เจาะถุงเงิน"คมนาคม"ยุค"ประจิน"1 ปี ทุ่มงบสร้างทางแสนล.ระวังเสือโหย-หิว?
"..คำถามที่น่าสนใจ และคนไทยต้องช่วยกันถามต่อดังๆ คือ แผนงานลงทุนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ที่มทุ่มลงไปกว่าแสนล้านบาท ของกระทรวงคมนาคม ในยุคนี้ จะเกิดขึ้นให้คนไทย เห็นเป็นรูปธรรมได้เมื่อไร? และที่สำคัญจะมีมาตรการคุ้มเข้มป้องกันดูแลไม่ให้ เงินเหล่านี้ รั่วไหล เกิดส่วนต่างระหว่างทาง ได้อย่างไร?.."
ในขณะที่ "กองทัพ" ภายใต้การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะนั่งทำงาน หลังการรัฐประหารยึดอำนาจต่อจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างน้อย 1 ปี ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ไว้สูงถึง 192,949,090,200 บาท ซึ่งในจำนวนนี้มีเม็ดเงินที่เตรียมพร้อมไว้สำหรับแผนงานเสริมสร้างระบบป้องกันประเทศ (ซื้ออาวุธ-ยุทธโธปกรณ์?) ของหน่วยงานในสังกัดทุกหมู่เหล่าไว้ สูงถึง 188,832,298,300 บาท
(อ่านประกอบ : ไส้ในงบรายจ่ายกองทัพปี58 ยุครบ."ประยุทธ์" 1.9แสนล.ภารกิจอะไรสำคัญที่สุด?)
กระทรวงคมนาคม หนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ที่รับผิดชอบงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งของประเทศ ภายใต้การกำกับดูแล ของ "พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรองหัวหน้า คสช. ซึ่งมีการดึงตัว "นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ" อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้ามาช่วยงานในตำแหน่ง รมช.คมนาคม ได้รับงบประมาณไปจำนวน 110,733,500 บาท
ส่วนภารกิจสำคัญในช่วง 1 ปีนี้ ต่อจากนี้ คือ การลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบรายละเอียดในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีการตั้งงบประมาณไว้จำนวน 2,575,000,000,000 บาท และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.57 ที่ผ่านมา
พบว่า กระทรวงคมนาคม ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ปี 2558 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 110,733,500 บาท
จำแนกรายละเอียดตามหน่วยงานในสังกัดและแผนงานต่างๆ ได้ดังนี้
๑. สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม รวม ๔๕๓,๐๕๘,๔๐๐ บาท คือ
(๑) แผนงานดำเนินการตามกรอบข้อตกลงของประชาคมอาเซียน ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท
(๒) แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ๔๑๗,๐๕๘,๔๐๐ บาท
๒. กรมเจ้าท่า รวม ๔,๗๔๒,๑๒๙,๖๐๐ บาท คือ
(๑) แผนงานขับเคลื่อนการวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรองรับการพัฒนาสู่อนาคต ๗๕๒,๒๐๔,๘๐๐ บาท
(๒) แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ๓,๙๒๙,๒๓๐,๓๐๐ บาท
(๓) แผนงานฟื้นฟู ป้องกัน และจัดการภัยพิบัติ ๖๐,๖๙๔,๕๐๐ บาท
๓. กรมการขนส่งทางบก รวม ๒,๘๗๙,๓๕๘,๗๐๐ บาท คือ
(๑) แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ๒,๘๗๙,๓๕๘,๗๐๐ บาท
๔. กรมการบินพลเรือน รวม ๑,๗๐๘,๒๕๑,๕๐๐ บาท คือ
(๑) แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ๑,๗๐๘,๒๕๑,๕๐๐ บาท
๕. กรมทางหลวง รวม ๖๐,๓๓๔,๒๓๓,๘๐๐ บาท คือ
(๑) แผนงานขับเคลื่อนการวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรองรับการพัฒนาสู่อนาคต ๓๐,๙๓๘,๑๕๑,๑๐๐ บาท
(๒) แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ๒๙,๓๐๓,๕๘๐,๗๐๐ บาท
(๓) แผนงานฟื้นฟู ป้องกัน และจัดการภัยพิบัติ ๒๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท
(๔) แผนงานส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ๖๕,๕๐๒,๐๐๐ บาท
๖. กรมทางหลวงชนบท รวม ๔๐,๐๙๕,๑๕๓,๔๐๐ บาท คือ
(๑) แผนงานฟื้นฟูความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ๕๕๔,๔๕๗,๓๐๐ บาท
(๒) แผนงานขับเคลื่อนการวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรองรับการพัฒนาสู่อนาคต ๑๖,๘๖๙,๙๖๑,๘๐๐ บาท
(๓) แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๕๖๒,๑๙๕,๖๐๐ บาท
