ข้อเสนอกรุยทางเฟ้นหา“นายกฯ”คนที่ 30 ต่อจาก “พล.อ.ประยุทธ์” ?
พลิกแฟ้มผลการศึกษา สนง.กลาโหม “ปฏิรูปประเทศ” ข้อเสนอเส้นทางเฟ้นหา “นายกฯ” คนที่ 30 ต่อจาก “พล.อ.ประยุทธ์” แบ่ง 2 ส่วน “ทางตรง” ตามรอย “อิสราเอล” เพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมือง แต่ฝ่ายค้านประสานงานยาก “ทางอ้อม” ทำได้ 3 สภา “สภาเดี่ยว-สภาคู่-สามสภา” ผุดแนวคิด “สภาประชาชน” คอยถ่วงดุลเพิ่มอีกชั้น
หมายเหตุ www.isranews.org : เป็นสรุปผลการศึกษา “กรอบความเห็นปฏิรูปประเทศไทย” ด้านการเมือง ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่รวบรวมความคิดเห็นจากประชาชน ความยาว 63 หน้า โดยมีเนื้อหาสำคัญคือวิธีการเฟ้นหา “นายกรัฐมนตรี” แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ “ทางตรง” และ “ทางอ้อม”
รูปแบบรัฐสภา
สภาพปัญหา
การเมืองไทยระบบรัฐสภามีรูปแบบเป็น สภาคู่ ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่หลักในด้านนิติบัญญัติตรากฎหมาย แก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและเป็นตัวแทนของประชาชน ส่วนวุฒิสภาทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายให้เกิดความรอบคอบรัดกุม มีผลบังคับใช้เพื่อความผาสุกของประชาชน รวมทั้งแต่งตั้ง ตรวจสอบ และถอดถอนบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
จากข้อมูลพบว่า วุฒิสภาไม่สามารถถ่วงดุลการใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นฝ่ายนิติบัญญัติสมยอมกับฝ่ายบริหาร ใช้เสียงข้างมากในการลงประชามติไม่คำนึงถึงเสียงส่วนน้อย นำไปสู่เผด็จการรัฐสภาทำให้การเมืองไปสู่ทางตัน
กรอบความเห็นร่วม
การปฏิรูปมีข้อเสนอให้รูปแบบรัฐสภามี 2 รูปแบบ ได้แก่ รัฐสภาแบบเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีโดยตรง และรัฐสภาแบบเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยอ้อม
รัฐสภา แบบเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง
เป็นรูปแบบหนึ่งซึ่งใช้ในประเทศอิสราเอล คือ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรียังคงต้องเป็นสมาชิกรัฐสภา ไม่มีการแยกการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาออกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่ให้ประชาชนมีสิทธิเลือกบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อของบรรดาผู้สมัครสมาชิกรัฐสภาในการเลือกตั้งคราวเดียวกัน กับการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป
ข้อดี คือทำให้ประชาชนมีโอกาสเลือกหัวหน้าฝ่ายบริหารได้ด้วยตนเอง โดยมีฐานความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่ยึดโยงโดยตรงกับประชาชน นอกจากนี้เป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมืองให้กับนายกรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ได้อย่างเป็นอิสระจากรัฐสภา ทำให้การดำเนินตามนโยบายต่าง ๆ สามารถเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อจำกัด คือหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสมาชิกส่วนใหญ่เป็นพรรคฝ่ายค้าน การประสานงานระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรัฐสภาจะยากขึ้น และองค์กรอิสระ ที่จะถ่วงดุลนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจะต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
