สัมภาษณ์ :::: “ศ.(พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ” เปรียบสภามหาวิทยาลัย เป็นแม่ปูที่เดินเบี้ยว ลูกปูก็จะเดินเบี้ยว
แม้จะมีผลวิจัย ผลสำรวจออกมามากมาย ถึงสถานการณ์ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ทั้งในภาครัฐ เอกชน ที่นับวันไม่ได้ลดน้อยลงเลย มีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับแวดวงการเมืองมิไยต้องพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์กันอีกแล้ว แต่ที่ดูจะผิดแผกเกินคาด คงเป็นข่าวการ 'ไล่ออก" ผู้บริหารระดับสูงในรั้วมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลมีการบริหารงานไม่โปร่งใส ถูกตรวจสอบจากองค์กรอิสระต่างๆ แม้กระทั่งเกิดความขัดแย้งภายใน ก็เป็นข่าวปรากฎต่อสาธารณะเสมอมา
ข้อสงสัย การบริหารงานที่ขาดหลักธรรมาภิบาล ณ วันนี้ได้ลุกลามเข้าสู่แวดวงการศึกษาแล้วหรือ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย มีโอกาสนัดสนทนากับ “ศ.(พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ” เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยได้แสดงทัศนะถึงประเด็นดังกล่าว รวมถึงฝากสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัย ให้ได้ขบคิด...
@ มุมมองต่อข่าวคราวการไล่ออก หรือปลด อธิการบดีมหาวิทยาลัย
ก่อน อื่นต้องเตือนตัวเองและคนที่รับข้อมูลข่าวสารว่า อย่าเหมารวมประเด็นปัญหา เรื่องนี้ไปปนกับเรื่องของการจะปรับสภาพของมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการให้ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพราะจะพบว่า ในทางตรงกันข้ามขณะนี้ยังไม่ได้ยินข่าวว่า มหาวิทยาลัยที่ปรับสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแล้วมีปัญหาใน ลักษณะที่เป็นข่าว เช่นที่ว่ามานี้
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเวลานี้จะพบว่า มหาวิทยาลัยที่เป็นข่าวจะเป็น มหาวิทยาลัยที่อยู่ในส่วนราชการทั้งสิ้น
ธรรมชาติของมหาวิทยาลัยการบริหาร ไม่เหมือนกระทรวง ทบวง กรมอื่น เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีองค์กรนโยบาย มีกฎหมายของตัวเองอยู่ในการบริหารจัดการ ฉะนั้นจึงต้องไปดูกติกาในกฎหมายนั้นๆ เป็นการเฉพาะ ความคล้ายคลึงกันของกฎหมาย กติกาในแต่ละมหาวิทยาลัย คือ สภามหาวิทยาลัยในภาพรวม
หากสภามหาวิทยาลัยสามารถออกแบบองค์ประกอบ และคนที่เข้าไปเป็นสภามหาวิทยาลัยเป็นคนที่มีคุณภาพดี มีต้นทางของการบริหารมหาวิทยาลัย คือ สภามหาวิทยาลัยดีแล้ว น่าจะเชื่อได้ว่า ผู้บริหารที่สภามหาวิทยาลัยจะเป็นคนคัดสรร กลั่นกรองมาก็น่าจะดีด้วย การดำเนินการของมหาวิทยาลัยก็จะมีคุณภาพ สภามหาวิทยาลัยก็จะไม่ขายปริญญาตัวเอง ไม่ทำอะไรที่ "เลอะเทอะ"
