logo isranews

logo small 2

กมธ.ยกร่าง รธน.ถอย! จ่อทบทวนห้ามออก กม.จ่าย“ภาษีบาป”ให้ไทยพีบีเอส-สสส.

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 04 สิงหาคม 2558 เวลา 14:39 น.
เขียนโดย
isranews

“คำนูณ” เผยคุยกับ กมธ.ยกร่างฯ บางราย ยอมถอย! จ่อถกทบทวนปมไม่จ่าย “ภาษีบาป” โดยตรงแก่ ไทยพีบีเอส-สสส.-กองทุนกีฬาฯ แล้ว ภาคประชาชน-บอร์ดไทยพีบีเอส เตรียมหารือ กมธ.ยกร่างฯ อธิบายเหตุผล

PIC kumnoon 4 8 58 1

จากกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ส่งหนังสือถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการคลังและงบประมาณ โดย กมธ.ยกร่างฯ ได้ปรับแก้ตามที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เสนอ ในมาตรา 190 และบทเฉพาะกาล มาตรา 281 (1) มีสาระสำคัญคือ ห้ามไม่ให้มีการตรากฎหมายให้หน่วยงานรัฐจัดเก็บภาษีและจัดสรรเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรตามกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรต่าง ๆ (ยกเว้นการจัดสรรเงินองค์การบริหารท้องถิ่นและพรรคการเมือง) ซึ่งอีกไม่เกิน 4 ปีหลังจากนี้ ห้ามมีกฎหมาย หรือกฎหมายที่มีอยู่แล้ว จะไม่สามารถเก็บเงินจากภาษีสุราและภาษียาสูบ หรือ “ภาษีบาป” ไปใช้โดยตรงได้นั้น

(อ่านประกอบ : เบื้องหลังแก้รธน.ใหม่ ไม่จ่าย"ภาษีบาป"โดยตรงใส่ทุน "ไทยพีบีเอส-สสส.")

ล่าสุด นายคำนูณ สิทธิสมาน ในฐานะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า เบื้องต้นมีการคุยกับ กมธ.ยกร่างฯ บางรายอย่างไม่เป็นทางการแล้ว มีเห็นความให้ทบทวนแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับแรก คือ การทบทวนบทเฉพาะกาลดังกล่าว ที่ระบุว่าเวลาให้หน่วงไว้ 4 ปี โดยอาจทบทวนว่า อาจจะยกเว้นองค์กรที่มีกฎหมายออกมาก่อน เช่น องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนการกีฬาฯ และต่อไปเท่าที่ทราบอาจมีออกมาอีก 2-3 องค์กรในช่วงนี้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนองค์กรที่ออกหลังจากรัฐธรรมนูญนี้ ก็จะต้องบังคับใช้ตามบทเฉพาะกาลนี้

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางที่สอง คือ ทบทวนในส่วนของการคลังและงบประมาณ มาตรา 190 จากเดิมที่เขียนว่าห้ามเด็ดขาด อาจแก้ไขให้คลายลงว่า ให้คำนึงถึงวินัยการเงินและการคลังของประเทศด้วย เท่ากับเป็นการเปิดช่อง ไม่ได้ห้ามเสียทีเดียว ส่วนสาเหตุที่ต้องทบทวนในส่วนนี้ เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนี้ ต้องการให้การจ่ายเงินแผ่นดินและภาษีผ่านกฎหมายงบประมาณประจำปี จะต้องมีการตรวจสอบที่รอบคอบ เพราะเงินบำรุงองค์กรเหล่านี้ ไม่ได้หักภาษีที่เก็บได้จากบุคคลปกติ แต่เก็บภาษีจากสุรา-บุหรี่ ซึ่งต้องจ่ายให้กับองค์กรตามกฎหมายข้างต้นอยู่แล้ว ดังนั้นต่อให้ห้ามจ่ายเงินโดยตรงองค์กรเหล่านี้ ก็ไม่ทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นอยู่ดี เพราะการเพิ่มบทบัญญัตินี้ รัฐก็ไม่ได้ประโยชน์

“แต่ทั้งสองแนวทางผลจะเป็นอย่างไร ยังไม่อาจตอบได้ เพราะ กมธ.ยกร่างฯ จะมีกำหนดทบทวนเจตนารมณ์ที่คั่งค้างอยู่ในวันที่ 10-11 ส.ค. 2558 อาจจะมีการพิจารณาในวันดังกล่าว หรือไม่ก็เป็นวันประชุมปกติ คือวันพุธ พฤหัสบดี และวันศุกร์ ก็เป็นไปได้” นายคำนูณ กล่าว

เมื่อถามว่า หาก กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนแล้ว จะต้องส่งเรื่องให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร รับทราบหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า คงไม่ต้อง เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของเรา การที่กระทรวงการคลังเสนอมาหลายประเด็น ก็เป็นประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้นำมาปรับใช้ทั้งหมด

รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลัง กมธ.ยกร่างฯ ดำเนินการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตาม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนที่เห็นด้วยกับแนวทางของ สสส. และคณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส ที่เตรียมจะเข้าหารือเพื่ออธิบายให้กับ กมธ.ยกร่างฯ เข้าใจเหตุผลที่จำเป็นต้องปรับแก้ด้วย

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก chaoprayanews