logo isranews

logo small 2

ฉลุย! สนช.ผ่าน 3 วาระรวด แก้ รธน.ชั่วคราวปูทางทำประชามติ

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 18 มิถุนายน 2558 เวลา 15:39 น.
เขียนโดย
isranews

 ไฟเขียวยกสภา! สนช.ผ่านแก้ไขร่าง รธน.ชั่วคราวปี'57 ผ่าน 3 วาระรวด "วิษณุ" แจงยิบเหตุผลสำคัญแก้ไข ปูทางทำประชามติ สนช.ถกเพียบ ปมทำประชามติ-ตั้งสภาขับเคลื่อนฯ "พัชรวาท" อ้างป่วย ไม่เข้า 

PIC sapa 18 6 58 1

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2558 มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีวาระสำคัญคือ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ .. พ.ศ. ....) โดยคณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้า คสช. และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย คสช. และให้นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายในคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าชี้แจงด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช. มีมติในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ด้วยคะแนน 204 คะแนน ไม่มีไม่รับหลักการ งดออกเสียง 3 คะแนน 

ต่อมาเป็นการพิจารณาวาระที่ 2 โดยมี สนช. เป็นกรรมาธิการ (กมธ.) เต็มสภา และมีนายพรเพชร เป็นประธาน กมธ.ดังกล่าว ซึ่งมี สนช. ได้ลุกขึ้นอภิปรายขึ้นอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่เป็นกรณีการจัดทำประชามติ และการจัดตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และได้ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 2 แล้ว

ล่าสุด ที่ประชุม สนช. มีมติในวาระที่ 3 ขั้นประกาศใช้กฎหมาย ด้วยคะแนน 203 คะแนน ไม่มีไม่เห็นชอบ งดออกเสียง 3 คะแนน

เท่ากับว่า ที่ประชุม สนช. ผ่านความเห็นชอบการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ตามที่ คสช. และคณะรัฐมนตรีเสนอ 3 วาระรวด โดยใช้ระยะเวลาประมาณกว่า 5 ชั่วโมง

ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม ชี้แจงว่า หลักการของการเสนอแก้ไขในครั้งนี้ เพื่อกำหนดวิธีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และบทบัญญัติอื่นให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเหตุผลสำคัญเนื่องจากว่าขณะนี้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ กรรมการธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำลังทำงานอยู่นั้น ใกล้แล้วเสร็จ ปรากฏรูปร่างหน้าตาเผยแพร่สาธารณชนไปแล้ว อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำไปแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้เผยแพร่ออกไป มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ติชม รวมทั้งเสนอข้อแนะนำไปยัง กมธ.ยกร่างฯ เป็นอันมาก สิ่งหนึ่งที่ปรากฏจากสื่อมวลชน และสาธารณชนทั้งหลายคือ เรียกร้องให้มีการนำเอาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไปจัดทำประชามติเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทำนองเคยจัดทำเมื่อคราวยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550

“เรื่องนี้ คสช. และคณะรัฐมนตรี ได้รับฟังข่าวสารโดยตลอด และเห็นว่าน่าจะเป็นประสงค์ของประชาชนทั้งหลายโดยทั่วไป และไม่ใช่เรื่องเพิ่งมาคิดขึ้นได้ ความจริงเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของ คสช. มาตั้งแต่ต้น เมื่อครั้งยกร่างฉบับชั่วคราว เมื่อ 8-10 เดือนที่แล้ว แต่ที่ไม่ได้ใส่ เพราะขณะนั้นยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่จะร่าง รูปร่างหน้าตาแบบใด ประชาชนพึงพอใจเพียงใด ถ้าเขียนเมื่อ 8-10 เดือนที่แล้ว ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ว่าจะต้องทำประชามติ ก็เกรงว่าบทบังคับเช่นนั้นอาจเป็นปัญหาได้ โดยเฉพาะเมื่อ ประชาชนพึงพอใจ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการจัดทำประชามติทำให้กระบวนการล่าช้า ไร้ประโยชน์ สิ้นเปลืองงบประมาณ สู้อยู่รอเห็นหน้าตา และเสียงประชาชนเป็นลำดับ หากจำเป็นจึงต้องทำประชามติ ค่อยแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เปิดทางให้ทำประชามติได้ จะเหมาะสมกว่า ซึ่งบัดนี้เวลานั้นมาถึง” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า ทันทีที่เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็มีเสียงเรียกร้องว่า น่าจะทำประชามติ คสช. และคณะรัฐมนตรี จึงเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องแก้ไขเพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติ โดยกำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดกุมชัดเจน และเมื่อแก้ไขเรื่องดังกล่าว เห็นสมควรแก้ไขประเด็นอื่นที่ติดพันอยู่ให้ลุล่วงด้วย หากไม่มีประเด็นประชามติ คงไม่เสนอเรื่องอื่นตามมา ประกอบด้วย 7 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ แก้ไขเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามของคนที่จะมาเป็น สนช. โดยให้ผู้ที่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมาเป็นได้ การถวายสัตย์ปฏิญาณ ไม่ว่าตามรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่นใดก็ตาม สามารถกระทำต่อหน้าพระพักตร์พระมหากษัตริย์ หรือพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ ผู้แทน หรือรัชทายาทที่บรรลุนิติภาวะแล้วได้ รวมถึงการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศแทนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) การขยายเวลาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ กมธ.ยกร่างฯ รวมถึงหาก กมธ.ยกร่างฯ สิ้นสุดลง ให้ตั้งกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 21 คน ขึ้นมาแทนและหัวใจสำคัญคือการแก้ไขเรื่องทำประชามติ นอกจากนั้นแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อย

หลังจากนั้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้เปิดโอกาสให้ สนช. อภิปราย โดยมีนายสมชาย แสวงการ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ขออภิปราย โดยจะใช้ระยะเวลาคนละ 8 นาที

(อ่านประกอบ : “บิ๊กป้อม”ยันปลดล็อคม.8ให้เกียรติคนถูกเว้นวรรคการเมือง“รบ.รู้คนไหนดีไม่ดี”“วิษณุ”แจงสภาขับเคลื่อนฯพ้นเมื่อไหร่-“บิ๊กตู่”สร้างแรงจูงใจลงประชามติ)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มี สนช. บางราย เดินทางไปต่างประเทศ และลาป่วย ซึ่งประธาน สนช. อนุญาตแล้ว เช่น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) น้องชาย พล.อ.ประวิตร เป็นต้น