สรุปความเห็น คณะที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการฯ
สรุปความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ
คณะกรรมการได้มีการประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๕๕ เมื่อวันพุธที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕ และได้มีการพิจารณาเรื่องดังต่อไปนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การบัญญัติให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแทนนายกรัฐมนตรีเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวแล้วมีความเห็นดังนี้ในประเด็นการบัญญัติให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการแทนนายกรัฐมนตรีนั้น คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....ทั้งสามร่างที่บัญญัติให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๕ วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมิได้บัญญัติให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม การที่ร่างรัฐธรรมนูญทั้งสามร่างกำหนดให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจึงไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๙๕ วรรคแรก
ประเด็นที่สอง การที่ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐดังปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญฯ ทั้งสามร่างนั้นเป็นการให้องค์กรทางการเมืองเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาทางกฎหมายที่เป็นปัญหาสำคัญซึ่งปัญหานี้ควรได้รับการพิจารณาวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีอำนาจวินิจฉัยทำนองนี้อยู่แล้ว อาทิ อำนาจวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติใดมีหลักการเกี่ยวกับหรือคล้ายกันกับร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ตามมาตรา ๑๔๔ วรรคสองก็ดี อำนาจวินิจฉัยว่า การแปรญัตติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีก็ดีฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๘ ก็ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาหนึ่งในสิบของแต่ละสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ตลอดจนการที่ให้นายกรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาหรือทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีอำนาจไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนทั้งหมดสองสภาส่งร่างพระราชบัญญัติที่เห็นว่า ขัดรัฐธรรมนูญไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ตามมาตรา ๑๕๔
ดังนั้น จึงสมควรบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยโดยกำหนดเวลาไว้ให้พิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จในสิบห้าวัน ดังปรากฏตามตัวอย่างร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๙๑/๑๓ ที่ส่งมาให้ดูดังนี้
“มาตรา ๒๙๑/๑๓ เมื่อครบเจ็ดวันนับแต่วันที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วให้นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา
เมื่อประธานรัฐสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วและไม่มีผู้เสนอความเห็นตามวรรคสาม ให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนั้นหรือไม่
ก่อนที่ประธานรัฐสภาจะส่งความเห็นไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งตามวรรคสาม ถ้านายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบแล้วนั้น มีลักษณะตามมาตรา ๒๙๑/๑๑ วรรคห้า ให้เสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา แล้วให้ประธานรัฐสภาส่งความเห็นดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะตามมาตรา ๒๙๑/๑๑ วรรคห้า ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป...................................................................................................................”
ประเด็นที่สาม ปัญหาว่าเมื่อประชาชนได้ลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญแล้วควรจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ดังที่ปรากฏในมาตรา ๒๙๑/๑๔ ของร่างฯ ฉบับคณะรัฐมนตรี และฉบับของนายสุนัย จุลพงศธรกับคณะ และมาตรา ๒๙๑/๑๕ ของร่างฯ ฉบับของนายภราดร ปริศนานันทกุลกับคณะ
คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวแล้วมีความเห็นดังนี้
กรณีตามร่างฯ ที่ให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติแล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์หากทรงยับยั้ง แล้วส่งกลับไปให้รัฐสภาลงมติยืนยันโดยอนุโลมตามมาตรา ๑๕๐ และมาตรา ๑๕๑ มาใช้บังคับนั้น คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญเห็นว่า ไม่ควรบัญญัติในลักษณะเช่นนี้ เพราะเมื่อประชาชนลงประชามติแล้ว การให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งแล้วกลับไปให้รัฐสภาเป็นผู้ลงมติยืนยันได้อีก ย่อมขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓ ทั้งยังเป็นการมิบังควรอย่างยิ่งในทางการเมืองด้วย ทั้งนี้ ควรบัญญัติให้มีการลงประชามติแล้วให้ประธานรัฐสภานำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ดังที่เคยบัญญัติมาในอดีตก็จะเหมาะสมกว่า