รัฐสภา แบบเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยอ้อม
รัฐสภาแบบเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยอ้อม ประกอบด้วย 3 แบบ ได้แก่ สภาเดี่ยว สภาคู่ และสามสภา
สภาเดี่ยว มีเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร
ทำหน้าที่หลักในด้านนิติบัญญัติตรากฎหมาย แก้ไขปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมาย โดยมี ส.ส. ทำหน้าที่ในรัฐสภา
ข้อดี คือระบบสภาเดี่ยวเกื้อกูลการตรากฎหมาย และการดำเนินนโยบายของรัฐบาลให้สอดคล้องกับระบบเสียงข้างมากในรัฐสภา ข้อจำกัด คือ อาจทำให้การผ่านร่างกฎหมายมีข้อบกพร่องและอาจมีการเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มมากเกินไป
รูปแบบสภาเดี่ยวที่มีเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกเสนอ มี 6 แบบ
1.ส.ส. จากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตทั้งหมด ข้อดี คือ ส.ส. เป็นตัวแทนที่ยึดโยงกับปัญหาของประชาชนในพื้นที่ ข้อจำกัด คือไม่สามารถคัดเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางเข้าสู่สภาได้ทั้งหมด และการออกกฎหมายหรือการบริหารประเทศจะคำนึงถึงระดับพื้นที่เฉพาะ มากกว่าภาพรวมของประเทศ
2.ส.ส. จากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (บัญชีรายชื่อทั้งหมด) ข้อดี คือได้ ส.ส. ที่มีความหลากหลาย มีความสามารถ รวมทั้ง ส.ส. ที่สังกัดพรรคการเมืองขนาดเล็ก มีโอกาสได้รับการคัดเลือกเข้าสู่สภา ข้อจำกัด คือ ส.ส. ไม่มีความใกล้ชิดกับประชาชน ทำให้ขาดการรับรู้ปัญหาที่แท้จริงของประชาชนในแต่ละพื้นที่
3.ส.ส. จากการสรรหาทั้งหมด ข้อดี คือได้ ส.ส. ที่มีความสามารถเฉพาะจากทุกกลุ่มอาชีพ สามารถนำวิธีการนี้มาใช้แก้ปัญหาในกรณีที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ และการออกกฎหมายเฉพาะที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมทำได้รวดเร็ว ข้อจำกัด คือ ส.ส. มีความเป็นตัวแทนเชิงพื้นที่น้อย ทำให้ไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ การออกกฎหมายบางอย่างอาจไม่ครอบคลุมประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่
4.ส.ส. จากแบบผสม จากเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และแบบสัดส่วน ข้อดี คือได้ ส.ส. ที่มีความหลากหลาย รวมทั้งมีการยึดโยงกับประชาชน และส่วนที่มีความรู้ความสามารถตามที่พรรคการเมืองเลือกเข้ามาทำหน้าที่ในสภา ข้อจำกัด คืออาจจะได้บุคคลมาทำหน้าที่ไม่ครอบคลุมกลุ่มอาชีพ
5.ส.ส. จากแบบผสม จากเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และแบบสรรหา ในจำนวนที่เท่ากัน ซึ่ง ส.ส. โดยการสรรหาจะต้องมีผู้แทนจากทุกกลุ่มอาชีพ เช่น ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักวิชาการ เป็นต้น ข้อดี คือได้ ส.ส. ที่มีความหลากหลายทั้งส่วนที่มีการยึดโยงกับประชาชน และส่วนที่มีความรู้เฉพาะกลุ่มอาชีพเข้ามาทำหน้าที่ในสภา ข้อจำกัด คือสมาชิกที่ถูกแต่งตั้งมาจะไม่ยึดโยงกับประชาชน อาจมีการตั้งกลุ่มเทียมเพื่อผลักดันคนเข้าสู่กระบวนการแต่งตั้ง/สรรหา ซึ่งประเทศไทยไม่เคยนำระบบนี้มาใช้
