logo isranews

logo small 2

อัยการยันแก้ต่างคดีสลาย พธม.ได้ถ้าข้อเท็จจริงจบ-ยื่นศาลพิจารณาซ้ำแล้ว

“ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม” อัยการฝ่ายแก้ต่างคดี “สมชาย-พวก” ปมสลาย พธม. ยันถ้าข้อเท็จจริงจบ-เห็นว่าไม่ผิด-หน่วยงานอื่นรองรับสามารถทำได้ ยื่นหนังสือต่อศาลฎีกาฯให้พิจารณาซ้ำแล้ว ลั่นไม่มี “ไอ้โม่ง” คอยคุม ปัดตอบปม “พล.ต.อ.พัชรวาท” ผลักดันให้ทำคดี

PIC auyakarnnnn 28 8 58 1

จากกรณีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กับพวกรวม 4 ราย จำเลยในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ กล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2551 ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำเรื่องขอแต่งตั้งพนักงานอัยการให้เป็นทนายความแก่ต่างในคดีนี้ แต่ศาลฎีกาฯ มีมติเสียงส่วนใหญ่ 8 ต่อ 1 ไม่อนุญาตเพราะเห็นว่า พนักงานอัยการไม่มีอำนาจว่าความแก้ต่างในคดีนี้ให้แก่จำเลยทั้งสี่ได้

ขณะที่มีการยืนยันข้อมูลว่า ภายหลังจากที่ ป.ป.ช. ได้ยื่นเรื่องฟ้องคดีต่อศาล มีบุคคล ๆ หนึ่ง ทำหนังสือไปถึงอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อให้ตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความแก้ต่างคดีนี้ให้ เพราะมั่นใจในฝีมือ และได้พยายามผลักดันให้มีการตั้งเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นทางการเพื่อแจ้งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ให้แต่งตั้งพนักงานอัยการเข้ามาทำคดีนี้ให้

ทั้งที่ก่อนหน้านี้คณะทำงานอัยการชุดใหญ่ มีการนำเสนอเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมสองครั้ง แต่เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมยืนยันความเห็นทั้งสองครั้งว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีความไม่เหมาะสมหลายประการ แต่สุดท้ายก็ยังปรากฏชื่อของพนักงานอัยการเข้าไปช่วยทำหน้าที่เป็นทนายความแก้ต่างคดีให้จำเลยทั้งสี่อยู่ดี

และจากการตรวจสอบพบว่า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ปรากฏชื่อเป็นทนายแก้ต่างคดีให้กับจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้ คือนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม

(อ่านประกอบ :เปิดคำร้อง'อัยการ'รับลูกครม.-รมว.ยุติธรรม แก้ต่างคดี 'สมชาย-พวก' สลาย พธม.)

ล่าสุด นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการพิจารณาฝ่ายคดีอาญา 1 (กองแก้ต่าง) ซึ่งปรากฏชื่อเป็นทนายคดีดังกล่าว เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2558 นั้น ตนได้รับเรื่องนี้มาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2558 แล้ว โดยนายสมชาย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ลงนามโดย พล.ต.อ.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ ที่ปรึกษา (สบ 10) ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. เป็นผู้ส่งเรื่องเข้ามา เบื้องต้นเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าควรรับแก้ต่าง เพราะถ้าพวกเขาไม่ผิดก็ควรรับ แต่ก็ไม่แน่ใจ เพราะที่ผ่านมาฝ่ายอัยการไม่เคยทำกันเลย จึงได้หารือกับนายตระกูล วินิจนัยภาค อสส. ว่าอยากรับแก้ต่างคดีนี้ จะว่าอย่างไรบ้าง เพราะเห็นว่า พวกเขาไม่ผิด นอกจากนี้ในเรื่องเดิมที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยส่งเรื่องมาให้เรา จนกระทั่งนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อสส. ในขณะนั้น ก็ไม่ส่งฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า นายสมชายกับพวกปฏิบัติตามขั้นตอน นี่จึงเป็นประเด็นหลัก

นายปรเมศวร์ กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นนายตระกูลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง มีทั้ง ร.ต.ต.พงษ์นิวัต ยุทธภัณฑ์บริภาร รอง อสส. และบรรดาอธิบดีในสำนักงานอัยการฯเข้าร่วมเป็นคณะทำงานด้วย ประมาณ 7-8 คน โดยในการประชุมครั้งแรกนั้น มีความเห็นต่างกันสองส่วน ส่วนแรกบอกว่า ไม่ควรรับแก้ต่าง โดยเห็นว่า จะสู้กับ ป.ป.ช. ทำไม อีกฝ่ายมองว่า ถ้าคนไม่ผิดจะไม่ปกป้องเขาเหรอ แต่ยังไม่ทันได้ข้อยุติ คณะรัฐมนตรีก็มีมติแจ้งเข้ามาที่นายตระกูล นายตระกูลจึงนำเสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณะทำงานอีกครั้ง แต่เรายืนยันหลักการว่า สำนักงานอัยการฯเป็นองค์กรอิสระ ไม่อยู่ภายใต้มติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องคดี

