กนอช.เห็นชอบปรับแผนป้องกัน/แก้ปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน 310 โครงการ
ที่ประชุม กนอช. เห็นชอบการปรับแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน 310 โครงการ จีนเตรียมตัวส่งผู้เชี่ยวชาญร่วมแก้ปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทย
วันที่ 2 พฤษภาคม 2555 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ครั้งที่ 2/2555 โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ) นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวีรพงษ์ รามางกูร นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวก่อนการประชุมว่า ระหว่างเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ได้รับทราบข้อมูลจากทั้ง 2 ประเทศเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบแบบรวมศูนย์หรือ single command ซึ่งจะมีการนำมาปรับใช้กับประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่เสนอให้การช่วยเหลือประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีน จะจัดส่งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมาช่วยแก้ไข อีกทั้งจะมีความร่วมมือในรูปแบบการลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ในการศึกษาแผนการป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ราชอาณาจักรไทยและกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีนโดยไม่มีข้อผูกมัด เป็นการช่วยเหลือแบบรัฐต่อรัฐ
จากนั้น ที่ประชุมพิจารณาได้มีการพิจารณาการปรับแผนการดำเนินโครงการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบงบประมาณการดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเร่งด่วนปี 2555 ให้กับกระทรวงคมนาคมไปแล้ว จำนวน 246 โครงการ วงเงินงบประมาณ 24,828,820,500 บาท เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 และเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพยั่งยืนในการป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญและพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบริเวณพื้นที่ปลายน้ำ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้มีการปรับจำนวนโครงการจาก 246 โครงการ เป็นจำนวน 310 โครงการ ในวงเงินงบประมาณรวม 24,112.74 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงการดังกล่าว ไม่เกินวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติไว้แล้ว โดยจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติอีกครั้ง
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบโครงการภายใต้แผนงานที่ 1 (การฟื้นฟู การอนุรักษ์ป่าและดิน) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ ในพื้นที่ 8 ลุ่มน้ำหลัก ประกอบด้วย ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก และท่าจีน โดยเฉพาะพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิด กักเก็บ และชะลอน้ำ รวมถึงพื้นที่ป่าไม้ในบริเวณที่ลาดเชิงเขา ซึ่งเป็นที่ซับน้ำ โดยการดำเนินการตามแผนงานโครงการดังกล่าว จะมีส่วนช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้ โดยมี 5 กิจกรรมหลักที่จะดำเนินการคือ การเพาะชำกล้าไม้ การทำฝาย การปลูกหญ้าแฝก การสนับสนุนชุมชนเพิ่มพื้นที่ป่า (นาแลกป่า) และการปลูกฟื้นฟูป่า ที่เน้นการปลูกพืชเศรษฐกิจควบคู่กับพืชอนุรักษ์ แต่ทั้งนี้จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับชาวบ้านหรือชุมชนด้วยว่า การปลูกป่าสามารถทำให้คนอาศัยและอยู่กับป่าได้อย่างถาวร
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการดำเนินการภายใต้แผนเงินกู้ 350,000 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เสนอ เพื่อนำไปใช้ดังนี้
1. ใช้กับโครงการหลัก (Main Stream) เท่านั้น
2. ให้ กบอ. จัดทำรายละเอียดเบื้องต้นและแผนการใช้เงินของโครงการในทุก ๆ แผนงาน โดยแยกออกเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 8 ลุ่มน้ำ และพื้นที่ที่เหลืออีก 17 ลุ่มน้ำ ในวงเงิน 305,888 ล้านบาท ซึ่งจะประกอบด้วยการศึกษาสำรวจ ออกแบบและก่อสร้าง
3. ประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและสนใจจัดทำแผนงานโครงการในการดำเนินการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ตามรายละเอียดที่รัฐบาลจะได้กำหนดไว้ เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้สนใจที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพดีที่สุดมาดำเนินการ ซึ่งผู้สนใจอาจจะดำเนินการทั้งหมดหรือแยกเฉพาะโครงการที่สนใจก็ได้
4. เมื่อสามารถคัดเลือกผู้รับจ้างในแต่ละแผนงาน/โครงการได้แล้ว จะพิจารณาจัดทำสัญญาจ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถใช้จ่ายเงินให้ได้ประโยชน์สูงสุด