มองคดี “ปราสาทพระวิหาร” ผ่านอุดมการณ์ชาตินิยม – ประชาคมอาเซียน
“…คำถามคือสยามร่วมทำแผนที่ และรับแผนที่หรือไม่ คำตอบคือร่วมทำและรับแผนที่ด้วย ขณะที่นักวิชาการและสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยบอกว่าไม่รับ แต่เขาอาจจะพูดไม่ผิดก็ได้ เพราะขณะนั้นยังใช้คำว่าสยามอยู่ แต่ประเด็นคือไทยเป็นผู้สืบมรดกมาจากสยามหรือเปล่า กัมพูชาก็สืบมาจากมรดกอินโดจีนหรือเปล่า มันก็ใช่ ดังนั้นศาลก็เลยตัดสินให้ไทยแพ้เมื่อปี 2505 และตัดสินยืนยันตามเดิมในปี 2556…”
เป็นความขัดแย้งที่ครุกรุ่นมาอย่างยาวนานสำหรับกรณี “ปราสาทพระวิหาร” และกลับมาลุกโชนเป็นไฟขึ้นอีกครั้งหลังศาลโลกตีความคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา
โดยที่รัฐบาลพยายามยืนยันว่าไทย “ไม่เสียดินแดน” และยังไม่ได้ประกาศ “ยอมรับคำพิพากษาศาลโลก” ขณะที่ประชาชนทั่วไปยังสงสัยว่าตกลงแล้วปราสาทพระวิหารเป็นของใครกันแน่ ?
เพื่อไขคำตอบดังกล่าวให้กระจ่างขึ้น
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2556 กลุ่มสภาหน้าโดม ร่วมกับองค์กร New Culture ได้จัดเสวนา “เขาพระวิหาร – ชาตินิยม – ประชาคมอาเซียน : ขวากหนามของโลกไร้พรมแดน” ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาข้อเท็จจริงว่า เมื่อศาลโลกตัดสินไปแล้วสังคมไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ? ไทยเสียดินแดนจริงหรือไม่ ? และความสัมพันธ์ไทย – กัมพูชานั้นสำคัญไฉน ?
ทั้งนี้ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เข้าร่วมเสวนาดังกล่าว ประกอบด้วย ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มธ. ผู้ได้รับรางวัล “ผู้มีคุณูปการดีเด่นด้านเอเชียอาคเนย์ศึกษา” จาก Association for Asian Studies นายพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มธ. และนายอัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์
นอกจากนี้ยังมีนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ที่ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์คดีปราสาทพระวิหารมาโดยตลอดเข้าร่วมเสวนาอีกคนหนึ่งด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รวบรวมความคิดเห็นที่น่าสนใจจากวิทยากรในงานเสวนาดังกล่าวไว้ ดังนี้
:พิพัฒน์ กระแจะจันทร์
เรามักรับรู้เส้นขอพรมแดนในไทยในลักษณะที่เป็นเส้นตายตัว ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราขาดความเข้าใจคือ คนในพื้นที่พรมแดนจะมีความรับรู้ต่างมิติไปหรือเปล่า ประเด็นนี้มีความสำคัญตรงที่ว่าการกระทำอะไรก็ตามที่ทำในพื้นที่ชายแดน เรามักใส่ใจคนในพื้นที่ค่อนข้างน้อย
และมิติการมองพรมแดนของไทยคือมีลักษณะทางรัฐศาสตร์มาก เราไม่ได้อยู่ร่วมกับพรมแดนที่มันเป็นจริง และมักจินตนาการไปว่า ทำอย่างไรก็ได้เพื่อทวงคืนเส้นพรมแดนทั้งที่มันไม่ได้มีอยู่จริง
