แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก "เสรีภาพสื่อบนความท้าทายใหม่"
แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก "เสรีภาพสื่อบนความท้าทายใหม่"
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “ วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ” เพื่อย้ำถึงเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งคือเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้มวลมนุษยชาติตระหนักถึงความสำคัญของสื่อมวลชนที่จะต้องมีเสรีภาพ
แต่กระนั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นยุคแห่งความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างรุนแรง เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันทางการเมืองได้ลุกลามเข้ามาถึงวงการสื่อมวลชน โดยแต่ละฝ่ายได้เปิดดำเนินการสื่อของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ สถานีโทรทัศน์ หรือแม้แต่ในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย จนทำให้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่มุ่งปฏิบัติตนตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ต้องถูกท้าทายจากกลุ่มการเมืองหลายด้าน ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในยุคทีมีการแข่งขันสูงระหว่างสื่อที่หลากหลายรูปแบบ
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก จึงขอเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้
1.ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกสำนัก และทุกประเภท พึงตระหนักถึงการทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ท่ามกลางสภาวะขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน เพื่อหลีกเลี่ยงการท้าทาย ยั่วยุ ให้เกิดความรุนแรง แม้ว่ารัฐธรรมนูญได้ให้หลักประกันในด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน แต่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อประเภทใด สำนักใด ก็ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพด้วย
2.การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนบนความท้าทายครั้งใหม่ ในสถานการณ์แห่งความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากความรับผิดชอบแล้ว การดำรงไว้ซึ่งเสรีภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจึงไม่ควรถูกคุกคามแทรกแซงจากอำนาจรัฐ กลุ่มการเมือง กลุ่มอิทธิพล รวมถึงกลุ่มทุน ใดๆ
3.ขอเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารและคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีความจริงใจในการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ โดยต้องปราศจากการครอบงำจากหน่วยงานของรัฐและทุนขนาดใหญ่ เพื่อให้การดำเนินงานของสื่อสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายรัฐบาลควร ระมัดระวังการแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง
4.รัฐบาลต้องยุติการออกกฎหมายที่มีลักษณะจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน โดยเฉพาะร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องไม่มีการแก้ไขไปในลักษณะที่ลดทอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนที่ได้บัญญัติไว้สมบูรณ์แล้ว
5.ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ การมีวิจารณญาณในการรับรู้ข่าวสารถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงขอให้ประชาชนได้โปรดใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร เปิดใจกว้างรับฟังความเห็นที่หลากหลายจากสื่อมวลชน ทั้งนี้ พึงระมัดระวังอย่างยิ่งในการรับข่าวสารจากสื่อที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง ขณะเดียวกันสื่อภาคประชาชน และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) พึงตระหนักถึงกระบวนการนำเสนอด้วยความรับผิดชอบเช่นกัน
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
3 พฤษภาคม 2555