สร้างจิตสำนึกใหม่ พื้นที่ทดสอบ หวัง “คนรุ่นใหม่” เปลี่ยนแปลงสังคม
“ขณะนี้คือยุคของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความคิดที่ทันสมัยเปิดกว้างรับอะไรได้มากกว่า ในเมื่อคนรุ่นใหม่มีศักยภาพมีความคิด ความเข้าใจ มีความกระตือรือร้น เป็นพลเมืองที่พร้อมทั้งกายใจ แต่โครงสร้าง กลไก อำนาจ และพื้นที่ทางของสังคมกลับไม่เปิดในทางปฏิบัติ ทางโครงการฯ จึงต้องสร้างพื้นที่ขึ้นมารองรับตรงนี้ โดยจำลองสังคมให้คนรุนใหม่ได้ทดลองปฏิบัติจริงตามศักยภาพและสถานการณ์ทางสังคม"
เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการเรียนรู้หลักสูตรที่ 2 :การสร้างจิตสำนึกใหม่ หลักคิด หลักวิเคราะห์ คุณค่าและการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่สังคมสุขภาวะกับการปฏิบัติการจิตอาสาร่วมกับชุมชนชายขอบ ภายใต้โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม รุ่นที่ 3 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความสัมพันธ์และการเติบโตทางความคิด ทักษะและจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ให้เข้มแข็ง เปิดรับ เรียนรู้ ผ่านกระบวนการกลุ่มและการลงมือทำงานร่วมกัน รวมทั้งพัฒนาทักษะการคิด วิเคราะห์ เชื่อมโยงโครงสร้างทางสังคมในหลากหลายมิติ อีกทั้ง ให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสลงไปเรียนรู้สภาพความเป็นจริงในสังคม ได้สัมผัสเรียนรู้เรื่องราวด้วยประสบการณ์ตรงของตนเองกับชุมชนชายขอบ ที่บ้านผู้หว่าน อ.สามพราน จ.นครปฐม
นางสาวศิริพร ฉายเพ็ชร ผู้ประสานงานโครงการฯ เผยว่า กระบวนการเรียนรู้หลักสูตรที่ 2 ได้ตั้งโจทย์เพื่อให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ จำนวน 40 คน หาคำตอบ ลงลึกถึงชีวิต ก้นบึ้งของสังคม โดยให้โอกาสเรียนรู้ปัญหาจากพื้นที่จริงใน 7 ประเด็นสังคม 1) HIV/เอดส์ พนักงานบริการ สิทธิและการเข้าถึงยาของผู้ติดเชื้อ ระบบหลักประกันสุขภาพ ตะลุยโลกยามราตรีแสงสีของพัฒน์พงศ์ 2) แรงงานข้ามชาติ ประเด็นปัญหาระดับชาติ สถานการณ์การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ 3) คนรุ่นใหม่ก้าวพลาด เยาวชนกลุ่มเสี่ยง บ้านกาญจนาภิเษก ศูนย์รวมไว้ซึ่งทุกปัญหาที่เกิดจากผู้ใหญ่และสังคม 4) คนจนเมือง คนไร้บ้าน ร่วมกิน ร่วมอยู่ ร่วมนอน บทพิสูจน์ทุกคนมีความเป็น “คน” เท่าเทียมกัน 5) เมืองกับสิ่งแวดล้อม สิทธิในการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม สัมผัสชีวิตชาวนาการเกษตรที่หลากหลาย ความพยายามในการรักษาฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมของชุมชน 6) นักโทษทางความคิดกับผู้ลี้ภัย เรียนรู้เข้าใจประวัติศาสตร์สถานการณ์ทางการเมืองจากอดีตถึงปัจจุบัน และ 7) คนพิการ รัฐสวัสดิการ กลุ่มคนที่ถูกลืม
