พ่ายซ้ำของเพื่อไทย การขออภัยของ"ทักษิณ" และสามแรงกดดันนโยบายดับไฟใต้
ผลการนับคะแนนใหม่จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.ยะลา ตามคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ยังคงได้รับชัยชนะเหนือผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย
การนับคะแนนใหม่ตามคำสั่งของ กกต.ซึ่งจนถึงขณะนี้มีเพียงเขตเดียวจากทั่วประเทศอันสืบเนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 มีขึ้นที่บริเวณใต้ถุนหอประชุมอาคารศรีนิบง ภายในศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 31 ก.ค. ท่ามกลางการเฝ้าสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดของผู้สมัครทั้งสองฝ่าย คือ นายอับดุลการิม เด็งระกีนา จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้คะแนนสูงสุดจากการนับครั้งแรก และ นายซูการ์โน มะทา จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้คะแนนเป็นอันดับ 2 และเป็นผู้ยื่นคำร้องขอนับคะแนนใหม่ เนื่องจากแพ้ไปเพียง 48 คะแนน ขณะที่บัตรเสียของเขตนี้มีมากถึงกว่า 9 พันใบ
เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.ยะลา มีจำนวน 170 หน่วยเลือกตั้ง ครอบคลุมพื้นที่ อ.รามัน อ.กาบัง และ อ.ยะหา (ยกเว้น ต.ปะแต)
ผลการนับคะแนนใหม่อย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่า นายอับดุลการิม เด็งระกีนา จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 28,495 คะแนน นายซูการ์โน มะทา จากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนน 27,965 คะแนน ห่างกัน 530 คะแนน บัตรดี 76,443 ใบ บัตรเสีย 10,043 ใบ ไม่ประสงค์ลงคะแนน 2,786 ใบ จากจำนวนผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 89,272 คน
สรุปก็คือ ผลจากการนับคะแนนใหม่ ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ยังคงได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 1 และช่องห่างจากคะแนนของผู้สมัครพรรคเพื่อไทยมากขึ้นจาก 48 คะแนน เป็น 530 คะแนน ส่งผลให้ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยยังคงไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเลยแม้แต่คนเดียว จากจำนวน ส.ส. 11 คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังคงรักษาตัวเลขเดิมเอาไว้ได้ คือชนะไปทั้งสิ้น 9 เขตจาก 11 เขต
จับตา “ทักษิณ” ขอโทษพี่น้องมุสลิมชายแดนใต้
ประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญก็คือ นโยบายดับไฟใต้ของพรรคเพื่อไทยซึ่งกำลังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นอย่างไร เพราะแม้ช่วงหาเสียงเลือกตั้งจะผลักดันนโยบาย “นครปัตตานี” หรือการรวมพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เข้าเป็น “นคร” แล้วเปิดให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเลือกตั้ง “ผู้ว่าราชการนคร” ได้โดยตรง แต่ผู้สมัครของเพื่อไทยก็ไม่สามารถฝ่าด่านพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งชูธง “ไม่เอานครปัตตานี” เข้าสภาหินอ่อนได้แม้แต่คนเดียว
ประกอบกับปัญหาภาคใต้นั้น พรรคเพื่อไทยในสมัยที่ยังใช้ชื่อพรรคไทยรักไทยในรัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ากำหนดนโยบายผิดพลาดจนทำให้สถานการณ์บานปลายจนเกินควบคุมอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี แม้จนถึงขณะนี้ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจากว่าที่รัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศคนใหม่ ว่าจะดำเนินนโยบายดับไฟใต้อย่างไร แต่กลับมีสัญญาณจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ให้สัมภาษณ์รายการ “ที่นี่ไทยพีบีเอส” ช่วง "ตอบโจทย์" ออกอากาศเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2554 ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทั้งกล่าวคำขอโทษพี่น้องมุสลิมกับความผิดพลาดทางนโยบายในอดีต และยังเสนอแนะถึงแนวทางดับไฟใต้ของรัฐบาลชุดใหม่ด้วย
พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวเอาไว้ว่า การทำงานแก้ไขปัญหาภาคใต้ในช่วงแรก ยึดหลักเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ระหว่างที่ทำงานนั้น เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายทหาร ทำให้เขารู้สึกโกรธ จึงพูดและสั่งการทางนโยบายที่กลายเป็นความผิดพลาด โดยเฉพาะที่บอกว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุเป็น “โจรกระจอก”
“พลาด...ตอนเกิดเหตุการณ์ปล้นปืน ผมโกรธมาก ค่ายทหารทั้งค่ายปล่อยให้คนมาปล้นเอาปืนไป 300-400 กระบอก บางทีผมไวไป รับรายงานไม่ทันอะไรก็ใส่ก่อนเลย ผมเคยทำธุรกิจมา ธุรกิจใช้เกมบลัฟ บางทีผมพูดเพื่อบลัฟ ไม่ได้พูดเพื่อจะเอาจริง แต่มันเป็นบลัฟที่ผิด ทางการเมืองมันผิด จริงๆ ก็ต้องขออภัย”
พ.ต.ท.ทักษิณ ยังยอมรับด้วยว่าวิธีการปราบปรามด้วยความรุนแรง เป็นการดำเนินนโยบายที่ผิด และรัฐบาลชุดใหม่ต้องแก้ไข โดยใช้ “ไม้อ่อน” มากกว่า “ไม้แข็ง”
“ช่วงนั้นปืน 300-400 กระบอกหายไป และก่อนหน้านั้นก็มีการไปเอาปืนที่เขื่อนบางลาง ผมก็รู้สึกว่าอาวุธหนักหายไปเรื่อยๆ มันน่ากลัว ผมก็เลยเริ่มกระบวนการใช้กฎหมายที่เข้มขึ้น เพราะเป็นห่วงผู้บริสุทธิ์จะถูกฆ่า ปรากฏว่ายิ่งปราบยิ่งเพิ่ม อันนี้คือจุดที่ผิด ต้องแก้ไข ฉะนั้นการปราบ การใช้ความรุนแรง จะมีแต่ความรุนแรงมากขึ้น”
“หลังจากนั้นผมได้ไปอ่านหนังสือของท่านคานธี,,,ถ้าเราใช้ความรุนแรง เราก็จะได้รับความรุนแรงตอบ ถ้าเราใช้สิ่งที่นุ่มนวล เราก็จะได้สิ่งที่นุ่มนวลตอบ ฉะนั้นสรุปแล้วว่าให้ใช้การปราบปรามให้น้อยๆ แล้วใช้การพูดคุยให้มากๆ เป็นทัศนคติของประชาธิปไตยมากขึ้น ที่ผ่านมาเป็นความผิดพลาด ฉะนั้นรัฐบาลใหม่ควรใช้ไม้อ่อนมากกว่าไม้แข็ง แน่นอนการบังคับใช้กฎหมายในแง่ของการกระทำความผิดก็ว่ากันไป แต่ขณะเดียวกันต้องใช้ไม้อ่อนกับสิ่งที่ยังไม่เกิดให้มากๆ อย่าไปใช้ไม้แข็งมากเกินไป นั่นคือการพูดคุย การสื่อสารความเข้าใจ และกลับไปพัฒนาให้เขา” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว และว่าต้องทำความเข้าใจกับมาเลเซียในฐานะผู้ใกล้ชิดกับปัญหา ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่เป็นหัวใจของการดับไฟใต้
ผู้ดำเนินรายการถามว่า จากเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี (2549-2550) เคยขอโทษพี่น้องมุสลิมแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ จะขอโทษบ้างหรือไม่ ประเด็นนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบว่า “ผมอยากบอกพี่น้องมุสลิมว่า ผมตั้งใจดีกับพี่น้องมุสลิมภาคใต้ และผมเป็นคนที่ทำเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับศาสนาอิสลามมาโดยตลอด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้นเป็นเพราะเห็นความรุนแรงเกิดขึ้น เห็นการใช้อาวุธที่รุนแรง ผมก็เลยไปใช้ความรุนแรงตอบ อันนี้ก็ต้องขออภัย แต่ไม่ได้ทำเพราะความไม่ชอบ...ไม่ใช่ แต่เป็นนิสัยตำรวจ จะบังคับใช้กฎหมาย ใช้รุนแรงมาก็ต้องรุนแรงไป อันนี้ผิด คือมีความเป็นตำรวจมากไปหน่อย”
เขายังย้ำในตอนท้ายว่า คำพูดของเขาถือเป็นการขอโทษอย่างเป็นทางการต่อพี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทางสามแพร่งนโยบายดับไฟใต้
ท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ สะท้อนชัดว่าอดีตนายกฯผู้นี้รู้ดีว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ “จุดเปราะบาง” ของรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทยและน้องสาวของเขา ซึ่งผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ก็ชี้ให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่ยังไม่ยอมรับพรรคเพื่อไทยมากพอ
แน่นอนว่าการยอมเอ่ยคำว่า “ขอโทษ” ทำให้บรรยากาศความขุ่นข้องหมองใจของประชาชนในพื้นที่คลายลงไประดับหนึ่ง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความพี่น้องมุสลิมจะมีความหวังมากขึ้นกับรัฐบาลชุดใหม่ เพราะจนถึงขณะนี้ผ่านการเลือกตั้งมาเกือบ 1 เดือนแล้ว ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ในแง่นโยบายดับไฟใต้จากพรรคเพื่อไทย หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แม้แต่การประกาศนโยบายเร่งด่วน 3-5 ข้อที่จะเร่งผลักดันก็ไม่มีข้อใดระบุถึงปัญหาภาคใต้
ฉะนั้นหากจะสรุปว่าพรรคเพื่อไทยมีความกดดันไม่น้อยต่อประเด็นชายแดนใต้ก็คงไม่ผิดนัก...
