จากกรณีเรือมายาเกซ สู่การใช้ศิลปะค้านโครงการริมน้ำเจ้าพระยา
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่รัฐบาลเตรียมก่อสร้าง เพื่อหวังเป็นทางจักรยานและคนเดินสองฝั่งริมน้ำ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง
แต่เมื่อเปิดตัวโครงการ หลายฝ่ายเริ่มไม่เห็นด้วยกับรูปแบบของโครงสร้างที่ทาง กรุงเทพมหานคร และรัฐบาลชุดนี้จัดทำ เพราะเห็นว่า การก่อสร้างทางจักรยานและทางเดินนั้นตามแบบแผนที่จัดทำมานั้น จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และระบบนิเวศริมน้ำ หลายฝ่าย หลายองค์กรจึงรวมกลุ่มกันทั้งจัดสัมมนา จัดนิทรรศการ เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยหวังว่าจะให้รัฐบาลทบทวน และศึกษาผลกระทบให้มากขึ้น
สถาบันการศึกษา ที่เป็นพลังทางปัญญาให้กับสังคม อย่างมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานเปิดบ้านศิลปากร หนึ่งในกิจกรรม ไฮไลท์ คือการติดตั้งรูปกราฟฟิตี้บริเวณกำแพงวังท่าพระ ความยาวกว่า 20 เมตร เพื่อแสดงถึงการไม่เห็นกับโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีม.ศิลปากร และอาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณบดีจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มาร่วมติดตั้งภาพกราฟฟีตี้ครั้งนี้ด้วย
"ในฐานะเป็นคนใช้ชีวิตริมแม่น้ำ เวลาจะสอนเด็กก็พากันไปเรียนริมน้ำ แล้วจู่ๆ โครงการจะมาสร้างโดยที่ไม่ได้สอดคล้องต่อวิถีชีวิตของชุมชน เราต้องมาทบทวนกันหน่อยไหมว่า จะทำอย่างไรไม่ให้ทำลายชีวิตริมน้ำ" อ.อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มต้นพูดคุยระหว่างรอขนย้ายภาพออกไปติดตั้งบริเวณหน้ามหาวิทยาลัย
คณบดีจิตรกรรม เล่าว่า โดยส่วนตัวไม่ได้คัดค้านโครงการ เพียงแต่อยากให้ปรับปรุงรูปแบบของโครงสร้าง คือไม่เข้าใจว่าทำไมต้องยกสูงขนาดนั้น เราจะสามารถปรับให้อยู่กับชุมชน ผสานเข้ากับวิถีริมน้ำจะดีกว่าไหม
"ส่วนในตัวงานกราฟฟิตี้นั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากท่านอธิการบดี ซึ่งตัวท่านเองก็จบจากคณะสถาปัตย์ ท่านเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับรูปแบบของโครงการ และในมุมของคนทำงานศิลปะ เราก็อยากใช้ศิลปะมาขับเคลื่อนสังคมบ้าง ซึ่งเกิดเป็นงานกราฟฟิตี้ในครั้งนี้"
อ.อำมฤทธิ์ ยังแสดงความคาดหวังว่า การออกมาแสดงสัญลักษณ์ในลักษณะนี้ อาจจะไม่ได้ผลมาก เพราะการให้ข้อมูลจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยใน 2 สัปดาห์ต่อไปนักศึกษาจะล่องเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาในระยะทาง14 กิโลเมตรที่จะมีการสร้างถนนขึ้น เพื่อถ่ายภาพ และใช้ศิลปะแขนงอื่นๆ ร่วม และนำมาจัดเป็นนิทรรศการการอีกครั้ง
สำหรับกระบวนการในการทำงานศิลปะครั้งนี้ เรามีหน้าที่เพียงให้คอนเซ็ปต์ไปกับเด็กๆ และให้อิสระพวกเขาไปตีโจทย์กันเองว่า จะสื่อออกมาอย่างไร ตอนนี้ผมเองก็ยังไม่เห็นภาพเลย ก็รอดูพร้อมๆ กันว่าจะออกมาอย่างไร" อ.อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ กล่าวอย่างตื่นเต้น