“ขณะนี้คือยุคของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความคิดที่ทันสมัยเปิดกว้างรับอะไรได้มากกว่า ในเมื่อคนรุ่นใหม่มีศักยภาพมีความคิด ความเข้าใจ มีความกระตือรือร้น เป็นพลเมืองที่พร้อมทั้งกายใจ แต่โครงสร้าง กลไก อำนาจ และพื้นที่ทางของสังคมกลับไม่เปิดในทางปฏิบัติ ทางโครงการฯ จึงต้องสร้างพื้นที่ขึ้นมารองรับตรงนี้ โดยจำลองสังคมให้คนรุนใหม่ได้ทดลองปฏิบัติจริงตามศักยภาพและสถานการณ์ทางสังคม โดยพื้นที่นี้จะให้เป็นพื้นที่เปิด ให้อำนาจ พลัง การมีส่วนร่วม และโอกาส ในการเรียนรู้ ลงมือทำ ปะทะสังสรรค์กับเพื่อนคนรุ่นใหม่กับกลุ่มคนในสังคมตามประเด็นต่างๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาฟื้นฟูคุณค่า และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ ดังนั้น หลักสูตรการสร้างจิตสำนึกใหม่ หลักคิด หลักวิเคราะห์ คุณค่าและการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่สังคมสุขภาวะกับการปฏิบัติการจิตอาสาร่วมกับชุมชนชายขอบ โดยเลือก 7 ประเด็นปัญหาในสังคมของกลุ่มคนที่ไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียง เป็นกลุ่มคนชายขอบที่มักจะถูกลืมเป็นพื้นที่จริงในการศึกษา ซึ่งเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมที่เป็นหัวใจสำคัญที่ มอส.นำมาใช้” นางสาวศิริพร กล่าว
น้องหมิว นางสาวจิราพร เครือสมบัติ นักสังคมสงเคราะห์ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า เรียนจบด้านสังคมสงเคราะห์ ปัจจุบันก็ทำงานตรงตามที่จบมา การสมัครมาร่วมโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม รุ่นที่ 3 ก็เพื่อต้องการที่จะรู้ว่าคนรุ่นใหม่คิดอะไรอยู่ ด้วยตนเองผ่านงานสังคมมานาน และในฐานะทำงานกับกลุ่มเยาวชนในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนที่จะกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคม ซึ่งมีความคิดที่จะรวมกลุ่มเด็กเหล่านี้ เพราะพบว่าเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเรียน กศน. ซึ่งมีช่วงเวลาที่ว่างมาก จึงคิดว่าจะรวมกลุ่มเพื่อสร้างกิจกรรม หางานให้เด็กได้ทำ เป็นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่
น้องหมิว กล่าวต่อไปว่า จากการได้มาร่วมกิจกรรมและได้ลงพื้นที่คนรุ่นใหม่ก้าวพลาดที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ได้คุยกับป้ามล ทิชา ณ นคร ในเรื่องการฟื้นฟูศักยภาพเด็ก กิจกรรมที่ทำร่วมกับครอบครัว ที่จะทำให้เด็กมีความสัมพันธ์กับครอบครัว ผู้ปกครอง เพราะที่ผ่านมาเด็กมักมีความสัมพันธ์ไม่ดีนักกับครอบครัว ซึ่งตรงและได้ประโยชน์กับการทำงานของตนเองมาก สามารถนำไปใช้ได้ในพื้นที่ 7 จังหวัดที่ต้องดูแล ซึ่งมีเด็กในศูนย์ฝึกประมาณ 400 กว่าคน ปัญหาส่วนใหญ่ที่เด็กรับโทษคือเรื่องยาเสพติด โดยปัญหารากลึกจริงๆ เกิดจากครอบครัว พ่อแม่ลืมถอดบทบาทหน้าที่จากสังคมเมื่อเข้ามาอยู่ในบ้านใช้การออกคำสั่งกับลูก เกิดความกดดันมากเกินไป บางคนตามใจลูกแต่ไม่ได้เข้าใจเด็กว่าต้องการอะไร ทั้งนี้ เกิดความคิดในการแก้ไขที่ว่าอาชญากรเด็กไม่ใช่ปัญหาระดับบุคคลแต่เกิดจากปัญหาเชิงระบบ ซึ่งยอมรับว่าเชิงระบบนั้นแก้ยาก เราต้องเปลี่ยนทัศนคติก่อน สร้าง Mindset ใหม่ การทำงานกับผู้ปกครองต้องทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่ผู้ปกครองคิดกับเด็กคิดมันไม่ตรงกัน ต้องรับฟังเสียงเด็กให้มาก จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้จริง
ด้านน้องหญิง นางสาวจุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ทำงานชุมชนในพื้นที่บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง กล่าวว่า ปัจจุบันทำงานด้านการให้ข้อมูลกับชาวบ้านที่ได้รับหรือกลัวที่จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ถ่านหิน การได้มาเรียนรู้หลักสูตรในครั้งนี้ ได้รับประโยชน์ในเรื่องกระบวนการเรียนรู้ ทำให้ได้พัฒนาตนเอง จากกิจกรรมต่างๆ เช่น การโต้วาที ตลาดนัดแลกเปลี่ยนความเป็นตัวตนของเพื่อนๆ ที่มาจากที่ต่างๆ ซึ่งค้นพบความจริงของคนว่ามีความแตกต่างหลากหลาย สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้มาสะกิดตัวเองว่าเรายอมรับได้หรือไม่ในความแตกต่างนั้น แต่อย่างน้อยเราก็รู้ตัวว่าเรารับได้ระดับไหน
“ประเทศเรามีปัญหาในเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ยังแก้ไขไม่ได้หลายเรื่อง จาก 7 ประเด็นปัญหาสังคม ได้เลือกลงพื้นที่ศึกษาคนพิการ เนื่องจากคำว่าคนพิการคือคนชายขอบสำหรับเราที่สุด เพราะไม่เคยสนใจเรื่องนี้มาก่อน เป็นเรื่องที่ห่างจากตัวเราที่สุดและหลุดจากความคิดว่าเขาคือคนที่น่าสงสารคนที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ไปไม่ได้เลย แต่เมื่อได้ลงมาสัมผัสความจริงมันเปลี่ยนความคิดว่าเขาก็คือคนเหมือนเรา แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนพิการไม่ใช่คนที่พร้อมจะลุกขึ้นมาได้ทันที ต้องใช้เวลาและก็ต้องยอมรับว่ากว่าที่เขาจะลุกขึ้นมาได้นั้น เพราะสังคมกดเขาเอาไว้
ฉะนั้น วิธีการแก้ปัญหาคือการแก้ไขจากตัวเราก่อนด้วยการเปลี่ยนมุมมองความคิด อธิบายให้คนใกล้ตัวได้เข้าใจ เนื่องจากรากเหง้าที่สำคัญคือการผลิตซ้ำของแนวคิดเก่าว่าความพิการคือความผิดปกติ ดังนั้น อย่างน้อยสิ่งที่จะช่วยได้ง่ายที่สุดคือการเป็นผู้สื่อสารในสิ่งที่ถูกต้องออกไป ทุกวันนี้ในสังคมไม่มีใครคิดหรือบอกว่าความพิการคือเรื่องปกติ ฉะนั้น สิ่งที่ได้ประโยชน์การพัฒนาตนเองทั้งมุมมอง เพราะเราต้องพบเจอคนที่หลากหลาย คนที่เห็นต่างให้มากกว่านี้ จะเกิดประโยชน์มาก ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำเราเองค่อนข้างอยู่กับคนกลุ่มนี้ตลอด แต่เรามีความเข้าใจเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก และได้เทคนิคการในการเข้าหาคนมากขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมของเราได้ด้วย” น้องหญิง กล่าว