logo isranews

logo small 2

พิพากษาจำคุก “ร.ท.สุชาย-วิโรจน์” 18 ปี ทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย ชดใช้หมื่นล.

ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก ร.ท.สุชาย-วิโรจน์ อดีตบอร์ดแบงก์กรุงไทย 18 ปี ปมปล่อยสินเชื่อเครือ 'กฤษดามหานคร' ทำเสียหายกว่าหมื่นล้าน จำคุกผู้บริหารเครือกฤษดานคร 12 ปี ให้ชดใช้ค่าเสียหายร่วมหมื่นล้าน  

piitteeeeeedde

 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2555 ระหว่างอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย จำเลยที่ 2 นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย จำเลยที่ 3 และบริษัทในเครือของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 27 ราย เป็นจำเลยในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ความผิดต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และความผิดต่อ พ.ร.บ.บริษัทมหาชน พ.ศ.2535

สำหรับรายชื่อจำเลยทั้ง 27 คน ประกอบด้วย กลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ คือ นายประพันธ์พงศ์ ปราโมทย์กุล จำเลยที่ 13 นางกุลวดี สุวรรณวงศ์ จำเลยที่ 14 นางสุวรัตน์ ธรรมรัตนพคุณ จำเลยที่ 15 นายประวิทย์ อดีตโต จำเลยที่ 16 นางศิริวรรณ ชินอิสระยศ จำเลยที่ 17 นายไพโรจน์ รัตนะโสภา จำเลยที่ 12

กลุ่มคณะกรรมการสินเชื่อ คือ นายพงศธร ศิริโยธิน จำเลยที่ 5 นายนรินทร์ ดรุนัยธร จำเลยที่ 6 นางนงนุช เทียนไพฑูรย์ จำเลยที่ 7 นายโสมนัส ชุติมา จำเลยที่ 8 นายสุวิทย์ อุดมทรัพย์ จำเลยที่ 9 นายวันชัย ธนิตติราภรณ์จำเลยที่ 10 และนายบุญเลิศ ศรีเจริญ จำเลยที่ 11

กลุ่มคณะกรรมการบริหาร คือ ร้อยโทสุชาย เชาว์วิศิษฐ์จำเลยที่ 2 นายวิโรจน์ นวลแข จำเลยที่ 3 และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา จำเลยที่ 4

กลุ่มนิติบุคคลทั้งหมด คือ บริษัทอาร์เคฯ โดยนายบัญชา ยินดี และ นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 18 บริษัทโกลเด้นฯ โดยนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา และนายบัญชา ยินดี จำเลยที่ 19 บริษัทกฤษดามหานครฯ โดยนางปรานอม แสงสุวรรณเมฆา และนายธเนศวร สิงคาลวณิช นายรัชฎากฤษดาธานนท์จำเลยที่ 20 บริษัทโบนัสบอร์น จำกัด โดยนายชุมพร เกิดไพบูลย์รัตน์ จำเลยที่ 21 บริษัทแกรนด์คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด โดยนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 22

กลุ่มผู้แทนนิติบุคคลเป็นการส่วนตัวทั้งหมด คือ นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 23 นายบัญชา ยินดี จำเลยที่ 24 นายวิชัย กฤษดาธานนท์จำเลยที่ 25 นายรัชฎากฤษดาธานนท์จำเลยที่ 26 นายไมตรี เหลืองนิมิตมาศ จำเลยที่ 27 ส่วนกลุ่มการเมืองได้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1

คดีนี้มีประเด็นว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลเห็นว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์มีอำนาจฟ้องเฉพาะจำเลยที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งปรากฏว่าไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 6-7 

ประเด็นว่า การอนุมัติสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 18-19 ชอบหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 18-20 รวมทั้งบริษัทในกลุ่มต่างอยู่ในสภาพมีหนี้สินจำนวนมาก ไม่มีรายได้ต่อเนื่องกันมาหลายปี มีดอกเบี้ยค้างชำระเพิ่มพูนขึ้น เกิดการขาดทุนสะสมตลอดมา ทำให้ฐานะการเงินไม่มั่นคง ความสามารถในการหารายได้ต่ำจนไม่น่าเชื่อว่าจะชำระหนี้ได้ มีเหตุอันควรสงสัยว่า ไม่ได้ประกอบธุรกิจจริงจังและไม่ปรากฏรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ เข้าลักษระเป็นลูกหนี้ที่ไม่อาจชำระหนี้ได้ หรืออาจชำระหนี้ได้โดยยาก ซึ่งต้องห้ามมิให้ให้สินเชื่อตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และคำสั่งธนาคารกรุงไทย

แม้ว่าการขอสินเชื่อของจำเลยที่ 19 เพื่อทำโครงการกฤษดาซิตี้ 4000 โดยมีจำเลยที่ 20 เป็นพันธมิตรร่วมลงทุนจะแสดงประมาณการว่ามีผลกำไร แต่เมื่อจำเลยที่ 20 เป็ฯหนี้สถาบันการเงินหลายแห่ง มีการปรับโครงสร้างหนี้หลายครั้งจนถูกห้ามมิให้ก่อหนี้เพิ่ม จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 18 หรือไม่อยู่ในฐานะที่จะหาเงินมาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 19 ได้