ด้าน ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดี ม.ศิลปากร ซึ่งเดินออกมาในลุคสบายๆ พร้อมขบวนนักศึกษากลุ่มหนึ่ง เพื่อติดตั้งงานกราฟฟิตี้ดังกล่าว เล่าให้เราฟังว่า จริงๆ เเล้วการแสดงออก อย่างการนำเอาภาพมาติดบริเวณกำแพงนั้น มีมานานแล้ว ครั้งล่าสุดก็สมัยต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
"การแสดงออกในลักษณะนี้ จริงๆ ก็มีที่มาที่ไป จากเรื่องวิกฤต เรือมายาเกซ ซึ่งเกิดสมัยม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช สมัยนั้นรัฐบาลไทยได้เปลี่ยนแปลงนโยบายด้านความสัมพันธ์ที่มีต่อสหรัฐ โดยเรียกร้องให้สหรัฐถอนฐานทัพจากประเทศไทย ประกอบกับเวลานั้นได้เกิดกรณี วิกฤตเรือสินค้าชื่อมายาเกซ ของสหรัฐโดนเขมรแดงยึดไปพร้อมตัวประกัน ซึ่งเป็นพลเมืองอเมริกันจำนวนนึง ทางสหรัฐซึ่งอยากแสดงแสนยานุภาพให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ ก็ตัดสินใจเปิดสงครามเพื่อเข้าไปนำเรือ กลับคืน โดยส่งนาวิกโยธินเดินทางผ่านประเทศไทยไปนำเรือมายาเกซที่เขมรแดงยึดไว้กลับคืนมา
การใช้ดินแดนไทยเพื่อปฏิบัติการทางทหารครั้งนั้น เกิดขึ้นโดยขัดขืนเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทย ซึ่งมิได้รับรู้ปฏิบัติการครั้งนี้เลย เหตุการณ์นี้ได้สร้างความสะเทือนเป็นวงกว้าง กลุ่มการเมืองต่างๆ ได้แสดงปฏิกิริยาประท้วงและประณามสหรัฐอย่างรวดเร็ว ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้จัดการชุมนุมประท้วงสหรัฐที่ท้องสนามหลวง และมีนักศึกษาศิลปากรกลุ่มหนึ่งวาดภาพแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านจัดแสดงที่กำแพงวังท่าพระ ซึ่งนั้นก็เป็นที่มาที่ไป ของการแสดงออกโดยการวาดรูปริมกำแพง”
สำหรับภาพกราฟฟิตี้ความยาว 20 เมตรนี้ ติดแสดงจนถึงเดือนมกราคมปีหน้า หรือไม่ก็จนกว่าจะมีใครมาสั่งให้เอาออก ผศ.ชัยชาญ กล่าวอย่างอารมณ์ดี
บ่ายแก่ๆ นักศึกษาต่างทยอยขนภาพออกมาจนครบ ภาพแต่ละชิ้นที่ดูไม่ปะติดปะต่อ ค่อยๆ ถูกวางต่อกันริมกำแพงอย่างใจเย็น ชิ้นแล้วชิ้นเล่าจนเต็มพื้นที่กำแพงวังท่าพระ ความยาวกว่า 20 เมตร ดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวและผู้ใช้ทางเท้าที่เดินสัญจรผ่านไปมาแถวนั้นให้ต้องหยุดดู
"เจ้าพระยา ยศล้มแล้ว ลงฤา" นายอาทิตย์ สังข์ตะคุ นักศึกษาคณะจิตรกรรม ปะติมากรรมและภาพพิมพ์ เจ้าของไอเดีย กล่าวกับทางอิศราว่า ไอเดียนี้เริ่มมาจากการ ประโยคหนึ่งของ อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ซึ่งหลังจากได้รับโปรเจ็คมา ตนก็รวมกลุ่มกันเพื่อนๆ ระดมไอเดียกันว่าจะถ่ายทอดออกมากอย่างไร เพื่อสะท้อนให้ได้มากที่สุดและทันกับเวลาที่มีจำกัด ทางทีมเลยตัดสินใจกันว่าจะทำเป็นภาพพาโนรามา เป็นภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ถูกบดบังจากโครงการดังกล่าว บวกรวมกับประโยคของอาจารย์ที่ว่า "เจ้าพระยา ยศล้มแล้ว ลงฤา”เข้าไป
เมื่อลองถามความเห็นในฐานะวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ อาทิตย์กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้ว ตนก็ไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาดังกล่าว มองว่าการเข้ามาของโครงการตามรูปแบบก่อสร้างที่เราเห้นกันอยู่นั้น ทำให้บดบังทัศนียภาพของเมือง ของชุมชนริมสองฝั่งแม่น้ำ ไหนจะโบราณสถานอื่นๆ อีก ตนก็คิดว่ายังไม่เห็นประโยชน์จากตัวโครงการเท่าที่ควร คือเทียบความคุ้มได้คุ้มเสีย ดูเเล้วมีแต่เสียมากกว่า