นายปรเมศวร์ กล่าวว่า หลังจาก ร.ต.ต.พงษ์นิวัต ได้เรียกประชุมคณะทำงานอีกครั้ง มีความเห็นว่า คณะรัฐมนตรีเขาคิดกันแบบนี้ พวกเราจะคิดกันอย่างไร ที่ประชุมจึงตกลงกันว่าควรไปพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ โดยกระทรวงยุติธรรม ลงนามโดย รมว.ยุติธรรม (พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา) หาทางประสานงานกับนายวิษณุ ในที่สุดก็นัดประชุมกันที่รัฐสภา โดยมีคณะทำงานบางส่วนไปด้วย โดยในที่ประชุมคณะทำงานก็บอกนายวิษณุไปว่า ถ้าตามมติคณะรัฐมนตรีเราไม่เห็นด้วยที่ให้รับพิจารณาทุกเรื่อง แต่แบ่งเป็นสองหลักใหญ่ คือ ถ้าเรื่องไหนอัยการฟ้องให้ ป.ป.ช. เราก็จะไม่รับแก้ต่าง เพราะยืนยันว่า อัยการจะไม่ทะเลาะกับอัยการกันเอง ประเด็นต่อมาถ้า ป.ป.ช. ฟ้องคดีเองจะพิจารณาอย่างไร นายวิษณุ ก็บอกว่า แล้วแต่ดุลยพินิจ จะไม่ก้าวล่วง เพียงแต่ได้ยกตัวอย่างในหลายคดีมา ก็พบว่ามีข้าราชการหลายคนเสียเงินจ้างทนายฟ้องคดีเองทั้งที่ปฏิบัติตามหน้าที่ และพอศาลตัดสินออกมาก็ปรากฏว่าไม่ผิด ซึ่งนายวิษณุเห็นว่า ไม่มีอะไรคุ้มครองข้าราชการได้ ดังนั้นคณะทำงานจึงกลับมาประชุมกันอีกครั้งเป็นรอบที่สาม

“ในการประชุมครั้งที่สาม ความเห็นทั้งสองฝ่ายก็ยังเหมือนเดิม แต่มีเพิ่มประเด็นใหม่ขึ้นมาคือ ตามหลักการหากอัยการฟ้องแทน ป.ป.ช. ก็จะไม่รับแก้ต่างให้ อันนี้ชัดเจน อย่างไรก็ดีหากเป็นกรณี ป.ป.ช. ฟ้องเอง ต้องดูตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 11 ที่ระบุว่า หาก ป.ป.ช. ส่งเรื่องมาให้ อสส. แล้ว อสส. ไม่เห็นด้วยให้แจ้งข้อไม่สมบูรณ์กลับไป เพื่อตั้งคณะทำงานร่วมหาข้อยุติ และถ้าได้ข้อยุติใดก็ให้ว่าไปตามนั้น” นายปรเมศวร์ กล่าว

นายปรเมศวร์ กล่าวอีกว่า ประเด็นนี้เราแบ่งเป็น 3 ลักษณะ 1.ถ้าเราแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ ป.ป.ช. บอกสมบูรณ์ แล้วขอสำนวนไปฟ้องเอง อย่างนี้เราไม่แก้ต่าง 2.ถ้าเราแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันแล้ว แต่ยังสอบข้อไม่สมบูรณ์ไม่เสร็จ ป.ป.ช. บอกพอแล้วขอสำนวนไปฟ้องเอง อย่างนี้เราก็ไม่แก้ต่าง แต่ 3.ถ้าเราแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ ตั้งคณะทำงานร่วมกันจนได้ข้อสมบูรณ์ยุติแล้ว โดยฝ่ายเราเห็นว่า ไม่ผิด แต่ ป.ป.ช. บอกว่าผิด จึงขอสำนวนกลับไปฟ้องเอง ตรงนี้เราต้องมาพิจารณาพร้อมกับหน่วยงานอื่นที่รับรอง ซึ่งกรณีคดีสลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2551 พบว่า ภายหลัง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด พล.ต.อ.พัชรวาท แต่มติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เห็นว่า พล.ต.อ.พัชรวาทไม่ผิด เพราะปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ นอกจากนี้ศาลปกครองสูงสุดยังวินิจฉัยว่า มติ ก.ตร. กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของ พล.ต.อ.พัชรวาท นั้นถูกต้อง จึงพิพากษาให้คืนตำแหน่งหน้าที่อีกด้วย

