ทำให้มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดและยาวนาน เพื่อให้มีการชี้มูลใหม่

"ที่ผ่านมาเราก็ยืนหยัด ยืนกรานมาโดยตลอดว่า  ป.ป.ช. ชี้มูลแล้วไม่เคยเปลี่ยน" ศ.(พิเศษ) วิชา กล่าว และว่า สำหรับการต่อต้านคอร์ชั่นนั้น  สิ่งสำคัญที่จะทำให้คนไม่คอร์รัปชั่น คือการรู้จักพอเพียง เพราะตราบใดที่รายได้ต่ำ แต่รสนิยมสูง สุดท้ายการคอร์รัปชั่นก็ยังต้องเกิดขึ้นในสังคม

ด้าน ดร.บรรจง ตั้งข้อสังเกตคณะรัฐมนตรีทุกยุคทุกสมัย ต้องเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญานตนก่อนเข้ารับหน้าที่ แต่หลังจากนั้นถามว่า ยังมีการโกงอยู่อีกหรือไม่ นั่นหมายความว่า ครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณตนเพียงปลายลิ้น ไม่ใช้หัวใจ ขณะเดียวกัน เรายังเห็นการต่อสู้ทางการเมืองในลักษณะที่อีกฝ่ายหนึ่งโกงได้ อีกฝ่ายก็โต้ตอบอีกฝ่ายหนึ่งด้วยการโกงเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นเช่น กรณีกล้อง CCTV ปลอม

สำหรับคุณสมบัติผู้นำ ประธานมูลนิธิเพื่อคุณธรรม กล่าวว่า  ต้องมีลักษณะซื่อสัตย์ กล้า ยุติธรรม ที่สำคัญที่สุดลักษณะของผู้นำจริงๆ นั้น ต้องไม่มีคำว่า พ่อ แม่ ลูก เพื่อน ผู้มีพระคุณ เพราะหากตราบใดยังมีถ้อยคำดังกล่าวแล้ว อย่าหวังจะเป็นผู้นำที่มีความซื่อสัตย์สุจริต

ดร.บรรจง กล่าวด้วยว่า ภาพการสมานฉันท์ปรองดองในทุกวันนี้เลอะเทอะไปหมด ลักษณะที่เข้ากับใครก็ได้ ทุกศาสนา เป็นการหลอกตัวเอง และดูถูกลัทธิความเชื่อศาสนาอื่นด้วย ทั้งนี้พร้อมกับขอร้องให้คริสต์ เรียกคริสต์ศาสนิกชนเข้าโบสถ์ พุทธ เรียกพุทธศาสนิกชนเข้าวัด มุสลิม เรียกเข้ามัสยิด รวมทัั้งศาสนาที่อยู่ในบัตรประชาชน เอากลับมาอยู่ในหัวใจคน เชื่อว่า สันติสุขเกิดขึ้นในแผ่นดินไทย

"ตราบใดที่คน ยังเห็นธุรกิจดีกว่าครอบครัว ดีกว่าลูก ภริยาที่จะให้เข้าใกล้ชิดธรรมะ ตราบนั้นครอบครัวหายนะ"