แต่ถ้าสภามหาวิทยาลัยด้อยคุณภาพ ไม่ได้สอบผ่านการทำงานของฝ่ายบริหาร ไม่ได้ให้นโยบาย ทิศทางที่เป็นคุณูปการของการศึกษาอย่างแท้จริง เป็นเพียงการรวมพวกรวมหมู่เท่านั้น ก็จะเกิดปัญหาอย่างที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่
@ คิดว่า ต้นตอของปัญหานี้คืออะไร
ผมมองว่า การด้อยคุณภาพของสภามหาวิทยาลัยเป็นต้นตอใหญ่ของปัญหานี้
ส่วนแนวทางในการปรับแก้นั้น ทางสำนักงานกรรมการอุดมศึกษาก็ตระหนักและติดตามเรื่องนี้อยู่ และก็พยายามที่จะทำให้ 'สภามหาวิทยาลัย' และ 'กรรมการสภามหาวิทยาลัย' ได้รับทราบถึงความสำคัญของตัวเอง แต่คงไม่สามารถที่ฝืนกลับไปแก้กฎหมายลดอำนาจสภามหาวิทยาลัย เอากลับมาไว้ที่ สกอ.ได้ เพราะก็คงจะถูกต้านด้วยความเห็นที่ว่า เดินถอยหลังไปที่จุดเดิม เข้ารอยเดิม ซึ่งเราเดินมาไกลแล้ว
วันนี้คิดว่า ต้องกลับไปพูดถึงการพัฒนาคุณภาพของสภามหาวิทยาลัยให้ตระหนัก และเข้าใจ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การเรียกหรือเชิญกรรมการสภามหาวิทยาลัยมาสั่งว่า ต้องทำ ตัวเป็นคนดี ต้องขยัน เพราะเชื่อว่า ยังมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยอีกจำนวนมากที่ทำดีอยู่แล้ว
อีกประเด็นที่เกินกว่าเรื่องทุจริต คือเรื่องคุณภาพของมหาวิทยาลัย ขณะนี้มีการเปิดสอนนอกสถานที่ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้มีคนได้มาเรียนมากขึ้น แต่ปัญหาคือได้คุณภาพหรือไม่ ต้องย้อนถามความเข้าใจก่อนว่า การเรียนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัยเป็นเพียงการมานั่งฟังบรรยาย สอบ และได้ปริญญาเท่านั้นหรือ ?
การเรียนการสอนเช่นนั้นยังไม่ควรเกิดขึ้นใน ระดับมัธยมด้วยซ้ำ แต่เดิมวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย ยังมีหอพัก ห้องสมุด มีความเป็นมหาวิทยาลัยอยู่ แต่ตอนนี้เหลือแค่ ‘วิทยาคาร’ เหลือแต่อาคาร และหลายแห่งเริ่มเป็น ‘วิทยาห้อง’ มหาวิทยาลัยทั้งหลายจะต้องคิดแล้วว่า ขณะนี้ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่
@ มองความสัมพันธ์ระหว่างสภามหาวิทยาลัยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยอย่างไร
คำว่า มหาวิทยาลัย คนที่ต้องคิดมากที่สุดก็คือ สภามหาวิทยาลัย ถ้าสภามหาวิทยาลัยซูเอี๋ยกับผู้บริหาร คณบดี อธิการบดี มองผลประโยชน์ในทางเม็ดเงิน – กำไร มากกว่าคุณภาพ หรืออุดมการณ์ที่แท้จริงของการศึกษาก็จะเกิดปัญหา
เรื่องนี้เป็นวัฏจักรของประเทศไทย ที่สมัยก่อนสภามหาวิทยาลัยไม่ค่อยมีอำนาจในการบังคับบัญชา สั่งการดูแลงบประมาณ มหาวิทยาลัยทั้งหลายก็ปรารภว่า ขาดอิสระ วันนี้เมืองไทยเดินมาไกลพอสมควรที่ให้อิสระแล้ว ปัญหาของอิสระนั้นต้องตามไปกำกับด้วย "ธรรมาภิบาล" ของตัวสภามหาวิทยาลัยเอง