“หลักการนี้คือ ถ้าอัยการตั้งคณะทำงานร่วมกับ ป.ป.ช. และถ้ามีการสอบข้อไม่สมบูรณ์จนยุติแล้ว เราเห็นว่าไม่ผิด แต่ ป.ป.ช. เห็นว่าผิด แล้วเอาสำนวนกลับไปฟ้องเอง และมีหน่วยงานอื่นเห็นด้วยกับเรา ถ้าเป็นอย่างนั้นน่าจะรับแก้ต่างได้ นอกจากนี้ยังมีมติคณะรัฐมนตรีเข้ามาอีก แต่จริง ๆ มติคณะรัฐมนตรีเล็กมากถ้าเทียบกับหลักการข้างต้น” นายปรเมศวร์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ว่ามี “ไอ้โม่ง” มาคอยสั่งการนั้น นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ไม่มีไอ้โม่งไหนทั้งสิ้น เรามีดุลยพินิจอิสระของเรา ไม่มีใครบังคับได้ ขนาด อสส. ก็บังคับเราไม่ได้

เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่า พล.ต.อ.พัชรวาท มีความสัมพันธ์กับอัยการตำแหน่งระดับสูง จึงผลักดันหาอัยการบางคนที่เครือข่ายเดียวกันมาออกหน้าเพื่อทำคดีให้นั้น นายปรเมศวร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ ตนทำแต่งานทำตามหน้าที่อย่างเดียว ช่วงสมัยเป็นเลขานายอรรถพล ใหญ่สว่าง (อดีต อสส.) หรือตอนสอนหนังสือก็อยู่อย่างนี้ ยืนยันหลักการอย่างนี้ แต่เรื่องภายนอกที่พูดถึงกัน ใครโยงอะไร ผลักดันอะไร เรื่องนั้นไม่ทราบ ตนทำคดีตามปกติ

“ถ้าจะรักษาความยุติธรรมให้กับใครคนหนึ่งในแผ่นดินนี้ผมผิดด้วยเหรอ เพราะวันนี้ข้าราชการยังไม่มีหลักประกันอะไรเลย” นายปรเมศวร์ กล่าว และว่า ปกติคนดัง ๆ เข้ามาเราก็แก้ต่างให้หมด เยอะมาก และเราก็ชนะมาตลอด เราคิดว่าทำงานบนพื้นฐานความถูกต้อง

เมื่อถามว่า จำเลยคดีนี้คือ พล.ต.อ.พัชรวาท ส่วนที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ (พี่ชาย) ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวออกมาในช่วงเวลาแบบนี้ หลายคนมองว่าอาจเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องหรือไม่ นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไม่ได้พูดเฉพาะเจาะจงในคดีของนายสมชาย หรือ พล.ต.อ.พัชรวาท พูดถึงแต่กรณีที่ข้าราชการถูกฟ้อง เพียงแต่มันมาช่วงจังหวะเดียวกันที่อัยการกำลังหารือเรื่องรับแก้ต่างเท่านั้น

“เรื่องอื่นไม่ทราบ แล้วแต่คนจะคิด ผมไม่ขอตอบ ไม่ก้าวล่วงรัฐบาล แต่ถึงมติคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาทุกเรื่อง เราก็ไม่เอาทุกเรื่องมาพิจารณาอยู่แล้ว เรามีหลักการแล้วว่า ต้องเป็นเรื่องที่สอบข้อเท็จจริงจนยุติแล้ว อัยการเห็นว่า ไม่ผิด และมีการรองรับจากหน่วยงานอิสระหรือศาล สุดท้ายต้องไม่มีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง จึงจะสามารถทำได้” นายปรเมศวร์ กล่าว

นายปรเมศวร์ กล่าวด้วยว่า ภายหลังจากศาลฎีกาฯมีมติไม่ให้อัยการแก้ต่างแทนในคดีนี้แล้ว ตนได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯอีกครั้ง เพื่อขอให้พิจารณาในข้อเท็จจริงใหม่อีกด้วย อย่างไรก็ดีหากศาลฎีกาฯยังคงมีมติตามเดิม ก็ถือว่าจบ ไม่มีการยื่นซ้ำอีก

อ่านประกอบ :
ข้อมูลสวนทางอัยการ! "วิษณุ"ยัน"ครม.-อสส." ไม่เห็นชอบตั้งทนายแก้ต่างคดีสลาย พธม.
ศาลฎีกามติ 8 ต่อ 1ห้ามตั้งอัยการแก้ต่างให้"สมชาย-พวก"คดีสลาย พธม.
เบื้องหลัง! ตั้งอัยการแก้ต่าง "สมชาย-พวก" คดีสลายพธม.ครม."บิ๊กตู่" จัดให้
ป.ป.ช.ยันศาลฎีกาฯทำถูกไม่ให้อัยการแก้ต่าง“สมชาย-พวก”คดีสลาย พธม.
แกะรอย'มือมืด'ชง ครม. สั่งอัยการแก้ต่างช่วย 'สมชาย-พวก'คดีสลาย พธม.?