6.ส.ส.แบบผสม จากทั้งเลือกตั้งจังหวัดละคน เลือกตั้งกันเองในแต่ละอาชีพ และสรรหาจากกลุ่มองค์กรอาสาสมัคร (NGO) ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักวิชาการ ข้อดี คือเพื่อต้องการให้ทุกกลุ่มผลประโยชน์มีตัวแทนในรัฐสภา คอยพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน และลดนโยบายประชานิยมของพรรคการเมือง ข้อจำกัด คือการจัดตั้งรัฐบาลเป็นแบบรัฐบาลผสม จะไม่มีเสถียรภาพในการบริหารประเทศ เพราะจะมีการต่อรองจากกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยไม่เคยนำระบบนี้มาใช้เช่นกัน
สภาคู่
ประกอบด้วย 2 สภา มีหน้าที่หลักต่างกัน สภาแรกทำหน้าที่หลักในด้านนิติบัญญัติ ตรากฎหมาย แก้ไขปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมาย และสภาที่ 2 ทำหน้าที่เป็น “สภาตรวจสอบ” กลั่นกรองกฎหมาย และถ่วงดุล
ข้อดี คือการทำหน้าที่นิติบัญญัติของรัฐสภามีการถ่วงดุลซึ่งกันและกันอย่างชัดเจน ข้อจำกัด คือการถ่วงดุลจะเกิดผลจริงในทางปฏิบัติสมาชิกทั้ง 2 สภาต้องมีที่มาแตกต่างกันเพื่อให้สามารถเป็น “สภาตรวจสอบ” ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง
รูปแบบสภาคู่ที่ถูกเสนอ มี 2 แบบ
1.แบบสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา ข้อดี คือโครงสร้างรัฐสภามีความชัดเจน การทำหน้าที่ของรัฐสภาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีการตรวจสอบถ่วงดุลภายในรัฐสภาเอง องค์ประกอบที่หลากหลายของรัฐสภาสะท้อนการเป็นผู้แทนของคนทุกกลุ่มในสังคม ข้อจำกัด คือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่เป็นอิสระจากพรรคการเมือง หรือมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ กับ ส.ส. จะทำให้ ส.ว. ไม่สามารถทำหน้าที่เป็น “สภาตรวจสอบ” ตามเจตนารมณ์ และมีกลไกอื่น ๆ เช่น กฎหมาย ที่ทำให้การตรวจสอบทำได้ง่าย ในขณะที่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลที่เป็นธรรม
2.แบบสภาผู้แทนราษฎรกับสภาประชาชน ให้สภาประชาชนทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจ ส.ส. แทนวุฒิสภา โดยที่มาของสมาชิกสภาประชาชน ประกอบไปด้วย ผู้แทนจาก 3 กลุ่ม คือ จากแต่ละจังหวัด กลุ่มวิชาชีพ และกลุ่มข้าราชการ
ข้อดี คือประชาชนมีส่วนร่วมในการถ่วงดุลอำนาจทางการเมือง ข้อจำกัด คือต้องกำหนดบทบาทหน้าที่สภาประชาชนให้ชัดเจน เพื่อให้กระบวนการทำงานไม่ซับซ้อนมากเกินไป ประชาชนอาจเป็นผู้แทนของกลุ่มเฉพาะที่ไม่ครอบคลุมประชาชนทั้งหมด ตลอดจนตัดโอกาสของประชาชนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยหรือปัจเจกที่ไม่ได้อยู่ในสภาประชาชน ซึ่งสภาประชาชนเป็นแนวทางที่ไม่เคยมีการปฏิบัติมาก่อน
สามสภา
ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และสภาประชาชน เพื่อให้การถ่วงดุลอำนาจให้มีมากขึ้น ข้อดี คือ ประชาชนมีส่วนร่วมในการถ่วงดุลอำนาจทางการเมือง ข้อจำกัด คือต้องกำหนดบทบาทหน้าที่สภาประชาชนให้ชัดเจนเพื่อให้กระบวนการทำงานไม่ซับซ้อนมากเกินไป
อ่านประกอบ :
"กลาโหม"ชงปฏิรูป"สื่อ"ทำงานใต้อำนาจทุน ผู้ประกาศเป็นดาราหรู-นักข่าวไส้แห้ง
ผลศึกษาศาลฎีกาฯก่อนปฏิรูป “กลาโหม”ชี้การเมืองแทรกแซง-สองมาตรฐาน
เปิดข้อเสนอ ปฏิรูปด้านศก.เล็งยุบ 'ขสมก.-บขส.' ตั้งเป็น สำนักงานลงทุนแห่งชาติ
ปฏิรูปด้านสังคม ‘ปราบคอร์รัปชัน’ เร่งแก้ประมวล กม.อาญา-ตั้งคดีไม่มีอายุความ
ล้วงผลศึกษา“กลาโหม”ข้อดี-ข้อเสีย ? 3 องค์กรอิสระสำคัญก่อนปฏิรูป
หมายเหตุ : ภาพประกอบ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จาก karnkarana45.blogspot.com