บันทึกความเห็น-ข้อเสนอแนะ คปก. เรื่อง ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
บันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ....
๑. ความเป็นมา
จากอุบัติเหตุและมลพิษที่เกิดขึ้นจำนวนมากในสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การบริการ และอื่นๆ ได้สร้างความเสียหายให้แก่ทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง โดยเฉพาะลูกจ้างในสถานประกอบการที่ต้องสูญเสียชีวิต อวัยวะ ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยจากสารเคมี กระบวนการผลิต และมลพิษของสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ อีกทั้งลูกจ้างหรือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายต้องประสบความล่าช้า และความไม่เป็นธรรมในการได้รับการช่วยเหลือ เยียวยาและยังมีปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิอีกจำนวนมาก
ด้วยเหตุดังกล่าว เครือข่ายแรงงานและภาคประชาชน ได้จัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ พ.ศ. ....” เพื่อเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป แต่ไม่ได้รับสนองตอบจากรัฐบาลใด ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๕๔๑ เครือข่ายแรงงานและภาคประชาชน
จึงได้ใช้สิทธิตามมาตรา ๑๗๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ เข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนห้าหมื่นคนเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อรัฐสภา แต่ไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่อนุวัติการให้เป็นไปตามมาตรา ๑๗๐ ของรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นได้มีการรณรงค์รวบรวมรายชื่ออีกครั้ง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ครบตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด
สำหรับเจตนารมณ์และสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยเครือข่ายแรงงานและภาคประชาชน คือ ให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระที่มีคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง เจ้าหน้าที่รัฐ และนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ป้องกัน แก้ไขปัญหา คุ้มครอง การจ่ายค่าทดแทน ฟื้นฟู และกำหนดเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย รวมทั้งมีอำนาจตรวจสอบสถานประกอบการและให้นำเงินจากกองทุนเงินทดแทนมาเป็นทุนในการดำเนินการขององค์การอิสระนี้
จนกระทั่ง กระทรวงแรงงาน ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... เสนอคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาให้ความเห็นชอบ พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.๒๕๕๔ มีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ แต่ข้อเสนอตามร่างพระราชบัญญัติของเครือข่ายแรงงานและประชาชนกลับถูกกำหนดไว้เพียงมาตราเดียวในพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.๒๕๕๔ คือมาตรา ๕๒ กำหนดให้มีการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(๒) พัฒนาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(๓) ดำเนินการ ส่งเสริม สนับสนุน และร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของภาครัฐและเอกชน
(๔) จัดให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากรและด้านวิชาการ
(๕) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในกฎหมาย
ทั้งนี้ ให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรี ภายใน ๑ ปี ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับเพื่อดำเนินการตามกฎหมายมาตรา ๕๒ ดังกล่าว คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๔ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... กำหนดให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เป็นองค์การมหาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.๒๕๔๒ และได้จัดประชุมสัมมนาไตรภาคีเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน วันอังคารที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ และเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายแรงงานและภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับกระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์ที่จัดขึ้นเพียงครั้งเดียว และยังขาดการมีส่วนร่วมของแรงงานที่หลากหลาย รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่สำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และกระบวนการได้มาซึ่งกรรมการบริหารสถาบัน จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงาน ให้แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาที่สำคัญ ประกอบด้วยอำนาจหน้าที่ การได้มาของคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
๒. การดำเนินงาน
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ตระหนักถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ที่กำหนดให้การปรับปรุงและพัฒนากฎหมายต้องได้รับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย และคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ประกอบกับ พระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.๒๕๕๓ได้กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ประการหนึ่ง คือ การเสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ อาจจัดการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานและประชาชนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จึงได้ศึกษาและวิเคราะห์ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... และข้อเสนอของเครือข่ายแรงงาน รวมทั้งการจัดเวทีเสวนาและรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นักวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ผู้แทนสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และสภาองค์การนายจ้างธุรกิจการค้าและบริการไทย
๓. ความเห็นและข้อเสนอแนะ
จากการศึกษา วิเคราะห์ และรับฟังความคิดเห็นร่วมกันกับผู้แทนฝ่ายต่างๆ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ดังต่อไปนี้
๑. รูปแบบการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นด้วยกับการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรี ตามมาตรา ๕๒ ของพระราชบัญญัติความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้เป็นองค์การมหาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.๒๕๔๒ เพราะองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัตินี้มีความมุ่งหมายให้เป็นหน่วยงานอิสระที่จัดทำบริการสาธารณะ ไม่แสวงหากำไร และอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรี จึงเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ต้องการให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน
๒. อำนาจหน้าที่ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่าการดำเนินการให้บรรลุเจตนารมณ์ของการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เพื่อให้เกิดการป้องกัน และแก้ไขปัญหา และการพัฒนาการจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มีความจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีว อนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ด้วยเหตุนี้ การรับเรื่องร้องเรียนจากลูกจ้างที่ประสบปัญหาความไม่ปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานย่อมเป็นช่องทางที่สำคัญในการได้มาซึ่งข้อมูลและข้อเท็จจริงของปัญหา เพื่อเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ปัญหาตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานนั้นต่อไป อันเป็นการส่งเสริมให้การคุ้มครองและตรวจแรงงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ สามารถนำข้อมูล มาศึกษาวิเคราะห์เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในสถานประกอบการ อันจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานความปลอดภัย
