- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ไล่ออกผู้บริหาร 4 คน สังเวยเอื้อ‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ เบื้องลึกคดี 6 พันล.ธพว.
ไล่ออกผู้บริหาร 4 คน สังเวยเอื้อ‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ เบื้องลึกคดี 6 พันล.ธพว.
เปิดผลสอบวินัย ปี 2550 ไล่ออกผู้บริหาร 4 คน สังเวย เร่งหาผู้รับผิด เพื่อแจ้งโมฆะกรรมกับ ‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ คดีบัตรเงินฝาก FRCD ธพว. แพ้ในศาลอุทธรณ์ต้องใช้หนี้ 6 พันล.
กรณีธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) (SCBT) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นจำเลย เพื่อเรียกค่าเสียหายตามสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate /IRS) บนบัตรเงินฝากชนิดดอกเบี้ยลอยตัว (FRCD) จำนวนคดีมีทุนทรัพย์รวมประมาณ 6,000 ล้านบาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อปี 2558 ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2560 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้ ธพว. ชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าว ตามข่าวในสำนักข่าวอิศราเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2560
กรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้เรียบเรียงความเป็นมาของการออกบัตรเงินฝาก (FRCD) ของ ธพว. เมื่อปี 2549 จำนวน 300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 11,535 ล้านบาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น) ซึ่งพบว่ามีความไม่ปกติใน 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการคัดเลือกตัวแทนจำหน่าย (Underwriter) และขั้นตอนการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยง โดยมีการเพิ่มข้อกำหนดพิเศษเข้าไปในภายหลังในสัญญาป้องกันความเสี่ยง ซึ่ง ธพว. มีข้อเสียเปรียบอย่างมาก และเป็นเหตุให้ต่อมาในปี 2550 ธพว.ตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา (ตามข้อกำหนดพิเศษที่เพิ่มเข้าไปในภายหลัง) ทำให้คู่สัญญาคือ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลแพ่งเป็นทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีประมาณ 6,000 ล้านบาท ในปี 2551 โดยศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลชั้นต้นได้ใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 8 ปี และมีคำพิพากษาเมื่อปลายปี 2558 ให้ ธพว. เป็นฝ่ายชนะคดี โดยฟังว่าสัญญาที่ทำกันระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นโมฆะ เนื่องจากการเพิ่มข้อกำหนดพิเศษเข้าไปในภายหลังที่เป็นเหตุให้ ธพว. ต้องจ่ายค่าปรับ คณะกรรมการธนาคารของ ธพว. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน ธพว. ไม่ได้รับรู้ด้วย นิติกรรมจึงเป็นโมฆะ ธพว. จึงไม่ผูกพันต้องจ่ายค่าปรับตามสัญญา ต่อมาในต้นปี 2559 ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้ใช้เวลาพิจารณาเพียง 1 ปีเศษ และได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ให้ ธพว. เป็นฝ่ายแพ้คดี โดยต้องชำระหนี้ให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีคือประมาณ 6,000 ล้านบาท และดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องถึงวันที่ชำระเสร็จสิ้นคำนวณเป็นเงินอีกกว่า 1,000 ล้านบาท
คราวนี้ย้อนกลับไปดูรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นดังนี้
- หลังจากที่ ธพว.ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 พร้อมกับเพิ่มข้อกำหนดพิเศษว่าหากอัตราดอกเบี้ย LIBOR หลุดกรอบที่ตกลงกันไว้ ธพว.ต้องจ่ายค่าปรับ 8.5 % ของเงินต้นบน FRCD เข้าไปในภายหลัง โดยเพิ่มข้อกำหนดพิเศษสำหรับ FRCD จำนวนครึ่งหนึ่ง 150 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 และเพิ่มข้อกำหนดพิเศษ สำหรับ FRCD ส่วนที่เหลืออีก 150 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2549
- ต่อมาในปี 2550 เกิดวิกฤตการณ์ซับไพร์ม ทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินทั่วโลกลดต่ำลง และอัตราดอกเบี้ย LIBOR หลุดกรอบล่างตามที่ ธพว.และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ตกลงกันไว้ ทำให้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เรียกเก็บเงินค่าปรับจาก ธพว.ซึ่งขณะนั้นเป็นจำนวนเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท
- คณะกรรมการธนาคารชุดใหม่ของ ธพว.ที่เข้าไปทำหน้าที่ต่อเนื่องจากคณะกรรมการธนาคารชุดที่อนุมัติให้ ธพว.ออก FRCD ไม่อนุมัติให้จ่ายค่าปรับดังกล่าว เนื่องจากมีข้อสงสัยว่าการออก FRCD และการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงในลักษณะที่ ธพว. มีข้อเสียเปรียบมากเช่นนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องปกติ โดยน่าจะมีการกระทำทุจริต และหากพบว่ามีการกระทำทุจริตจะได้นำไปใช้เป็นเหตุผลในการแจ้งการเป็นโมฆะของสัญญา และไม่จ่ายค่าปรับให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)
- คณะกรรมการธนาคารจึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมีนายสมชัย สัจจพงษ์ (ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในขณะนั้น ปัจจุบันคือปลัดกระทรวงการคลัง) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารของ ธพว.เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งการสอบสวนครั้งนั้นกระทำอย่างเร่งรีบเพื่อนำผลการสอบสวนไปใช้เป็นข้อต่อสู้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) โดยผลการสอบสวนสรุปว่า กระบวนการคัดเลือก Underwriter มีการกระทำที่ผิดปกติหลายกรณี ส่วนการเพิ่มข้อกำหนดพิเศษเข้าไปในสัญญาป้องกันความเสี่ยง เป็นการกระทำที่นอกเหนือจากมติที่ประชุมของคณะกรรมการธนาคาร และมีการปกปิดข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการธนาคาร โดยพบผู้กระทำทุจริตที่มีความผิดวินัยร้ายแรงในขณะนั้นเพียง 4 คน (ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีเป็นจำนวนมาก) จึงได้นำเอาผลการสอบสวนไปใช้เป็นเหตุผลในการแจ้งการเป็นโมฆะของสัญญาแต่งตั้ง Underwriter กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และการเป็นโมฆะของสัญญาป้องกันความเสี่ยง กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) โดยยืนยันไม่ชำระเงินค่าปรับให้กับ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)
- ขณะเดียวกันคณะกรรมการธนาคาร ได้มีคำสั่งไล่ออกรองกรรมการผู้จัดการที่ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่การเงิน (Chief Financial Officer หรือ CFO) และผู้บริหารในสายงานบริหารเงินและความเสี่ยงของ ธพว. รวม 4 คน คือ 1) นายจงเจตน์ บุญเกิด รองกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่การเงิน 2) นางจิรพร สุเมธีประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้รับผิดชอบสายงานบริหารเงินและความเสี่ยง 3) นายอวิลาส ชุณหกสิการ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงิน และ 4) นายอาทิตย์ ดั่นธนสาร ผู้จัดการส่วนบริหารเงินและธุรกรรมต่างประเทศ
หลังจากนั้น ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการตามกฎหมาย เมื่อปี 2551 โดยปัจจุบัน คณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.อยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องหมายเลขดำที่ 51422780 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 9 ปีแล้ว โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ที่เกี่ยวข้องและกรรมการในคณะกรรมการการเงินทั้งคณะ (จำนวน 7 คน) ไม่เฉพาะแต่เพียงผู้บริหาร 4 คน ตามการสอบสวนของ ธพว. ณ 10/05/2560 อยู่ในขั้นตอนสรุปสำนวนการไต่สวน ข้อกล่าวหาในคดีนี้คือรายงานเท็จต่อคณะกรรมการ ทำให้คณะกรรมการ สำคัญผิดจนทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (CCS) โดยมุ่งหมายให้ธนาคารสแตนดาร์ดฯได้รับประโยชน์บนความเสียหายของ ธพว.
- ต่อมา ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ธพว. ต่อศาลแพ่ง จำนวน 3 สำนวน ในปี 2551 และ ปี 2552 ศาลแพ่งมีคำสั่งให้รวมสำนวนและมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ยกฟ้องโจทก์ โดยฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ในขั้นตอนการคัดเลือก Underwriter ซึ่งถือเป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ มีความไม่สุจริต และในขั้นตอนการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยง ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องของ ธพว. ปกปิดข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการธนาคาร โดยคณะกรรมการธนาคารไม่รู้ถึงข้อกำหนดพิเศษที่เพิ่มเติมเข้าไปในสัญญาป้องกันความเสี่ยง นิติกรรมจึงเป็นโมฆะ ธพว.ไม่ต้องชำระหนี้ตามฟ้อง ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 จนเป็นที่มาของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กลับคำพิพากษาศาลแพ่ง ให้ ธพว.ต้องชำระหนี้กว่า 6,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคดีค่าโง่ในหน่วยงานของรัฐ
(ตอนหน้าเปิดสำนวนคดีศาลแพ่ง ธพว.)
อ่านประกอบ:
ไขที่มาคดีบัตรเงินฝาก FRCD ธพว.ต้องใช้หนี้ ‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ 6 พันล.
ธพว.แพ้คดีในศาลอุทธรณ์ต้องใช้หนี้แบงก์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด 6 พันล.