(๔) แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ๒๒,๑๐๘,๕๓๘,๗๐๐ บาท
๗. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร รวม ๕๑๐,๓๔๘,๑๐๐ บาท คือ
(๑) แผนงานขับเคลื่อนการวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรองรับการพัฒนาสู่อนาคต ๔๖,๘๘๕,๐๐๐ บาท
(๒) แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ๔๖๓,๔๖๓,๑๐๐ บาท
เมื่อพิจารณารายละเอียดทั้งหมด จะพบข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้
1. กรมทางหลวงได้รับงบประมาณมากที่สุด จำนวน 6.03 หมื่นล้าน ตามมาด้วย กรมทางหลวงชนบท จำนวน 4 หมื่นล้าน คิดรวมงบประมาณ 2 หน่วยงาน อยู่ที่ 1 แสนกว่าล้าน
2. แผนงานตามภารกิจที่ได้รับงบประมาณสนับสนุน ของหน่วยงานต่างๆ มีการระบุถึง แผนงานขับเคลื่อนการวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรองรับการพัฒนาสู่อนาคต และแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์
โดยในส่วนของแผนงานขับเคลื่อนการวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรองรับการพัฒนาสู่อนาคต กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จัดงบส่วนนี้ไว้รวมกันว่า 47,806,112,900 บาท
ขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ตั้งไว้จำนวน 46,885,000 บาท กรมเจ้าท่า จำนวน 752,203,800 บาท รวมวงเงิน 799,089,800 บาท
นับรวมยอดงบประมาณทั้งหมดอยู่ที่ตัวเลขกว่า 48,605,202,700 บาท
2. ส่วนแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ เป็นอีกหนึ่งแผนงานสำคัญที่ถูกระบุไว้ในแผนการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ
สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ตั้งงบส่วนนี้ไว้ 417,058,400 บาท กรมเจ้าท่า 3,929,230,300 บาท กรมการขนส่งทางบก 2,879,358,700 บาท กรมการบินพลเรือน 1,708,251,500 บาท กรมทางหลวง 29,303,580,700 บาท กรมทางหลวงชนบท 22,108,538,700 บาท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร 463,463,100บาท
รวมวงเงินทั้งสิ้น 60, 809,481,400 บาท
3. เมื่อนับรวมยอดเงินในแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ และแผนงานขับเคลื่อนการวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรองรับการพัฒนาสู่อนาคต จะอยู่ที่ตัวเลข 109, 414,684,100 บาท
จากยอดงบประมาณภาพรวมที่ได้รับมาทั้งหมด ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ปี 2558 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 110,733,500 บาท
คำถามที่น่าสนใจ และคนไทยต้องช่วยกันถามต่อดังๆ คือ แผนงานลงทุนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ที่มทุ่มลงไปกว่าแสนล้านบาท ของกระทรวงคมนาคม ในยุคนี้ จะเกิดขึ้นให้คนไทย เห็นเป็นรูปธรรมได้เมื่อไร?
และที่สำคัญจะมีมาตรการคุ้มเข้มป้องกันดูแลไม่ให้ "เงินภาษี" ประชาชนเหล่านี้ รั่วไหล เกิดส่วนต่างระหว่างทาง เหมือนในอดีตที่ผ่านมาได้อย่าง?
ดังนั้น ในช่วงระยะเวลา 1 ปี นับจากนี้ จึงถือเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญของ พลอากาศเอก ประจิน และ นายอาคม ว่าจะ"ฝีมือ"ในการบริหารกระทรวงคมนาคมมากน้อยเพียงใด
โดยเฉพาะการอดทนต่อสิ่งเร้าและแรงยั่วยวน ที่มีมูลค่ามหาศาลจาก ผู้รับเหมา เสือโหยเสือหิว ที่นั่ง "ลับมีด" รอท่าอยู่แล้ว ได้มากน้อยแค่ไหน
เพราะล่าสุดมีกระแสข่าวในพื้นที่ว่า "ผู้รับเหมา" หลายกลุ่ม เริ่มพยายามหาช่องทางเพื่อติดต่อผู้มีอำนาจในยุคปัจจุบันกันแล้ว เพื่อแจ้งความประสงค์อะไรบ้างอย่างแล้ว และจากเห็นยอดงบประมาณและแผนงานการลงทุนก่อสร้างต่างๆที่จะกระจายตัวออกไป ในพื้นที่ต่างจังหวัด ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าของรัฐบาล ที่ประกาศไว้
ผลงานของกระทรวงคมนาคม ในช่วง 1 ปี หลังจากนี้ จะออกมา "สวยหรู" ตามที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้หรือไม่ หรือจะยังคงติดอยู่ในบ่วงวังวนปัญหาซ้ำรอยเดิมในอดีต
คงต้องจับตาดูกันต่อไปแบบห้ามกระพริบตา!