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า พรมแดนตรงนี้ มันนำไปสู่การนิยามเชิงอัตลักษณ์ สำหรับคนบางกลุ่มที่มีความเป็นชาติพันธ์ การเกิดขึ้นของรัฐชาติมันทำให้พื้นที่ของคนกลายเป็นสิ่งเดียวกัน
:วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
วันนี้เรากำลังอยู่กับข้อเท็จจริงที่มี 2 ชุด คือ ข้อเท็จจริงชุดแรกคือที่ปรากฎตามคำพิพากษา กับข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ผูกพันในคำพิพากษา
ประเด็นคือศาลโลกไม่ได้บอกว่าตรงไหนเป็นดินแดนไทยหรือกัมพูชา ศาลไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าตรงไหนคือเส้นสันปันน้ำที่แท้จริง ศาลสนใจแต่เพียงว่าตัวปราสาทเป็นของใคร และในเมื่อศาลเคยบอกไปแล้วว่าเป็นของกัมพูชา ไทยก็เลยต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ของเขา แต่เผอิญศาลไปใช้คำกำกวมว่า Vicinity (บริเวณใกล้เคียง) ดังนั้นศาลก็พิพากษาให้ชัดเจน ซึ่งศาลก็บอกว่าต้องดูตามลักษณะของภูมิศาสตร์ธรรมชาติ
และพวกเรามักคุ้นเคยกับศาลภายในประเทศ (ศาลอาญา – ศาลแพ่ง – ศาลรัฐธรรมนูญ) เลยคิดว่าศาลโลกมีอำนาจตัดสินคดีได้ชัดเจน แต่พอมองในระบบกฎหมายระหว่างประเทศ ศาลโลกไม่ได้มีอำนาจบังคับคดีแบบนั้น ถ้าวันนี้ไทยไม่ได้ปฏิบัติตาม ศาลก็ไม่มีกองทัพทหารมาบังคับเรา หรือบางคนบอกว่ามีช่องทางให้ใช้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ก็ต้องไปดูข้อกฎหมาย ข้อที่ 7 ของกฎหมายสหประชาชาติเขียนไว้ว่า อำนาจใด ๆ ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชติ จะมาใช้บังคับ หรือออกมาตรการ มันต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความจำเป็นที่จะไม่กระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
นอกจากนี้เวลาจะไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ความหมายของการเป็นมรดกโลกไม่ได้ชี้ขาดความเป็นเจ้าของ แต่เป็นการชี้ว่าต้องร่วมมือกันที่จะดูแลรักษา โดยอนุสัญญา UNCESCO ข้อที่ 11 ระบุว่า การขึ้นทะเบียนบริเวณหรือวัตถุใดเป็นมรดกโลก จะไม่กระทบต่อข้ออ้างในเรื่องเขตแดนที่พิพาทกันอยู่
ขณะที่คำพิพากษาดังกล่าวทำให้เกิดช่องว่างในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ให้ไปดำเนินการเจรจากันเหมือนที่ศาลโลกบอก แต่ไม่ได้กำหนดเวลาไว้ จะเจรจา 10 ปีก็ได้ ตราบใดที่พยายามที่จะเจรจาแบบจริงจังแม้จะยังไม่สำเร็จ แต่ก็ไม่ได้ละเมิดคำสั่งศาลแต่อย่างใด
ผมเสนอวิธีทางการทูตว่าถ้าเราจะไปเจรจากับกัมพูชาเพียงสองประเทศ เราต้องมีอะไรไปซื้อใจเขา เราอาจจะต้องทุ่มเงินที่กัมพูชาตัดถนนขึ้นไปสู่ปราสาทพระวิหาร โดยเริ่มจากไทยขอลงเงินประเดิม และไม่เถียงว่าเป็นของกัมพูชา แต่ไทยช่วยจ่าย เพราะถือว่าเป็นสถานที่การท่องเที่ยวร่วมกัน ถ้าคิดแบบนี้ก็อาจเปลี่ยนใจก็ได้
