logo isranews

logo small 2

อธิบดีราชทัณฑ์คนใหม่ยันจัดซื้ออาหารทำตามขั้นตอน-ถ้าเขียนข่าวไม่ดีห้ามเข้า

เขียนวันที่
วันศุกร์ ที่ 11 กรกฎาคม 2557 เวลา 09:30 น.
เขียนโดย
รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล

"วิทยา สุริยะวงศ์"อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปัดตรวจสอบปมจัดซื้อ อาหารดิบผู้ต้องขัง ยืนยันทำตามขั้นตอนกรณีวิธีพิเศษ โต้ ไม่มีผูกขาด ชี้ทำสัญญากับ อ.ต.ก.แค่ 90 ครั้ง ไม่ใช่ 700 กว่าครั้ง รอดูเขียนข่าวดีไหม ไม่ดีก็ห้ามเข้า

1avit

 

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่าเดินทางไปที่กรมราชทัณฑ์ เพื่อสอบถามนายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ถึงกรณีการจัดซื้อจัดจ้างอาหารดิบผู้ต้องขัง หลังจากที่ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่กรมราชทัณฑ์แล้วไม่พบนายวิทยาโดยเจ้าหน้าที่หน้าห้องแจ้งว่าไปประชุมงานข้างนอก

(อ่านประกอบ : ตีแผ่!ผูกปิ่นโต 15 ปีซื้ออาหาร“ผู้ต้องขัง”เรือนจำทั่ว ปท.8.5 พันล.)

( ผอ.กองคลังราชทัณฑ์ แจงละเอียด มหากาพย์จัดซื้ออาหารดิบ “ผู้ต้องขัง” )

ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวพบกับนายวิทยาและแนะนำตัวว่าต้องการสอบถามกรณีดังกล่าว นายวิทยา ตอบว่าเหตุใดจีงไม่แจ้งมาก่อนว่าจะมาสัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวจึงตอบว่าเคยมาที่กรมราชทัณฑ์และแจ้งความประสงค์ไว้แล้ว และสาเหตุที่มาพบโดยตรงเนื่องจากจุดยืนของสำนักข่าวอิศราคือต้องเดินทางไปพบผู้มีอำนาจหน้าที่หรือมีส่วนรับผิดชอบต่อประเด็นที่สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบในหน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆ โดยตรง และรายงานไปตามข้อเท็จจริงเนื่องจากประเด็นเหล่านี้ล้วนเกี่ยวพันกับประโยชน์ของสาธารณะ และเนื่องจากขณะนี้นายวิทยาเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เมื่อสำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า หน่วยงานรัฐ อาทิ อตก. ผูกขาด การจัดซื้ออาหารดิบผู้ต้องขัง จึงต้องการสอบถามว่านายวิทยาจะแก้ปัญหาหรือตรวจสอบอย่างไรหรือไม่

ในที่สุด นายวิทยาจึงยินยอมให้สัมภาษณ์โดยกล่าวยอมรับว่าเพิ่งมารับงานได้เพียง 3 วันเท่านั้น แต่กรณีการจัดซื้ออาหารดิบเท่าที่ทราบกรมราชทัณฑ์ตั้งมา 100 ปี ลองมาทุกวิธีแล้ว แต่ละวิธีมีข้อดี ข้อเสียต่างกัน

นายวิทยากล่าวว่าการจัดหาอาหารเป็นเรื่องสำคัญของกรมราชทัณฑ์ เพราะต้องให้ผู้ต้องขังได้รับอาหารที่เหมาะสม ซึ่งอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 หน้าที่ของเราต้องจัดหาอาหารดี ไม่ให้ผู้ต้องขังเป็นโรคระบาด ต้องถูกสุขอนามัย ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาโรคระบาด เลี้ยงนักโทษถึง 3 แสนคนแต่ไม่มีโรคระบาดนั่นหมายความว่าดีพอสมควร เพราะไม่เคยมีเรื่องร้องเรียนเรื่องนี้ แต่ก็จะให้ดีเท่าภัตตาคารคงไม่ได้ เพราะค่าอาหารเฉลี่ยแค่ประมาณ 40 กว่าบาทต่อวัน  

นายวิทยากล่าวว่าที่มาของการจัดหาอาหารดิบ เท่าที่ดูคร่าวๆ มีหลายวิธี เพราะการประกวดราคาก็มีข้อเสีย มีความเสี่ยง เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ซื้ออาหารปริมาณมากๆ ในราคาคงที่ เช่น หากซื้ออาหารวันที่ 30 เดือนกันยายน ผู้จัดหาอาหารดิบต้องรับผิดชอบความแปรผันราคราไปอีก 365 วัน

“ผู้ส่งอาหาร เขาต้องรับผิดชอบความแปรผันของราคา ทั้ง 365 วัน ถ้าไก่แพง หมูแพง เขาก็ทิ้งงานไปเลยก็เป็นปัญหาเรือนจำทันที เพราะไม่มีอาหารเลี้ยงคน” นายวิทยาระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่าเคยมีการตรวจสอบหรือไม่ว่าแต่ละจังหวัด  แต่ละเรือนจำ ผูกขาดบริษัทที่จัดส่งอาหารให้หน่วยงานรัฐอีกต่อหนึ่งหรือไม่

นายวิทยากล่าวว่า จะผูกขาดหรือไม่ ไม่จำเป็น ตราบใดที่มาถูกต้องตามขั้นตอน ไม่เสียหาย