เราอาจจะต้องหวนกลับมาดูที่มาที่ไปของสภามหาวิทยาลัย และการทำงานของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นต้นตอของผู้บริหารอีกทีหนึ่ง ถ้าสภามหาวิทยาลัยเดินเละเทะ เป็นแม่ปูที่เดินเบี้ยว ลูกปูก็จะเดินเบี้ยว
สภามหาวิทยาลัยบางแห่ง ผู้เข้ามาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยมาด้วยเจตนาดี แต่ไม่มีความรู้ลึก ไม่มีความใส่ใจ ไม่มีทักษะในเรื่องเหล่านี้พอ ก็จะเป็นเพียงตรายางสำหรับฝ่ายบริหารเท่านั้น แต่อาจจะมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางแห่ง บางที่ บางท่าน อาจจะมีความสัมพันธ์กับธุรกิจ หรือกับการเมืองท้องถิ่น การเมือง ไม่ได้เป็นของเลว ถ้าเราแยกกันออกว่าในมุมที่เป็นการเมืองก็ทำหน้าที่การเมืองไป แต่อย่าให้การเมืองเข้ามาเล่นพรรคพวก มาแบ่งฝ่ายในมหาวิทยาลัย
@ เหตุการณ์ต่างๆ เรียกว่า อยู่ในขั้นวิกฤตแล้วหรือยัง
ถ้า เทียบปริมาณมหาวิทยาลัยในบ้านเรา ที่เป็นของรัฐมีกว่าร้อยมหาวิทยาลัยแล้ว ถ้ามีข่าวขึ้นมาสัก 3-4 แห่ง ก็ยังไม่ถึง 5% แต่ไม่ได้แปลว่า เราพอใจ หรือรับได้ แต่ก็ไม่ควรตระหนกตกใจว่า จะล้มเป็นโดมิโนทั้งกระดาน
สถานการณ์ปัญหาการบริหารงานไม่โปร่งใสในรั้วมหาวิทยาลัย ขณะนี้นี้เรียกได้ว่า อยู่ในขั้นที่น่ากังวล แล้วก็ควรจะเร่งแก้ไข
@ คิดว่า มีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือหรือไม่ ในเมื่อสถาบันการศึกษา ที่บ่มเพาะคนในสังคม แต่กลับเป็นเสียเอง
คงเป็นเรื่องธรรมดา ที่คงไม่สามารถห้ามจิตใจคนได้ เพราะถ้าแม่ปูไม่ดี ลูกปูก็ต้องเดินเบี้ยวตามไปด้วย และการทอดระยะเวลาออกไปโดยไม่มีการเยียวยาแก้ไข เรื่องนี้จะเป็นอันตรายต่อการทำให้เกิดค่านิยมจำยอมต่อความเสื่อมเช่นนี้ เพราะมันพันกันไปหมด ไม่ใช่แค่เรื่องโกงไม่โกง
"ปริญญา" ก็จะกลายเป็นแค่กระดาษที่ปั้มมาแจกกัน ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ทำหน้าที่ของความเป็นมหาวิทยาลัยที่แท้จริง
@ มีข้อเสนอแนะ อะไรบ้าง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของสถาบันอุดมศึกษากลับมา
ภารกิจ ในเรื่องของการดูแลมหาวิทยาลัยให้มีคุณภาพมากขึ้น ผมคิดว่า เป็นภารกิจโดยตรงของ สกอ. มากกว่า สกศ. ที่ จะดูที่เป็นภาพใหญ่ ดูในสิ่งที่เชื่อมหรือโยงถึงกัน เช่น เมื่อพูดถึงเด็กๆ ที่กำลังจะจบชั้นมัธยมกำลังจะเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
ตัวเลขปัจจุบันประมาณ 60% มาอยู่ที่สายการศึกษา อีก 40% ไปอาชีวะ
ในขณะที่แรงงานที่มีฝีมือควรเป็นตัวเลขที่ สลับกัน คือ 60% เป็นอาชีวะแล้ว 40% มาเรียนมหาวิทยาลัย มันจะพอดีกับความเป็นไปของตลาดแรงงานในสังคม แต่ประเทศไทยเป็น ประเทศเสรีประชาธิปไตยที่สั่งใครไม่ได้สักคน เพราะขึ้นกับ "ค่านิยม" พ่อแม่ ทั้งที่รู้ว่า ลูกเรียนไปเพื่อตกงาน แต่ก็พร้อมให้ลูกตกงาน เพื่อจะให้ลูกได้รับใบปริญญา แต่ถ้าให้ไปเรียนอาชีวะแล้วมีงานทำก็ไม่เอา
