logo isranews

facebook twitter youtube rss

logo small 2

เอ็นจีโอระดมพล 1 แสน รณรงค์เลือกนักการเมืองแก้ปมเหลื่อมล้ำสุขภาพ

เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 11 พฤษภาคม 2554 เวลา 20:05 น.
เขียนโดย
โต๊ะข่าวเพื่อชุมขน
หมวดหมู่

เครือข่ายประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ 9 ด้าน ผู้ใช้แรงงาน เด็ก สตรี คนพิการ เกษตรกร ชนกลุ่มน้อย ชุมชนแออัด ผู้ติดเชื้อเอชไอวี-ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ แถลงจุดยืนนโยบายสาธารณะหลักประกันสุขภาพ ระบุสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เรียกร้องรัฐบาล-นักการเมืองจริงใจลดเหลื่อมล้ำ

น.ส.สุรรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เปิดเผยว่าแม้รัฐบาลอภิสิทธิ เวชชาชีวะ จะพยายามผลักดันนโยบายรัฐสวัสดิการ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือไม่ได้มีความจริงใจ และไม่ได้ดำเนินการใดๆให้เห็นเป็นรูปธรรมจริง ทางเครือข่ายซึ่งมีแนวร่วมประมาณ 1 แสนคน จึงจะรณรงค์และจัดเวทีระดมความคิดเห็นทั่วประเทศให้ประชาชนเลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองที่แสดงความจริงใจด้านระบบประกันสุขภาพเท่านั้น หากพรรคการเมืองใดไม่มีนโยบายด้านนี้ก็จะไม่เลือก

น.ส.สุรรัตน์ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) เป็นระบบที่ดีที่สุด เนื่องจากทำให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาล ดังนั้นการให้ข่าวว่าภาคประชาชนหรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะเข้ามายึดเงินในกองทุนจึงเป็นการให้ข้อมูลผิดต่อสังคม ยืนยันว่าสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ควรทำงานด้านประกันทางสังคม อาทิ บำนาญชราภาพ ประกันการว่างงาน มากกว่านำเงินในกองทุนไปใช้เรื่องการรักษาพยาบาล

เราจะกลับไปคุยกับพี่น้องว่าพรรคการเมืองใดจริงใจกับบัตรทองก็จะเลือก แต่ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยจริงใจกับบัตรทองเลยน.ส.สุรรัตน์ กล่าว

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่าผิดหวังกับนักการเมืองและรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น จึงหวังว่าประชาชนจะเลือกผู้แทนที่มีความจริงใจและรัฐบาลชุดใหม่จะให้ความสำคัญกับปัญหามากกว่าชุดเดิม ทั้งนี้ยืนยันว่าต้องการเพียงระบบการรักษาที่เท่าเทียม เนื่องจากเป็นคนไทยเหมือนกัน

นายอนันต์ เมืองมูลไชย รองประธานมูลนิธิเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรฐานการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีระหว่างบัตรทองกับประกันสังคมแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะเรื่องของขั้นตอนการรักษา มาตรฐานการรักษา ชนิดยา ซึ่งระบบประกันสังคมจะด้อยกว่า ยืนยันว่าเครือข่ายไม่ได้ต้องการให้นำเงินของ สปส.ไปให้สปสช. แต่ต้องการให้ สปส.รักษามาตรฐานเดียวกับสปสช.เท่านั้น

นายอนันต์ กล่าวว่าระบบประกันสังคมทำให้ผู้ติดเชื้อประสบกับภาวะดื้อยาจำนวนมาก เนื่องจากจ่ายยาโดยไม่กำกับวิธีการใช้ อาทิ ยาต้านไวรัสจะต้องรับประธานตรงเวลาในทุกๆวัน ในทุกๆ12 ชั่วโมง แต่ระบบประกันสังคมมักบอกเพียงรับประทานหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง ทำให้ผู้ป่วยใช้ยาไม่ถูกต้อง

ผู้ติดเชื้อเอชไอวีดื้อยากันหมด ใช้ยาระดับความเข้มข้นสูงสุดแล้ว ถ้าดื้อยาตัวนี้อีกก็คงไม่ยาใดรักษาแล้ว พ.ร.บ.ประกันสังคมที่รักษาไม่เท่าเทียมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงควรถูกยกเลิกไปนายอนันต์กล่าว .