หรือถ้าจะคุยกับอีก 7 ประเทศร่วมกัน เวลาจะมาคุยอะไรอย่ามองว่าจะได้แค่กัมพูชา แล้วเสียไทย ถ้าคุณจะได้ต้องได้ด้วยกันเลย คือถ้าเจรจาลงทุนอะไร คุณเจรจาในกรอบอาเซียนได้ไหม คือถ้าได้ ก็เหมือนเป็นพันธมิตรกัน ซึ่งนี่เป็นเกมเจรจาต่อไป ซึ่งนอกเหนือคำพิพากษาไปแล้ว
:ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ผมมีประเด็นทั้งหมด 4 ประเด็น คือ
1. คดีปราสาทวิหารเป็นคดีแย่งมรดก ซึ่งคู่ความไม่สามารถจะตกลงกันได้ เรื่องจึงไปถึงศาลโลก และศาลโลกก็ได้พิพากษาลงมา ดังนั้นสามารถไม่ยอมรับได้ แต่ต้องปฏิบัติตาม และนี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากในแง่ที่ว่า เมื่อปี 2505 ไทยแพ้ 9 – 3 ต่อมาเมื่อปี 2556 ไทยแพ้ 17 – 0 และถ้ารวมการขึ้นมรดกโลกในปี 2551 ซึ่งไทยแพ้ 21 – 0 ซึ่งตรงนี้ต้องคิดให้ดีว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วทำไมคะแนนมันเป็นแบบนี้
2. สิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศคาดการณ์กันไว้ 4 ข้อ คือ 1)ศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณาคดี 2)มีคำพิจารณาออกมาตามที่ฝ่ายกัมพูชาขอ 3)มีคำพิจารณาออกมาตามที่ฝ่ายไทยขอ หรือ 4)ศาลโลกมีคำพิจารณาออกมากลาง ๆ ซึ่งพอพิพากษาออกมาแล้ว ผมคิดว่าอาจต้องอธิบายด้วยคำนี้ว่า กึ่ง ๆ เจ๊า กึ่ง ๆ เจ๊ง ๆ หมายความว่า มันไม่เลวร้ายอย่างที่เราวิตก มองอีกด้านหนึ่งกัมพูชาก็ไม่ได้มากอย่างที่เราวิตกเช่นเดียวกัน
โดยตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญมาก และผมคิดว่าเมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจะทำให้เราอาจจะมีอนาคตบ้าง
3. ถึงแม้เราจะบอกว่าการตัดสินคราวนี้นั้นแผนที่ไม่เกี่ยว แต่คราวที่แล้วมันก็จบลงด้วยแผนที่เจ้าปัญหา 1:200000 ฉบับนั้น โดยคำถามคือสยามร่วมทำแผนที่ และรับแผนที่หรือไม่ คำตอบคือร่วมทำและรับแผนที่ด้วย ขณะที่นักวิชาการและสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยบอกว่าไม่รับ แต่เขาอาจจะพูดไม่ผิดก็ได้เพราะขณะนั้นยังใช้คำว่าสยามอยู่
แต่ประเด็นคือไทยเป็นผู้สืบมรดกมาจากสยามหรือเปล่า กัมพูชาก็สืบมาจากมรดกอินโดจีนหรือเปล่า มันก็ใช่ ดังนั้นศาลก็เลยตัดสินให้ไทยแพ้เมื่อปี 2505 และตัดสินยืนยันตามเดิมในปี 2556
4. ผมคิดว่าในแง่ของประวัติศาสตร์การเมือง ผมสรุปว่ามันเป็นการปะทะกันของลัทธิชาตินิยมของทั้งสองชาติ เนื่องจากกัมพูชาก็ใช้คำขวัญชาติว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เหมือนไทย แต่สำหรับผมของกัมพูชามีพ่วง ปราสาทหิน ไปด้วย ดังเห็นได้จากธงชาติของกัมพูชาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมีปราสาทหินปรากฎอยู่ทุกผืน
ส่วนของไทยนั้นผม พ่วงคำว่ารัฐธรรมนูญไปด้วย
อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญกลับถูกฉีกบ่อยครั้ง จนกระทั่งหลังเหตุการณ์พฤษภาคม ปี 2535 จึงได้พ่วงคำว่า ประชาชน เข้าไปแทนคำว่ารัฐธรรมนูญ