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เห็นว่า สมควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ในมาตรา ๘ โดยกำหนดให้เป็น มาตรา ๘ (๗/๑) การรับเรื่องร้องเรียนเพื่อเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหา และศึกษาวิเคราะห์เพื่อเสนอมาตรการส่งเสริมการป้องกันความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
๓. กระบวนการได้มาของคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เนื่องจากพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.๒๕๕๒ ได้กำหนดจำนวนคณะกรรมการบริหารมีจำนวนไม่เกิน ๑๑ คน ดังนั้นเพื่อให้มีผู้แทนของผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน จึงเห็นควรกำหนดจำนวน ที่มา และคุณสมบัติดังนี้
(๑) ประธานกรรมการบริหาร
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า ประธานกรรมการบริหาร ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ เนื่องจากภารกิจของคณะกรรมการบริหาร ไม่ใช่คณะกรรมการกำหนดนโยบาย หรือวางแนวทางของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เท่านั้น แต่เป็นคณะกรรมการที่ต้องทำหน้าที่บริหารเพื่อให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ซึ่งข้าราชการประจำโดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวง และอธิบดี จะมีงานประจำ และมักจะเป็นกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ จำนวนมาก จึงเป็นข้อจำกัดด้านเวลาในการทำงานในฐานะประธานกรรมการบริหาร อีกทั้งหากประธานกรรมการบริหารเป็นข้าราชการจะทำให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ที่ต้องการให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน
นอกจากนี้จากการศึกษาข้อมูลองค์การมหาชนที่ถูกจัดตั้งขึ้นระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๒–๒๕๕๔ มีองค์การมหาชนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาไว้ชัดเจนว่า ประธานกรรมการ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่ใช่ข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือมีเงินเดือนประจำ คือ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว และในขณะเดียวกันองค์การมหาชนที่มีการจัดตั้งแล้วจำนวน ๓๖ องค์กร มีองค์กรมหาชนส่วนใหญ่จำนวน ๓๐ องค์กร ที่ประธานกรรมการบริหารไม่เป็นข้าราชการประจำ
(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง
ในร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ที่กระทรวงแรงงานเสนอให้มีจำนวนสามคน สมควรลดจำนวนเหลือ สองคน ได้แก่ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวมีภารกิจหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่เชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ ภารกิจ อำนาจหน้าที่ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
(๓) กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละสองคน
หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง สองคน ให้ฝ่ายนายจ้างเลือกกันเองจำนวนสองคน
หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง สองคน เนื่องจากสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องความปลอดภัยในทำงาน และเกี่ยวข้องกับลูกจ้างทั้งที่อยู่ในสถานประกอบการและลูกจ้างนอกระบบ ดังนั้นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายลูกจ้างจึงสมควรเปิดโอกาสให้ลูกจ้างทุกคนมีสิทธิเลือกผู้แทนของตนเอง
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างสมควรเป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วนของจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบการ และลูกจ้างที่อยู่นอกสถานประกอบการ เช่น ลูกจ้างจำนวนไม่เกิน ๕๐ คน เลือก ๑ คนมาเป็นผู้แทนไปเลือก โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการให้ใช้ฐานข้อมูลเบื้องต้นจากผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมโดยใช้สถานประกอบการเป็นหน่วยเลือกตั้ง สำหรับลูกจ้างที่อยู่นอกสถานประกอบการ ให้ลูกจ้างมาขึ้นทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งได้
(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า ควรเพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากจำนวนสองคนเป็น สามคน เพื่อให้มีบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงานมาบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ให้มีประสิทธิภาพ และเห็นว่า หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ควรให้รัฐมนตรีกำหนดโดยมาจากคำแนะนำของคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
สำหรับในวาระเริ่มแรก เพื่อให้มีการได้มาซึ่งประธานกรรมการบริหาร และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญ ให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่งจำนวน เจ็ดคน ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ เช่น ประธานกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ผู้แทนองค์กรอิสระ เช่น เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนภาคประชาสังคมเช่น นายกสภาทนายความ ผู้แทนนักวิชาการ เช่น ประธานที่ประชุมใหญ่อธิการบดีมหาวิทยาลัย ผู้แทนสื่อมวลชน เช่น นายกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ชุดแรกของคณะกรรมการบริหารสถาบันสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
๔. บทเฉพาะกาล
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า ควรกำหนดให้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทำหน้าที่ดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริหารปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ อันเป็นภารกิจเร่งด่วนเพื่อการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยไม่มีเหตุจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ แต่อย่างใด
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงขอเสนอบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะข้างต้นเพื่อประกอบการพิจารณาการให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... และในระยะต่อไปสมควรพัฒนาพระราชกฤษฎีกาสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นพระราชบัญญัติแทนพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เพื่อจัดตั้งสถาบันที่มีความเป็นอิสระ และมีทรัพยากรมากพอ ที่จะทำให้สามารถดำเนินการเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหา จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน และเรื่องอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประกันสิทธิของบุคคลที่จะได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพ ทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน ตามมาตรา ๔๔ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐
(ศาสตราจารย์คณิต ณ นคร)
ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย