ผู้เชี่ยวชาญด้านกม.สิ่งแวดล้อม ยันชัดโครงการริมน้ำเจ้าพระยาขัดต่อกม.แพ่งและพาณิชย์ ม.1304
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนชี้ผังเมืองรวมกทม.ไม่ได้บรรจุโครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยา หากจะเดินหน้าโครงการต้องแก้ผังเมืองและรับฟังเสียงประชาชนก่อน ด้านนักผังเมืองย้ำรูปแบบโครงการต้องมีทางเลือกอย่างน้อย2-3 แบบ
วันที่19 พฤศจิกายน 2558 สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม แถลงข่าวถึงกรณีการยื่นจดหมายต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ทบทวนโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ หอประชุม สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์
ทั้งนี้จดหมายเรื่องขอให้ทบทวนโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 เนื่องจากเห็นว่า โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานของรัฐบาลที่เร่งรีบ มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการไม่มากพอ ท้ายที่สุดมีเพียงหนังสือตอบรับกลับมาว่า ทราบเรื่องแล้วในวันที่ 27 ตุลาคม 2558 และยังไม่มีวี่แววว่าจะทบทวนโครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยาแต่อย่างใด
นายพงษ์สวัสดิ์ อักษรสวาสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน กล่าวถึงโครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้มีการพัฒนา ซึ่งอาจจะต้องทบทวนโครงการ เนื่องจากอาจขัดต่อกฎมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 บัญญัติว่า ทางน้ำ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือสงวนไว้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
"พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มิได้บัญญัติให้กรุงเทพฯมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินโครงการใดที่ล่วงล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงการดำเนินโครงการดังกล่าวในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย นอกจากนี้การใช้อำนาจของกรุงเทพฯ จะต้องไม่ขัดกับการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานอื่น ๆ ที่ดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง"
นายพงศ์สวัสดิ์ กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพฯ ต้องไม่ขัดกับกรมเจ้าท่า ที่มีหน้าที่ดูแลกำกับชายตลิ่งและทางน้ำของแม่น้ำ ตามพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 รวมไปถึงกรมศิลปากร ที่มีหน้าที่ดูแลกำกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งโครงการริมน้ำเจ้าพระยาจะส่งผลกระทบต่อโบราณสถานหลายแห่งที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ตามพ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน กล่าวอีกว่า ประกาศกฎกระทรวงผังเมืองรวมกรุงเทพฯ พ.ศ.2556 ที่มีผลบังคับใช้ไม่ได้มีการบรรจุโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษากฎหมาย กรุงเทพฯจำเป็นต้องขอแก้ไขผังเมืองรวมไปตามกระบวนการกลไกทางผังเมืองจนผ่านการยอมรับจากประชาชนก่อน
“การที่มติของคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณให้แก่กทม.เพื่อดำเนินโครงการ แต่ไม่ได้ปรากฎว่าครม.มอบหมายให้กทม.ดำเนินโครงการแทน อีกทั้งมติครม.ไม่มีฐานทางกฎหมาย ดังนั้นกทม.ในฐานะผู้รับผิดชอบ หากได้ทำการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถี่ถ้วน และสำรวจโครงการจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี กทม.ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ทำตามมติครม.ได้
ด้านรศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง กล่าวว่า โครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยาอาจจะส่งผลกรทบต่ออัตราการไหลของน้ำ ทิศทางการไหลของน้ำ ดังนั้นจะต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ นอกจากนี้คณะทำงานที่ศึกษาออกแบบสำรวจโครงการควรประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญเรื่องผังเมือง ภูมิสถาปัตยกรรมของเมือง ด้านอุทกศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวัฒนธรรม ทั้งนี้จะต้องเสนอทางเลือกให้กับประชาชนอย่างน้อย 2-3 แบบ และควรนำเสนอเป็นผลงานทางวิชาการ ซึ่งการอนุรักษ์สงวนพื้นที่โครงการไม่ควรมีเพียงรูปแบบเดียวเท่านั้น เพราะพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณะ มีเรื่องราวตลอดทั้งริมฝั่งของแม่น้ำ
“รูปแบบของโครงการขณะนี้เป็นรูปแบบที่ถูกล๊อคการประเมินผังเมืองทั้งด้านความเป็นส่วนตัวและความเป็นชุมชน ดังนั้นจะต้องมีการปรับแก้ผังเมืองและจำเป็นที่จะต้องทำแผนอนุรักษ์ในการพัฒนาซึ่งไม่ใช่โครงการแบบนี้”
อย่างไรก็ตามเราขอยืนยันว่าไม่มีเจตนาคัดค้านโครงการหรือหยุดยั้งการพัฒนา แต่ขอชี้ประเด็นสำคัญที่รัฐบาลควรใช้เวลาพิจารณาให้รอบด้านและถี่ถ้วน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม่ท้อ! สภาสถาปนิกเสนออีกรอบ แก้ข้อกำหนดทีโออาร์ริมน้ำเจ้าพระยา
ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล:พัฒนาริมเจ้าพระยาต้องรอบคอบ ไม่ทำเสน่ห์กรุงเทพฯ หาย
น่าสงสัยที่สุด “ฮิวโก้” ถามทำไมต้องเร่งทำโครงการพัฒนา 2 ฝั่งเจ้าพระยา
ฟังเสียงคนริมน้ำ ก่อนหันหลังให้แม่น้ำ ผลกระทบจากโครงการพัฒนา