logo isranews

logo small 2

งานวิจัยเผย Hate Speech โลกออนไลน์ เน้นยั่วให้ชัง-ปมการเมืองมากสุด

เขียนวันที่
วันศุกร์ ที่ 26 กรกฎาคม 2556 เวลา 14:00 น.
เขียนโดย
isranews
หมวดหมู่

อ.จุฬาฯ เปิดงานวิจัย เผย Hate Speech บนโลกออนไลน์ เน้นยั่วให้ชัง-ปมการเมืองมากสุด

(ภาพประกอบจากเว็บไซต์ www.privacyassociation.org)

เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2556 ที่โรงแรมมณเฑียร ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานรายงานผลแผนงานวิจัย เรื่อง “การกำกับดูแลสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง”

ผศ.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอผลการวิจัย “การกำกับดูแลสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง” มีใจความว่า ในแต่ละสังคมจะมี “พืนที่สงวนไว้” ซึ่งเป็นข้อยกเว้นสำหรับเสรีภาพในการแสดงออก หรือ free speech เช่นของไทยจะมีเรื่องสถาบันกษัตริย์ หรือของต่างประเทศเร็วๆ นี้ ก็มีอาทิ เรื่องฮิตเลอร์ และยิว-นาซี สังคมไทยช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง มีการแบ่งขั้วอุดมการณ์ มีสงครามเสื้อสี สื่อออนไลน์ถูกนำมาใช้ในการต่อสู้กัน เพราะสื่อกระแสหลักเป็นของรัฐ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ขาดไปสำหรับไทยคือนิยามของคำว่า hate speech ที่ชัดเจน ซึ่งในต่างประเทศ จะไม่ได้หมายความแค่คำพูดอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการแสดงออกทุกรูปแบบ คำว่า hate speech ไม่ได้มีทุกที่ อย่างในสหรัฐอเมริกา คำที่มีความหมายใกล้เคียวกันคือ fighting speech

ผศ.พิรงรอง กล่าวว่า ทั้งนี้ โมเดลการกำกับดูแลสื่อในต่างประเทศจะมี 3 โมเดลหลัก คือกำกับดูแลโดยกฎหมาย กำกับดูแลกันเอง และกำกับดูแลร่วมกัน อย่างไรก็ตาม เวลานี้สื่อออนไลน์ก้าวจากยุค 1.0 ที่แต่ดูได้อย่างเดียว มาสู่ยุค 2.0 คำว่าเว็บมาสเตอร์เริ่มเก่าแล้ว เพราะเนื้อหาในยุค 2.0 จะถูกดูแลโดยผู้ใช้

“การกำกับดูแลสื่อออนไลน์ ยุค 2.0 จึงแยกย่อยได้เป็น ทั้ง 1.การกำกับดูแลแบบกำกับทีหลัง คือต้องมีการร้องเรียนก่อน ผู้ดูแลเว็บถึงจะตรวจสอบได้ เช่นเว็บ Youtube ที่จะเอาบางคลิปออกหลังมีหลักฐานชัดเจนว่าผิดกฎหมายจริงๆ 2.การกำกับดูแลแบบตอบสนองจริงๆ คือผู้ดูแลเว็บไซต์ตอบสนองทันทีหลังมีการร้องเรียน 3.การกำกับดูแลโดยผู้ใช้ที่เป็นมวลชน ผู้ใช้เฝ้าระวังกันเอง เช่น Facebook ที่ให้รีพอร์ตมาได้หากมีเนื้อหาที่อาจผิดกฎหมายหรือผิดกฎหมาย 4.การกำกับดูแลที่อยู่บนฐานของกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ และ 5.การกำกับดูแลผ่านการกำหนดภาระรับผิดชอบตัวกลางทางเนื้อหาออนไลน์” ผศ.พิรงรองกล่าว

ผศ.พิรงรอง กล่าวว่า เท่าที่ศึกษา hate speech ในพื้นที่ออนไลน์ของไทย 3 รูปแบบ ได้แก่กระดานสนทนาออนไลน์ ในเว็บ pantip.com และเว็บ mthai.com เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Facebook และเว็บไซต์แบ่งปันคลิปวีดิโอ อย่างเว็บ Youtube เรื่องการใช้ hate speech ในความรุนแรง 4 ระดับ ตั้งแต่ไม่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน สร้างความเข้าใจผิด ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง และกำจัดกลุ่มเป้าหมาย พบว่า กลุ่มเป้าหมายหรือฐานความเกลียดชังของการใช้ hate speech มากที่สุด คือเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง (53.0% ของการใช้ hate speech ในเว็บบอร์ด, 37.6% ของการใช้ในเฟซบุ๊ก และ 75.8% ของการใช้ในยูทูป) ส่วนระดับความรุนแรง ส่วนใหญ่จะเป็นการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมาย ทั้ง กล่าวหา กล่าวโทษรุนแรง ประณาม แฉ ว่าร้าย พูดจาดูหมิ่น เหยียดหยาม สบประมาท ทำให้ขบขัน ลดคุณค่า ทำให้ด้อยค่าในสายตาผู้อื่น เยาะเย้ยอย่างรุนแรง สมน้ำหน้า ทับถม ไปจนถึงเปรียบเทียบในลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นไม่ใช่คน

หลังจากนั้นเป็นช่วงที่ผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลงานวิจัย โดยนายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จุดเด่นงานวิจัย ผศ.พิรงรอง คือให้นิยาม hate speech ไม่ได้หมายถึงถ้อยคำอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการสื่อสาร แต่สิ่งที่หายไปคือการมองในมิติทางกฎหมายด้วย เพราะต้องโยงถึงคำตัดสินคดีต่างๆ เช่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใครๆ ก็ด่าได้ เพราะศาลได้สร้างบรรทัดฐานเรื่องบุคคลสาธารณะ และหลายคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณฟ้องก็ถูกยกโดยศาลให้เหตุผลว่าเพราะเป็นการติชมโดยสุจริต

“ส่วนตัวว่า hate speech ต่างกับการหมิ่นประมาทบุคคล เพราะ hate speech มันเกี่ยวกับอคติ เช่น ด่าว่าโง่เพราะเป็นควายแดง จริงๆ สะท้อนถึงเรื่องการแบ่งแยกชนชั้นด้วยหรือไม่ อาทิ เพราะเป็นคนต่างจังหวัด เลยเป็นควาย แต่บังเอิญใส่เสื้อแดง ก็เลยเป็นควายแดง” นายพิชญ์กล่าว.