“ถ้าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด ทำไมต้องเปลี่ยน แต่นี่เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้น ที่ผ่านมาผมไม่เกี่ยว ไม่รู้เรื่อง ผมยังไม่ได้ดูละเอียด นี่ก็ฟังเขามา”

นายวิทยากล่าวว่า เท่าที่ฟังมา มีคนร้องเรียนเพราะมีคนอยากมาทำตลอดเวลา แต่เมื่อรู้ข้อเท็จจริงว่าเขาจะได้เงินไปเพียง 6 เดือนก่อน และจะไม่ได้เงินไปอีก 5 เดือน เพราะเงินงบประมาณหมด นี่คือความเสี่ยงที่เขาต้องแบกรับ
“ต้องรองบประมาณไปอีก 5 เดือน คุณแอบสอร์บ (Absorb) ไหวไหม นี่คือความเสี่ยงที่เขาต้องแบกรับ นอกจากนี้ เขาต้องรับความเสี่ยงเพราะเรือนจำกำหนดเมนูไว้ เขาต้องทำให้ได้ตามเมนูนั้น แต่เท่าที่ผมฟังมา การทำสัญญากับองค์การรัฐเหล่านี้ ข้อดีคือไม่ทิ้งงาน เพียงแต่ถ้าเขาไปทำสัญญากับใครถ้ารายนั้นทิ้งงาน หน่วยงานก็จะแบล็คลิสต์ไป แล้วหารายใหม่

"คือหน่วยงานรัฐก็มีข้อดี การประกวดราคาทั่วไปก็มีข้อดี แต่มีความเสี่ยงไม่ว่าด้านใดก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงสาเหตุที่เลือกใช้วิธีกรณีพิเศษกับหน่วยงานรัฐในการจัดส่งอาหารดิบ นายวิทยากล่าวว่าเป็นการจัดหาโดยชอบตามระเบียบวิธีของราชการ การใช้วิธีกรณีพิเศษเหมือนอัฐยายซื้อขนมยาย หรือจีทูจี คือซื้อจากหน่วยงานของรัฐซึ่งก็มีหน่วยงานที่ได้รับสิทธิ์ตามมติ ครม. ส่วนหน่วยงานเหล่านี้เขาจะไปทำข้อตกลงกับใครก็เรื่องของเขา เพราะเป้าหมายเราคือซื้ออาหาร

“เรื่องหลังร้านก็เป็นเรื่องของเขา ที่เขาต้องไปดูแล เราก็รอรับของ ตราบใดที่เขานำอาหารมาส่งให้เราได้เราก็แฮบปี้ แต่ถ้าผู้รับช่วงของเขาทิ้งงาน เขาก็ต้องรับผิดชอบนะ กรมราชทัณฑ์เราเพียงรับอาหาร ถ้าผู้รับงานเขาทิ้งช่วง เขาก็ต้องปิดความเสี่ยงให้ได้ เพราะว่าเราจ่ายได้ก่อนเพียง 6 เดือน 5 เดือนที่เหลือคุณรับผิดชอบไปก่อน หรือเมื่อราคาผันผวน คุณก็รับผิดชอบไปก่อน ถ้าหมู ไก่ แพง คุณก็ต้องรับผิดชอบในส่วนเหล่านี้ถ้าเอกชนก็ทำไม่ได้” นายวิทยาระบุ     

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายวิทยาจะตรวจสอบหรือไม่ ว่าหน่วยงานรัฐเช่น อ.ต.ก. จะไปทำข้อตกลงผูกขาดกับเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ นายวิทยากล่าวว่าไม่ต้องตรวจสอบอะไร เพราะเป็นกรณีพิเศษ แล้วแต่ละเรือนจำก็ไปทำกันเอง กรมราชทัณฑ์ไม่ได้ไปทำ ส่วนกลางเพียงมอบอำนาจไป ส่วน อ.ต.ก. จะไปมอบใครก็เป็นหน้าที่ อ.ต.ก. กรมราชทัฑ์เพียงรับอาหารเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการร้องเรียนเรื่องอาหารไม่ได้มาตรฐาน ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ นายวิทยากล่าวว่าเป็นเรื่องของกรมราชทัณฑ์ต้องไปกวดขันที่กรรมการตรวจรับ

ผู้สื่อข่าวถามว่าวิธีกรณีพิเศษที่ทำกับหน่วยงานรัฐเหล่านี้ คือการผูกขาดหรือไม่

นายวิทยากล่าวว่า “มันไม่ใช่ผูกขาด ผูกขาด คือ โมโนโพลี่ ( Monopoly ) โมโนโพลี่ คือชั่วกัปชั่วกัลป์ แต่นี่เป็นสัญญาปีต่อปี หรือการผูกขาดคือได้สัญญาไปเลย 20 ปี สัญญาแบบนี้มีไหม ไม่มี”

ผู้สื่อข่าวกล่าวว่า สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า อ.ต.ก. เป็นผู้จัดหาอาหารดิบให้กรมราชทัณฑ์ถึง 700 กว่าครั้ง
นายวิทยากล่าวว่า ไม่มี เท่าที่ตนทราบมีเพียง 90 กว่าครั้งเท่านั้น

ทั้งนี้ นายวิทยากล่าวกับผู้สื่อข่าวด้วยว่าจะรอดูว่าเขียนดีไหม หากเขียนด่าจะแบล็กลิสต์ ห้ามเข้า และไม่คุยด้วยอีก

( อ่านประกอบ : อธิบดีราชทัณฑ์ แจงยิบ!ปมผูกปิ่นโต 15 ปี ซื้ออาหาร“ผู้ต้องขัง” 8.5 พันล. )

ภาพประกอบจาก : www.js100.com