อีกทั้งโครงการของจำเลยที่ 19 เป็นโครงการขนาดใหญ่ วงเงินที่ขอสินเชื่อสูง แต่ไม่มีรายละเอียดของข้อมูลที่จำเป็นประกอบการขอสินเชื่อ เพื่อให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของโครงการ การที่จำเลยที่ 5-17 อนุมัติสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 18 และจำเลยที่ 2-5 และจำเลยที่ 8-27 กรรมการสินเชื่ออนุมัติสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 19 จึงเป็นการไม่ชอบ

ประเด็นว่า จำเลยที่ 2-4 ขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของจำเลยที่ 20 ให้แก่จำเลยที่ 22 เป็นเงิน 1,185,735,380 บาท ด้วยการให้เครดิตชำระเงินภายใน 4 เดือน และมอบฉันทะให้จำเลยที่ 22 ออกเสียงลงคะแนนในการประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 20 ชอบหรือไม่

ศาลเห็นว่า การขายหุ้นบุริมสิทธิด้วยวิธีการดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการให้สินเชื่ออย่างหนึ่ง จึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ ธ 222/2545 เรื่อง นโยบายสินเชื่อ ที่กำหนดให้มีการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ซื้อคือจำเลยที่ 22 แต่จำเลยที่ 2-4 ไม่วิเคราะห์สินเชื่อ ทำให้ธนาคารผู้เสียหายขายหุ้นบุริมสิทธิไปโดยไม่ได้รับชำระค่าหุ้น ทั้งมีการมอบฉันทะให้จำเลยที่ 22 เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 20 ในการออกเสียงลงคะแนนลดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิเพื่อลดขาดทุนสะสม ทำให้หุ้นบุริมสิทธิมีมูลค่าเป็นศูนย์ เป็นการไม่ชอบ

ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 2-4 และที่ 12 มีความผิดให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ มาตรา 4 ให้จำคุกคนละ 18 ปี

จำเลยที่ 5 ที่ 8-11 และที่ 13-17 มีความผิดให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ให้จำคุกคนละ 12 ปี

สำหรับจำเลยที่ 18-27 มีความผิดให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 แบ่งเป็น

จำเลยที่ 18-22 เป็นนิติบุคคล ให้ปรับรายละ 26,000 บาท จำเลยที่ 23-27 ให้จำคุกคนละ 12 ปี

และให้จำเลยที่ 20 ที่ 25 และที่ 26 ร่วมกันคืนเงิน 10,004,467,480 บาท แก่ธนาคารที่เสียหาย โดยให้จำเลยที่ 3 ที่ 22 และที่ 27 ร่วมรับผิด 9,554,467,480 บาท จำเลยที่ 12-17 ที่ 21 ที่ 23 และที่ 24 ร่วมรับผิด 8,818,732100 บาท จำเลยที่ 18 ร่วมรับผิด 450,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8-11 และที่ 19 ร่วมรับผิด 8,368,732,100 บาท ซึ่งเงินสส่วนนี้ถ้าธนาคารผู้เสียหายได้รับชำระคืนแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้หักออกจากจำนวนที่สั่งให้ใช้คืนตามส่วน หากจำเลยที่ 18-22 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29

ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับจำเลยที่ 6-7 ให้ยกฟ้อง 

ส่วนกรณีจำเลยที่ 2-5 และที่ 8-27 ร่วมกันสนับสนุนจำเลยที่ 1 (พ.ต.ท.ทักษิณ) หรือไม่ ศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า การที่กรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยคนหนึ่งในช่วงเวลานั้น อ้างถึงกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยอีกรายหนึ่ง ระบุว่า “บิ๊กบอส” เป็นคนสั่งการให้ธนาคารดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้บริษัทในเครือกฤษดามหานคร ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ยังไม่ชัดเจนว่า “บิ๊กบอส” หมายถึงใคร รวมถึงเรื่องของเส้นทางการเงินที่อ้างว่า มีการโอนให้บุตรและภรรยา ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน

ศาลจึงเห็นว่าพยานหลักฐานในส่วนนี้ยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2-5 และที่ 8-27 ร่วมสนับสนุนจำเลยที่ 1 ฐานเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และมีส่วนได้ส่วนเสีย ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152 และ 157 จึงให้ยกคำร้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้เป็นการกล่าวหาว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้สินเชื่อกลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร เนื่องจาก ผอ.ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานครในอันดับ 5 คือไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ แต่ได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร 3 กรณี คือ 1. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด จำนวนเงิน 500 ล้านบาท 2. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด วงเงิน 9,900 ล้านบาท (วงเงินไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และวงเงินพัฒนาโครงการ 1,400 ล้านบาท) และ 3. การอนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดามหานคร ให้กับบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด จำนวนเงิน 1,185,735,380 บาท ถือว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานคร โดยมิชอบ

สำหรับคดีนี้ เมื่อปี 2555 ศาลฎีกาฯ ได้ออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว เนื่องจากจำเลยหนีคดี ไม่มารายงานตัวต่อศาล