ที่สำคัญสถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้ นอกจากความรุนแรงรายวันซึ่งยังดำรงอยู่ และกลายเป็นแรงกดดันหนึ่งของการกำหนดนโยบายแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวอีกอย่างน้อย 3 ด้านที่ถาโถมสู่ว่าที่รัฐบาลชุดใหม่เช่นกัน
หนึ่ง คือ ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้านที่จะคอยคัดค้านนโยบาย “นครปัตตานี” ของพรรคเพื่อไทย โดยอ้างผลการเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกดดันให้ใช้กลไกที่พรรคประชาธิปัตย์ทำไว้ต่อไป นั่นก็คือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
สอง คือ การเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ ซึ่งมี “เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นหัวหอก โดยพวกเขากำลังรณรงค์อย่างหนักให้มีการกระจายอำนาจ และให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีโอกาสเลือกตั้งผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ของตนเอง ภายใต้โมเดลที่ชื่อว่า “ปัตตานีมหานคร” โดยเครือข่ายฯจะยกร่างกฎหมายและเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
หลักการกระจายอำนาจเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้ในการหาเสียงที่ชายแดนใต้การตลอด ฉะนั้นการจะ “พลิ้ว” หรือไม่รับข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาชนฯ แบบ 100% จึงเป็นเรื่องยาก
สาม คือ ข้อเสนอดับไฟใต้ของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งจัดทำโดยนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 2 (4 ส.รุ่น 2) และจะมีการจัดสัมมนาใหญ่เพื่อส่งข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในเดือน ต.ค.นี้ โดยโมเดลของ 4 ส.รุ่น 2 เรียกว่า “สันติธานี” ซึ่งหมายถึงการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการด้านต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งการปกครอง การศึกษา ภาษา การสาธารณสุข และอื่นๆ ให้สอดคล้องกับหลักการทางศาสนาอิสลาม ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และอัตลักษณ์ของพี่น้องประชาชน เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นมุสลิม แต่ก็ไม่ละเลยที่จะรับฟังและดูแลเสียงส่วนน้อย เช่น พี่น้องประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ เป็นต้น
ร่างข้อเสนอของ 4 ส.รุ่น 2 นับเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ไม่อาจมองข้าม และจะสร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาลชุดใหม่ได้ไม่น้อยเหมือนกัน เนื่องจากเป็นโมเดลที่ได้รับการสนับสนุนจาก "สถาบันพระปกเกล้า" ซึ่งมักมีผลต่อการตัดสินใจของฝ่ายบริหารในหลายๆ เรื่อง อีกทั้งสันติธานียังมีเนื้อหาบางส่วนสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ด้วย
หลังจากเปิดสภาและเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้ คงต้องจับตาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในคณะรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดับไฟใต้ และทิศทางของนโยบายใหม่ภายใต้แรงกดดันของสถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 7 ปีเข้าไปแล้ว!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-4 บรรยากาศการนับคะแนนใหม่จากการเลือกตั้ง ส.ส.ยะลา เขต 2 ซึ่งมีการระดมกำลังทหาร ตำรวจ เข้ารักษาความปลอดภัย และมีผู้สมัครตลอดจนผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายร่วมสังเกตการณ์ โดยฝั่งประชาธิปัตย์มี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางมาด้วย
4 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะโชว์นกกระดาษ สัญลักษณ์สันติภาพที่ชายแดนใต้ ซึ่งมีการรณรงค์กันช่วงเขาเป็นรัฐบาล