ถ้าตราบใดที่คนเรียนอาชีวะต้องกินน้ำใต้ศอก ได้เงินเดือนน้อยกว่าคนเรียนปริญญา คนไม่ใช่โต๊ะ มีหัวใจ อยากได้เงินทองไปเลี้ยงครอบครัวเหมือนกัน ซึ่งก็มีหลายตัวแปรที่สภาการศึกษาต้องกลับไปคิดเรื่องนโยบายเหล่านี้ ให้ทาง ก.พ. ปรับ กระบวนการคิดใหม่ มองระบบสถาบันที่คุณวุฒิวิชาชีพ เอาครูแนะแนวมาพูดกันใหม่ ทั้งหมดถ้าสภาการศึกษาทำงานเหล่านี้แล้ว
ถามว่า คุณภาพของมหาวิทยาลัย ถ้าเข้มขึ้นมันก็เป็นตัวหนึ่งที่จะคัดกรอง ไม่ใช่ใครๆ ก็เดินเข้าไปได้ ไม่ว่าจะเหมาะหรือไม่เหมาะกับมหาวิทยาลัย
"มหาวิทยาลัย" ไม่ได้เหนือชั้นกว่า "อาชีวะ" แต่ทักษะของคนจำนวนหนึ่งเหมาะสำหรับเรียนมหาวิทยาลัย และทักษะคนอีกจำนวนหนึ่งเหมาะสำหรับเรียนอาชีวะ เป็นเรื่องของทักษะ ไม่ใช่ฉลาด - โง่ ความถนัดไม่เหมือนกัน
แต่เวลานี้ทุกคนถึงไม่ถนัดก็พยายาม จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย และคนที่ถนัดจะเรียนอาชีวะก็ไปเรียนมหาวิทยาลัยหมด ของแบบนี้ผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยต้องตระหนกตกใจบ้าง ต้องคัดกรอง ไม่ใช่ว่าจะรับทุกคนที่มายื่นใบสมัคร
จึงไม่น่าแปลกใจว่า ตัวเลขคนเรียนมหาวิทยาลัยบวมไปถึง 60% แต่ไม่สอดคล้องกับความพร้อมและศักยภาพที่มีอยู่ ต้องกระตุ้นต่อมสำนึกของทุกคนว่าต้องช่วยกัน เพราะทาง สกศ. ไม่มีอำนาจสั่งการ แต่อาจจะใช้เชิงนโยบาย งบประมาณกำกับได้บางส่วน
@ เมื่อพูดถึงงบประมาณที่ใช้จ่ายในการลงทุนทางด้านการศึกษาที่ผ่านมา สะท้อนถึงคุณภาพ ได้มากน้อยแค่ไหน
เป็น...ประเด็น ที่ต้องระวัง เพราะเราจะเหมารวมไม่ได้ ถ้าเหมารวมแล้วจะเกิดความท้อถอย มหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ ที่ผลิตบัณฑิตไปแล้วเป็นที่พอใจของหน่วยงานก็ยังมีอยู่ และในมหาวิทยาลัยที่มีข่าวคราว ก็ไม่ใช่ว่าบัณฑิตจะด้อยคุณภาพทั้งหมด เราจะเอาทั้งหมดมาผูกกันแล้วด่วนสรุปไม่ได้
แต่แน่นอนว่า บัณฑิตที่จบได้ใบปริญญามาแล้ว มีคุณภาพไม่เป็นที่พอใจต่อหน่วยงานและต่อตนเอง รู้สึกว่าตนเองกลวง ก็ยังมีอยู่ในประเทศไทย
@ คิดเห็นอย่างไรกับการเปรียบเปรย มหาวิทยาลัยเหมือน ‘แดนสนธยา’
(ตอบชัด) ถ้าสภามหาวิทยาลัยมีคุณภาพ มหาวิทยาลัยก็คงไม่เป็นแดนสนธยา
มันไม่ใช่เรื่องของการแบ่งผลประโยชน์ แต่กระบวนการตรวจสอบธรรมาภิบาลในระบบมหาวิทยาลัยที่เป็นเครื่องกำกับดูแล องค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัยว่าเป็นใคร มาจากไหน และวิธีได้มาของกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่มีระบบการถ่วงคานเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากการตรวจสอบการทำงานเกิดขึ้นเพราะสภามหาวิทยาลัย...